วันพฤหัสบดีที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2555
จ่อพลิกเกมแก้รธน.รายมาตรา เมื่อ ๒๑ ธ.ค.๕๕
"ขุนค้อน" แบะท่าประชามติไม่ผ่าน ชงแก้รายมาตรา กางปฏิทินโหวต รธน.วาระ3 ต้นสิงหาปีหน้า นายกฯอ้างหาทางออกให้ประเทศขณะที่โพลล์ค้านละเลง 2 พันล้านไม่คุ้ม
ข้อกังวลเกี่ยวกับจำนวนเสียงที่ใช้ผ่านในการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำให้รัฐบาลส่ออาการลังเล ในขณะที่ประธานรัฐสภาให้ความเห็นว่า หากประชามติไม่ผ่านก็ให้เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราแทน
นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภากล่าวบรรยายเรื่อง "ทิศทางการเมืองไทย กับ รัฐสภา ในปี 2556" ต่อประเด็นที่รัฐบาลตัดสินใจที่จะทำประชามติก่อนการเดินหน้าลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ว่า สนับสนุนการทำประชามติและการทำประชาเสวนาของรัฐบาลเพราะเชื่อว่าจะลดความขัดแย้งของสังคมได้อย่างไรก็ตาม ในการทำประชามติหรือประชาเสวนาดังกล่าวขอให้ผู้ที่ดำเนินการทำอย่างเต็มที่และมีความจริงใจ เพื่อให้ประชาชนเข้าใจ ทั้งนี้มองว่า หากเวทีการให้ความรู้จัดแค่เป็นพิธี เชื่อว่าจะเกิดภาพความวุ่นวายได้
"ส่วนตัวผมมองว่า เจ้าภาพที่จะทำควรเป็นฝ่ายวิชาการที่ภาพกลางๆ และเพิ่มเติมในการทำประชาเสวนา บอกได้ว่า 1 เดือนหลัง จากนี้ ที่คณะทำงานจะไปศึกษาแนวทางทำประชามติและประชาเสวนา จากนั้นจะเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ก่อนจะประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา จากนั้นเป็นขั้นตอนทำประชามติตามกฏหมาย ซึ่งเชื่อว่าการทำประชามติจะเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2556 ซึ่งเป็นช่วงปิดสมัยประชุม ดังนั้นเรื่องลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเข้าสู่การพิจารณาอีกครั้ง คือ ช่วงสมัยประชุมสามัญ วันที่ 2 สิงหาคม 2556 เมื่อดูกรอบเวลาแล้ว หมอดูฟันธงว่า หากไม่มีอุปสรรคอะไรจะมีการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ได้ใน วันศุกร์แรกของเดือนสิงหาคม 2556 แน่นอนซึ่งระยะเวลาจากวันนี้ ไปจนถึงวันที่จะมีการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมเวลา 6 เดือน ซึ่งมากพอที่จะทำประชาเสวนา ไหนๆ จะเสียเงิน 2,000 ล้านบาทอยู่แล้ว ต้องทำให้ครอบคลุมและลงลึก"นายสมศักดิ์ กล่าว
นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ส่วนตัวมองโอกาสของความเป็นไปได้ ที่จะมีผู้ออกมาใช้สิทธิลงประชามติเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ทั่วประเทศว่าเป็นไปได้ยาก เพราะมีจำนวนมากถึง 23-24 ล้านคน แต่การทำประชามติก็เป็นทางออกที่ดีที่สุดและเมื่อผลออกมาเป็นอย่างไรคอยหารือกัน ถ้าหากออกมาในเชิงที่เลวร้ายที่สุด คือประชาชนออกมาใช้สิทธิ์ไม่ถึงครึ่ง ก็ต้องตกไป แล้วค่อยมาเสนอแก้รัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราแทน
"ปู"รับห่วงประชามติเสียงไม่ผ่าน
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ก่อนเดินทางไปประเทศอินเดีย ถึงกรณีการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่ง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี แสดงความเห็นคัดค้านการทำประชามติ ว่า จริงๆ แล้วทุกคนก็แสดงความคิดเห็น เพราะช่วงนี้อย่างที่ว่า มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็ยังให้คณะทำงานเข้าไปศึกษารายละเอียดอยู่ เพราะในแต่ละวิธีการก็มีขั้นตอนรายละเอียด ซึ่งคงต้องไปทำความเข้าใจและใช้ระยะเวลาในการที่จะทำในเรื่องของการทำงานด้วย ซึ่งตรงนี้ยังไม่เป็นข้อสรุป
