วันพฤหัสบดีที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ในประเทศ: ประชามติจุด 'เปลี่ยน' ประเทศไทย เมื่อ ๒๑ ธ.ค.๕๕




ในประเทศ: ประชามติจุด 'เปลี่ยน' ประเทศไทย


          มติที่พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลเห็นพ้อง ที่จะให้ทำ "ประชามติ" ก่อนลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 และเดินหน้าประชาเสวนา ตามแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และตามแนวทางและบทสรุปการวิจัยของสถาบันพระปกเกล้านั้น
          แม้จะมองว่าเป็นการถอย แต่ไม่ใช่การถอยเพราะถอดใจ หากแต่เป็นการถอยเข้าหาประชาชน เพื่อเป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็กให้
          ถือเป็นจุดเปลี่ยนอันสำคัญทางการเมืองในช่วงสิ้นปี
          เพราะผลของการลงประชามติจะบีบให้ทุกฝ่ายต้องยอมรับ และเคารพการตัดสินใจของ "ประชาชน"
          หากประชาชนยินยอมให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ รัฐบาลก็จะเดินหน้าอย่างแข็งแกร่ง เพราะถือได้ "ฉันทามติอันชอบธรรม" จากประชาชน
          ซึ่งแน่นอน ย่อมเป็นสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์และแนวร่วมไม่ว่า ส.ว.สรรหา กลุ่มหลากสี กลุ่มพิทักษ์สยาม รวมถึงพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย คงไม่เห็นด้วย
          ชัดเจนว่าพรรคประชาธิปัตย์และแนวร่วม มีจุดยืนต้องการรักษารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 เอาไว้
          ซึ่งตอนแรก เมื่อเห็นฝ่ายรัฐบาลจะเดินหน้าโหวตแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 เพื่อตั้ง ส.ส.ร. แล้วจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่
          นายอภิสิทธิ์ และประชาธิปัตย์ ก็กระโดดอิงคำชี้แนะของศาลรัฐธรรมนูญ ให้รัฐบาลทำประชามติและสานเสวนาก่อน
          พอรัฐบาลย้อนศรจะทำตามนั้น นายอภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์ ก็ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากเปลี่ยนท่าที และเปลี่ยนยุทธวิธี
          ดังที่แสดงผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว "Abhisit Vejjajiva" ว่า
          "ต้องขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนให้เป็นพลังขับเคลื่อนประเทศนี้ไปข้างหน้าอย่างสันติวิธี คือการช่วยกันหยุดความล้มเหลวทางการเมือง"
          "ลำพังผมและพรรคประชาธิปัตย์ไม่สามารถที่จะดำเนินการให้ประสบความสำเร็จได้"
          "การยุติความล้มเหลวทางการเมืองโดยประชาชน เป็นเพียงสิ่งเดียวที่จะช่วยให้ประเทศของเราก้าวข้ามอุปสรรคที่ขวางทางบ้านเมืองมานานหลายปีไม่ให้เดินไปข้างหน้า นั่นคือความต้องการอยู่เหนือกฎหมายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร"
          "ซึ่งทุกคนสามารถทำได้ด้วยการร่วมกันล้มประชามติที่นายกฯ ผู้เป็นน้องสาวกำลังจะทำเพื่อรื้อรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ หวังลบมาตรา 309 เพื่อล้มคดีทั้งหลายของพี่ชายนักโทษ"
          "หากพี่น้องทำสำเร็จก็จะเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการเมืองไทย เปรียบเสมือนการปฏิวัติโดยประชาชนตามระบบที่ไม่เสี่ยงต่อการเสียเลือดเนื้อ เพื่อยืนยันว่าประชาชนและกฎหมายยิ่งใหญ่กว่าอำนาจเงินและอำนาจรัฐ"
          "...มาร่วมกันคว่ำประชามติแก้รัฐธรรมนูญเพื่อนักโทษ ก้าวข้าม พ.ต.ท.ทักษิณ นำพาประเทศเดินไปข้างหน้า"
          ในทัศนะของนายอภิสิทธิ์ข้างต้น นายอภิสิทธิ์เชื่อว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีเป้าหมายเดียว นั่นคือ การช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ
          จึงจำเป็นต้อง "คว่ำประชามติ" ลงเสีย
          แม้ก่อนหน้านี้ นายอภิสิทธิ์ จะบีบให้รัฐบาลและพรรคเพื่อไทยทำ "ประชามติ" ก็ตาม
          ศึก "ทำและไม่ทำ" ประชามติคราวนี้ จึงแหลมคม
          สำหรับฝ่ายรัฐบาล แม้จะไม่มีการต่อต้าน ก็ใช่ว่าจะดำเนินการได้โดยง่ายดาย
          เพราะ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2552 ระบุเงื่อนไขสำคัญเอาไว้ 2 ขั้นตอน
          ขั้นตอนแรก ต้องมีผู้มาลงประชามติเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ
          ปัจจุบันผู้มีสิทธิลงประชามติโดยอิงกับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ส.ส. จำนวน 46,939,549 คน
          กึ่งหนึ่งก็คือต้องมีผู้มาลงประชามติไม่น้อยกว่า 23,469,775 คน
          นั่นเป็นขั้นตอนแรก ขั้นตอนที่สอง จะต้องได้เสียงสนับสนุนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาลงประชามติ
          คือถ้าใช้สิทธิ 23,469,77 คน ก็ต้องมีผู้เห็นด้วยไม่ต่ำกว่า 11,734,888 คน จึงจะถือว่าประชามติ มีผล
          ซึ่งไม่ง่าย และรัฐบาลเองก็คงเป็นห่วงอยู่ ด้วยเหตุนี้ คณะรัฐมนตรี จึงมีมติเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม ตั้งคณะทำงานประกอบด้วย นายวราเทพ รัตนากร พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา และเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นคณะทำงานศึกษาเรื่องนี้ทั้งในข้อกฎหมายและวิธีการปฏิบัติ ก่อนจะเดินหน้า
          หากผลีผลามไปอาจพลาดพลั้งได้ ยิ่งเมื่อต้องเผชิญกับการต่อต้านจากพรรคประชาธิปัตย์และพันธมิตร ในทุกรูปแบบ
          คาดว่าคงจะมีการใช้มวลชน องค์กรอิสระ แง่มุมกฎหมาย เข้ามาสกัดเต็มที่ หืดขึ้นคอแน่
          อย่างไรก็ตาม น.ส.ยิ่งลักษณ์ และพรรคเพื่อไทยเมื่อเลือกเดินทางนี้ ก็คงต้องสู้อย่างหัวชนฝาเช่นกัน
          เพราะหากผ่านการทำประชามติ ก็เท่ากับว่าจะมีความชอบธรรมทางการเมืองสูงลิบลิ่วขึ้นมาทันที
          การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะผ่านไปโดยราบรื่น และเนื้อหาใหม่ของรัฐธรรมนูญ ก็จะเอื้อต่อการขับเคลื่อน "การเมือง" ในอนาคตอย่างมาก
          ตรงกันข้าม หากพ่ายแพ้ก็จะเป็นอย่างที่ นางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) วิตก นั่นคือ ถ้าแพ้ จะทำให้รัฐธรรมนูญ 2550 กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่มีใครแตะต้องได้อีก ต่อไป จะเป็นความหายนะไม่เฉพาะรัฐบาล แต่รวมถึงขบวนการคนเสื้อแดงด้วย
          ซึ่งตรงนี้ถือเป็นความหวังของนายอภิสิทธิ์สูงสุดเช่นกัน นั้นคือหวังที่จะให้ประชามติคว่ำลงให้ได้
          เพราะจะทำให้รัฐบาลขาดความชอบธรรมอย่างร้ายแรง
          ขณะเดียวกัน จะเกิดกำลังใจอันใหญ่หลวงหากประชาชนส่วนใหญ่จะมายืนเคียงข้างพรรคประชาธิปัตย์
          พร้อมๆ กับที่เราจะเห็นการใช้ "อาวุธสำคัญคือรัฐธรรมนูญปี 2550" มาจัดการพรรคเพื่อไทยอย่างไม่ยั้งมือแน่นอน
          ประชามติ ที่จะเกิดขึ้นคราวนี้ จึงถือเป็น "จุดเปลี่ยน" อันสำคัญของประเทศ เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของนายอภิสิทธิ์ ต่างฝ่ายต่างแพ้ไม่ได้ มีการคาดหมาย การลงประชามติ จะมีขึ้นในราวเดือนเมษายน 2556 นี้
          จะทำให้เดือนเมษายน เป็นเดือนที่การเมืองร้อนระอุ
          การต่อสู้จะเป็นไปอย่างดุเดือดเข้มข้น สอดคล้องกับคำทำนายของโหราจารย์หลายคน ที่ชี้ตรงกันว่า ระหว่าง มีนาคมถึงเมษายน 2556 ดวงเมือง จะเกิดปัญหาวิกฤต นำมาซึ่งความทุกข์ยาก และเกิดการสูญเสียครั้งใหญ่
          อะไรจะเกิดขึ้นฅ น่าจับตา และชวนระทึกใจยิ่ง--จบ--

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น