ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2555 |
ผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ยังเป็นข้อ ถกเถียงอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะ ผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมในภาคอีสานที่ใช้แรงงานคนเป็นหลักแต่มีผลกำไรน้อย เนื่องจากยังยากที่จะปรับตัวในระยะสั้น 13 ธันวาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมี "ประเสริฐ บุญชัยสุข" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน ร่วมกับคณะกรรมการ ประธานและรองประธานหอการค้า 20 จังหวัดภาคอีสานตอนบนและตอนล่าง เปิดข้อหารือในประเด็นดังกล่าวอย่างเข้มข้น "ประเสริฐ" บอกว่า รัฐบาลมีความเป็นห่วงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมากับธุรกิจเอสเอ็มอี (SMEs) จากนโยบายค่าแรงงาน 300 บาท จึงพยายามพิจารณามาตรการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือ พร้อมทั้งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ขึ้นมาพิจารณาหามาตรการบรรเทาผลกระทบ โดยมีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เป็นประธาน "ผมจะรับฟังข้อมูลจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งพิจารณามาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมจากมาตรการเดิมที่มีอยู่แล้ว ขอเรียนว่ารัฐบาลพยายามรับฟังทุกแนวทางเพื่อประคับประคองธุรกิจเอสเอ็มอีอย่างเต็มที่" ด้าน "จักริน เชิดฉาย" ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา มองว่า การปรับ ค่าจ้าง 300 บาท ควรทำแบบขั้นบันไดภายใน 3 ปี ไม่ควรปรับขึ้นรวดเดียว ทั้งหมด เพื่อช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการ อยู่ได้ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีและ จังหวัดที่มีอัตราค่าแรงงานต่ำ ซึ่งต้องแบกภาระการจ่ายค่าแรงงาน 300 บาทอย่างรวดเร็ว "จักริน" ยังกล่าวว่า มาตรการเยียวยาเอสเอ็มอีของรัฐบาล เรื่องการให้กู้ยืมเงินจากกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานได้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ 0.1% ควรมีการจัดตั้งเป็นกองทุน โดยดึงเงินจากกองทุนประกันสังคม เพราะมีวงเงินสะสมอยู่ในกองทุนนี้จำนวนมากเพื่อช่วยเหลือกลุ่มธุรกิจ เอสเอ็มอีในการลดต้นทุนการผลิตลง เพราะวันนี้ธุรกิจที่มีการขยายตัวและอยู่รอดไม่ใช่ธุรกิจค้าปลีกหรือเอสเอ็มอี แต่เป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และรถยนต์ "ทวิสันต์ โลณานุรักษ์" อดีตประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า นครราชสีมามีฐานการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญ การปรับขึ้นค่าแรง 300 บาทได้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ล่าสุดบริษัท โคราชเดนกิ จำกัด ซึ่งผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์สำเร็จรูป ทั้งทีวี วิดีโอ ดีวีดี รวมทั้งผลิตชิ้นส่วนพลาสติกสำหรับผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ได้แจ้งปิดกิจการพร้อมทั้งเลิกจ้างพนักงานกว่า 600 คน นอกจากนี้ยังมีโรงงานอีก 2-3 แห่งในพื้นที่ต่างอำเภอต่างปิดกิจการไปแล้วเช่นกัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่านโยบายดังกล่าวมีผลกระทบกับผู้ประกอบการที่ต้องใช้แรงงานเป็นกำลังสำคัญในการผลิต "ปราณี ธีรภานุ" ประธานหอการค้าจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ขณะนี้โรงงานผลิตรองเท้าในพื้นที่ จ.ขอนแก่น เริ่มย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศกัมพูชา ส่วนกิจการประกอบชิ้นส่วนสายไฟรถยนต์ซึ่งมีฐานการผลิตในประเทศไทย 7 แห่ง กำลังหาโอกาสในการสร้างชิ้นงานและฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะที่เกาะกง กัมพูชา รวมทั้ง สปป.ลาว และเวียดนาม เพราะค่าแรงงาน ถูกกว่าไทยมาก "สิทธิพล สุทธิศักดิ์ภักดี" เลขาธิการหอการค้าจังหวัดชัยภูมิ บอกว่า ผลกระทบจากค่าแรง 300 บาท ทำให้โรงงานสิ่งทอในชัยภูมิประมาณ 20 โรงงาน ทยอยย้ายฐานการผลิตไปตั้งอยู่ที่ประเทศเพื่อนบ้าน จนปัจจุบันเหลือเพียง 5 โรงงานเท่านั้นที่ยังเปิดดำเนินการอยู่ จึงอยากให้รัฐบาลพิจารณามาตรการเยียวยาเร่งด่วน โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่กำลังจะได้รับผลกระทบอย่างมาก นี่คือผลกระทบจากนโยบายค่าแรง 300 บาท ที่อาจสั่นสะเทือนเสถียรภาพรัฐบาลก็เป็นได้ |
วันพุธที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2555
ค่าแรง 300 บาท พ่นพิษอีสาน สิ่งทอ-อิเล็กทรอนิกส์ปิดตัว ย้ายฐานระนาว เมื่อ ๒๗ ธ.ค.๕๕
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น