เมื่อถามว่าเป็นห่วงเรื่องจำนวนเสียงหรือไม่หากมีการทำประชามติ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าจำนวนเสียงเป็นส่วนหนึ่งของข้อห่วงใย แต่เราก็ต้องดูว่านำมาถึงข้อสรุปอย่างไรก็มากกว่า สำหรับกรณีจะทำประชามติก็ต้องดูที่หัวข้อ การตั้งคำถามและขั้นตอน ซึ่งยังต้องไปสอบถามคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) วุฒิสภา และประธานรัฐสภาด้วย
"จริงๆ แล้วในส่วนนี้รัฐบาลเป็นเพียงหน่วยงานหนึ่งที่จะหาทางออกของประเทศมากกว่าเพราะตามหลักในเรื่องการโหวตแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของรัฐสภาอยู่แล้ว รัฐบาลมีหน้าที่บริหารประเทศไป แต่การที่เรามาพูดคุยนี้เราต้องการจะเห็นทางออกมากว่า ไม่ใช่เป็นการจะลงเอยในเรื่องข้อสรุปการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องไปว่ากันในส่วนของรัฐสภา" นายกรัฐมนตรีระบุ
เมื่อถามว่า ร.ต.อ.เฉลิม มีข้อเสนอแนะอะไรในเรื่องการทำประชามติมาถึงนายกฯ หรือ ไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า วันนี้มีหลายๆ ความเห็น ซึ่งต้องแยก อย่างที่บอกว่า ภาคการมีส่วนร่วมอันนี้คือหน้าที่รัฐบาล แต่ว่าขั้นตอนเรื่องการโหวต อันนี้เป็นเรื่องของรัฐสภาที่ต้องคุยกันว่าจะโหวตกันอย่างไร จะเดินหน้าต่อหรือจะโหวตรายมาตรา หรือจะเป็นวิธีไหน แต่ในส่วนของรัฐบาลเราจะทำหน้าที่ในการที่จะช่วยเสริมในการสนับสนุนว่าเราจะช่วยกันในการที่จะให้ประชาชนมีส่วนร่วมแล้วแสดงออก และเป็นทางออกที่เป็นสันติและเป็นไปตามครรลองของระบอบประชาธิไตยมากกว่า
ส่วนที่มีกระแสวิจารณ์ว่า การแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับยากเหมือนการเข็นครกขึ้นภูเขา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า "ไม่ค่ะ ก็แล้วแต่ เรียกว่าเป็นข้อเสนอและข้อคิดเห็นก็คงต้องให้คณะกรรมการทำงานก่อน"
ส่วนจะมีการยืดเวลาการทำประชามติออกไปหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ต้องบอกว่าเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญไม่ว่าวิธีไหนก็ต้องใช้เวลาไม่ว่าเสร็จวันเดียว
"เฉลิม"ชง 9 ข้อแก้รธน.รายมาตรา
ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวถึงกรณีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ออกมาแสดงความเห็นด้วยต่อการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราว่า อยากให้นำเรื่องนี้ไปหารือใน พรรคเพื่อไทย โดยได้เตรียมคำอธิบายไว้เรียบร้อยแล้ว เรื่องนี้ไม่อยากให้เข้าใจผิดว่า ภายในพรรคคุยกันไม่รู้เรื่อง เพียงแต่มีคนเก่งหลายคนก็พูดกันไป สำหรับความคิดเห็นของตนก็ได้รับการสนับสนุนจาก ส.ส.ในพรรคหลายคน โดยมีแนวทางแก้ไขรายมาตราอยู่ 9 ประเด็น จะเร่งเขียนให้เสร็จเพื่อนำไปพูดกับคนในพรรคในวันอังคารที่ 25 ธันวาคม
ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า เรื่องการทำประชามติบางคนไปรีบพูด หากไปดูรัฐธรรมนูญมาตรา 165 และพอมาดูมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2552 ในวรรคหลัง ไม่ได้ดูวรรคแรก ซึ่งวรรคแรกระบุไว้ว่า ต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ออกเสียง ส่วนวรรคสองระบุไว้ว่า เมื่อผู้มีสิทธิ์มาออกเสียงเกินกึ่งหนึ่งแล้วก็ต้องได้เกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาเสียง องค์ประกอบอันแรกหากเสียงไม่ถึง คือไม่มีคนมาใช้สิทธิ์เกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ก็จบแล้ว
"ผมจะอธิบายให้ฟังว่า 1.การใช้สิทธิ์แบบนี้ คนไม่มาใช้สิทธิ์ก็ไม่เสียสิทธิ์ 2. ไม่มีการกระตุ้นเตือน เพราะไม่ใช่การสมัครผู้แทนราษฏร 3. ไม่มีการลงคะแนนล่วงหน้า คนก็ไม่มาใช้สิทธิ์ อยู่ กทม. ก็ไม่กลับบ้าน 4.เรื่องนี้เปรียบเทียบกับการเลือกตั้งไม่ได้ เพราะการเลือกตั้งประชาชนอยากเห็นรัฐบาลเปลี่ยนแปลง และ 5.เรื่องรัฐธรรมนูญพี่น้องส่วนหนึ่งมองเป็นเรื่องไกลตัว องค์ประกอบทั้งหมดนี้มาคิดดูแล้วจะได้หรือ 24.6 ล้านเสียง "ร.ต.อ.เฉลิมระบุ
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากทำประชามติไม่ผ่านรัฐบาลจะต้องแสดงความรับผิดชอบหรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิมปฏิเสธที่จะตอบคำถาม โดยกล่าวเพียงว่า เหตุการณ์ยังมาไม่ถึง ส่วนรัฐบาลจะเปลี่ยนใจไม่ทำประชามติหรือไม่ต้องไปถามนายกรัฐมนตรี
"นิคม" แนะรัฐขนคนลงประชามติ
นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภาให้สัมภาษณ์เสนอเป็นทางออกให้แก่ฝ่ายรัฐบาลที่กังวลต่อจำนวนผู้จะออกมาใช้สิทธิ์ลงประชามติแก้รัฐธรรมนูญ ว่าประเด็นการทำประชามติในแต่ละพื้นที่ให้ผ่านไม่ใช่เรื่องยาก เพราะช่วงปี 2540 สมัยที่ตนเป็นผู้อำนวยการเขตสาทร เคยช่วยทำเรื่องประชามติ ดังนั้นขณะนี้รัฐบาลมีเครื่อง มือ มีกลไก เช่น ฝ่ายราชการ และฝ่ายจังหวัดรวมถึง ส.ส.ต้องใช้กลไกดังกล่าวออกมารณรงค์ให้ความรู้ต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญแก่ประชาชน
"ท้ายสุดหากทำประชามติไม่ผ่าน รัฐบาลต้องรับผิดชอบ แต่ไม่ถึงขั้นต้องลาออก แต่อาจเป็นความรับผิดชอบที่ต้องหยุดแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ มาเป็นแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราโดยรัฐธรรมนูญรายมาตราที่จะแก้ต้องหารือในที่ประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อให้ข้อสรุปที่ตรงกัน"นายนิคม กล่าว
โพลล์ค้านใช้ 2 พันล้านทำประชามติ
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น"นิด้าโพล"สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "การทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ" ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 18-19 ธันวาคม 2555 จากประชารชนทั่วประเทศ จำนวน 1,226 หน่วย ตัวอย่าง พบว่า ประชาชนร้อยละ 66.37 คาดว่าจะไปลงมติในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รองลงมา ร้อยละ 24.66 คาดว่าจะไม่ไปลงมติ และอีกร้อยละ 8.97ไม่แน่ใจว่าจะไปลงมติหรือไม่สำหรับลักษณะการลงมติในการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ประชาชนร้อยละ 46.32 ระบุว่า จะลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญ รองลงมา ร้อยละ 28.23 จะลงมติไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญ อีกร้อยละ 21.71 ยังไม่แน่ใจว่าจะลงมติแบบใด มีเพียงร้อยละ 3.74ที่จะลงมติ โหวตโน ไม่ออกเสียง
