วันพฤหัสบดีที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2555

หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว: ประชามติ...แก้รัฐธรรมนูญ...แก้ปัญหาประเทศอย่ากลัวคำขู่จนทะเลาะกันเอง เมื่อ ๒๑ ธ.ค.๕๕




คอลัมน์: หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว: ประชามติ...แก้รัฐธรรมนูญ...แก้ปัญหาประเทศอย่ากลัวคำขู่จนทะเลาะกันเอง (1)


          มุกดา สุวรรณชาติ
          วันนี้จำเป็นต้องพูดถึงรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 อีกครั้ง ทั้งพิษร้ายและวิธีแก้ไข ที่ยังถกเถียงกัน รัฐธรรมนูญ GMO...สร้างยีนไดโนเสาร์ ใส่ไว้ในงูเหลือม
          ปี 2550 มีการดัดแปลงพันธุกรรม (Genetically  Modified  OrganismsGMO) โดยใช้เทคโนโลยี DNA Recombinant โมเลกุลของดีเอ็นเอจากไดโนเสาร์ หลายมาตราถูกผสม เพื่อสร้างยีนขึ้นมาใหม่
          จากนั้นดีเอ็นเอนี้ก็ถูกถ่ายลงไปในงูเหลือม กลายเป็นรัฐธรรมนูญที่ถูกตัดแต่งทางพันธุกรรมและผ่านการผสมข้ามพันธุ์ จึงให้กำเนิดรัฐธรรมนูญกลายพันธุ์ ฉบับ 2550 ซึ่งมีบางส่วนเป็นประชาธิปไตย บางส่วนเอื้อเผด็จการ
          เวลาลงน้ำใช้ทั้งหางและขาก็ว่ายได้คล่อง แต่เวลาอยู่บนบกไม่แน่ใจว่าจะเลื้อยดี หรือจะคลานด้วยขาดี
          รัฐธรรมนูญ  GMO เป็นผลผลิตของกลุ่มรัฐประหารที่ยึดอำนาจมา เพราะประเทศเราการได้อำนาจในยุคใหม่มีสองทาง คือใช้กำลังและเล่ห์เหลี่ยมแย่งยึดมา หรือผ่านการเลือกตั้งและได้รับชัยชนะ
          สำหรับผู้ที่รู้ว่าเลือกตั้งสู้ไม่ได้ ก็ต้องยึดอำนาจเป็นธรรมดา แต่เมื่อการยึดอำนาจไม่เป็นที่ยอมรับ ก็ต้องลอกคราบเปลี่ยนตัวและรักษาอำนาจไว้ด้วยการร่างรัฐธรรมนูญ GMO ฉบับ
          2550 นี้และฟักไข่เป็นตัวไว้ในตำแหน่งสำคัญ หาวิธีหลอกให้คนยอมรับรัฐธรรมนูญนี้และเอาไว้ใช้ให้นานที่สุด
          ข้ออ้างง่ายๆ คือป้องกัน...ระบบทักษิณ... นักวิชาการที่เป็นต้นคิดเรื่องนี้ เลวร้ายได้ระดับจริงๆ เพราะได้สร้างความเดือดร้อนวุ่นวายให้กับคนทั้งประเทศมาหลายปี เพียงเพื่อบรรลุเป้าหมาย 2 ประการ
          เป้าหมายแรกรักษาและสืบทอดอำนาจของกลุ่มที่สนับสนุนการรัฐประหาร ให้นานที่สุด
          ลักษณะเด่นของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คืออำนาจการแต่งตั้งจะอยู่ที่ วุฒิสภา
          +ตุลาการกลุ่มหนึ่ง+ประธานองค์กรอิสระ นี่เป็นการ...ร่วมกันเขียน เวียนกันแต่งตั้ง เพื่อรั้งอำนาจไว้ ชั่วนิรันดร์
          วุฒิสภามีสมาชิก 150 คน มาจากการเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คน รวม 76 คน (เดิมมี 76 จังหวัด) มาจากการสรรหา 74 คน หมายความว่า คน 60 ล้านคน สามารถเลือกวุฒิสมาชิกได้ 76 คน และคนพิเศษ ที่เป็นผู้สรรหา 7 คน (ประชาชนก็ไม่ได้เลือกมา) ก็สามารถเลือกวุฒิสมาชิกได้ 74
          ผู้สรรหาทั้ง 7 ประกอบด้วยใครบ้าง? 1. ประธานศาลรัฐธรรมนูญ 2. ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) 3. ประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน 4. ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน 5. ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) 6. ตัวแทนผู้พิพากษาในศาลฎีกาที่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามอบหมาย 7. ตัวแทนตุลาการศาลปกครองสูงสุดที่ที่ประชุมศาลปกครองสูงสุดมอบหมาย
