พท.กางปฏิทินแก้รธน. ไม่ถึง 2 ปีเสร็จ เสื้อแดงพรึ่บเขาใหญ่แม้วโฟนหนุนประชามติผุดกองทุนสวัสดิการ
| |
พท.กางปฏิทินแก้ รธน.เสร็จไม่เกิน 2 ปี "แดง" แน่นเขาใหญ้ "แม้ว"โฟนอินหวาน ผุดกองทุนหมู่บ้าน ตร.สอบปากคำ "นิพิฏฐ์-พี่ราเมศ" ยันปมการเมือง แนวทางการทำประชามติ และกรอบเวลาการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลมีความชัดเจนขึ้นไปอีกขั้น โดย นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะคณะทำงานเพื่อศึกษาแนวทางการออกเสียงประชามติ ระบุในรายการ "รัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน" เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม ที่ผ่านมา นายวราเทพกล่าวถึงกรอบเวลาการทำประชามติ และแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า การออกเสียงประชามติจะดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดคือ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2552 ระบุกรอบเวลา 90-120 วัน โดยเวลา 90 วัน เป็นช่วงการเผยแพร่ข้อมูลให้ประชาชนทราบอย่างทั่วถึง หลังจากนั้นอีก 30 วัน เป็นช่วงที่จะมีการออกเสียงประชามติ ดังนั้นประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อคือ ความพร้อมของฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หน่วยงานที่เผยแพร่ข้อมูล และฝ่ายกฎหมาย ที่ต้องดำเนินการอย่างรัดกุม ไม่ให้มีปัญาการทักท้วงหรืออุปสรรคต่างๆ ตามมาภายหลัง ดังนั้นช่วง 120 วันต้องพิจารณาในรายละเอียดเพื่อให้เกิดความปลอดภัยที่สุด ส่วนหัวข้อการทำประชามติอาจเป็นการสอบถามว่าควรแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือไม่เท่านั้น ส่วนที่หลายฝ่ายสอบถามว่าควรเพิ่มว่าจะมีประเด็นใดในรัฐธรรมนูญที่แก้ไขด้วยนั้น เห็นว่าในรายละเอียดเป็นสิ่งที่สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จะพิจารณา "วราเทพ" ชี้ รธน.เสร็จไม่เกิน 2 ปี "ช่วงเวลา 1 ปีเศษ ไม่ถึง 2 ปีหลังจากนี้เราจะได้เห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แน่นอน เพราะด้วยระยะเวลาการทำงาน จะพบว่า คณะทำงานพิจารณาแนวทางทำประชามติ 1 เดือน หลังจากนั้นอีก 4 เดือนเป็นการทำประชามติตามขั้นตอนของกฎหมาย และเมื่อได้ผลประชามติแล้วรัฐสภาก็จะลงมติในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 และถึงขั้นตอนของการสรรหา และคัดเลือก ส.ส.ร. ภายใน 120 วัน และให้ ส.ส.ร.ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่อีก 240 วัน" นายวราเทพ กล่าว นายวราเทพกล่าวอีกว่า แปลกใจกับท่าทีของพรรคฝ่ายค้าน ที่ออกมาค้านการทำประชามติเร็วเกินไป ทั้งที่ยังไม่ได้พิจารณาในหัวข้อ ทั้งนี้ การรณรงค์ของฝ่ายค้านที่ให้ประชาชนไม่ออกมาใช้สิทธิ์นั้นไม่ถือว่าเป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย ดังนั้นสิ่งที่ดีคือต้องรณรงค์ให้คนออกมาใช้สิทธิ์ ส่วนบุคคลจะออกเสียงเห็นด้วยหรือไม่นั้น ขอให้เป็นการตัดสินใจโดยอิสระ ส่วนที่หลายฝ่ายประเมินว่าผลของประชามตินั้น จะออกมาเป็นการไม่ยอมรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มองว่าเป็นแค่การคาดการณ์เท่านั้น เพราะขณะนี้ยังมีกลุ่มที่เป็นเสียงเงียบ รอฟังฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยพูดกันอยู่ และหลังจากนั้นกลุ่มเสียงเงียบก็จะออกมาแสดงพลัง เพื่อต้องการเห็นบ้านเมืองสงบ และสร้างทางออกที่ดีแก่สังคม ได้ข้อสรุปประชามติปลาย ม.