วันจันทร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2554

วิธีดาวน์โหลดและติดตั้งไฟล์โปรแกรม

ท่านที่ใช้เน็ต เมื่อไปพบข้อความ, รูปภาพ, เสียง, วีดิโอ หรือโปรแกรม บางครั้งก็อยากจะเก็บ (save หรือ download) เอาไว้ เพื่อว่าในครั้งหน้าถ้าหากจะใช้งานจะได้ไม่ต้องต่อเน็ตอีก เพราะเราเก็บไว้ในเครื่องคอมฯของเราเรียบร้อยแล้ว สิ่งที่เก็บไว้นี้เราเรียกว่า “ไฟล์” คือ ไฟล์ข้อความ, ไฟล์รูปภาพ,ไฟล์เสียง, ไฟล์วีดิโอ หรือไฟล์โปรแกรม

จากคำถามที่ผมได้รับ ทำให้รู้ว่า แม้การดาวน์โหลดและติดตั้งจะเป็นเรื่องง่าย ๆ แต่ก็มีหลายท่านที่ทำไม่ค่อยเป็น ผมจึงขอแนะนำวิธีการ Save หรือ Download ขั้นพื้นฐาน ดังข้างล่างนี้ และจะแนะนำเรื่องการติดตั้งไฟล์โปรแกรมในลำดับต่อไป

* * * การดาวน์โหลด * * *
(1)
ถ้าท่านต้องการ save ข้อความทั้งหน้า เมื่อท่านคลิก File ที่แถบเมนูบาร์ด้านบนของหน้าจอ, คลิก Save as, ให้ท่านดูตรง Save as type นั่นแหละครับ ถ้าท่านเลือก Web Archive Single File ไฟล์ที่ท่าน Save จะมีทั้งภาพและข้อความอยู่ในไฟล์เดียวกัน เมื่อท่านเอาไฟล์นี้ไป print ก็จะมีครบทั้งรูปและข้อความ, แต่ถ้าท่านเลือก Webpage HTML only ไฟล์ที่ save ก็จะมีแต่ข้อความไม่มีรูป

(2) ถ้าท่านต้องการ save เฉพาะรูปภาพรูปใดรูปหนึ่งเท่านั้น ให้ท่านคลิกขวาที่รูปนั้น และคลิกซ้าย Save Picture As…

(3) ถ้าท่านต้องการ save ไฟล์วิดีโอ ซึ่งเป็นประเภทไฟล์ขนาดใหญ่ที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิดีโอจากเว็บ youtube.com เชิญ คลิกอ่านรายละเอียดได้ที่นี่ครับ

(4) สำหรับไฟล์ที่มีขนาดใหญ่ และ save (download) ยากและใช้เวลานาน คือไฟล์เสียง mp3, ไฟล์โปรแกรมต่าง ๆ, ไฟล์ขนาดใหญ่พวกนี้เขามักจะบีบอัด (หรือ compress)ไว้ให้มีขนาดเล็กลง เพื่อว่าตอนที่ท่านดาวน์โหลดจะได้ไม่ต้องเสียเวลามาก และไฟล์ที่ถูกบีบแล้วนี้ ที่รู้จักกันดี คือไฟล์ที่มีนามสกุล “zip” หรือ “rar” ไฟล์พวกนี้ เมื่อเราพบลิงค์และต้องการจะดาวน์โลดไฟล์เก็บไว้, จะมีวิธีการ save หรือ download ต่างจากข้างบนซึ่งเป็นไฟล์ขนาดเล็ก คือให้ท่านคลิกขวาที่ลิงค์นั้น และคลิกซ้าย Save Target As… และหาที่ save ไว้ในเครื่อง

แต่วันนี้ ผมตั้งใจจะพูดเป็นพิเศษเกี่ยวกับไฟล์โปรแกรม ซึ่งจาก feedback ที่ได้รับจากท่านผู้อ่าน ทำให้รู้ว่ายังมีอีกหลายท่านที่งง คือ เมื่อดาวน์โหลดเสร็จแล้ว ไม่รู้จะทำยังไงกับมัน จึงจะทำให้โปรแกรมมันทำงานได้

