วันพฤหัสบดีที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ทร.ปลื้ม'ในหลวง'ประทับ'เรืออังสนา' เมื่อ 5 ก.ค.55


ทร.ปลื้ม'ในหลวง'ประทับ'เรืออังสนา'

ทร. ปลื้มปิติ 'ในหลวง' ประทับ 'เรืออังสนา' อีกครั้ง เผยเคยใช้เสด็จฯเปิด 'สะพานภูมิพล-คลองลัดโพธิ์' 5 จังหวัดพร้อมร่วมงานพระราชพิธี


                          5 ก.ค.2555 พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงประทับเรืออังสนาในการเสด็จทางชลมารค เพื่อเปิดโครงการของกรมชลประทานในวันที่ 7 ก.ค.นี้ว่า ถือเป็นความปลาบปลื้มของกองทัพเรือและราชนาวีทุกคน ที่จะได้ถวายการรับใช้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยในการมาประทับเรืออังสนาอีกครั้งหนึ่งในการเสด็จทางชลมารค ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 24 พ.ย.2554 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เคยประทับบนเรืออังสนาเสด็จไปเปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ จ.สมุทรปราการมาแล้ว
                          ทั้งนี้ทางกองทัพเรือได้เตรียมความพร้อมของเรือ ทั้งเรื่องการประดับเรือ การตรวจเช็คระบบต่างๆไว้พร้อม เพื่อจะทำหน้าที่ในการเป็นเรือพระที่นั่งในครั้งนี้ให้ดีที่สุด โดยข้าราชการทหารเรือทุกนายปลาบปลื้มอย่างมาก และขอชี้แจงว่าเรืออังสนาเป็นเรือรับรองของกองทัพเรือไม่ได้เป็นเรือพระที่นั่ง แต่จะเรียกว่าเป็นเรือพระที่นั่งต่อเมื่อพระองค์ท่านเสด็จมาประทับเท่านั้น เมื่อเสร็จภารกิจก็จะกลับมาใช้เป็นเรือรับรองของ ทร.ต่อไปตามเดิม
                          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 7 ก.ค.นี้ พล.ร.อ.สุรศักดิ์ ในฐานะ ผบ.ทร.พร้อมกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีจะติดตามเสด็จฯพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวลงเรืออังสนาไปด้วยตลอดเส้นทางจากโรงพยาบาลศิริราชไปยังเกาะเกร็ด โดยโครงการชลประทานทั้ง 5 โครงการ ที่ นายกรัฐมนตรี จะกราบบังคมทูลถวายรายงาน คือ 1.เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก 2.เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก 3.อุโมงค์ผันน้ำลำพะยังภูมิพัฒน์ จ.กาฬสินธุ์ 4.ประตูระบายน้ำธรณิศนฤมิต จ.นครพนม และ 5.โครงการประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ์ จ.นครศรีธรรมราช การเสด็จฯเพื่อเปิดโครงการชลประทานทั้ง 5 โครงการนี้จะมีการถ่ายทอดสด ตลอดเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินกระทั่งเสด็จฯกลับในเวลา 20.00 น. โดยประชาชนริมแม่น้ำเจ้าพระยาตลอดเส้นทาง ได้เตรียมทำความสะอาดหน้าบ้าน และประดับธงสัญลักษณ์ พร้อมรับเสด็จฯด้วย
                          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเรืออังสนาที่กองทัพเรือจัดถวายเป็นเรือพระที่นั่งครั้งนี้เป็นเรือที่กองทัพเรือสั่งต่อขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2545 เพื่อใช้รับรองพระราชอาคันตุกะ ประมุขของประเทศต่างๆ และแขกระดับสูงของรัฐบาล ต่อมาในปี พ.ศ.2550 กรมอู่ทหารเรือได้ร่วมกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ทดลองใช้น้ำมันไบโอดีเซล บี 100 โดยใช้ปาล์มน้ำมัน เป็นวัตถุดิบ ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อลดมลพิษและควันดำ อันเป็นการปกป้องสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้มีการทดลองเป็นระยะเวลา 3 ปี และปรากฏผลดีเป็นอย่างยิ่ง เรืออังสนาเป็นเรือที่มีระบบการเดินเรือที่ทันสมัยและปลอดภัย ด้วยขนาดตัวเรือยาว 49 เมตร กว้าง 10 เมตร รองรับผู้ร่วมงานได้ประมาณ 250 คน สำหรับชื่อเรือ อังสนา แปลว่า ดอกประดู่ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เคยประทับเรืออังสนาที่กองทัพเรือจัดถวายเป็นเรือพระที่นั่งเมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดสะพานภูมิพล 1 สะพานภูมิพล 2 และ ประตูระบายน้ำ คลองลัดโพธิ์ เมื่อ 24 พ.ย.53