ค.56 พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานเพื่อศึกษาแนวยทางการออกเสียงประชามติ กล่าวด้วยว่า ในวันที่ 24 ธันวาคม นี้ คณะทำงานจะได้นัดประชุมกันเป็นครั้งแรก ทั้งนี้ก่อนหน้านั้นได้มีการหารือไว้เบื้องต้นแล้วว่า จะใช้ เวลาศึกษาประมาณ 3-4 สัปดาห์ "ผลการศึกษาเรื่องการทำประชามติจะได้ข้อสรุปปลายเดือนมกราคม 2556 และส่วนตัวผมเป็นห่วงเรื่องของจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ์ออกเสียงประชามติ ดังนั้นต้องงร่วมรณรงค์ทำความเข้าใจกับประชาชนว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่เพื่อคนใดคนหนึ่ง รวมถึงช่องทางการทำประชาเสวนาที่ได้ดำเนินการขณะนี้จะเป็นส่วนที่ช่วยสร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชนมากขึ้น" พล.ต.อ.ประชา กล่าว พท.ย้ำจุดยืนแก้ไข รธน.ทั้งฉบับ ร.ท.หญิง สุณิสา เลิศภควัต รองโฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงถึงการแก้รัฐธรรมนูญที่ถูกฝ่ายค้านโจมตีว่า ขอฝากไปยังนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ว่า ในเมื่อโลกไม่ได้สิ้นหรือแตกไปตามที่หลายฝ่ายวิตก จึงอยากขอความร่วมมือจากนายอภิสิทธิ์ให้เลิกสติแตกเรื่อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี รวมทั้งก้าวข้าม พ.ต.ท.ทักษิณ เสียที ที่สำคัญควรทำตัวเป็นตัวถ่วงเพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้โดยเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งเป็นผลพวงจากความขัดแย้งในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ร.ท.หญิง สุณิสา กล่าวว่า ส่วนกรณีที่ระบุว่าพรรคเพื่อไทยยังไม่ตกผลึกเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นก็ไม่เป็นความจริง เพราะพรรคเพื่อไทยมีจุดยืนที่ทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้กับประชาชน และที่แถลงไว้ต่อสภาที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับยกเว้นหมวดพระมหากษัตริย์ โดยมีประชาชนร่างเนื้อหาเองผ่าน ส.ส.ร.ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการเลือกตั้ง และส่วนน้อยมาจากการสรรหาของผู้ทรงคุณวุฒิ ดังนั้น ข้อกล่าวหาหมกเม็ดแก้มาตรา 309 เพื่อล้างคดีให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ เพราะรายละเอียดของเนื้อหาเป็นอำนาจของ ส.ส.ร.ซึ่งไม่สามารถถูกบงการจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ ซัดให้ข้อมูลเท็จคว่ำ"ประชามติ" ร.ท.หญิง สุณิสา กล่าวอีกว่า ขอให้พรรคประชาธิปัตย์เลิกโยงการแก้ไขรัฐธรรมนูญกับ พ.ร.บ.ปรองดอง เพราะนายสมศักดิ์ เกียรติสุรานนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ก็ยืนยันแล้วว่า การนัดประชุมสภาในวันที่ 26 ธันวาคม จะยังไม่มีการพิจารณาพ.ร.บ.ปรองดอง โดยจะเลื่อนร่างกฎหมายสำคัญอื่นเข้ามาก่อน ทั้งนี้ ความพยายามที่จะโยงเรื่องของพรรคประชาธิปัตย์อาจจะเป็นการให้ข้อมูลเท็จและทำให้ประชาชนเกิดความสับสนหรือต้องการให้การออกเสียงประชามติล่มอย่างที่พรรคประชาธิปัตย์ต้องการใช่หรือไม่ เพราะพรรคประชาธิปัตย์แสดงจุดยืนที่จะปกป้องรัฐธรรมนูญปี 2550 มาโดยตลอดเพราะเคยได้เป็นรัฐบาลรวมทั้งเป็นนายกฯ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้โดยไม่สนใจคำเตือนของ นางสดศรี สัตยธรรม กกต. ที่ระบุว่าการโน้มน้าวดังกล่าวอาจทำให้ถูกยุบพรรคได้ ร.ท.หญิง สุณิสา กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า พรรคเพื่อไทยมีความเป็นประชาธิปไตย เรารับฟังความเห็นทุกฝ่าย คนที่เห็นแตกต่างก็ไม่มีปัญหา เมื่อพรรคเพื่อไทยมีมติเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง สมาชิกจะเคารพและให้ความร่วมมือกับมติพรรคในทุกเรื่อง ส่วนกรอบการหารือเรื่องการทำประชามตินั้นจากที่ประสานข้อมูลไปยัง นายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกฯ ทราบว่า วันที่ 24 ธันวาคม คณะทำงานจะมีการหารือกรอบคร่าวๆ ประกอบด้วย 1.การหารือเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติและจัดเวทีประชาเสวนา โดยจะหารือข้อกฎหมายว่าจัดเวทีพร้อมกันได้หรือไม่ เพื่อนำไปสู่ข้อยุติ 2.