ท่าทีของรัฐบาลเพื่อไทยในการใช้ “การออกเสียงประชามติ” เป็นเครื่องมือสนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญ 2550 นั้นชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ถึงแม้การประชุมคณะรัฐมนตรีรอบล่าสุด 18 ธันวาคม 2555 จะยังไม่นำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีก็ตาม แต่พรรคเพื่อไทยเองก็ตั้งคณะทำงานเพื่อประเมินแนวทางของเรื่องนี้อย่างจริงจังแล้ว
รู้จัก “การลงประชามติ”
การออกเสียงประชามติ หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า referendum ถือเป็นเรื่องที่ใหม่ของสังคมไทย แต่ไม่ใช่เรื่องใหม่เลยในระดับนานาชาติ เพราะการตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ ของประเทศ เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การเปลี่ยนระบบการปกครอง หรือการแยกตัวเป็นอิสรภาพ ต่างใช้การลงประชามติเป็นเครื่องมือชี้ขาดด้วยกันทั้งสิ้น ตัวอย่างเช่น ประเทศออสเตรเลียเคยจัดการลงประชามติมาแล้วถึง 44 ครั้งในส่วนของประเทศไทยเองได้มีบทบัญญัติเรื่องการลงประชามติในรัฐธรรมนูญมานานแล้ว ตั้งแต่ฉบับ พ.ศ. 2492 เป็นต้นมาเฉพาะในเรื่องของการแก้รัฐธรรมนูญ และในฉบับ พ.ศ. 2540 ที่อนุญาตให้คณะรัฐมนตรีขอมติประชาชนในประเด็นอื่นๆ ได้ด้วย แต่ในการจัดทำประชามติจริงๆ กลับมีเพียงครั้งเดียวคือวันที่ 19 สิงหาคม 2550 โดยรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2549 กำหนดให้ออกเสียงประชามติยอมรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 ซึ่งมีประชาชนออกมาลงคะแนน 57.61% จากผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด 45 ล้านคน และผลคือผู้มีสิทธิออกเสียง 56.69% เห็นชอบ (ข้อมูลจากเว็บไซต์ ก.ก.ต.)
เงื่อนไขของการลงประชามติในไทย
หลังจากรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 มีบทบังคับใช้ ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้กำหนดสิทธิให้ “ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง” สามารถออกเสียงประชามติได้ โดยอยู่ในมาตรา 165 ในหมวด การมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงของประชาชนสำหรับแผนการลงประชามติของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย จะอยู่ในกรณีที่ (๑) เรื่องการออกเสียงที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรีมาตรา ๑๖๕
ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งย่อมมีสิทธิออกเสียงประชามติ การจัดให้มีการออกเสียงประชามติให้กระทำได้ในเหตุ ดังต่อไปนี้
(๑) ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นว่ากิจการในเรื่องใดอาจกระทบถึงประโยชน์ได้เสีย ของประเทศชาติหรือประชาชน นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีอาจปรึกษาประธาน สภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภาเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีการออก เสียงประชามติได้
(๒) ในกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติให้มีการออกเสียงประชามติ
การออกเสียงประชามติตาม (๑) หรือ (๒) อาจจัดให้เป็นการออกเสียงเพื่อมีข้อยุติ โดยเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติในปัญหาที่จัดให้มีการออก เสียงประชามติ หรือเป็น การออกเสียงเพื่อให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรีก็ได้ เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ
การออกเสียงประชามติต้องเป็นการให้ออกเสียงเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในกิจการ ตามที่จัดให้มีการออกเสียงประชามติ และการจัดการออกเสียงประชามติในเรื่องที่ขัดหรือแย้งต่อ รัฐธรรมนูญหรือเกี่ยวกับตัวบุคคลหรือคณะบุคคล จะกระทำมิได้
ก่อนการออกเสียงประชามติ รัฐต้องดำเนินการให้ข้อมูลอย่างเพียงพอ และให้บุคคล ฝ่ายที่เห็นชอบและไม่เห็นชอบกับกิจการนั้น มีโอกาสแสดงความคิดเห็นของตนได้อย่างเท่าเทียมกัน
หลักเกณฑ์และวิธีการออกเสียงประชามติให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบ รัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ซึ่งอย่างน้อยต้องกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการออกเสียง ประชามติ ระยะเวลาในการดำเนินการ และจำนวนเสียงประชามติ เพื่อมีข้อยุติ
