บทความพิเศษ: เรือบรรทุกเครื่องบิน Shi Lang อีกหนึ่งขั้นของเทคโนโลยีจีน กับความมั่นคงของน่านน้ำเอเซีย-แปซิฟิก
หลังจากพยายามมากว่า 70 ปี ในที่สุดประเทศจีนก็ได้เปิดตัว เรือบรรทุกเครื่องบิน Shi Lang (หรือชื่อเดิม Varyag) อย่างเป็นทางการในปลายปีที่ผ่านมา อันที่จริงแล้วจะกล่าวว่าเป็นทางการก็ไม่เชิง เนื่องจากก่อนหน้านี้ข่าวที่ออกมาส่วนใหญ่นั้นมาจาก เว็บไซต์ทางทหาร ภาพข่าวแบบไม่เป็นทางการ รวมถึงเว็บวิดิโออย่าง Youtube ซึ่งเป็นข้อถกเถียงอยู่ระยะหนึ่ง นอกจากนี้การที่ทางการจีนออกมาเปิดตัวเรือบรรทุกเครื่องบินดังกล่าวนั้น มิใช่เป็นเรือบรรทุกเครื่องบินที่เสร็จสมบูรณ์ เป็นเพียงแต่เรือที่ใช้สำหรับวิจัยและพัฒนาเรือบรรทุกเครื่องบินของจีนเท่านั้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะยังเป็นเรือต้นแบบการวิจัยและพัฒนา แต่ก็จุดประเด็นความสนใจในระดับนานาชาติขึ้นมาทันที เนื่องจากว่าเรือบรรทุกเครื่องบินนั้น ถือเป็นเทคโนโลยีป้องกันประเทศขึ้นสูง ซึ่งเป็น
อันที่จริงแล้ว ที่มาของเรือบรรทุกเครื่องบินของจีนลำนี้ อาจดูคล้ายเรื่องเล่าเนื่องจากว่ามีทั้งเรื่องจริงและเรื่องเล่าลือผสมกันไป โดยเรือลำนี้เดิมชื่อว่า Varyag เป็นมรดกที่ยูเครนได้รับมาจากสหภาพโซเวียต ซึ่งหลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลาย อู่ต่อเรือที่ผลิตเรือลำนี้นั้นอยู่ในเขตประเทศยูเครน ดังนั้นกรรมสิทธิ์ของทั้งอู่ต่อเรือและตัวเรือจึงตกเป็นของยูเครนโดยปริยาย ซึ่งจีนได้ซื้อต่อมาจากประเทศยูเครนในปี 2541 ในสภาพที่สร้างไปแล้วประมาณ 60% และยังไม่มีเครื่องยนต์ โดยลากมาไว้ที่ท่าเรือเมืองต้าเหลียน เพื่อใช้เป็นต้นแบบการสร้างเรือบรรทุกเครื่องบิน เมื่อครั้งแรกที่จีนซื้อเรือลำนี้มานั้นกล่าวกันว่าเพื่อจะนำมาดัดแปลงเป็นคาสิโนลอยน้ำของเมืองมาเก๊า แต่สุดท้ายพบว่าเรือทอดสมออยู่ที่ต้าเหลียนเพื่อนำมาพ่นสีเทาตามแบบกองทัพเรือ และทำการประกอบดาดฟ้าเรือ ซึ่งเรือ Varyag นั้น แน่นอนว่าเป็นเทคโนโลยีตามแบบของอดีตสหภาพโซเวียต หรือจะว่าเป็นเทคโนโลยีรัสเซียก็ได้ ซึ่งอันที่จริงแล้วเรือ Varyag นั้นเป็นหนึ่งในเรือชั้น Kuznetsov ของอดีตสหภาพโซเวียต ซึ่งเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกๆ ของโซเวียต โดยมีขนาด 60,000 ตัน มีดาดฟ้าเรือเป็นแบบมุมโค้ง (Ski jump) เพื่อสำหรับให้เครื่องบินบินขึ้น (take off) นอกจากนี้ก็มีเทคโนโลยีอื่นๆ ตามปกติ เช่นสายเคเบิลช่วยดึงเครื่องบินขณะร่อนลง และระบบรักษาความปลอดภัยอื่นๆ
อย่างก็ตาม การครอบครองเรือบรรทุกเครื่องบินของจีนนั้นก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ จีนยังคงต้องแก้ปัญหาในหลายๆ จุดในการที่จะสร้างกองเรือบรรทุกเครื่องบินขึ้นมา ประเด็นแรกสุดคือเรื่องงบประมาณ เท็ตสึโอะ โคตานิ นักวิจัยชาวญี่ปุ่นประจำ Ocean Policy Research Foundation ให้ความเห็นว่า หากเปรียบเทียบกับประเทศสหราชอาณาจักรที่ใช้งบประมาณในการสร้างและปฏิบัติการเรือบรรทุกเครื่องบินขนาด 50,000 ตันที่ราว 5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ประเทศจีนน่าจะต้องใช้งบประมาณถึง 1 หมื่นล้านเหรียญกับเรือขนาด 60,000 ตันลำนี้ในการซ่อมแซมและใช้งานเพื่องานวิจัยและพัฒนา รวมถึงสร้างเรือต้นแบบอีกหนึ่งลำ ซึ่งอาจจะส่งผลให้รัฐบาลจีนจำเป็นต้องหยุดโครงการสร้างเรือดำน้ำบางลำ และโครงการอาวุธจรวดต่อต้านเรือไว้ชั่วคราว
