เผือกร้อน‘ยิ่งลักษณ์’รื้อรธน.
ศาลรัฐธรรมนูญไม่ก้าวล่วงวิธีแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากมีปัญหาศาลมีมาตรการเยียวยาที่ไม่ก่อให้เกิดความรุนแรง แต่การเยียวยาทางการเมืองเป็นหน้าที่ของฝ่ายการเมือง "โภชิน" มอบเผือกร้อนให้ "ยิ่งลักษณ์" แล้ว ยืนกรานร่าง รธน.ให้เสร็จก่อนค่อยทำประชามติ "หนูไม่รู้" โยนใส่สภาฯ ยืนยันรัฐบาลไม่รู้ ไม่เห็น ไม่ได้ทำ "เหลิม" เบรกกลัวเรียกแขก แต่ "ณัฐวุฒิ" ให้แดงรอสัญญาณ "แม้ว" โฉบมาฮ่องกง 11 ธ.ค. ขี้ข้าแห่จองตั๋วบินไปคารวะ
นายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เผยเมื่อวันอังคาร ถึงกรณีคณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีนายโภคิน พลกุล เป็นประธาน ระบุว่าจะเดินหน้าลงมติวาระ 3 เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ พร้อมจะทำประชามติภายหลังยกร่างเสร็จเรียบร้อย ซึ่งอาจไม่ตรงกับที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยไว้ก่อนหน้านี้ ว่า ถ้าเป็นเรื่องคำวินิจฉัยของศาลคงบอกรายละเอียดไม่ได้ แต่หากเป็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่ระบุถึงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้อยู่แล้ว คิดว่าฝ่ายที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญคงต้องดูรัฐธรรมนูญแล้ว อย่างไรก็ตาม ศาลรัฐธรรมนูญไม่เกี่ยวข้องในการแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว
"กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ศาลคงไม่ไปก้าวล่วง เพราะเป็นเรื่องของผู้ที่มีหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ซึ่งต้องกลับไปดูรัฐธรรมนูญว่าได้บัญญัติกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้อย่างไรบ้าง ส่วนจะเกิดปัญหาตามมาอีกหรือไม่นั้น ผมเห็นว่าความเห็นต่างทางการเมืองถือเป็นเรื่องปกติ แต่หากมีปัญหาใดๆ ที่เข้ามาสู่ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลก็จะดำเนินการแก้ไขและเยียวยาปัญหาตามกระบวนการของศาล โดยจะเป็นการยึดตามกฎหมายเป็นหลัก และเชื่อว่ามาตรการเยียวยาจากศาลคงไม่ก่อให้เกิดความรุนแรงแน่ ส่วนมาตรการเยียวยาทางการเมืองก็เป็นหน้าที่ของฝ่ายการเมือง ซึ่งมีความแตกต่างกัน” นายเชาวนะกล่าว
วันเดียวกันนี้ นายโภคินเดินทางเข้าพบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ห้องทำงานตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เพื่อรายงานความคืบหน้าถึงผลสรุปของคณะทำงานฯ จากนั้นเผยว่า นำผลการประชุมของคณะทำงานฯ เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.ที่ผ่านมามาเรียนนายกฯ ให้ทราบ โดยนายกฯ เองก็ไม่ได้ห่วงอะไร เพียงแต่บอกว่าให้ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนกระบวนการ และให้มีความรอบคอบ อย่างไรก็ตาม สำหรับเอกสารสรุปทั้งหมดของคณะทำงานฯ ตนพยายามจะตรวจสอบให้เสร็จภายในวันที่ 17 ธ.ค.นี้เพื่อตีพิมพ์ออกมา หลังจากนั้นก็จะมีการนำเสนอต่อพรรคร่วมรัฐบาลและนายกฯ ด้วย
