'สดศรี' ชี้ทำประชามติส่อเค้าวุ่นวาย หลังถูกตีความข้อกฎหมาย หวั่นปชช.เกิดความสับสน
ด้าน 'วราเทพ' นัดถกนัดแรกทีมศึกษาทำประชามติ 24 ธ.ค.นี้
21 ธ.ค.55 นางสดศรี สัตยธรรม กกต. ด้านกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ กล่าวบรรยายพิเศษหัวข้อเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติ ให้กับนักศึกษาหลักสูตรการพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง รุ่นที่ 4 ตอนหนึ่ง ว่า การเดินหน้าทำประชามติของไทยในขณะนี้ส่อเค้ามีปัญหาความวุ่นวาย เนื่องจากมีคนหัวหมอออกมาตีความรัฐธรรมนูญ มาตรา 165 และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ มาตรา 9 ถึงประเด็นจำนวนของการออกเสียงว่าต้องได้เท่าไร ซึ่งประเด็นนี้สร้างความสับสนให้กับประชาชนในสังคมเป็นอย่างมาก ซึ่งหากรัฐบาลจะเดินหน้าการจัดทำประชามติ ก็ต้องมีความชัดเจนในเรื่องประเด็นที่จะขอความเห็นจากประชาชน เพราะหากประชาชนไม่เข้าใจ ก็จะเกิดปัญหาว่า การทำประชามติอาจเป็นประชามติที่ถูกกฎหมายหรือไม่
นางสดศรี กล่าวอีกว่า แม้ในอดีตที่ผ่านมา เราจะเคยมีการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญมาแล้ว ในปี 50 สมัยรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ก็ไม่ได้ใช้กฎหมายประชามติ ที่มีผลบังคับใช้ในขณะนี้ โดยผลการทำประชามติมีประชาชนมาใช้สิทธิ์ออกเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีเสียงออกสิทธิ์ในขณะนั้น ขณะเดียวกันจำนวนผู้เห็นชอบกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ์ แต่ก็มีจำนวนผู้ที่ไม่เห็นชอบสูงถึง 10 ล้านคะแนน ซึ่งตนทราบว่าขณะนั้นพล.อ.สุรยุทธ์ มีความกังวลมาก เกรงว่าประชามติแล้วจะไม่ผ่าน ทั้งที่ในเวลานั้นไม่มีฝ่ายค้าน แต่ก่อนการออกเสียงประชามติ รัฐบาลต้องทำงานกันอย่างหนัก การดำเนินการต่างๆ แม้จะมีผู้สนับสนุนการทำงานของคมช.แต่นายกฯก็ยังต้องตั้งหน่วยงานขึ้นมาทำงานที่ใกล้เคียงกับกกต.โดยให้หน่วยงานนี้ไปประชาสัมพันธ์ ทำความเข้าใจถึงผลดี ผลเสีย ของการผ่านร่างรัฐธรรมนูญ แต่ที่สุด ก็ยังมีคนไม่เห็นชอบถึง 10 ล้านคน โดยเฉพาะในบางจังหวัด เช่น จ.บุรีรัมย์ ไม่เห็นชอบทั้งจังหวัด กรณีดังกล่าวสะท้อนได้ว่าการทำประชามติไม่ได้ทำง่ายๆ
อีกทั้งสภาวะบ้านเมืองในขณะนี้มีความแตกแยกในทางความคิดสูงมาก การทำงานของรัฐบาลมีฝ่ายค้านคอยตรวจสอบ หรือเรียกได้ว่าเป็นการต่อสู่กันเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจรัฐ สู้กันเพื่อประโยชน์ของแต่ละพรรคการเมือง ทำให้แต่ละค่ายออกมารณรงค์เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญไปในทิศทางที่ต่างกัน ดังนั้นการจะเอาผลคะแนนในการออกเสียงประชามติปี 50 มาเป็นตัวเทียบเคียงว่าการทำประชามติที่จะเกิดขึ้นว่าจะได้คะแนนเสียงที่เห็นชอบในการแก้ไขรัฐธรรมนูญคงไม่ได้
'วราเทพ' นัดถกทีมศึกษาทำประชามติ 24 ธ.ค.นี้
นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะหนึ่งในคณะทำงานศึกษาแนวทางการทำประชามติ ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ตั้งขึ้น กล่าวถึงการทำงานของคณะทำงานชุดดังกล่าวว่า จะประชุมครั้งแรกในวันจันทร์ ที่ 24 ธ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล เวลา 15.00 น. ซึ่งจะเป็นการรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย ส่วนจะเป็นการทำประชามติเพื่อขอข้อยุติหรือขอคำปรึกษาจากประชาชนหรือไม่นั้น ส่วนตัวคิดว่าน่าจะเป็นการทำประชามติเพื่อขอข้อยุติมากกว่า แต่ก็ต้องให้มีการประชุมคณะทำงานก่อน และจะต้องดูข้อกฎหมายต่างๆ ที่มีการกำหนดว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง
รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะทำงานยังมีระยะเวลาที่จะพิจารณาในเรื่องนี้อยู่ รวมถึงต้องมาพิจารณาว่าจะตั้งคำถามอย่างไร ให้ได้ข้อยุติและเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย เพราะการตั้งคำถามต้องเป็นคำถามที่ทุกคนเห็นด้วย ไม่เช่นนั้นอาจทำให้เกิดการปฏิเสธ และการทำประชามติอาจไม่ได้รับความร่วมมือ
ส่วนจะมีการนำความเห็นของคณะทำงานดังกล่าว เสนอเข้าการประชุม ครม. ในวันที่ 25 ธ.ค.นี้หรือไม่ นายวราเทพ กล่าวว่า คงไม่ทัน เพราะประชุมในวันจันทร์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็ต้องกลับไปดูในรายละเอียด หากรีบประกาศให้ทำประชามติ แล้วหน่วยงานต่างๆ ไม่พร้อม จะทำให้การดำเนินการไม่รอบคอบและอาจจะไม่สมบูรณ์ ดังนั้นคงต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีความพร้อมก่อนที่จะประกาศให้มีการทำประชามติ
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ไม่เห็นด้วยกับการทำประชามติ รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยังไม่ได้มีการพูดคุยในเรื่องนี้กับ ร.ต.อ.เฉลิม อย่างเป็นทางการ แต่ทราบว่าร.ต.อ.เฉลิม จะเสนอแนวทางของท่านในที่ประชุมพรรค ส่วนที่ประธานสภาฯ ออกมา สนับสนุนให้มีการแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา ก็ถือเป็นความคิดเห็นที่คณะทำงานต้องรับฟัง ส่วนผลจะเป็นอย่างไรก็ไม่อยากให้คาดการล่วงหน้า
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น