นอกจากนี้ เรือชั้น Kuznetsov ของโซเวียตนั้น อาจจะไม่ใช่เรือที่มีเทคโนโลยีต้นแบบที่ดีสักเท่าไหร่ รัฐบาลจีนอาจจะต้องทุ่มเทกำลังงบประมาณมากกว่าที่เห็น เนื่องจากในประวัติศาสตร์ที่เรือ Admiral Kuznetsov ซึ่งเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินลำเดียวของโซเวียต และถือว่าเป็นเรือพี่สาวของเรือ Varvag เข้าร่วมวงการแข่งขันการสร้างเรือบรรทุกเครื่องบินในช่วงสงครามเย็น แต่เรือของโซเวียตได้ถอนตัวออกจากการแข่งขันอย่างรวดเร็วเนื่องจากไม่สามารถสู้เรื่องเทคโนโลยีและความคุ้มค่าได้ นอกจากนี้ยังประสบปัญหาเรื่องเครื่องบินที่จะต้องใช้บนเรือด้วย ซึ่งก็อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งโซเวียตยอมทิ้งเรือไว้ที่ยูเครนหลังล่มสลาย และยอมให้ยูเครนขายต่อให้จีนอย่างง่ายดาย ประเด็นต่อมาคือการสร้างกลุ่มเรือสนับสนุนเรือบรรทุกเครื่องบินจำนวนมาก ซึ่งต้องอาศัยงบประมาณและเทคโนโลยีไม่แพ้กัน โดยปกติแล้ว การปฏิบัติการของเรือบรรทุกเครื่องบิน 1 ลำ จะต้องมีเรือที่มีอาวุธปล่อยนำวิถี 2 ลำ เรือพิฆาตเพื่อต่อต้านภัยทางอากาศ 1 ลำ เรือพิฆาตหรือเรือฟรีเกตต่อต้านเรือดำน้ำ 1-2 ลำ เรือดำน้ำ 1-2 ลำ และเรือส่งกำลังบำรุงเช่นน้ำมันเชื้อเพลิงและเรือเสบียงอื่นๆ ซึ่งต้องอาศัยเวลาในการสร้างและการฝึกซ้อมเตรียมความพร้อม ประเด็นสุดท้ายคือเครื่องบินที่จะประจำการบนเรือบรรทุกเครื่องบิน ขั้นแรกมีข่าวลือว่าจีนจะซื้อเครื่องบินขับไล่ Su-33 ของรัสเซียซึ่งเป็นเครื่องบินประจำเรือ Admiral Kuznetsov ของโซเวียต แต่การที่จีนตั้งใจที่จะพึ่งพาตนเองในการครอบครองเรือบรรทุกเครื่องบิน และเพื่อให้เข้ากับเทคโนโลยีที่พัฒนา รัฐบาลจีนคงจำเป็นต้องสร้างเครื่องบินประจำการบนเรือบรรทุกเครื่องบินด้วยตนเอง
จากข้างต้นจะเห็นว่า ความต้องการสร้างแสนยานุภาพทางทะเลด้วยการมีเรือบรรทุกเครื่องบินนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แม้ว่าเรือ Varyag หรือ Shi Lang จะสามารถเข้าประจำการได้ในปลายปี 2554 หรือต้นปี 2555 ตามที่คาดการณ์ไว้ แต่กว่าที่จะสามารถนำเข้าปฏิบัติการได้ด้วยศักยภาพการรบและการป้องกันตนเองที่พร้อมเพื่อความมั่นคงทางทะเลในระยะไกลที่จีนตั้งใจไว้ อาจจะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่าทศวรรษเลยทีเดียว ซึ่งแน่นอนว่าในช่วงเวลาดังกล่าวประเทศที่มีความขัดแย้งด้านผลประโยชน์ทางทะเลกับจีนเช่น ไต้หวัน เวียตนาม เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ คงจะไม่หยุดนิ่งในการพัฒนาแสนยานุภาพทางทะเล โดยมีสหรัฐฯ เป็นผู้สนับสนุนอยู่เบื้องหลัง