นครนายกเตรียมพร้อมเปิดเขื่อนขุนด่านปราการชล
               นายสุรชัย ศรีสารคาม ผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก เปิดเผยว่า ขณะนี้ในส่วนของจังหวัดนครนายก ได้เตรียมความพร้อมในวันดังกล่าว โดยจะมีข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน ร่วมกิจกรรมที่บริเวณเขื่อนขุนด่านปราการชล ประมาณ 2,000 คน โดยทางจังหวัดนครนายกได้จัดให้มีกิจกรรมเสริม อาทิ การลงนามถวายพระพร การถวายพุ่มเงิน-พุ่มทอง ถวายพระพรสักการะ การจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ ความเป็นมาของโครงการเขื่อนขุนด่านปราการชล และโครงการพระราชดำริฯ ที่เกิดขึ้นในจังหวัดนครนายก พร้อมกันนั้น มีการฉายวีดิทัศน์เกี่ยวกับ โครงการ “นครนายกจังหวัดอัจฉริยะ” และประวัติเขื่อนขุนด่านปราการชลให้ชมด้วย ส่วนภาคบันเทิง จะมีการแสดงของสถาบันการศึกษาและได้รับเกียรติจากนักร้องชื่อดัง เสรี รุ่งสว่าง และแพรวา พัชรี มาให้ความบันเทิงกับประชาชนในภาคกลางคืนอีกด้วย

นครพนมจัดกิจกรรมแปรอักษรเฉลิมพระเกียรติ

               ที่โครงการพัฒนาลุ่มน้ำก่ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  ต.น้ำก่ำ อ.ธาตุพนม จ.นครพนม  นายอนุกูล  ตังคณานุกูลชัย ผวจ.นครพนม  พร้อมด้วย  นายพิทักษ์  ปักษานนท์  ผอ.สำนักงานก่อสร้าง 3 โครงการพัฒนาลุ่มน้ำก่ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  ร่วมประชุมหารือส่วนเกี่ยวข้อง   เพื่อเตรียมพร้อมประกอบพระราชพิธีเปิดโครงการพัฒนาลุ่มน้ำก่ำ  อันเนื่องมาจากพระราชดำริ   ซึ่งเป็น 1 ใน 5 แห่ง ทั่วประเทศ  ที่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิด 5 โครงการชลประทาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ณ บริเวณหน้ากรมชลประทาน สามเสน เขตดุสิต กทม.  พร้อมจะมีการถ่ายทอดสดผ่านดาวเทียม พร้อมแพร่ภาพการจัดพิธีเปิดทั่วประเทศ   เวลาประมาณ 18.00 น.  ในวันที่ 7 กรกฎาคม
               นายอนุกูล  กล่าวว่า  สำหรับ โครงการพัฒนาลุ่มน้ำก่ำ  อันเนื่องมาจากพระราชดำริ  ต.น้ำก่ำ  ซึ่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริ ให้กรมชลประทานดำเนินโครงการก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2535  ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องระยะยาวถึงปี 2559  ใช้งบประมาณมากกว่า 6,000 ล้านบาท  ในการสร้างประตูเก็บกักน้ำ รวมถึงระบบส่งน้ำ ของแม่น้ำสาขาทั้งหมด จนถึงลำน้ำโขง เป็นระยะทางยาวกว่า 123 กิโลเมตร  เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนจากปัญหาอุทกภัย และปัญหาภัยแล้งของเกษตรกร ที่อาศัยอยู่ทั้ง 2 ฝั่งลำน้ำก่ำ ในพื้นที่ 2 จังหวัด สกลนคร ถึงนครพนม มีเป้าหมายครอบคลุมเป็นพื้นที่ถึง 165,000 ไร่    โดยปัจจุบันโครงการได้คืบหน้ามาแล้วกว่า 80 เปอร์เซ็นต์  ทำให้เกษตรกรในพื้นที่ได้รับประโยชน์สามารถใช้น้ำในการเกษตรได้อย่างเพียงพอในช่วงเกิดภาวะภัยแล้ง  รวมถึงลดปัญหาอุทกภัยน้ำท่วม หลังจากมีการก่อสร้าง โครงการพัฒนาลุ่มน้ำก่ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
               นายพิทักษ์  ปักษานนท์  ผอ.สำนักงานก่อสร้าง 3 โครงการพัฒนาลุ่มน้ำก่ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กล่าวว่า  สำหรับสถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้ถือว่าเป็นปัญหาสำคัญ  สร้างความเดือดร้อนให้เกษตรกรหลายพื้นที่  ได้รับความเดือดร้อนขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค  รวมถึงการเกษตร  โดยโครงการพัฒนาลุ่มน้ำก่ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  ถือเป็นโครงการสำคัญที่จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรได้  ซึ่งจะสังเกตได้ว่าหลังจากโครงการพัฒนาลุ่มน้ำก่ำ  ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ประมาณปี 2535 มาถึงปี 2553  มีกำหนดต่อเนื่องถึงปี 2559  ตามพระราชดำริ ขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ  ปัจจุบันความคืบหน้ามากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์  ทำให้เกษตรกรในพื้นที่ได้รับประโยชน์มากกว่า 61,000 ไร่  ที่สามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนแก้ปัญหาพื้นที่เกษตรขาดแคลนน้ำได้เป็นอย่างดี  ซึ่งขณะนี้ถึงแม้พื้นที่อื่นๆ จะประสบปัญหา แต่สำหรับพื้นที่นาข้าวของเกษตรกรในพื้นที่ครอบคลุม สามารถทำนาได้ตามปกติ  โดยเชื่อมั่นว่าถึงแม้ฝนจะทิ้งช่วงก็สามารถจัดสรรน้ำให้เกษตรกรในพื้นที่ได้อย่างเพียงพอแน่นอน  และเมื่อโครงการเสร็จสมบูรณ์ในอนาคตจะสามารถทำให้เกษตรกรทำการเกษตรได้ตลอดปี  คอบคลุมพื้นที่ถึง 165,000 ไร่   ถือเป็นโครงการสำคัญที่จะเป็นการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรอย่างยั่งยืน ท่ามกลางแนวโน้มปัญหาภัยแล้งจะเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น
               ส่วนในการเตรียมพร้อมพิธีเปิดทางกรมชลประทานได้ร่วมกับจังหวัดนครพนม จัดเตรียมสถานที่ เพื่อประกอบพิธี พร้อมกันทั่วประเทศ ในวันที่ 7 กรกฎาคม 2555  เวลาประมาณ 18.00 น.  ที่สำคัญที่เป็นความภาคภูมิใจมากที่สุด คือ นครพนม ได้มีการจัดแปรอักษรเฉลิมพระเกียรติ ร่วมกับจังหวัดอื่นที่ทำพิธีเปิดชลประทาน โครงการพระราชดำริ  ซึ่งได้รับมอบหมายให้แปรตัวอักษร ตัว ง กับ พ  โดยจะใช้นักเรียนประมาณ 1,000  คน  เพื่อเป็นกิจกรรมในการเฉลิมฉลอง  ในโอกาสนี้จึงขอเชิญชวนพสกนิกรทุกหมู่เหล่าร่วมพิธี

