วันอังคารที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ดีเดย์ 31 ม.ค. 56เคาะชื่อบริษัทคว้างานแก้น้ำท่วม 3 แสนล้าน




  • เวลา 14.00 น. ที่ห้องแกรนด์ฮอลล์ ศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย มีการประชุมชี้แจง "โครงการการเสนอกรอบความคิด (Conceptual Plan) เพื่อออกแบบก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศ ภายใต้เงินกู้มูลค่า 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งจัดโดย โดยคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย(กบอ.) ร่วมกับสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โยมีการเชิญเอกอัครราชทูต องค์กรในประเทศไทย ภาคธุรกิจไทยและต่างประเทศ มาร่วมงานจำนวนมาก กว่า1,000คน

    โดยนายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ ในฐานะประธานกบอ. กล่าวชี้แจงภาคธุรกิจตอนหนึ่งว่า ในนามของรัฐบาลขอบคุณที่ท่านสนใจเพราะรัีฐบาลคิดว่ามีความสำคัญสำหรับประเทศทั้งแง่ความมั่นคงและเศรษฐกิจ โดยในวันนี้ตนแจ้งว่าในวันนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้อนุมัติให้มีการตั้งคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกโครงการ โดยตนเป็นประธานคณะกรรมการในฐานะประธานกบอ. ดังนั้นแม้จะเป็นการเสนอโดยประธานคณะกรรมการชุดนี้มาที่ประธานกบอ. เป็นไปไม่ได้ที่ประธานอย่างตนจะทำอะไรเกินเลย เพราะมีคณะกรรมการชุดนี้ถึง 16 คนดูแล และนอกจากนี้จะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาอีกหลายชุดเพื่อขึ้นมาช่วยคณะกรรมการฯ

    นายปลอดประสพ กล่าวด้วยว่า ตนขอย้ำว่าปัจจุบันนี้โหมดของการทำงานยังไม่ใช่การจัดซื้อจัดจ้าง ยังจะไม่มีสัญญาใดๆเกิดขึ้น ยังไม่มีการจ่ายเงินใดใดให้ใครทั้งสิ้น ถ้าใครจะมากล่าวหาว่ามีการคอรัปชั่นจึงเป็นไปไม่ได้เพราะไม่ได้เลือก ไม่ได้จ่ายใคร เพราะทุกคนทำได้หมด และยืนยันว่าจะไม่มีการเลือกใครไว้ในใจ จะไม่มีใครได้เปรียบใคร จะไม่มีการปิดกั้นผู้ใด และสำหรับบริษัทต่างประเทศก็ต้องเป็นไปตามกฎหมายไทยทุกประการ จะไม่มีข้อยกเว้นใดใดทั้งสิ้นไม่ว่าจะนำความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมาใช้อ้างก็ไม้ได้

    ส่วนกรอบของเวลาต่อจากนี้ ประธานกบอ. กล่าวว่า นับแต่วันนี้เป็นต้นไปทุกท่านจะมีเวลา 90 วัน ในการทำงาน ซึ่ง 60 วันแรกจะเป็นการทำ Report เพื่อเป็นกรอบความคิด และอีก 30 วันจะเป็นการเรียกมาสัมภาษณ์และส่งเอกสารประกอบภายหลัง จากนั้นจะเป็นการคัดเลือกแบบ Shot list ภายใน 30 วัน

    " จากนี้ทุกท่านจะต้องยืนยันว่าท่านจะอยู่ในฐานะของผู้เสนอหรือไม่ หรืออยู่ในฐานะของผู้เสนอแบบใด เช่น เป็นบริษัทเดียว เป็นกลุ่มที่ทำ Joinventure หรือ Consortium ที่ต้องแสดงหลักฐานเป็นเอกสารเท่านั้น สำหรับบริษัทต่างชาติที่ไม่จดทะเบียนในไทยต้องได้รับการยืนยันจากสถานทูตของท่านว่าเป็นความจริง"นายปลอดประสพ กล่าว

    จากนั้นนายปลอดประสพได้ลงรายละเอียดในเอกสารทีโออาร์ให้แยกโครงการออกเป็นแบบเรื่อง 8 เรื่องที่ตรงกับลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งการให้คะแนนในShot list นั้นจะเป็นการให้คะแนนใน 8 เรื่อง 1.ความถูกต้องและครบถ้วนของกรอบความคิด 2.ความสอดคล้องกับแผนแม่บท 3.ความเป็นไปได้และความเหมาะสมทางเทคนิค 4.ความเชื่อมโยงระบบทั้งหมด 5.ความรู้ความชำนาญและประสบการณ์ 6.กรอบเวลาต้องการสั้นที่สุด 7.ประมาณการค่าใช้จ่ายหรืองบประมาณ และ8.ผลสัมฤทธิ์ของโครงการ ซึ่งหัวข้อเหล่านี้จะเป็นหัวข้อการให้คะแนน

    " จาก Shot list กลุ่มละ 3 บริษัท กรรมการจะคัดเลือกบริษัทเดียวเพื่อทำสัญญาในอนาคต การเจรจาจะเริ่มจากการเจรจาบริษัทที่ได้คะแนนสูงสุด จะเลือกจากบริษัทที่ได้คะแนนสูงสุดแต่ละกลุ่มช็อตลิสต์ ผู้ที่อาจจะได้สัญญาในอนาคตอาจมีหลายลักษณะ 8 เรื่องอาจจะเป็น 8 บริษัทก็ได้ หรืออาจจะมีบริษัทหนึ่งที่อาจได้มากกว่า1เรื่องก็ได้ จะขึ้นอยู่กับคะแนนที่ได้รับ เพราะอาจจะมีบริษัทหนึ่งบริษัทใดมากกว่าหนึ่งหัวข้อก็เป็นไปได้ ขอย้ำว่าเรื่องเวลา ราคา เทคนิคและประสบการณ์จะเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการตัดสินใจ"นายปลอดประสพ กล่าว