ก่อนอื่นก็ต้องขอเรียนว่า “ไฟล์โปรแกรม” นี้ เป็นไฟล์พิเศษที่คนเก่งด้านคอมพิวเตอร์ เขาทำขึ้นมา ที่ว่าพิเศษก็เพราะมันเป็นไฟล์ที่ช่วยให้คอมฯ ทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งได้เป็นพิเศษ เช่น โปรแกรม RealPlayer ใช้สำหรับเปิดไฟล์ดูหนังฟังเพลง, ไฟล์ Acrobat Reader สำหรับอ่านข้อความที่เป็นไฟล์ pdf เป็นต้น

สำหรับไฟล์โปรแกรมที่พวกเราใช้ในการศึกษาภาษาอังกฤษ เช่น ไฟล์โปรแกรมดิกชันนารี, ไฟล์โปรแกรมแบบฝึกหัดภาษาอังกฤษ ฯลฯ ลักษณะพิเศษของไฟล์พวกนี้ คือ จะมีการตอบสนอง หรือ interaction กับผู้ใช้งาน เช่น พอคลิกแบบทดสอบตรงนี้ ก็มีข้อความบอกว่าถูกหรือผิดทันที, พอคลิกปุ่มนี้ก็จะได้ยินเสียงอ่าน หรือไฟล์เกมพัฒนาภาษาอังกฤษ เช่น scrabble หรือ hangman ก็เป็นไฟล์โปรแกรมที่มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อผู้เล่น การศึกษาภาษาอังกฤษโดยใช้ไฟล์โปรแกรมจึงน่าสนุก

ไฟล์โปรแกรมภาษาอังกฤษที่เราดาวน์โหลดและติดตั้งไว้ในเครื่องคอมฯแล้ว ส่วนใหญ่เราสามารถใช้งานได้ทันทีโดยไม่ต้องต่อเน็ต นี่ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจโดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านที่อยู่ในพื้นที่ที่มีปัญหาเน็ตช้า หรือ เน็ตหลุด หรือเน็ตเดี้ยงบ่อย ๆ เราสามารถใช้งานไฟล์โปรแกรมได้โดยไม่ต้องง้อเน็ต

* * * การดาวน์โหลดและติดตั้งไฟล์โปรแกรม * * *

ต่อไปนี้ผมขอแนะนำขั้นตอนทั้งหมดในการดาวน์โหลดและติดตั้งไฟล์โปรแกรม ท่านที่ทำเป็นแล้วก็ไม่มีความจำเป็นต้องอ่าน แต่ท่านที่ยังทำไม่เป็น หรือยังไม่ค่อยคล่อง เชิญอ่านได้ครับ

(1) ขั้นแรกที่สุด ก็คือการดาวน์โหลดไฟล์ ซึ่งหลาย ๆ เว็บจะมีข้อความเขียนไว้ว่า “Download” ให้เราคลิกขวาที่ลิงค์ Download นี้ และคลิกซ้าย Save Target As… และหาที่ save ไว้ในเครื่อง โดยคลิก Save

(2) ขณะที่ท่านดาวน์โหลด ท่านจะเห็นที่บรรทัดล่างสุดมีประโยคว่า .”Close this dialog box when download completes” ขอให้ท่านติ๊กเพื่อให้สี่เหลี่ยมหน้าประโยคนี้ว่าง ไม่ให้มีเครื่องหมายถูก ( / ) อยู่ในช่องสี่เหลี่ยมนี้

(3) ระหว่างนี้ ท่านจะเห็นตัวเลขแสดงเปอร์เซนต์ของการดาวน์โหลดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ให้ท่านรอจนครบ 100 %

(4) เสร็จแล้วให้ท่านคลิก Open Folder มันก็จะไปยังสถานที่ที่ท่านดาวน์โหลดไฟล์นี้เก็บไว้ในเครื่องคอมฯ ตรงนี้มีจุดที่ท่านต้องสังเกต คือ ถ้าเป็นไฟล์ที่เขาบีบอัดไว้ ท่านจะต้องกระจาย (extract)ไฟล์นี้ซะก่อน

แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าไฟล์นี้มันเป็นไฟล์บีบหรือไม่ได้บีบ? ถ้าเป็นคนที่คล่องเรื่องนี้ เพียงดูลักษณะของไอคอนไฟล์ก็สามารถบอกได้ทันทีว่าเป็นไฟล์บีบหรือไม่ได้บีบ แต่สำหรับท่านที่ยังไม่ค่อยคล่อง ผมขอแนะอย่างนี้แล้วกันครับ ให้ท่าน
1)คลิกขวาที่ไอคอนไฟล์นั้น
2)คลิกซ้ายที่ Properties
3)ดูที่บรรทัด Type of file: ซึ่งอยู่ด้านบน, ถ้ามีคำว่า RAR, หรือ zipped หรือ compressed ปรากฏอยู่แสดงว่าไฟล์นี้เป็นไฟล์บีบ ซึ่งท่านจะต้องกระจายออก

(5) การกระจายไฟล์บีบ ในเครื่องคอมฯของท่านจะต้องติดตั้งไฟล์ที่ทำหน้าที่กระจายไฟล์บีบไว้เรียบร้อยแล้ว และวิธีกระจายไฟล์ก็คือ 1)ท่านคลิกขวาที่ไอคอนไฟล์บีบนั้น 2)คลิกซ้ายบรรทัด “Extract to ชื่อไฟล์”

(6) ขณะที่ไฟล์กำลังกระจาย ท่านจะเห็นตัวเลข % ของการกระจาย เมื่อครบ 100 % แล้ว ภาพการกระจายไฟล์ก็จะหายไป

(7) มันหายไปไหน? ในโฟลเดอร์ซึ่งมีไฟล์บีบอยู่นี้ ให้ท่านเลื่อนไปหาไฟล์สุดท้ายหรือไฟล์ล่างสุดของโฟลเดอร์นี้ ท่านจะพบไฟล์ที่กระจายแล้วอยู่ที่ตรงนั้นในรูปของโฟลเดอร์ หรือถ้าท่านวางไฟล์บีบไว้ที่ desktop ไฟล์ที่กระจายแล้วก็จะอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่งบน desktop นั่นแหละ หาให้ดี ๆ เถอะ เจอแน่

(8) ย้อนกลับไปที่ข้อ 5 อีกครั้ง โดยปกติช่างคอมฯ เขาจะลงโปรแกรมที่สามารถกระจายไฟล์บีบไว้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งที่ใช้กันมากที่สุดก็คือ โปรแกรม WinZip หรือโปรแกรม WinRAR แต่ข้อที่น่ารำคาญก็คือ ถ้าไฟล์บีบที่ท่านดาวน์โหลดมานั้น เขาบีบด้วยโปรแกรม WinRAR แต่ถ้าเครื่องของท่านมีโปรแกรม WinZip มันจะไม่สามารถกระจายไฟล์บีบ WinRAR ได้ แต่ถ้าลง WinRAR ไว้ มันจะกระจายไฟล์บีบได้ทุกชนิด

เอาอย่างนี้แล้วกันครับ ถ้าท่านเจอปัญหานี้ ผมขอแนะให้ท่านลงโปรแกรมที่มีชื่อว่า ZipGenius ซึ่งเป็นโปรแกรมที่สามารถกระจายไฟล์ บีบได้ทุกประเภท แถมเป็นโปรแกรมฟรีที่ไม่มีการหมดอายุ คลิกที่นี่ครับ Download Now ส่วนการติดตั้งโปรแกรม ZipGenius ณ นาทีนี้ ขอให้ท่านวานเพื่อนช่วยติดตั้งให้ก่อนแล้วกันครับ เพราะจนถึงบรรทัดนี้ท่านยังติดตั้งไม่เป็น (แต่ผมกำลังจะแนะวิธีติดตั้งให้ท่านทราบ)