กาฬสินธุ์นำนักเรียนกว่า600คนแปรอักษร

               นายอำพล  พรหมโคตร  หัวหน้าฝ่ายสำนักบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษาที่  4  ซึ่งรับผิดชอบโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริอุโมงค์ผันน้ำลำพะยังภูมิพัฒน์    กล่าวว่า  ในส่วนของการเตรียมความด้านสถานที่ขณะนี้ได้มีการปรับปรุงภูมิทัศน์ใหม่ทั้งบริเวณของพื้นที่อุโมงค์ผันน้ำ  โดยได้นำต้นไม้หลากหลายพันธุ์มาประดับตกแต่งเพื่อให้สื่อความหมายถึงความอุดมสมบูรณ์  และความเขียวขจีของพันธุ์พืช ชนิดของพืชที่นำมาตกแต่งจะเน้นให้เกิดความกลมกลืนกับสภาพพื้นที่ให้มากที่สุด  รวมถึงบริเวณไร่นาที่อยู่ใกล้เคียงกับอุโมงค์ผันน้ำที่กำลังปักดำเสร็จสิ้น  ก็จะยิ่งเพิ่มความสวยงามและสร้างบรรยากาศให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ด้วย
               นอกจากนี้ในส่วนของการการแสดงแปลอักษร  ที่จังหวัดกาฬสินธุ์จะแปรอักษร  สระเอ  (เ)  และ อักษร  จ   พร้อม ๆ กันกับโครงการทั้ง 4 แห่งนั้น  เพื่อรวมกันเป็น “ทรงพระเจริญ”  มีการซักซ้อมเพื่อเตรียมความพร้อมครั้งสุดท้ายเป็นการซ้อมใหญ่  ซึ่งผ่านไปได้ด้วยดี  โดยการแปรอักษรใช้นักเรียน - นักศึกษาจากโรงเรียนเขาวงพิทยาคม  โรงเรียนพุทโธภาวนาประชาสรรค์  และวิทยาลัยเทคนิคเขาวง จำนวนทั้งหมด  625 คน  ซึ่งทุกคนพร้อมและมีความตั้งใจอย่างมากที่จะร่วมกิจกรรมครั้งนี้  และถือเป็นประวัติศาสตร์ครั้งใหญ่ของชาวไทยทั้งแผ่นดิน
               นอกจากนี้ยังได้จัดเตรียมจอมอนิเตอร์ขนาดใหญ่เพื่อเตรียมถ่ายทอดสัญญาณภาพให้กับประชาชนได้ชมในพื้นที่ด้วย สำหรับประชาชนที่จะเดินทางมาร่วมกิจกรรมสามารถเดินทางมาที่อุโมงค์ผันน้ำได้ในวันที่  7  ก.ค.  2555  โดยทางเจ้าหน้าที่ได้ระดมเจ้าหน้าที่ตำรวจ  อปพร.   และอาสาสมัครกว่า 1,000  คน  คอยอำนวยความสะดวกในการสัญจรและคอยดูแลเรื่องความปลอดภัยทางถนนบริเวณเส้นทางจาก อ.เขาวง - อุโมงค์ผันน้ำ  ชาวบ้านในพื้นที่ได้เตรียมการต้อนรับผู้ที่จะเดินทางมาร่วมกิจกรรมครั้งนี้อย่างดียิ่งและอบอุ่น               