หารือเรื่องหน่วยงานรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการออกเสียงประชามติ 3.ความรับผิดชอบในการตั้งคำถามการทำประชามติว่าควรจะเป็นหน่วยงานใด และ 4.กรอบเวลาในการออกเสียงประชามติ เพราะเกี่ยวเนื่องกับการออก พ.ร.ฎ.การลงประชามติของรัฐบาล ซึ่งเมื่อรัฐบาลออกพ.ร.ฎ.การลงประชามติแล้วต้องดำเนินการภายใน 120 วัน "สามารถ"แนะแก้รายมาตราแทน นายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย และคณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 กล่าวถึงกรณีความกังวลที่ว่าการทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญปี 2550 อาจไม่ผ่านประชามติเพราะต้อใช้เสียงประชาชนมาออกเสียงถึง 24 ล้านเสียงว่า เชื่อว่า หากรัฐบาลรณรงค์กันอย่างจริงจัง การรณรงค์ให้มีผู้ออกมาใช้สิทธิ์ 24 ล้านเสียงคงไม่ใช่เรื่องยาก เพราะการเลือกตั้ง ส.ส.ทุกครั้งที่ผ่านมา ก็มีจำนวนผู้ไปใช้สิทธิ์ลงคะแนน 50-70% อยู่แล้ว ขณะนี้ประชาชนก็มีความตื่นตัวกันมากเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญขอเพียงพรรคประชาธิปัตย์อย่าทำให้ประชาชนสับสน ไปรณรงค์ขัดขวางไม่ใช้ประชาชนออกไปใช้สิทธิ์เท่านั้น และการบอกไม่ให้ประชาชนออกไปใช้สิทธิ์นั้น เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง นายสามารถกล่าวว่า ข้อเสนอของร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ที่ให้แก้รัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราแทนการทำประชามติสามารถทำได้ หากมีการเสนอญัตติเข้ามา แต่ส่วนตัวคิดว่า หากกลัวว่าประชามติจะไม่ผ่านเพราะต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์มากถึง 24 ล้านเสียง ก็อยากเสนอทางเลือกต่อที่ประชุม ส.ส.พรรคเพื่อไทยในวันที่ 25 ธันวาคม ว่า ให้ชะลอการลงมติวาระ 3 ไว้ก่อน แล้วนำร่างการเสนอแก้ไขรายมาตราของ ร.ต.อ.เฉลิม เสนอต่อที่ประชุมสภาเมื่อมีการแก้ไขรายมาตราเท่าที่จำเป็นจนเวร็จแล้วก็ค่อยไปโหวตคว่ำวาระ 3 ที่ค้างอยู่ในภายหลัง เพื่อตัดปัญหาความกังวลทุกอย่าง เพราะการทำประชามติต้องใช้งบถึง 2,000 ล้านบาท หากทำไปแล้วไม่ผ่านรัฐบาลก็ต้องถูกเรียกร้องให้แสดงความรับผิดชอบตามมาอย่างแน่นอนแต่ก็ขึ้นอยู่กับที่ประชุมจะเห็นอย่างไร "ขวัญชัย"แก้ รธน.หวั่นยุบพรรค นายขวัญชัย สาราคำ หรือ ไพรพนา ประธานชมรมคนรักอุดร กล่าวก่อนเดินทางไปร่วมชุมนุม นปช.ที่โบนันซ่า เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ชมรมคนรักอุดรถือว่าเป็นคนรากหญ้าจึงต้องมองในภาพรวม เสียงส่วนใหญ่เอาอย่างไร เราพร้อมที่จะเดินตามเสียงนั้น และวันนี้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้แนวทางกับรัฐบาลไป 9 ข้อ และจะมีการประชุมพรรคเพื่อไทยในวันที่ 25 ธันวาคม นี้ ก็จะต้องดูว่าเป็นอย่างไร น่าจะมีข้อยุติในวันนั้น เราจึงต้องรอดูเสียงส่วนใหญ่ว่าจะเอาอย่างไร ผลออกมาอย่างไรชมรมคนรักอุดร ก็จะขอเดินตามเสียงนั้น "ส่วนตัวผมเองนั้นเห็นด้วยในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 เป็นรัฐธรรมนูญที่มีการวางกับดักเอาไว้เยอะ หากปล่อยต่อไปพรรคเพื่อไทยถูกยุบแน่นอน จึงจะต้องเร่งการแก้ไข และจะต้องไม่ไปฟังเสียงของนายอภิสิทธิ์ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นเผด็จการไม่เป็นประชาธิปไตย" นายขวัญชัย กล่าว "เรืองไกร"ยื่นยุบ ปชป.ล้มประชามติ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว.สรรหา เปิดเผยว่าในวันที่ 24 ธันวาคมนี้ จะยื่นเรื่องต่อประธานกรรมการการเลือกตั้ง ให้ตรวจสอบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กรณีทำจดหมายเปิดผนึกถึงคนไทยทั้งประเทศให้ร่วมกันคว่ำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ ผ่านช่องทางสื่อต่างๆ จะถือว่าเข้าข่ายเป็นการหลอกลวงเพื่อให้ผู้มีสิทธิ์ออกเสียง ไม่ไปใช้สิทธิ์ออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ มาตรา 43 (3) หรือไม่ และถือเป็นการกระทำของพรรคประชาธิปัตย์ อันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ ตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองมาตรา 94 (3) หรือไม่ นายเรืองไกรกล่าวว่า จากข้อความในจดหมายเปิดผนึกและในบทสัมภาษณ์ที่ผ่านมา เห็นได้ชัดว่าทำไปในนามพรรคประชาธิปัตย์ด้วย โดยมีความมุ่งหมายที่จะคว่ำประชามติแก้รัฐธรรมนูญด้วยการกล่าวอ้างในสิ่งที่ไม่เป็นความจริงหรือเป็นการหลอกลวง และขอให้ตรวจสอบเพิ่มเติมว่าการกล่าวหาพรรคเพื่อไทยจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 309 เพื่อล้างผิดพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีนั้น เข้าข่ายเป็นการกลั่นแกล้งพรรคเพื่อไทยโดยปราศจากมูลความจริงที่มีโทษถึงยุบพรรคและถูกเพิกถอนสิทธฺ์เลือกตั้งตามพ.ร.บ.พรรคการเมืองมาตรา 104 ด้วยหรือไม่ มาร์คจี้หยุด รธน.-พ.ร.บ.ปรองดอง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีนายวราเทพระบุว่า อยากให้พรรคประชาธิปัตย์ดูประเด็นการทำประชามติก่อนที่จะเชิญชวนประชาชนคว่ำการลงประชามติว่าเรื่องนี้รัฐบาลพูดมาตลอดว่าเป้าหมายการแก้รัฐธรรมนูญก็เพียงต้องการแก้มาตรา 309 ซึ่งหากไม่มีประเด็นนี้ พรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่มีปัญหาซึ่งศาลรัฐธรรมนูญก็ระบุแล้วว่าต้องทำประชามติ "แต่รัฐบาลก็ปฏิเสธมาตลอด แต่เมื่อหนีไม่พ้น จึงจำยอมทำประชามติ ซึ่งผมคาดการณ์คำถามที่จะใช้ทำประชามติได้เลยว่าต้องการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือไม่ เพราะเป็นแนวทางที่รัฐบาลพูดมาตลอด ซึ่งหากเดินหน้าทำต่อไปบ้านเมืองก็จะขัดแย้งมากขึ้น โดยผลโพลล์ที่ผ่านมาทุกครั้งประชาชนก็ไม่เห็นด้วยกับการแก้มาตรา 309 ดังนั้น ทางออกที่ดีที่สุดคือรัฐบาลควรถอนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญและร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง และยุติกระบวนการทำประชามติ ซึ่งครม.มีอำนาจที่จะหยุดเรื่องดังกล่าว แต่สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรีว่าจะตัดสินใจอย่างไร" นายอภิสิทธิ์ระบุ "องอาจ"แนะฟังเสียงค้านแก้ รธน. นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ขณะนี้ค่อนข้างชัดเจนว่ารัฐบาลจะเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยจะเริ่มทำประชามติตามความเห็นพ้องต้องกันของ พ.ต.ท.ทักษิณ นายอุดมเดช รันตเสถียร ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) และรัฐบาลด้วยกันเอง โดยไม่ฟังเสียงทักท้วงของใครแม้แต่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นคนรัฐบาลด้วยกันเอง หรือนางสดศรี สัตยธรรม กกต. หรือนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ที่เสนอให้แก้ไขเป็นรายมาตรา นายองอาจ กล่าวว่า การไม่ฟังแบบนี้ เพราะรัฐบาลมีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนคือ วัตถุประสงค์หาทางล้มล้างคดีต่างๆ ของคนในรัฐบาลปัจจุบันและอดีตรัฐบาล ดังนั้นรัฐบาลควรจะปล่อยให้สถานการณ์บ้านเมืองสงบ และฟังเสยีงทักท้วงของบุคคลต่างๆ ที่เห็นว่าจะมีปัญหาเกิดขึ้นหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ สิ่งที่รัฐบาลไม่เคยตอบคำถามว่า เหตุใดจิงเอาจริงในการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ และกฎหมายปรองดองและนิรโทษกรรม ว่า ประชาชนจะได้ประโยชน์อะไรชีวิตความเป็นอยู่จะดีขึ้นอย่างไร ยันรณรงค์ประชามติตามกรอบ ก.