(9) เป็นอันว่าตอนนี้ท่านได้ไฟล์โปรแกรมที่ดาวน์โหลดมา อาจจะเป็นไฟล์ที่ไม่ได้บีบ หรือไฟล์ที่บีบ(compress) แต่กระจาย(extract)แล้ว
-ถ้าเป็นไฟล์ที่บีบที่กระจายแล้ว มันจะเป็นรูปโฟลเดอร์(กระเป๋าสีเหลือง) ให้ท่านคลิกเข้าไปเรื่อย ๆ จนถึงชั้นในสุด ตรงนี้แหละครับที่ท่านอาจจะงง เพราะท่านอาจจะเจอหลาย ๆ ไฟล์อยู่ตรงนั้น ถ้าท่านเจอไฟล์ที่บรรทัดนั้นมีคำว่า Setup (ซึ่งมักจะมีรูปจอคอมพิวเตอร์ พร้อมแผ่น CD ข้างหน้า), หรือเจอคำว่า Application หรือถ้าไม่เจอทั้งคำว่า Setup หรือ Application ให้ท่านมองขึ้นไปที่เมนูบาร์ด้านบนของหน้าที่ขวามือสุด ท่านจะเห็นรูปสี่เหลี่ยม(ซึ่งมีรูปสี่เหลี่ยมเล็กๆ ในนั้น 6 รูป) ให้ท่านคลิกที่ลูกศรหัวลงที่ขวามือของสี่เหลี่ยมนั้น, แล้วคลิก detail คราวนี้แหละครับที่ท่านจะเห็นคำว่า Application ปรากฏ ( คำว่า Application อาจจะมีหลายบรรทัด อย่าเลือกบรรทัดที่มีคำว่า uninst หรือ uninstall เด็ดขาด)
-ถ้าเป็นไฟล์ที่ไม่ได้บีบ ก็ทำตามขั้นตอนต่อไปได้เลย

(10) ก็เป็นอันว่า ท่านเจอไฟล์ที่มีคำว่า Setup หรือ Application แล้ว ต่อไปนี้ก็จะเป็นขั้นตอนการติดตั้งโปรแกรมจริง ๆ, ให้ท่าน double click ที่ไอคอนนี้ มันจะให้เราทำนั่นทำนี่ไปเรื่อย ๆ ซึ่งโดยปกติเราก็เพียงคลิก next, หรือ OK, หรือ Yes, หรือ I accept… ไปเรื่อย ๆ จนจบขั้นตอนของมัน และตอนท้ายบางทีมันก็จะบอกเราว่า การติดตั้งของเรา complete แล้ว แต่บางทีมันก็ไม่บอก

(11) เมื่อเสร็จการติดตั้งแล้ว เมื่อถึงเวลาใช้งาน ก็ให้ท่านคลิก Start, All Programs, และคลิกที่ชื่อโปรแกรมที่ท่านเพิ่งติดตั้งเสร็จ ซึ่งมักจะเป็นโปรแกรมล่างสุด โปรแกรมก็จะถูกเปิดขึ้นเพื่อให้ท่านใช้งาน

(12) เราจะเรียนรู้วิธีการใช้งานโปรแกรมนี้ได้อย่างไร? ถ้าเป็นไปได้ วิธีที่ง่ายที่สุด คือถามเพื่อนที่เคยใช้โปรแกรมนี้, หรือคลิกที่ปุ่ม Help และอ่านรายละเอียดวิธีใช้, หรือแบบลูกทุ่งที่ผมชอบใช้เป็นประจำก็คือ ลองคลิกปุ่มนั้นปุ่มนี้ไปเรื่อย ๆ และสังเกตการทำงานของมัน แต่อย่าไปเผลอคลิกคำว่า uninstall นะครับ เพราะมันคือการถอนการติดตั้งโปรแกรม

จากขั้นตอนทั้งหมดที่ผมเล่ามาตั้งแต่ต้น ท่านอาจจะรู้สึกว่ามันยุ่งยาก แต่ถ้าท่านได้ลองติดตั้งโปรแกรมใดโปรแกรมหนึ่งสำเร็จสักครั้ง ท่านก็จะรู้ได้เลยว่าการติดตั้งโปรแกรมไม่ใช่เรื่องยากอะไรเลย

ผมขอแนะนำให้ท่านลองติดตั้งโปรแกรมข้างล่างนี้ที่คอมฯ ของท่าน:
My Buddy Dictionary เป็นโปรแกรมดิก อังกฤษ – ไทย และ ไทย – อังกฤษ (มีขนาด 25 MB) มีศัพท์เยอะมาก เป็นแสนคำ คลิกอ่านรายละเอียดการใช้งานได้จาก ที่นี่

แล้วก็อาจจะดาวน์โหลดและติดตั้งโปรแกรมดิกอื่น ๆ ที่ท่านชอบใจซึ่งผมได้แนะนำไว้หลายเว็บ

ลองทำดูนะครับ ไม่ยากหรอก ถ้าทำครั้งแรกไม่สำเร็จ ลองทำครั้งที่สอง ,,,สาม,,, มันไม่พ้นความพยายามหรอกครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น