พิษณุโลก3,000คนเฝ้ารับเสด็จที่เขื่อนแควน้อยฯ
               นายสมหวัง ปารสุขสาร ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เปิดเผยว่า จังหวัดพิษณุโลกได้เตรียมความพร้อมเรื่องสถานที่และพิธีการ สำหรับวันที่ 7 กรกฏาคม เรียบร้อยแล้ว โดยสถานที่ทำพิธีนั้น ได้ใช้ลานของพิพิธภัณฑ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ฯ เป็นที่ตั้งเวที ขณะนี้กำลังจัดเตรียมเวทีสำหรับพิธีการ โดยวางตัวเขื่อนแควน้อย เป็นฉากหลังของเวที ข้าราชการ ประชาชนชาวอำเภอวัดโบสถ์ และชาวพิษณุโลก ที่มาร่วมงานจะยืนล้อมเป็นวงกลมหันหน้าเข้าเวที และได้จัดเต้นท์อำนวยการ เต้นท์สำหรับจัดนิทรรศกาอีก 30 เต้นท์
               อย่างไรก็ตาม คาดว่าในวันที่ 7 กรกฏาคม   จะมีผู้มาร่วมพิธีที่เขื่อนแควน้อยฯประมาณ 3,000 คน เฉพาะชาวอำเภอวัดโบสถ์ที่รู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณได้แสดงเจตจำนงมาร่วมงาน 2,000 คนแล้ว โดยประชาชนทั่วไป นัดกันใส่เสื้อสีชม ขณะที่ข้าราชการชุดเครื่องแบบกากี นอกจากนี้ สำนักชลประทานที่ 3 ได้เชิญ ผู้ว่าราชการจังหวัดและข้าราชการใน 4 จังหวัดพื้นที่รับผิดชอบ พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ อุตรดิต์ มาร่วมพิธีด้วย รวมแขกวีไอพี ข้าราชการ และประชาชนทั่วไป ประมาณการว่าจะมีร่วม 3,000 คน และขอให้ผู้มาร่วมงานเดินทางมาแต่เนิ่น ๆ เพื่อความสะดวกในการจัดระเบียบการจอดรถ และจัดสถานที่

               สำหรับหมายกำหนดการพิธีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค ทำพิธีเปิดเขื่อนพร้อมกันทั่วประเทศที่กรมชลประทานในวันที่ 7 กรกฏาคมมีดังนี้ เวลา 16.30 น.พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีฯ เสด็จออกจากอาคารโรงพยาบาลศิริราช มาที่ท่าเทียบเรือ ประทับเรือพระที่นั่งอังสนา เรือพระที่นั่ง ล่องแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นมาที่เกาะเกร็ด และถึงที่หน้ากรมชลประทานในเวลา 18.45 น. จากนั้น เวลา 18.55 น. นายกรัฐมนตรีกราบบังคมทูลถวายรายงาน พร้อมเบิกตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และอธิบดีกรมชลประทาน
               เวลา 19.05 น.พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรสื่อผสม น้ำสร้างชีวิต เวลา 19.40 น.ผู้ว่าราชการจังหวัดในแต่ละเขื่อน ทำพิธีเปิดกรวยดอกไม้ ธูปเทียนแพร นายกรัฐมนตรีนำข้าราชการ ประชาชนถวายพระพร เวลา 19.50 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประกอบพิธีเปิดเขื่อน 5 เขื่อนพร้อมกัน วางพระหัตถ์ บนแท่นตราสัญลักษณ์โครงการ ทรงทอดพระเนตรพิธีเปิดทั้ง 5 เขื่อน ผ่านระบบวิดีโอลิงค์ ที่ช่วงเวลานี้ ทั้ง 5 เขื่อน ได้ใช้คนเขื่อนละ 1,000 คน แปรอักษร ข้อความ ทรงพระเจริญ โดยเขื่อนแควน้อยบำรุงแดนฯ เป็นเขื่อนแรก ใช้ประชาชน 1,000 คน โบกธงชาติ ธงสีเหลืองเขียนข้อความว่า “ทร” ยืนเรียงกันบนสันเขื่อนแควน้อยฯ เป็นข้อความ “ ทร” จากนั้น เวลา 20.00 น.เสด็จพระราชทานดำเนินกลับโรงพยาบาลศิริราช

นครศรีธรรมราชเร่งปรับภูมิทัศน์รับการจัดงาน
               ส่วนของจังหวัดนครศรีธรรมราช จะมีการจัดกิจกรรมขึ้นมากมายทั้งภาคความรู้และภาคบันเทิง ณ บริเวณศูนย์อำนวยการและประสานงานโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลหูล่อง อำเภอปากพนัง เนื่องจากคาดว่าในการประกอบพิธีดังกล่าวจะได้รับความสนใจจากประชาชนเดินทางมาเข้าร่วมในพิธี เป็นจำนวนมาก โดยเบื้องต้นผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้สั่งการให้ทุกฝ่ายเตรียมความพร้อมสำหรับการประกอบพิธีฯ อย่างยิ่งใหญ่และสมพระเกียรติ ทั้งนี้เพื่อเผยแพร่พระอัจฉริยภาพด้านการชลประทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ต่อพสกนิกรชาวนครศรีธรรมราช โดยเฉพาะพสกนิกรในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง ที่มีครอบคลุมพื้นที่ถึง 3 จังหวัด คือนครศรีธรรมราช พัทลุงและสงขลา

               นายปริญญา สัคคะนายก ผอ ศูนย์อำนวยการและประสานพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องพระราชดำริกล่าวว่า สำหรับการเตรียมความพร้อมขณะนี้กำลังปรับแต่งภูมิทัศน์รอบหัวงานของโครงการและเตรียมพื้นที่ตั้งเวทีกลางและลานจัดแสดงนิทรรศการต่างๆเพื่อรองรับคลื่นประชาชนที่จะเข้ามาร่วมกิจกรรมแสดงความจงรักภักดีต่อในหลวง ซึ่งขณะนี้พร้อมแล้ว

               สำหรับประตูระบายน้ำ "อุทกวิภาชประสิทธิ" เป็นนามพระราชทานที่เป็นมงคลยิ่ง มีความหมายถึง ความสามารถ แบ่งแยก น้ำจืด น้ำเค็ม ได้สำเร็จ นั่นคือ มีการบริหาร จัดการ อย่างสมดุล ปิดกั้นน้ำเค็มไม่ให้รุกเข้าไปในลำน้ำกักเก็บน้ำจืดไว้ใช้ดำรงชีพซึ่งจะเป็นบทเริ่มต้นในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คน และเอื้ออำนวยให้การใช้ทรัพยากรธรรมชาติในลุ่มน้ำปากพนัง เป็นไปอย่างยั่งยืน ซึ่งประตูระบายน้ำอันเป็นปฐมบทของโครงการโครงการการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้เริ่ม ทำหน้าที่ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2542 มีความสามารถเก็บกักน้ำจืด เหนือประตระบายน้ำได้ 72 ล้านลูกบาศก์เมตร มี 10 ช่องบานระบายและมีประสิทธิภาพในการระบายน้ำในอัตรา 1,246 ลูกบาศก์เมตร/วินาที โดยมีการบริหารจัดการ อย่างผสมผสานทั้งหลักวิชาการและเทคโนโลยี การจัดการน้ำของกรมชลประทาน ผนวกกับการมีส่วนร่วมขององค์กรท้องถิ่นในรูปของคณะกรรมการ เปิด-ปิดประตูระบายน้ำเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่คนและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอย่างสมบูรณ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น