ม. นายองอาจ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ต้องขอบคุณรัฐบาลที่แสดงความเป็นห่วงว่าพรรคประชาธิปัตย์จะทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับการทำประชามติมาตรา 43 ก็ขอบอกว่า ไม่ต้องเป็นห่วงว่าเราจะคว่ำการทำประชามติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 165 และพ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ 2552 หรือทำผิดกฎหมายอย่างเด็ดขาด เราจะใช้สิทธิตามที่กฎหมายกำหนด คือ 1.ออกไปใช้สิทธิ์โดยเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับหัวข้อที่คณะทำงานกำหนดขึ้น และ 2.สงวนสิทธิ์ประชาชนที่จะออกไปใช้สิทธิ์หรือไม่ออกไปใช้สิทธิ์ เพราะถือเป็นสิทธิ์พื้นฐานของประชาชน "การที่รัฐบาลอ้างความจำเป็น รวมทั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ พูดผ่านทนายความว่า หากแก้ไขรายมาตราจะเป็นการผิดสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนที่ให้ไว้ในขณะหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า เป็นเรื่องที่พูดความจริงครึ่งเดียว เพราะหลายเรื่องที่ได้หาเสียงก็ไม่ได้ทำตามนั้น หรือไม่ได้ทำเบยก็มี ทั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์เห็นว่า รัฐบาลควรทุ่มเทเวลาแก้ไขปัญหาให้ประชาชน มากกว่าแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยขอเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการ 2 แนวทาง คือ 1.ควรหยุดกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ 2.หากเห็นว่ามาตราใดเป็นอุปสรรคต่อการบริหารราชการแผ่นดิน และเกิดประโยชน์ต่อประชาชนก็ควรเสนอต่อประชาชนว่าจะเห็นด้วยที่จะให้แก้ไขหรือไม่ ทั้งนี้รัฐธรรมนูญเป็นของร้อน รัฐบาลไม่ควรเล่นกับไฟ" นายองอาจ กล่าว แดงแน่นโบนันซ่ารอแม้วโฟนอิน ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่โบนันซ่า เขาใหญ่ ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ซึ่งมีแนวร่วมเสื้อแดงจากหลายจังหวัดทั่วประเทศเดินทางโดยพาหนะประเภทต่างๆ เช้น รถบัส รถยานต์ส่วนตัว รถจักรยานยนต์ ส่งผลให้สภาพการจราจรบนถนนสายธนะรัชต์-เขาใหญ่ ติดขัดเป็นบางช่วงตั้งแต่กิโลเมตรที่ 1จนถึงบริเวณงาน ซึ่งมีระยะทางประมาณ 12 กิโลเมตร โดยภายในบริเวณงานมีกิจกรรมการแสดงดนตรีสลับกับการปราศรัยของแกนนำโดยไฮไลท์ของงานคือ การโฟนอินเข้ามาของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัย และอำนวยความสะดวกด้านการจราจรของตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมา ตำรวจ สภ.ปากช่อง และสภ.ใกล้เคียง ประมาณ 800 นาย รวมทั้งกำลังตำรวจปราบจลาจลอีก 1 กองร้อย แดงยุโหวตวาระ 3-นิรโทษผู้ชุมนุม สำหรับบรรยากาศบนเวทีต้านรัฐประหารสร้างประชาธิปไตยนปช. ในช่วงค่ำ นายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.พรรคเพื่อไทย และแกนนำนปช.ได้ขึ้นเวทีพร้อมกับภรรยาและบุตรชายบุตรสาวหลังใช้เอกสิทธิ์ ส.ส.ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวจากเรือนจำชั่วคราวหลักสี่ โดยนายก่อแก้วยืนยันว่า ขะพยายามผลักดันให้ปล่อยตัวนักโทษและผู้ต้องหาเสื้อแดงทั้งหมดโดยเร็ว ด้าน นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนพ นปช.กล่าวว่า คนเสื้อแดงเป็นเพื่อนตายกับรัฐบาลพรรคเพื่อไทย เป็นเพื่อนที่ไม่เคยคิดทรยศต่อกัน จึงอยากให้รัฐบาลยื่นข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ดังนี้ 1.ปฏิญญาเขาใหญ่มีมติให้เดินหน้าโหวตแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 เพราะการลงประชามติจะทำให้แพ้เป็นครั้งที่ 2 เสียง 24 ล้านเสียง เราจะเอามาจากที่ไหน ประชามติเป็นสงครามที่เราแพ้แน่ๆ จึงไม่ควรเดินเข้าไป รัฐบาลควรรวบรวมความกล้าเดินหน้าโหวตวาระ 3 ให้ชนะจะได้จบสิ้นกันไป หากใครคิดล้มรัฐบาลเจอตีนตบแน่นอน 2.รัฐบาลต้องลงนามรับรองเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) เพื่อป้องกันการรัฐประหารเข่นฆ่าประชาชน ขอให้นายสุรพงษ์ โตวิจักษ์ชัยกุล รองนายกฯและรมว.