          จะเห็นว่ากรรมการสรรหาทั้ง 7 คน มาจากการเลือกของศาลต่างๆ และสมาชิกวุฒิสภา ส่วนวุฒิสภาก็มีสิทธิเลือกกรรมการหรือรับรองกรรมการจากองค์กรต่างๆ
          ถ้าพิจารณาจากวิธีการเลือก จะพบว่า ประธานตุลาการในศาลต่างๆ จะมีบทบาทสูงในการเลือกผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ
          สายตุลาการส่วนใหญ่จะมีเสียงเกินครึ่ง แม้ในการเลือกสมาชิกวุฒิสภาสรรหา ดังนั้น เสียง
          ส่วนนี้จะมีน้ำหนักในการตัดสินว่าใครจะได้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระเกือบทุกองค์กร
          ส่วนกรรมการ ปปช.ชุดปัจจุบันมาจากการแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร คปค. ตั้งแต่ 22 กันยายน 2549 จนถึงปัจจุบัน ถ้ามีการสรรหาก็ต้องผ่าน ศาลและวุฒิสภาเช่นกัน
          ลักษณะการเลือกแบบนี้จึงเป็นการที่คนกลุ่มเดียวผลัดกันเลือก บุคคลที่ตนเองพอใจหรือเลือกตามคำสั่ง ของผู้อยู่เบื้องหลังเพื่อไปดำรงตำแหน่งต่างๆ ที่ชี้เป็นชี้ตาย ปัญหาความขัดแย้งใหญ่ๆ ในสังคม การทำงานของบุคคลและองค์กรต่างๆ จึงเป็น กระบวนการอยุติธรรมต่อเนื่อง และวุ่นวาย แบบที่เห็นมาตลอด 6 ปี
          เป้าหมายที่สอง คือคุ้มครองคนทำรัฐประหารและผู้อยู่เบื้องหลังไม่ให้ถูกลงโทษทั้งอดีต ปัจจุบันและอนาคต
          การแก้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน พ.ศ.2550 มาตรา 309 เพื่อช่วย...ทักษิณ...หรือใครกันแน่?
          "มาตรา 309 บรรดาการใดๆ ที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าว ไม่ว่าก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้ถือว่าการนั้นและการกระทำนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้"
          ส่วนไอ้ที่ซ่อนไว้ในรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2549 คือ...บทนิรโทษกรรมอยู่ในมาตรา 37
          "มาตรา 37 บรรดาการกระทำทั้งหลาย ซึ่งได้กระทำเนื่องในการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ของหัวหน้าและคณะ... (คปค.หรือ คมช.) ...ไม่ว่ากระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ให้กระทำ และไม่ว่ากระทำในวันที่กล่าวนั้นหรือก่อนหรือหลังวันที่กล่าวนั้น หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมายก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง"
          แสดงว่า "บทนิรโทษกรรม" ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่ คปค. หรือ คมช.ประกาศใช้เพื่อปกป้องตนเองและผู้อยู่เบื้องหลังไม่ให้ต้องรับโทษ ถึงขั้นประหารชีวิต  เนื่องจากการกระทำรัฐประหาร ตามมาตรา 113