เมื่อถามความคิดเห็นเกี่ยวกับการที่รัฐบาลจะใช้งบประมาณ 2,000 ล้านบาท ในการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ พบว่า ประชาชน ร้อยละ 56.61 ไม่เห็นด้วย เพราะเป็นการใช้งบประมาณที่มากเกินไป ควรเอาไปใช้ในการพัฒนาประเทศด้านอื่นๆ มากกว่า และร้อยละ 28.66 เห็นด้วย เพราะถ้าสามารถทำให้ความวุ่นวายทางการเมืองหรือความขัดแย้งจบลง
เมื่อถามถึงความคุ้มค่ากับการที่รัฐบาลจะใช้งบประมาณ 2,000 ล้านบาท ในการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น พบว่าประชาชนร้อยละ 54.52 ระบุไม่คุ้มค่า เพราะเป็นการทำเพื่อผลประโยชน์ของนักการเมืองมากกว่า
"อภิสิทธิ์" แนะรัฐเลิกตั้งธงช่วย"ทักษิณ"
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฏรและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวถึงกรณีรัฐบาลยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับการทำประชามติในการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับว่า ขอย้ำอีกครั้งว่า ถ้าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เกิดความเป็นประชาธิปไตยหรือปรับปรุงระบบมีหลายวิธีการ แต่สิ่งที่รัฐบาลทำอยู่จนเกิดความสับสนวุ่นวาย เพราะไปผูกติดกับคดีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ถ้าละตรงนี้แล้วตั้งหลักใหม่ และคุยกันระหว่างพรรคการเมือง ภาคประชาชนว่าจะปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อส่วนรวมอย่างไร คิดว่าจะเดินได้ง่ายกว่า แต่ต้องเลิกแนวคิดเดิมที่จะรื้อทั้งฉบับก่อน เพราะในเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญมีฐานอยู่แล้ว เบื้องต้นต้องพูดเรื่องจริงก่อนว่า ถ้าไม่หยุดพยายามจะล้างผิดอย่างไรก็สับสน เหมือนกับกฏหมายล้างผิดที่เสนออยู่ในขณะนี้ที่อ้างว่ารัฐบาลไม่เกี่ยว แต่แท้จริงแล้วเสียงข้างมากในสภาคือผู้สนับสนุนรัฐบาล นายกรัฐมนตรีเป็นผู้กำหนดได้ จะโยนความรับผิดชอบให้สภาไม่ได้ เพราะเป็นกลุ่มคนเดียวกัน จึงต้องแสดงจุดยืนให้ชัดว่าต้องการทำอะไร
ศาลชี้"อีซา"ถูกปืนยิงจากฝั่งทหาร
เมื่อเวลา 09.00 น. ศาลอาญา ถนน รัชดาภิเษก นัดฟังคำสั่งคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 8 ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนการชันสูฦตร ศพ ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ หรือ อีซา อายุ 14 ปี ซึ่งถูกยิงจากด้านหลังทะลุช่องท้อง เสียชีวิตบริเวณสถานีแอร์พอร์ตลิงค์ ซอยหมอเหล็ง หน้าโรงภาพยนตร์โอเอ ถนนราชปรารภ เมื่อกลางดึก วันที่ 15พฤษภาคม ซึ่งเป็นเหตุการณ์เดียวกันกับนายพัน คำกอง ที่ศาลมีคำสั่งว่า สาเหตุมาจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ ในช่วงที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและสลายการชุมนุม ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและสลายการชุมนุม โดยศาลพิเคราะห์จากคำเบิกความและพยานหลักฐานแล้วสรุปว่า ผู้ตาย คือ ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ ถูกยิงจากกระสุนความเร็วสูงที่ใช้กับอาวุธปืนเอ็ม 16 ขณะออกมายืนดูรถตู้ของนายสมร ไหมไทย ที่ถูกยิงบาดเจ็บสาหัสเช่นกัน หลังพยายามฝ่าฝืนเข้าไปยังพื้นที่ต้องห้าใ
หลังศาลมีคำสั่ง นางสุชาดา สตังดี เจ้าหน้าที่องค์กรสงเคราะห์มุสลิมนานาชาติ ซึ่งเป็นผู้ดูแล ด.ช.คุณากร กล่าวว่า ด.ช.คุณากร เป็นเด็กพิเศษและสมาธิสั้น มักจะหายไปจากมูลนิธิเป็นประจำ
ผบ.ทสส.แจงสลายม็อบทำตามก.ม.
พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผบ.ทสส.เป็นประธานการประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพ โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ และ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เข้าร่วมประชุม
จากนั้น พล.อ.ธนะศักดิ์ได้แถลงข่าวพร้อมผู้บัญชาการเหล่าทัพ ถึงกรณีศาลอาญามีคำสั่งต่อผลการไต่สวนชันสูตรพลิกศพ ด.ช.คุณากร หรือ อีซา ว่าเสียชีวิตจากกระสุนปืนของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งศูนย์อำนวยแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ว่า ขณะนี้เรื่องดังกล่าวอยู่ในกระบวนการ ซึ่งีมผู้รับผิดชอบดำเนินการอยู่แล้ว ในส่วนของเหล่าทัพก็สนับสนุนอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการขอข้อมูลหรือเรื่องอื่นๆ ก็ให้ความร่วมมือทั้งหมด ไม่มีปัญหาเรามั่นใจในกระบวนการยุติธรรม
อัยการไม่อนุญาต20พธม.ขอเลื่อนคดี
ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถนนรัชดาภิเษก เมื่อเวลา 10.00 น. น.ส.พวงทิพย์ บุญสนอง และนายนิติธร ล้ำเหลือ ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตร ประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้เข้าพบนายประยุทธ ป.สัตยารักษ์ อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 10 เพื่อขอเลื่อนนัดการส่งตัวผู้ต้องหาฟ้องต่อศาลอาญารวม 3 คดี ได้แก่ 1.คดีร่วมกับแกนนำพันธมิตรรวม 20 คนชุมนุมหน้าอาคารรัฐสภา เมื่อวันที่ 5-7 ตุลาคม 2551, 2.คดี พล.ต.จำลอง ศรีเมือง และแกนนำพันธมิตร รวม 6 คน นำกลุ่มผู้ชุมนุมบุกเข้าไปทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 26-31 สิงหาคม 2551 และ 3.คดีหมิ่นประมาท พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ทำนองว่าเป็นคนทุจริตและหลบเลี่ยงการจ่ายภาษี บนเวทีปราศรัยระหว่างการชุมนุมต่อเนื่อง 193 วัน เมื่อปี 2551
นายประยุทธ กล่าวว่า ได้นัดให้ผู้ต้องหาทั้ง 3คดี เพื่อมาฟังคำสั่งฟ้องและนำตัวผู้ต้องหาไปฟ้องต่อศาลอาญา แต่ปรากฏว่าไม่มีผู้ต้องหามาตามนัด ซึ่งทนายความแกนนำพันธมิตรได้ขอเลื่อนนัด อ้างว่าแกนนำพันธมิตรคนสำคัญติดธุรกิจเร่งด่วน ประกอบกับศาลอาญามีนัดสืบพยานโจทก์คดีก่อการร้าย จึงไม่อยากให้มวลชนเสื้อเหลืองและแดงเผชิญหน้ากัน อย่าไรก็ตาม พิจารณา หนังสือขอเลื่อนการส่งตัวผู้ต้องหาแล้ว เห็นว่าที่ผ่านมาอัยการอนุญาตให้เลื่อนคดีไปตามเหตุผลและความจำเป็นที่แจ้งมาเป็นเวลาพอสมควรแล้วจึงไม่อนุญาตให้เลื่อนการส่งตัวผู้ต้องหาอีก พร้อมกับมีหนังสือแจ้งให้พนักงานสอบสวนไปดำเนินการนำตัวผู้ต้องหาทั้งหมดมาส่งอัยการ เพื่อฟ้องศาลโดยด่วน ขัดข้องประการใดเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถออกหมายเรียก หรือขอศาลอนุมัติหมายจับต่อไปตามประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้
นอกจากนี้คดี พล.ต.จำลอง และนายสนธิ รวมกับพวก 9 คนที่ตกเป็นผู้ต้องหาข้อหาร่วมกันเป็นกบฏ อัยการฝ่ายคดีอาญา 5 ก็มีคำสั่งให้เลื่อนฟังการสั่งคดีไปเป็นวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2556 เช่นเดียวกับคดีแกนนำและแนวร่วมพันธมิตรรวม 114 ราย บุกสนามบินดองเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิ อัยการคดีอาญา 9 ก็ ให้เลื่อนฟังการสั่งคดีไปเป็นวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2556--จบ--
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น