ต่างประเทศ รวบรวมความกล้าหาญทั้งชีวิตลงนามรับรอง ตอนนี้ต้องเลือกระหว่างจะเข้าไอซีซีหรือไอซียู และ 3.การประกันตัวผู้ต้องขังเสื้อแดงเป็นไปด้วยความยากลำบาก มีทางเดียวเท่านั้น คือ รัฐบาลต้องประกาศ พ.ร.ก.นิรโทษกรรมให้ประชาชน "ตอนนี้ฝ่ายค้านกำลังอยู่ในภาวะจนตรอกเพราะมีคดีรออยู่กว่า 2,000 คดี ขอให้หัดเอาเลือกฟางผูกขาเอาไว้บ้าง หากถูกตีตรวนจะได้ไม่ขัดเขิน ส่วนเรื่องพิมพ์มือนั้น ไม่ต้องเขิน เพราะคนเสื้อแดงโดนมาหมดแล้ว" นายจตุพร กล่าว แม้วกล่อมแดงอย่าเร่งโหวตวาระ 3 ต่อมาเวลา 21.00 น. พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี วิดีโอลิงค์เข้ามาบนเวทีการชุมนุม โดยระบุว่า อยู่ที่กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยระหว่างนี้ได้ไปบรรยายวิชาการตลาดให้ผู้บริหารของจีนฟังเพื่อนแก้เหงา รอเวลากลับบ้าน พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวถึงประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ขอให้พี่น้องเสื้อแดงอย่าเพิ่งตายใจว่าพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล เพราะประเทศยังไม่เป็นประชาธิปไตย และระบุถึงสาเหตุที่จำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่เป็นประชาธิปไตยทำให้มีอำนาจที่อยู่เหนือประชาชน ทำให้อำนาจ 3 ฝ่าย คือ อำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจตุลาการไม่สมดุลกัน และยังเป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากเผด็จการ เมื่อบ้านเมืองไม่เป็นประชาธิปไตยการบริหารลำบาก และการพัฒนาประเทศทำได้ยากดังนั้นจะต้องมีรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจประชาชนสูงสุด มีการถ่วงดุลอำนาจ 3 ฝ่าย และสร้างหลักนิติธรรม ตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่จะต้องแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่พวกเราทำอะไรผิดหมด พวกเขาทำอะไรถูกหมด ซึ่งถือเป็นภารกิจของรัฐบาลชุดนี้ "ถามว่า แก้อย่างไร บางคนบอกให้โหวตวาระ 3 ไปเลย ไม่ต้องสนใจ ถามว่าทำได้ทั้ย ผมว่าทำได้ แต่ไม่ผ่าน 2 ขั้นตอน 1.เสียงในสภาทั้งหมดมี 650 เสียง ถ้าจะผ่านต้องได้ครึ่งหนึ่งคือ 326 เสียง แต่รัฐบาลมีแค่ 300 เสียง ไม่ถึง 320 โอกาสไม่ถึงมีสูง หรือ 2.ศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าขัดคำสั่งศาล เพราะฉะนั้น วาระ 3 โหวตได้ก็โหวต ถามว่าไปประชามติได้มั้ย ถ้ามีคนมาใช้สิทธิ์เกิน 24 ล้านก็ได้โหวต แต่คนหลายคนกลัวว่าไม่ถึง แต่ผมไม่หนักใจเลย ตอนนี้เพื่อไทยกำลังรับฟังทุกฝ่ายผ่านการประชาเสวนา เราต้องดูจุดที่แก้ไขมีไม่มากก็แก้เป็นรายมาตรา ถ้ามีมากก็แก้ผ่านประชามติ ดังนั้น ใจเย็นๆ แก้แน่ และเดินหน้าแน่ แต่ขณะนี้เอาวิธีที่มันอาจจะ 100% ไม่ได้ วันนี้เอา 60% ไปก่อน" พ.ท.ทักษิณ กล่าว "แม้ว"ผุดกองทุนสวัสดิการ อดีตนายกรัฐมนตรี เจ้าของสโลแกน ทักษิณคิดเพื่อไทยทำ กล่าวอีกว่า ขณะนี้เรามีกองทุนหมู่บ้านเอสเอ็มแอลไว้ใช้แก้ปัญหาส่วนรวม แต่วันนี้รัฐบาลกำลังคิดกองทุนใหม่ให้เป็นสวัสดิการของตำบลและหมู่บ้าน จะมีรายได้นำส่งตำบลและหมู่บ้านตลอด 20 ปี เราจะทำให้คนไทยมีรายได้ขั้นพื้นฐาน ส่วนตอนนี้ข้อจำกัดของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีมาก ถ้าทำอะไรมากเหมือนสมัยตน คงต้องมาอยู่ด้วยกัน "ขอขอบคุณในความทุ่มเทของทุกคน ปีใหม่นี้เราฝันถึงประชาธิปไตยว่าจะเบ่งบานขึ้นมาคืนให้เราค้อนใบแล้วกัน ฝันเห็นว่าความยุติธรรมจะเกิดกับคนเสื้อแดง ฝันว่าคนเสื้อแดงที่เป็นไทยมุงจะได้รับการปลดปล่อย และฝันว่าจะได้กลับไปรับใช้คนไทยในฐานะอะไรก็ได้ เพราะผมยังมีฝีมือ" พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวทิ้งท้าย "ป๋า"ชี้คิดต่างกันได้แต่อย่าเป็นศัตรู วันเดียวกัน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ได้เปิดบ้านให้ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เข้าอวยพรปีใหม่ที่บ้านแม่ทัพเลขที่ 1885 ถนนสืบศิริ อ.