เขาบอกว่า ศาลรัฐธรรมนูญแนะนำไว้ในคำวินิจฉัยแล้วว่า หากจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ต้องทำประชามติเสียก่อน เราก็เห็นว่าเป็นคำแนะนำที่นำมาปฏิบัติได้อยู่แล้ว เพราะในร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมก็มีเรื่องของการทำประชามติอยู่ แต่หากจะมีการทำประชามติก่อนการทำรัฐธรรมนูญ หลายคนก็สงสัยว่าจะไปถามอะไรประชาชน เพราะวันนี้ยังไม่มีอะไรเลย ก็คงแปลกๆ
'โภคิน' ยันประชามติทีหลัง
"คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีข้อสังเกตว่า ควรจะมีการทำประชามติก่อนจะมีฉบับใหม่ ทั้งนี้ สมมุติว่าโหวตวาระ 3 ผ่าน ก็ถือว่ายังไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะยังเป็นฉบับเดิมอยู่ เพียงแต่มี ส.ส.ร.ขึ้นมาเพื่อไปยกร่าง จากนั้นพอยกร่างเสร็จก็ถือว่ายังไม่มีรัฐธรรมนูญใหม่อยู่ดี เพราะต้องไปทำประชามติ จากนั้นก็ทำตามกระบวนการ จนมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อไป"
นายโภคินกล่าวว่า กระบวนการจะคล้ายกับรัฐธรรมนูญปี 2550 เพียงแต่การยกร่างครั้งนั้นคณะรัฐประหารเป็นผู้เห็นชอบตัวบุคคล แต่ครั้งนี้ให้ประชาชนเลือก ส.ส.ร. โดย ส.ส.ร.อาจจะทำได้ 2 วิธี คือ 1.เขียนเป็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ปี 2557 หรือ 2.เขียนเป็นรัฐธรรมนูญปี 2550 แต่เป็นการแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งสมมุติว่ามีการแก้ไข 30 มาตราเหมือนกัน อันหนึ่งเปลี่ยน พ.ศ. กับอีกอันหนึ่งไม่เปลี่ยน พ.ศ. นั่นแสดงว่าอันไม่เปลี่ยน พ.ศ.เป็นฉบับเดิม อันเปลี่ยน พ.ศ.เป็นฉบับใหม่ โดยเนื้อหาเหมือนกัน
"หากเราทำได้สำเร็จ และประชาชนให้ความเห็นชอบ จะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับเดียวในรอบ 80 ปีที่ทำโดยประชาชนจริงๆ และความชอบธรรมจะสูงมาก" นายโภคินกล่าวและบอกว่า การจะโหวตวาระ 3 เมื่อไหร่เป็นเรื่องของพรรคร่วมรัฐบาล
ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ให้สัมภาษณ์ถึงการโหวตวาระ 3 ว่า รัฐบาลยังไม่ได้ทำอะไรเลย จริงๆ แล้วรัฐบาลได้ทำในส่วนของรัฐบาลไปแล้วคือ ได้ยื่นไปตั้งแต่วาระแรกแล้ว ซึ่งรายระเอียดทั้งหมดยังไม่ได้รับรายงาน
เมื่อถามว่า การที่คณะกรรมการพรรคร่วมให้เริ่มเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญในช่วงจังหวะนี้ จะทำให้เกิดปัญหาความวุ่นวายตามมาหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ต้องรอรายละเอียดส่งกลับมาอีกครั้ง และต้องรอให้มีการพูดคุยกันก่อน ซึ่งจริงๆ วันนี้ยังไม่ได้รับทราบอย่างเป็นทางการ
"ขอยืนยันอีกครั้งว่า รัฐบาลไม่ได้ดำเนินการอะไร นอกจากยื่นในวาระแรกไปเท่านั้น ทั้งนี้ ยืนยันว่าเรื่องดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องกับรัฐบาล และรัฐบาลพยายามดำเนินการให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม และเป็นไปอย่างสงบ ส่วนจะต้องทำประชามติก่อนหรือไม่นั้น ยืนยันว่าไม่ทราบ เป็นเรื่องของรัฐสภา ไม่ใช่รัฐบาล” น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าว
ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จะทำอะไรก็ต้องให้ประชาชนเข้าใจ ตกผลึกทางความคิด ถ้าประชาชนขาดความเข้าใจที่ถ่องแท้มันจะเกิดปัญหา และเชื่อว่าแม้พรรคร่วมจะมีมติว่าควรโหวตวาระ 3 แต่เมื่อเพื่อไทยเป็นพรรคใหญ่ คิดว่าพรรคจะนำเรื่องเข้าหารือในที่ประชุมพรรคและกรรมการบริหารพรรคอีกครั้ง ตนเคยศึกษาประวัติศาสตร์ตอนมีฮาอิล กอร์บาชอฟ อดีตประธานาธิบดีรัสเซียเจรจากับ เฮนรี คิสซินเจอร์ อดีต รมว.ต่างประเทศสหรัฐเรื่องสงครามเย็น จำคำพูดได้เลยว่าทั้ง 2 คนบอกว่า อะไรที่เป็นข้อขัดแย้งให้เจรจาทีหลัง อะไรที่ตกลงกันได้ให้นำมาเจรจาก่อน ฉะนั้น ความเห็นส่วนตัวอะไรที่ขัดแย้งจะไปสร้างความขัดแย้งทำไม ต้องค่อยเป็นค่อยไป ให้มันตกผลึก รัฐบาลจะได้มีเวลาทำงาน ไม่อย่างนั้นรัฐบาลไม่ทำอะไร คอยดูแลม็อบอย่างเดียวประเทศชาติก็เสียหาย เวลามีม็อบตำรวจต้องมากรุงเทพฯ ในพื้นที่จะมีโจร ยาเสพติดเพิ่มมันกระทบไปหมด
'เต้น' ให้แดงรอสัญญาณ
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า แม้จะเห็นสัญญาณอันตรายจากกลุ่มบุคคลที่ต้องการขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยพุ่งเป้าไปที่การโค่นล้มรัฐบาลเป็นสำคัญ ซึ่งรัฐบาลต้องเดินหน้าอย่างรอบคอบ แต่เมื่อถึงสถานการณ์ที่จำเป็นต้องใช้ความกล้าหาญเพื่อประชาชน เพื่อให้มีความชัดเจน และจะเป็นก้าวที่สำคัญ ที่จะแสดงความเชื่อมั่นให้แก่พี่น้องประชาชน
ซักว่า รัฐบาลจะดูแลอย่างไรไม่ให้เกิดความขัดแย้ง นายณัฐวุฒิกล่าวว่าทางพรรคร่วมรัฐบาลอาจจะใช้เวลา 1-2 เดือน หลังจากได้ข้อสรุปทำการชี้แจงกับประชาชน ซึ่งเป็นกระบวนการที่ดี เพราะการเสียเวลาอีก 1-2 เดือนนี้เห็นว่าควรทำ แต่ต้องให้ชัดเจนว่าเวลาที่เพิ่มขึ้นนั้น ไม่ใช่การยื้อเวลา ซึ่งต้องทำให้เป็นรูปธรรม และเมื่อถึงขั้นสุดท้ายก็ต้องมีการลงมติในวาระ 3 ทั้งนี้ หากรัฐบาลจะเดินหน้าแก้ไขวาระ 3 ก็เป็นหน้าที่ของคนเสื้อแดง ที่จะสื่อสารเรื่องนี้กับประชาชนให้เข้าใจถึงหลักการ ซึ่งไม่ใช่การชุมนุม สนับสนุนหรือต่อต้าน
นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และที่ปรึกษาคณะยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ในสัปดาห์หน้าคณะยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยจะประชุมเพื่อพิจารณาข้อเสนอของคณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อค้นหาแนวที่เกิดประโยชน์ต่อบ้านเมือง เป็นประชาธิปไตย ทุกฝ่ายยอมรับได้มากที่สุด ต่อต้านน้อยที่สุด เรายืนยันถึงความจำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเล็งเห็นว่าที่เป็นอยู่ขณะนี้ยังไม่เป็นประชาธิปไตย แต่ขอย้ำว่าไม่ได้เป็นการแก้เพื่อล้างผิดให้ใคร
เขาอ้างว่า พ.ต.ท.ทักษิณก็พูดถึงรัฐธรรมนูญอยู่ตลอดว่า กติกายังไม่เป็นประชาธิปไตย จำเป็นต้องแก้ไข อดีตนายกฯ เดินทางไปหลายประเทศที่เป็นประชาธิปไตย พบเจออะไรเยอะแยะ ก็อยากให้คนไทยได้อะไรที่ดีกว่าเป็นอยู่ในขณะนี้ แต่ท่านย้ำว่าจะทำอะไรก็ไม่ต้องเป็นห่วงท่าน ให้ห่วงประเทศชาติดีกว่า
นายนพดล ปัทมะ เผยว่า วันที่ 11 ธ.ค. สถาบันเอเชียโซไซตี สำนักงานฮ่องกง ได้เชิญ พ.ต.ท.ทักษิณเข้าร่วมเสวนาโต๊ะกลมในหัวข้อ "สนทนากับทักษิณ" โดยเปิดให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมงานสามารถซื้อบัตรได้ในราคา 800-900 ดอลลาร์สหรัฐ โดย พ.ต.ท.ทักษิณจะพูดในฐานะอดีตผู้นำประเทศไทย ที่มีความรู้เกี่ยวกับกิจการต่างประเทศ โดยจะพูดถึงบทบาทของอาเซียน เศรษฐกิจในภูมิภาค ความร่วมมือกับประเทศต่างๆ ตลอดจนการแก้ปัญหาต่างๆ เช่น ความยากจน
