วันพุธที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2555

สรุปวิเคราะห์ข่าวการเมือง วันที่ 26 ธ.ค.55



สรุปข่าวการเมือง วันที่ 26 ธ.ค.55

นายอุดมเดช รัตนเสถียร ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เปิดเผยว่า เป็นเรื่องปกติที่ทุกพรรคจะประชุมกันก่อนเปิดประชุมรัฐสภา ซึ่งเมื่อวานนี้ สมาชิกในพรรคหลายคน ก็มีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน มีทั้งสนับสนุนให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ทำประชามติและโหวตวาระ 3  ซึ่งเรื่องดังกล่าว ต้องรอ 5 คณะทำงานที่รัฐบาลตั้งขึ้น ศึกษารายละเอียดก่อนว่า แนวทางใดดีที่สุด อีกทั้งทางพรรค ยังจะเปิดโอกาสให้สมาชิกหารืออีกครั้งในงานสัมมนาที่  เขาใหญ่ วันที่ 6-7 ม.ค.56 เพื่อให้เรื่องดังกล่าวตกผลึก พร้อมระบุว่า การทำประชามติของรัฐบาล ไม่ได้ทำเพราะศาลรัฐธรรมนูญบังคับ แต่ทำเพราะต้องการลดความขัดแย้ง ส่วนความคิดเห็นของ หลาย ๆ คน เช่น ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง  ก็สามารถทำได้ เพราะหากทำประชามติไม่ผ่าน ก็สามารถแก้รายมาตราได้อยู่แล้ว
ส่วนนางสดศรี สัตยธรรม กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่า รัฐบาลอาจมีการระดมคนให้ออกมาใช้สิทธิ์ออกเสียงประชามติว่า การออกเสียงประชามติ รัฐบาลเป็นผู้จัดการ รัฐบาลต้องรณรงค์ให้ประชาชนออกมาลงเสียงประชามติ ทั้งนี้ เพื่อที่จะบอกข้อดี ข้อเสียของการทำประชามติ ซึ่งถือว่าไม่ขัดต่อหลักกฎหมาย แต่หากรัฐบาลระดมมวลชน หรือขนคนออกมาใช้สิทธิ์ออกเสียงประชามติ เรื่องนี้ถือว่าผิดกฎหมาย ตามมาตรา 38 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการทำประชามติ ที่ระบุไว้ว่า ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ตำแหน่งหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ ที่ได้รับมอบหมายโดยมิชอบด้วยกฎหมาย กระทำการใดๆ อันเป็นการทำให้การออกเสียงไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ซึ่งไม่สามารถกระทำได้
นายคมสัน โพธิ์คง อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เปิดเผยว่า  ไม่ต้องตีความเพิ่มเติมเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในการทำประชามติตามมาตรา 165 เพราะเรื่องดังกล่าวชัดเจนอยู่แล้ว เพียงแต่มีคนพยายามเข้าใจการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แบบคลาดเคลื่อน ว่าเป็นการแนะนำ ซึ่งหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ มีเพียงวินิจฉัยเท่านั้น และไม่มีหน้าที่ดังกล่าว จึงอยากแนะนำให้กลับไปดูคำวินิจฉัย ในหน้า 18 และหน้า 25 จะเห็นได้ว่าคำวินิจฉัยของศาลในเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 291 จนนำไปสู่การเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ยังไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งการวินิจฉัยเช่นนี้ ก็ชี้ว่าขัดรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน ส่วนเรื่องการทำประชามติ และแก้รายมาตรา เป็นเพียงเหตุผลประกอบเท่านั้น พร้อมมองว่า คนเสื้อแดงและรัฐบาลตีความผิดทั้ง 2 ฝ่าย เพราะเมื่อศาลตีความแล้ว จะเดินหน้าโหวตวาระ 3 หรือ ทำประชามติ ก็ขัดต่อมาตรา 165 วรรค 4 อย่างชัดเจน ส่วนกรณีที่นักกฎหมายพรรคเพื่อไทยตีความให้ทำประชามติก่อนนั้น คิดว่า เป็นการมองผลประโยชน์และขึ้นอยู่กับความต้องการของคนแดนไกลมากกว่า
แนวโน้มคาดว่าถ้ามีการแก้รัฐธรรมนูญ อาจถูกยื่นศาลอีกครั้งว่า ส่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย และหากเดินหน้าทำประชามติต่อ อาจต้องฝ่าด่านศาลปกครองสูงสุด ในการวินิจฉัยว่ากระทำชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ส่วนการตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาการทำประชามตินั้นยังถือว่าไม่ผิดหลักการ และคิดว่ารัฐบาลอาจรู้ตัวแล้วว่ามีปัญหาด้านข้อกฎหมาย จนต้องหาช่องทางเพื่อทำให้ถูกต้อง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น