เมือง จ.นครราชสีมา โดยมี พล.ท.จีระศักดิ์ ชมประสพ แม่ทัพภาคที่ 2 นายวินัย บัวประดิษฐ์ ผู้ว่าฯ นครราชสีมา พล.ต.ท.เชิดชู ชูเวช ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 นำคณะข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เข้าอวยพรปีใหม่ พล.อ.เปรม กล่าวว่า ขอฝากถึงแม่ทัพภาคที่ 2 ให้ไปบอกผู้ที่มีหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการดูแลพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือว่า เดี๋ยยวนี้ความแตกแยกชัดเจนมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องของความเชื่อที่แตกต่างกัน ความเห็นที่แตกต่างกันจะต้องมีในชาติบ้านเมือง แต่ไม้ใช้อุปสรรคที่จะทำการพัฒนาประเทศชาติ ดังนั้นขอให้ช่วยกันสร้างความสามัคคี ขอให้ทำความเข้าใจกับผู้ที่มีความคิดแตกต่างกัน ให้มีจุดหมายเดียวกัน คือ พัฒนาประเทศชาติบ้านเมือง และจะทำอย่างไรให้ประเทศชาติพัฒนาในสภาพของความแตกแยก พล.อ.เปรม กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังขอให้ทำความเข้าใจกับผู้ที่มีความเห็นแตกต่างจากเราให้มีความเข้าใจตรงกันว่า อย่าเอาความแตกต่างมาเป็นเครื่องทำลายความสามัคคีในชาติ อย่าให้คนที่มีความเห็นไม่ตรงกันมาเป็นอุปสรรคในการทำงาน เพื่อพัฒนาประเทศชาติ และขอให้ขยายความเข้าใจตรงนี้ให้เป็นที่เข้าใจอย่างกว้างขวาง ความคิดที่แตกต่างไม่ใช่ปัญหาที่ว่าจะต้องมาเป็นศัตรูกัน หากแม่ทัพภาคที่ 2 ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องสามารถทำความเข้าใจตรงนี้ได้อย่างกว้างขวางก็จะสร้างความสงบสุขให้แก่ประเทศชาติบ้านเมืองได้อย่างแน่นอน ตร.สอบปากคำ "นิพิฏฐ์"-พี่"ราเมศ" เมื่อเวลา 09.00 น. วันเดียวกัน พล.ต.ต.อิทธิพล พิริยะภิญโญ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) พร้อมด้วย พ.ต.อ.กัญชล อินทราราม ผกก.สน.บางนา และพนักงานสอบสวนกองบังคับการตำรวจนครบาล 5 เข้าสอบปากคำนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ รวมทั้งพี่ชายและพี่สาวของนายราเมศ รัตนะเชวง รองโฆษกและฝ่ายกฎหมายของพรรคประชารธิปัตย์ ที่ถูกทำร้ายร่างกายจนได้รับบาดเจ็บสาหัส เป็นเวลากว่า 2 ชั่วโมง นายนิพิฏฐ์ กล่าวภายหลังการให้คำว่า วันนี้เป็นการสอบปากคำนึงความสัมพันธ์ระหว่างตนกับนายราเมศในสมัยที่ตนเป็นหัวหน่าฝ่ายกฎหมายด้วยกันมา อีกทั้งยังทำคดียุบพรรคด้วยกัน และสนิทสนมกันมาประมาณ 5 ปีแล้ว โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้สอบถามว่า นายราเมศเคยทำคดีใดบ้าง ส่วนสาเหตุก็ไม่รู้ว่าเกิดจากอะไรแต่คิดว่าน่าจะมาจากการทำหน้าที่ทางการเมืองให้พรรค ส่วนพี่สาวและพี่ชายของนายราเมศนั้น ทั้งคู่ยืนยันว่า โดยส่วนตัวนายราเมศไม่มีความขัดแย้งกับใคร นอกจากมาทำงานด้านการเมือง "นิพิฏฐ์"จี้นายยกฯ-ผบ.ตร. "ส่วนตัวอยากขอไปยังนายกฯ ขอให้นายกฯ และผบ.ตร. ได้พูดในเรื่องนี้สัก 1-2 ประโยค ส่วน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ไม่ต้องพูดอีก เพราะท่านเป็นอุปสรรคต่อการสอบสวน อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ไม่ทราบว่านายกฯ รู้หรือยังว่ารองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ถูกทำร้ายอาการสาหัส และอยากให้แสดงความเห็นว่ามีความรับผิดชอบและมีหน้าที่ในการป้องกันคุกคามข่มขู่เหล่านี้ ที่เกิดขึ้นกับฝ่ายค้านอย่างไรบ้างเพราะท่านเป็นนายกฯ เรื่องแบบนี้เคยเกิดขึ้นเมื่อ 2502-2503 สมัย จอมพล ป. พิบูลสงครามแล้วก็มาเกิดอีกครั้งในสมัย น.ส.