          รศ.ดร.กำชัย จงจักรพันธ์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า "เราจะเขียนกฎหมายมาตราหนึ่งบอกว่า การกระทำใดๆ ของคนคนหนึ่ง หรือคณะบุคคลใดบุคคลหนึ่งในอดีตที่ทำไปแล้วในอดีตถือว่าถูก อันนี้ยังพอรับได้ แต่ที่จะทำต่อไปในอนาคตที่ยังไม่รู้ว่าจะทำอะไรบ้างก็ให้ถูกอีก อันนี้คงไม่ได้ แล้วมาตรานี้ กกต.ก็เอามาใช้เลย จำได้ไหมเรื่องเอกสารลับที่คมช.มีเอกสารลับที่แสดงถึงความไม่เป็นกลาง แม้จะเป็นความผิด ก็ยกเว้นตาม 309 ในเรื่องของกฎหมายนิรโทษกรรมโดย  concept ของกฎหมายก็ไม่ผิดนะ แต่จะนิรโทษกรรมได้มันต้องมีความผิดเกิดขึ้นมาเรียบร้อยแล้ว แต่นี่มันไม่ใช่นิรโทษกรรม นี่คือการไฟเขียวไว้ก่อนว่าในอนาคตไปทำอะไรก็ไม่ผิด ถ้าพูดให้สุดขั้ว คือให้ไฟเขียวไว้ก่อนว่าคุณไปยิงใครตายก็ได้ ทำอะไรก็ไม่ผิดไง ทั้งก่อนและหลัง"
          สรุปว่าวันนี้กลุ่มที่ทำรัฐประหารยังสามารถรักษาอำนาจตามเป้าหมายแรกสำเร็จ จึงยังไม่มีใครถูกลงโทษ และความอยุติธรรมจะดำเนินต่อไปอย่างนี้ถ้ายังใช้รัฐธรรมนูญ GMO
          ถ้าไม่อยากใช้รัฐธรรมนูญ  GMO ฉบับ 2550 จะทำอย่างไร?
          ฝ่ายที่เห็นว่ารัฐธรรมนูญ 2550 ไม่เป็นประชาธิปไตยและต้องการล้ม ก็มีอยู่ 2 วิธีเช่นกัน คือ ใช้กำลังฉีกทิ้งด้วยการปฏิวัติ หรือใช้วิธีแก้ไขตามช่องทางประชาธิปไตย
          มีคนคิดเรื่องการปฏิวัติโดยประชาชน ตั้งแต่ 2553 มา มีมากขึ้นเรื่อยๆ ตามแรงบีบคั้นของความอยุติธรรม
          ชัยชนะของพรรคเพื่อไทยและนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ช่วยเบี่ยงกระแสไปสู่การปฏิรูป แต่วันนี้คนพวกนี้ไม่มาร่วมถกเถียงด้วย พวกเขารอคอย ให้โอกาสแก่ผู้เดินแนวทางสันติก่อน
          เส้นทางสันติต้องใช้ความพยายาม และอดทนอย่างมากเพื่อแก้ไขตามระบอบประชาธิปไตย
          แต่ถ้าการแก้รัฐธรรมนูญทำไม่ได้ ความ อยุติธรรมยังเดินต่อ ทุกอย่างก็จะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิวัติ และที่อยากมีเรื่องจะได้มีแน่นอน
          แต่วันนี้ทั้งรัฐบาล สภา และประชาชนทั่วไป ที่เลือกเอาวิธีแก้ไข ผ่านระบอบประชาธิปไตยยังเห็นต่างเป็นสองแนวทาง
          1. แนวทางแรกไม่สนใจคำแนะนำของศาล รัฐธรรมนูญ ผู้สนับสนุนแนวนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนนอกพรรค และคนเสื้อแดงบางส่วน บอกว่าให้เดินหน้าต่อ ทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยให้สภาลงมติผ่านวาระ 3 และเลือกตั้ง สสร. เรื่องการลงประชามติว่า ยอมรับหรือไม่ ควรทำหลังร่างเสร็จแล้ว
          2. แนวทางที่สอง คนที่สนับสนุนมีทั้งคนในพรรคและคนนอกทั่วไป อยากให้ทำตามคำแนะนำของศาล คือ ถ้าจะแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับโดยตั้ง สสร. เพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ก็ควรจะลงประชามติว่าประชาชนเห็นด้วยหรือไม่ที่จะร่างใหม่ทั้งฉบับ และควรชี้แจงเหตุผล ทำความเข้าใจกับประชาชน รวบรวมความเห็นต่างๆ ที่ จะให้ประโยชน์ในการร่างรัฐธรรมนูญ ถือเป็นการรณรงค์ครั้งใหญ่
          นี่เป็นประชาธิปไตยทางตรง เป็นการปูรากฐานทางประชาธิปไตยลงลึกไปสู่ประชาชนที่มีความตื่นตัวทางการเมืองอยู่แล้ว ให้แข็งแรง มั่นคงและมีเหตุผล
          ตอนนี้ฝ่ายประชาธิปไตยต้องมาทะเลาะกันว่าจะสู้กับพวกสนันสนุนรัฐประหารอย่างไรดี?