อย่างไรก็ดี แม้การสร้างกองเรือบรรทุกเครื่องบินของจีนจะต้องใช้เวลาอีกสักระยะ แต่ก็ได้จุดประเด็นด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับประเทศเพื่อนบ้านโดยทันที การที่จีนต้องการมีกองเรือบรรทุกเครื่องบินนั้น ถือเป็นเรื่องจำเป็นที่รัฐบาลจีนต้องทำให้สำเร็จ เนื่องจากในปัจจุบันทางออกทางทะเลของจีนซึ่งมีด้านตะวันออกด้านเดียวนั้น ถูกปิดกั้นไว้โดยพันธมิตรของสหรัฐฯ ทั้งหมด ตั้งแต่เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ลงมาไต้หวัน ไปจนถึงฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ การที่จีนกลายเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจรายใหม่ของโลก แน่นอนว่าความสะดวกและความมั่นคงในการเดินเรือเพื่อขนส่งสินค้าและพลังงานนั้น ถือเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งยวดต่อผลประโยชน์ของประเทศ ฉะนั้นการรักษาผลประโยชน์ทางทะเลในระยะไกลนั้นถือเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ในขณะเดียวกันประเทศที่ยังมีปัญหาข้อพิพาทด้านดินแดนกับประเทศจีนอย่างไต้หวัน เวียตนาม เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ถือว่ากองเรือบรรทุกเครื่องบินของจีนจะเป็นภัยคุกคามทั้งในด้านกายภาพและด้านขวัญกำลังใจ ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ต้องเร่งผูกสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ให้แน่นแฟ้นมากขึ้นไปอีก เพราะประเทศดังกล่าวไม่มีและอาจจะไม่สามารถมีกองเรือบรรทุกเครื่องบิน และกองเรือจู่โจมระยะไกลเพื่อคานอำนาจทางทะเลกับจีน โดยหากในอนาคตโครงการเรือบรรทุกเครื่องบินของจีนเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น เราอาจจะได้เห็นการร่วมซ้อมรบระหว่างกองทัพเรือสหรัฐฯ กับประเทศเอเซีย-แปซิฟิกเหล่านี้ถี่ขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้เหตุการณ์นี้ยังจะเป็นแรงกระตุ้นและเร่งการสะสมอาวุธเพื่อเพิ่มอำนาจทางทะเลในหมู่ประเทศน่านน้ำเอเซีย-แปซิฟิกมากขึ้นเรื่อยๆ
อย่างไรก็ตาม ก็สามารถเป็นไปได้ที่เหตุการณ์จะไม่เป็นไปตามที่คาดก็มีความเป็นไปได้เช่นกันที่จีนอาจจะล้มเหลวกับโครงการสร้างกองเรือบรรทุกเครื่องบิน ซึ่งในประวัติศาสตร์ก็เคยเกิดขึ้นกับประเทศอย่างอดีตสหภาพโซเวียต หรือแม้แต่ประเทศซึ่งเคยมีแสนยานุภาพทางทะเลเกรียงไกรอย่างสหราชอาณาจักรก็ไม่สามารถมีกองเรือบรรทุกเครื่องบินที่ประสบความสำเร็จอย่างที่ควรจะเป็น เนื่องจากตามที่ได้กล่าวมาข้างต้นว่า การมีเรือบรรทุกเครื่องบินนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย การที่จะสามารถปฏิบัติการในระยะไกลๆ ได้นั้นยังมีปัจจัยอีกหลายอย่างเช่น ขนาดบรรทุกจำนวนเครื่องบินของเรือ ความเร็วของเรือ ความมั่นคงแข็งแรง และความสามารถในการอยู่รอดของเรือหากถูกโจมตี และที่สำคัญคืองบประมาณในการปฏิบัติการ ซึ่งอาจจะเป็นเหตุผลที่ว่า จริงๆ แล้วไต้หวันเองก็ไม่ได้กังวลกับโครงการของจีนนี้มากสักเท่าไหร่ เพราะนอกจากจะมีกองทัพเรือสหรัฐฯ คอยสนับสนุนอยู่ แล้วระยะทางระหว่างจีนกับไต้หวันนั้น ไม่ไกลมากพอที่จะสามารถใช้กองเรือบรรทุกเครื่องบินได้อย่างคุ้มค่า อีกทั้งขีปนาวุธตามชายฝั่งของไต้หวันก็สามารถโจมตีเรือของจีนได้ง่าย หรือแม้ว่าจีนจะอ้อมไปโจมตีไต้หวันทางตะวันออก ก็จะกลายเป็นเป้านิ่งขนาดใหญ่สำหรับกองเรือสหรัฐฯ เช่นกัน นอกจากนี้ไต้หวันก็ยังคงมีเวลาเตรียมพร้อมกองทัพของตนอยู่พอสมควร เพราะรู้ว่าโครงการเรือบรรทุกเครื่องบินของจีนไม่ได้สำเร็จได้ง่ายๆ