ยิ่งลักษณ์" นายนิพิฏฐ์ กล่าว "มัลลิกา"จี้ผบ.ตร.เร่งคดี"ราเมศ" น.ส.มัลลิกา บุญมีตระกูล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า จากการที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เรียกร้องให้ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ลงมาดูแลคดีลอบทำร้ายนายราเมศ รัตนะเชวง ทีมกฎหมายของพรรคด้วยตัวเอง ล่าสุดก็ยังไม่ได้รับความร่วมมือ จึงสร้างความไม่มั่นใจให้แก่ญาตินายราเมศและพรรคอย่างยิ่งจะไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะตำรวจยังไม่สอบปากคำผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งที่มีการแถลงข่าวไปมากแล้ว ขณะที่ทีมงานของพรรคทุกคนก็พร้อมจะให้ปากคำและให้เบาะแส แต่เจ้าหน้าที่ก็ล่าช้า เหมือนยำเกรงคู่กรณีนายราเมศ น.ส.มัลลิกา ระบุว่าร ขอยกคดี สน.โชคชัย มากล่าวเทียบ คือเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกรพจ่าง ผบช.น. พล.ต.ต.อนุชัย เล็กบำรุง รอง ผบช.น. พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ รองผบช.น. พล.ต.ต.นัยวัฒน์ ผะเดิมชิต ผบก.น.4 และพ.ต.อ.ธนวัตร วัฒนกุล ผกก.สน.โชคชัย ร่วมกันแถลงความคืบหน้าคดีทะเลาะวิวาทของนายเอกยุทธ อัญชันบุตร ทำร้ายร่างกายพนักงานร้านคาราโอเกะชื่อดัง โดย ผบช.น.ให้ความสำคัญขนาดขนตำรวจมาเป็นกองทัพ แถลงข่าวโชว์คดีทะเลาะวิวาท พร้อมโชว์หลักฐานครบทั้งกล้องวงจรปิด ภาพนิ่ง พยาน และเจ้าทุกข์ที่แค่ปากแตก "ขอให้ ผบช.น.กระทำเช่นเดียวกันนี้กับคดีของนายราเมศด้วยจ เพราะเชื่อว่าความสามารถของตำรวจ สน.บางนา กับสน.โชคชัย ไม่น่าจะห่างชั้นกันมาก ยกเว้นติดขัดเรื่องที่เขาทำไม่ได้ หรือเป็นเพราะว่า พ.ต.อ.ธนวัตรท วัฒนกุล ผกก.สน.โชคชัย ฝีมือดี มีความสามารถมากกว่า ผกก.สน.บางนา และฝากถาม ผบ.ตร.ด้วยว่ากลัวอะไร หรือว่า พล.ต.ท.คำรณวิทย์ใหญ่กว่า" น.ส.มัลลิกา กล่าว คาดอีกสัปดาห์กว่า"ราเมศ"ฟื้ยตัว นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ขณะนี้ต้องรอให้นายราเมศสามารถให้ปากคำได้ก่อน คาดว่าจะต้องใช้เวลาเป็นสัปดาห์กว่านายราเมศจะฟื้นตัวดีขึ้น เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม เจ้าหน้าที่กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กรทรวงยุติธรรม ได้มาเยี่ยมอาการนายราเมศเพื่อดำเนินการจ่ายเงินค่ารักษาเยียวยา อย่างไรก็ตาม แพทย์ยังไม่อนุญาตให้เข้าเยี่ยม นิด้าโพลเผยคนกรุงเลือก"สุขุมพันธุ์"
"นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "คนกรุง กับ การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม." โดยทำการสำรวจระหว่างวันที่ 20-21 ธันวาคม จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และเป็นผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจำนวน 1,254 หน่วยตัวอย่าง กระจายทั้ง 50 เขต พบว่า ร้อยละ 31.42 ยังคงตัดสินใจเลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นผู้ว่าฯ กทม. รองลงมาร้อยละ 25.36 จะเลือก พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ขณะที่ร้อยละ 13.32 จะเลือก พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส และร้อยละ 28.55 ยังไม่ตัดสินใจ ส่วนหลักเกณฑ์ในการตัดสินใจนั้น ร้อยละ 38.60 จะตัดสินจากความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ ร้อยละ 25.28 จากตัวบุคคล ร้อยละ 18.42 จากนโยบายผู้สมัครร้อยละ 13.96 จากพรรคการเมืองที่สังกัด
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
|
วันอาทิตย์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2555
ท.กางปฏิทินแก้รธน. ไม่ถึง 2 ปีเสร็จ เสื้อแดงพรึ่บเขาใหญ่แม้วโฟนหนุนประชามติผุดกองทุนสวัสดิการ เมื่อ 23 ธ.ค.55
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น