    นายปลอดประสพ กล่าวรายละเอียดอีกว่า เนื่องจากเวลามีจำกัดมากเพราะเป็นเรื่องของเงินกู้และประเทศไทยมีเวลาน้อยในการต่อสู้กับภัยน้ำท่วม เพราะฉะนั้นจึงเป็นไปได้ที่จะใช้ระบบดีไซด์แอนด์บิว เมื่อเราใช้ระบบดีไซด์แอนด์บิวคณะกรรมการจะมีคณะกรรมการอีกสองชุด และจะจ้างบริษัท 2 กลุ่มเข้ามาช่วยเหลือ โดยบริษัทแรกที่ทำหน้าที่โปรเจคเมเนจเม้นคอมปานี( PMC )และกลุ่มคอนสตรัคชั่น ที่จะมาช่วยวิเคราะห์และประเมินการออกแบบและการก่อสร้าง

    " บริษัทที่จะได้สัญญาในอนาคตต้องส่งการดีไซด์ให้สองบริษัทนี้ดูก่อนการก่อสร้างจริง ทุกเรื่องต้องส่งล่วงหน้าหนึ่งเดือน " นายปลอดประสพ กล่าว

    ด้านนายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะเลขาธิการกบอ. กล่าวลงรายละเอียดในเรื่องกรอบเวลาว่า กำหนดเวลาคือ 1.ยื่นโปรไฟล์คุณสมบัติตามทีโออาร์ ที่มีกำหนดเวลา1เดือน วันส่งคือ 24 ส.ค.2555 2.คณะกรรมการฯจะแจ้งผลคัดเลือกตามโปรไฟล์ที่เสนอมาโดยใช้เวลาพิจารณา 1 เดือน จะแจ้งผล 24 ก.ย. 3. บริษัทที่รับคัดเลือกจะมีเวลาดำเนินการ 3 เดือนในการส่งกรอบความคิด คือส่งเอกสารฉบับร่างที่ใช้เวลา 2 เดือน กำหนดส่ง 23 พ.ย. และการเข้ามาสัมภาษณ์และส่งเอกสารฉบับสมบูรณ์ใช้เวลา 1 เดือน กำหนดส่ง 28 ธ.ค. หลังจากนั้นคณะกรรมการจะคัดเลือกและประกาศผลคัดเลือกโดยใช้เวลาประมาณ 1 เดือน โดยจะประกาศวันที่ 31 ม.ค. 2556

    ด้านนายปลอดประสพ กล่าวเสริมว่า ในอนาคตถ้าใครไม่เข้าใจอะไรให้มาถามที่สำนักงานสบอช. ที่ทำเนียบรัฐบาลได้ตลอดเวลาอย่าเกรงใจ ขอให้อย่าเดาไปเอง เพราะถ้าเดาผิดแล้วจะเสียหาย และเราพร้อมให้ความช่วยเหลือทุกท่าน

    หลังจากนั้นเป็นการเปิดให้ภาคเอกชนได้สอบถาม โดยมีตัวแทนบริษัทจากประเทศญี่ปุ่นถามถึงเกณฑ์การคัดเลือก 2 บริษัทที่จะต้องมาดูแลโปรเจค มีคุณสมบัติการคัดเลือกอย่างไร นายปลอดประสพ กล่าวว่า เป็นบริษัทต่างหาก ไม่เกี่ยวกับท่าน ไม่เกี่ยวกับในห้องประชุมนี้ และมีตัวแทนบริษัทญี่ปุ่นอีกบริษัท ถามว่าถ้าใช้เกิน 3แสนล้านบาท ได้หรือไม่ นายปลอดประสพ กล่าวว่า เราต้องการใช้เงินให้น้อยที่สุด แต่ให้ได้สิ่งที่ดีที่สุด แต่ถ้าพิสูจน์ว่าดีเยี่ยมที่สุดในโลกและเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยแม้ว่าแพง ซึ่งคำถามนี้ไม่ควรถามตนหรอก

    จากนั้นมีตัวแทนบริษัทจากสหรัฐอเมริกาถามข้อกังวลเรื่องการปรับเปลี่ยนของค่าเงิน รมว.วิทยาศาสตร์ กล่าวชี้แจงอย่างดุดันวา เราใช้สัญญาไทย เป็นภาษาไทย ใช้เงินไทย ใช้กฎหมายไทย ถ้าไม่สะดวกก็ไม่ต้องทำ อย่างไรก็ตามท่านจะได้เงินตามระเบียบราชการทุกประการแน่นอน แต่ตอนนี้ยังไม่ให้เงินใคร เพราะเรื่องการกรอบความคิดท่านต้องใช้เงินของท่านเอง จนกว่าจะผ่านดีเทลดีไซด์และจะก่อสร้าง ถึงจะให้เงิน ทั้งนี้ไม่ใช่ว่าประเทศไทยรวยแต่ประเทศไทยจำเป็นต้องจ่าย แต่ไม่กู้เงินใครเพราะจะได้ไม่กินน้ำใต้ศอกใคร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น