ส่วนรายละเอียดของการลงประชามติตามมาตรา 165 ในรัฐธรรมนูญ ถูกกำหนดไว้ใน พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. ๒๕๕๒ ที่ผ่านเป็นกฎหมายมีผลบังคับใช้ในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
สรุปเนื้อหา ‘พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ’
อ่านฉบับเต็มได้จากเว็บไซต์วุฒิสภาไทย หรือ Thailand Lawyer Centerสาระสำคัญของ พ.ร.บ. มีดังนี้
- นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ประกาศให้มีการออกเสียงลงประชามติ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา และต้องกำหนดเรื่องที่ลงประชามติให้ชัดเจน
- รูปแบบของการลงประชามติ มีได้ 2 แบบ คือ (1) หาข้อยุติจากเสียงข้างมาก หรือ (2) ลงประชามติเพื่อให้คำปรึกษากับคณะรัฐมนตรี
- กรณีหาข้อยุติ: ต้องมีผู้ออกเสียงมากกว่า 50% ของผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด และเห็นชอบเกิน 50% ของผู้มาลงคะแนน
- กรณีให้คำปรึกษา: ถือเสียงเห็นชอบเกิน 50% ของผู้มาลงคะแนน แต่ไม่จำกัดจำนวนขั้นต่ำของผู้มาออกเสียง
- คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้ดำเนินการลงประชามติ โดยใช้เวลาอยู่ระหว่าง 90-120 วันหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา
- กรณีลงประชามติตามที่คณะรัฐมนตรีประกาศ (มาตรา 165 (1)) ให้ใช้เขตจังหวัดเป็นเขตออกเสียง และให้ ก.ก.ต. กำหนดพื้นที่ “หน่วยออกเสียง” ในระดับย่อย
- ผู้มีสิทธิออกเสียงต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
- เวลาลงคะแนนเสียงคือ 8-16 น. ของวันออกเสียง
- ผู้ที่หลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ หรือใช้อิทธิพลคุกคาม เพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง ออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ออกเสียง หรือเพื่อให้สำคัญผิดในวัน เวลา ที่ออกเสียงหรือวิธีการลงคะแนนออกเสียง มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท
แผนภาพอธิบายการออกเสียงประชามติ (ภาพจาก ก.ก.ต. คลิกเพื่อดูภาพขนาดใหญ่)
คะแนนเสียงเท่าไรจึงถือว่าผ่านการลงประชามติ?
ถ้ารวบรวมรูปแบบของการลงประชามติทั้งหมดที่เป็นไปได้จาก รัฐธรรมนูญ 2550 และ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2552 เราสามารถแบ่งการลงประชามติได้เป็น 3 แบบ ดังนี้- กรณีการออกเสียงประชามติที่จะถือว่ามีข้อยุติในเรื่องที่จัดทำประชามติ (มาตรา 165 (1) ของรัฐธรรมนูญ)
การออกเสียงประชามติในกรณีนี้จะต้องมีผู้มาออกเสียงเป็นจำนวนเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ และจะต้องมีจำนวนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มาออกเสียงในเรื่องที่จัดทำประชามตินั้น - กรณีการออกเสียงประชามติเพื่อให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรี (มาตรา 165 (1) ของรัฐธรรมนูญ)
การออกเสียงประชามติในกรณีนี้ ให้ถือเสียงข้างมากของผู้มาออกเสียงในเรื่องที่จัดทำประชามติ - กรณีการออกเสียงประชามติตามที่กฎหมายบัญญัติ (มาตรา 165 (2) ของรัฐธรรมนูญ)
การออกเสียงประชามติในกรณีนี้ ให้ถือจำนวนคะแนนเสียงตามที่กฎหมายนั้นบัญญัติ แต่ถ้ากฎหมายดังกล่าวมิได้บัญญัติจำนวนคะแนนเสียงไว้ ให้นำความในข้อ 1 และ 2 แล้วแต่กรณี มาใช้บังคับโดยอนุโลม
เงื่อนไขการลงประชามติตามกฎหมายในประเทศไทย (รวบรวมโดย SIU)
ถ้าใช้ตัวเลขผู้มีสิทธิลงคะแนนที่ 46 ล้านคนโดยประมาณ ย่อมแปลว่า- ต้องมีผู้มาออกเสียงขั้นต่ำ 50% หรือประมาณ 23 ล้านคน
- ผู้มาออกเสียงเกิน 50% หรือประมาณ 11.5 ล้านคน จะต้องลงคะแนนเห็นชอบ
ดังนั้นถ้าหากพรรคเพื่อไทยในฐานะเจ้าภาพเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ ไม่สามารถชักจูงให้ผู้มีสิทธิลงคะแนนมาออกเสียงได้ถึง 23 ล้านเสียง ก็จะทำให้การลงประชามติครั้งนี้ไม่มีความหมาย และพลอยเป็นกระแสตีกลับทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ซึ่งอาจใช้ช่องทางของรัฐสภาได้อีกทางหนึ่ง) ต้องหยุดชะงักไปอีกนานเลยก็เป็นได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น