มีรายงานว่า มีความเคลื่อนไหวอย่างคึกคัก ทั้งจากบรรดารัฐมนตรีและส.ส.ที่ต่างแห่จองตั๋วเครื่องบินเตรียมตัวเดินทางไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ฮ่องกงในช่วงสุดสัปดาห์นี้จำนวนมาก
ส.ว.แฉขนมหวานแลกโหวต
นายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ในฐานะคณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 กล่าวว่า ในวันที่ 10 ธ.ค. ซึ่งเป็นวันครบรอบ 80 ปีรัฐธรรมนูญไทย หัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคจะประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันที่รัฐสภา ให้มีการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 เราไม่ได้เร่งรีบอะไร เพราะต้องรณรงค์ให้ประชาชนมีความเข้าใจอย่างชัดเจนก่อน ส่วนกลุ่มขาประจำที่จะออกมาก่อม็อบคัดค้านนั้น คงไปทำอะไรเขาไม่ได้ เพราะคนไม่เอายังไงก็ไม่เอา แต่ถ้าเรามีเหตุผลทำความเข้าใจกับคนส่วนใหญ่ได้ ก็เชื่อว่าจะได้รับการยอมรับ ยืนยันว่าต้องเดินหน้าโหวตวาระ 3 เพราะขณะนี้เรื่องคาอยู่ในวาระ 2 หากไม่โหวตก็เข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
ที่รัฐสภา นายสมชาย แสวงการ และนายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา ในฐานะแกนนำกลุ่ม 40 ส.ว. ได้ร่วมกันแถลงข่าวคัดค้านการที่รัฐบาลจะเดินหน้าโหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 โดยนายสมชายกล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าวจะเป็นการกระทำที่ขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 291 เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2550 ได้มาจากการลงประชามติของประชาชน ดังนั้น หากจะแก้ไขจะต้องถามความเห็นของประชาชนว่าจะแก้ไขหรือไม่เสียก่อน ซึ่งรัฐสภาก็สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้เป็นรายมาตราอยู่แล้ว ดังนั้น ตนอยากเตือนเพื่อน ส.ว.และ ส.ส. หากจะลงมติในวาระ 3 จะสุ่มเสี่ยงต่อการกระทำที่ขัดต่อคำสั่งของศาล อาจส่งผลต่อการยุบพรรคและทำให้พ้นจากสมาชิกภาพได้ อย่างไรก็ตาม หากยังดำเนินการลงมติในวาระ 3 พวกตนก็จะยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 เพื่อคัดค้านต่อไป
ด้านนายประสารกล่าวว่า ขณะนี้มีความพยายามยื่นขนมหวานให้ ส.ว.เลือกตั้งโหวตรัฐธรามนูญ โดยแลกกับการต่อวาระการตำแหน่งให้อีก 3 ปี เมื่อรวมกับ 6 ปี ในวาระที่ครบในปีหน้าก็จะได้เป็น 9 ปี ซึ่ง ส.ว.เลือกตั้งหลายคน อาทิ น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม., นายประเสริฐ ชิตพงศ์ ส.ว.สงขลา, นายสุรจิต ชิรเวทย์ ส.ว.สมุทรสงคราม ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ เพราะทราบว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ต้องการแก้มาตรา 309 ซึ่งเป็นกล่องดวงใจที่สามารถปลดพันธนาการ และคืนอิสรภาพให้แก่อดีตนายกรัฐมนตรีกลับคืนสู่อำนาจได้ และเป็นเหตุผลที่จำเป็นต้องตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นพิจารณา เพราะหากนำมาแก้เป็นรายมาตราในรัฐสภา จะทำให้สังคมรู้ทันว่าจะแก้อะไรบ้าง.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น