อย่างไรก็ตามการดำเนินยุทธศาสตร์การทหารของประเทศจีนนับเป็นตัวอย่างในความพยามยามที่รักษาสมดุลย์การพัฒนาเศรษฐกิจ ที่ไม่ละเลยต่อกับการพัฒนาการทหารเพื่อจะปกป้องผลประโยชน์ของชาติ แต่วิธีการพัฒนากำลังทางทหารเพื่อสร้างความมั่นคงนั้นจีนเลือกวิธีการที่ชาญฉลาดมุ่งประโยชน์ของชาติอย่างแท้จริง เพราะเน้นการพึ่งพาตนเองมากกว่าที่จะซื้อหรือขอสนับสนุนจากต่างชาติที่ง่ายและรวดเร็วกว่า เช่นหลายๆ ประเทศมักไม่สนับสนุนการวิจัยพัฒนาด้านยุทโธปกรณ์เพราะเห็นประโยชน์ในระยะสั้น จนลืมหรือตั้งใจลืมประโยชน์ของชาติในระยะยาว และถึงแม้ว่ารัฐบาลจีนอาจจะไม่ประสบผลสำเร็จตามที่คาด แต่งานวิจัยและองค์ความรู้ที่สั่งสมจากโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาเรือบรรทุกเครื่องบินของจีนครั้งนี้ จะสามารถนำไปต่อยอดกับโครงการทางทหารและพลเรือนอื่นๆ ได้อีกมากมาย ซึ่งนี่ถือว่าเป็นสมบัติของชาติก็ว่าได้
โดยสรุปแล้ว แม้ว่าการครอบครองเรือบรรทุกเครื่องบินจะเป็นการแสดงถึงแสนยานุภาพทางทะเล และจุดประเด็นความเคลื่อนไหวทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเซีย-แปซิฟิก แต่จะเห็นว่าเป็นเรื่องที่ยาก ซับซ้อน และมีปัจจัยตัวแปรหลายอย่าง การที่จีนต้องการเพิ่มอำนาจทางทะเลเพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติตนในฝั่งภูมิภาคเอเซียนั้น เป็นเรื่องที่ต้องหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่จีนยังคงต้องอาศัยเวลาและการสะสมองความรู้อีกมากเพื่อเข้าเปลี่ยนแปลงดุลอำนาจทางทะเลอย่างมีนัยสำคัญ เพราะต้องไม่ลืมว่าประเทศเพื่อนบ้านที่มองการเพิ่มแสนยานุภาพทางทะเลของจีนเป็นภัยคุกคามนั้น ยังมีทางเลือกในการรักษาสมดุลย์อำนาจทางทะเลเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาติ โดยไม่ต้องสร้างกองเรือบรรทุกเครื่องบินแข่งขันกับจีน ทั้งการสะสมอาวุธ และพัฒนาเทคโนโลยีด้านอาวุธและการฝึกกำลังพล รวมถึงการดำเนินการทางการทูตที่เข้มแข็งโดยเฉพาะกับสหรัฐฯ ซึ่งการกระทำดังกล่าวอาจจะสามารถส่งผลได้ทั้งแง่บวกและแง่ลบแก่ภูมิภาค โดยสุดท้ายแล้วก็คงอยู่ที่รัฐบาลจีนแล้วว่าจะตัดสินใจอย่างไร แน่นอนว่าการเดินหน้าโครงการย่อมต้องแลกกับสิ่งมากมาย ทั้งเรื่องงบประมาณ ที่ต้องปรับเกลี่ยมาจากโครงการเพื่อความมั่นคงอื่นๆ และความคุ้มค่าในการใช้งาน ซึ่งก็มีตัวอย่างในประวัติศาสตร์มากมายจากหลายประเทศที่ล้มเหลวในความพยายามครอบครองเรือบรรทุกเครื่องบิน เช่นกัน อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ก็ตาม แต่สิ่งที่จีนจะได้จากโครงการในครั้งนี้ คือองค์ความรู้และงานวิจัยที่จะได้ต่อยอดกับโครงการใหญ่อื่นๆ ของจีนได้ในอนาคต ซึ่งนี่คือคุณประโยชน์อันยิ่งใหญ่จากการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีป้องกันประเทศด้วยตนเอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น