          ก่อนอื่นต้องย้อนดูว่า ที่ผ่านมาการแก้รัฐธรรมนูญ 2550 เจอมาหลายด่าน ตั้งแต่เกมหนัก ถ่อย และถ่วงเวลาในสภา
          เจอการฟ้องมาตรา 68 ผ่านศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง แล้วก็โดนล็อกไม่กล้าลงมติ วาระ 3
          ด่านที่สามอยู่บนถนนคือ ม็อบสนามม้าและม็อบแช่แข็ง
          การต่อต้านทุกรูปแบบของกลุ่มอำนาจเก่า ทำให้บางคนไม่คิดว่าแนวทางสันติจะแก้ปัญหาความขัดแย้งได้
          พวกนี้เชื่อว่าถ้าผ่านไปได้ จะเจอด่านที่สี่คือการใช้กำลังรัฐประหารและก็จะวนกลับไปสู่ปี 2549 อีกครั้ง
          แต่พวกอยากเดินตามระบอบประชาธิปไตยจะเดินอย่างไร เพราะฝ่ายตรงข้ามวางกับดักไว้ทุกเรื่อง ถ้าแยกกันเดินแพ้แน่นอน แต่ถ้าไปด้วยกันต้องตกลงวางแผนร่วมกัน
          พวกที่คิดให้โหวตวาระ 3 เลย ก็มีเหตุผล ว่าเป็นอำนาจสภา จึงไม่กลัวอำนาจศาล และมองว่าถึงลงประชามติผ่าน ก็จะเจอข้อหาอื่นๆ อีกจนได้ ถ้าจะปะทะก็เปิดหน้าเลย ส่วนการลงประชามติ ที่ต้องมีคนมาใช้สิทธิเกินครึ่ง คือ 24 ล้านคน ก็ทำได้ยาก จึงไม่ควรเสียเวลา
          ส่วนพวกที่เดินแนวทางลงประชามติก่อนร่าง ก็กังวลว่าการจะต้องหาถึง 24 ล้านเสียงมาลงประชามติ ทำยากแต่ช่วยกันทำก็พอผ่านได้และมีข้อดีอื่นๆ เช่น การให้การศึกษาประชาชนก่อนลงประชามติประมาณ 3 เดือนเป็นเรื่องที่ดีมาก ประชาชนควรรู้ปัญหาของโรคก่อนทำการรักษา ด้วยกำลังของทุกฝ่ายตั้งแต่รัฐบาล องค์การบริหารท้องถิ่นจนถึงประชาชน เมื่อทำความเข้าใจแล้วจะต้องช่วยกำหนดทิศทางหรือทางเลือกว่าจะแก้สถานการณ์ประเทศไทยด้วยวิธีไหน
          นี่จะเป็นการสร้างเส้นทางประชาธิปไตยที่มั่นคง
          แต่ข้อดีข้อเสีย จุดอ่อน จุดแข็ง ของทั้งสองแนวทาง และทำอย่างไรจึงจะมีคนออกมาเกิน 24 ล้านเสียง เป็นปัญหาที่ต้องวิเคราะห์ อย่าทะเลาะกันแต่ถกเถียงเพื่อหาทางสู้ที่ดีที่สุด แล้วร่วมกันสู้--จบ--

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น