วันอังคารที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2555

บทความพิเศษ: การเมืองประเทศพม่ากับการปกครองแบบประชาธิปไตย


บทความพิเศษ: การเมืองประเทศพม่ากับการปกครองแบบประชาธิปไตย

ในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา มีข่าวต่างประเทศเรื่องใหญ่ที่ซ่อนอยู่ในข่าววิกฤตการณ์ลิเบียและภัยธรรมชาติที่ญี่ปุ่นและภาคใต้ของไทย นั่นคือเรื่องที่ประเทศพม่า (หรือสหภาพเมียนมาร์ ตามชื่ออย่างเป็นทางการ) ได้จัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งตามระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยเป็นครั้งแรก หลังจากได้มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2553 ซึ่งถือว่าเป็นก้าวสำคัญของการเมืองในประเทศพม่า ทำให้สถานะการปกครองของประเทศพม่าในประชาคมระหว่างประเทศนั้นจะกลายเป็นการปกครองแบบรัฐสภาโดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุขของรัฐ แทนที่ของรัฐบาลทหาร อย่างไรก็ตาม รัฐบาลและสื่อตะวันตกส่วนใหญ่นั้นไม่เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นจริงๆ ในพม่าและเชื่อว่ารัฐบาลชุดใหม่นี้ก็คงเป็นรัฐบาลหุ่นของรัฐบาลทหารชุดเดิม แม้กระนั้น เรื่องนี้ก็ยังน่าสนใจในการศึกษาวิเคราะห์ ในแง่ของการเปลี่ยนแปลงในพม่าว่าเปลี่ยนจริงหรือไม่ หากเปลี่ยนจะเปลี่ยนไปในทิศทางใด จะเปลี่ยนมากน้อยแค่ไหน และจะมีแนวโน้มเป็นอย่างไร เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวคงจะมีผลกระทบไม่มากก็น้อยกับประเทศไทย รวมถึง ASEAN และภูมิภาคเอเซียตะวันออก นอกจากนี้ตัวบุคคลในรัฐบาลใหม่ก็จะเป็นตัวแปรสำคัญของการเปลี่ยนแปลงนี้เช่นกัน

ความเป็นมาของการเปลี่ยนแปลง
ประเทศพม่าได้จัดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2553 แม้ว่าในระหว่างนั้นจะมีเหตุการณ์ที่เป็นอุปสรรคต่างๆ นานา เกิดขึ้นเช่นการคว่ำบาตรการเลือกตั้งของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD (National League for Democracy) นำโดยนางออง ซาน ซูจี จนนำไปสู่การถูกยุบพรรค หรือการวิพากษ์วิจารณ์ของสื่อตะวันตกถึงความไม่โปร่งใสและไม่เชื่อใจการเลือกตั้งในพม่า แต่อย่างไรก็ตามในวันที่ 30 มีนาคม ที่ผ่านมา คณะรัฐบาลชุดแรกของพม่านำโดยพลเอกเต็งเส่ง ในฐานะประธานาธิบดี ก็ได้ทำการสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง ณ เมืองเนปิดอว์ เมืองหลวงแห่งใหม่ของพม่า ตามด้วยการโหมประโคมข่าวการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ตามสื่อต่างๆ เป็นรายวัน อย่างไรก็ดี หลังฉากแห่งความชื่นมื่นนี้ ยังคงมีความคลางแคลงใจจากรัฐบาลและสื่อในต่างประเทศจำนวนมาก ถึงการตัดสินใจก้าวลงจากอำนาจในฐานะผู้นำประเทศและผู้นำกองทัพของพลเอกอาวุโสตานฉ่วย รวมถึงประกาศยุบสภาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา (State Peace and Development Council– SPDC) ที่ครองอำนาจรัฐบาลมาอย่างยาวนาน และการจัดการเลือกตั้งที่พลเอกตานฉ่วยผลักดันอย่างมาก จึงเป็นที่น่าสนใจว่า เหตุใดคนอย่างพลเอกตานฉ่วยซึ่งเป็นผู้หวงอำนาจมากถึงต้องการผลักดันการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้
หากวิเคราะห์จากสภาพแวดล้อมและสถานการณ์ทางการเมืองพม่าก่อนการเลือกตั้ง และการก้าวลงจากฐานะผู้นำประเทศของพลเอกตานฉ่วยนั้น สามารถวิเคราะห์ได้ดังนี้
1. พลเอกอาวุโสตานฉ่วยนั้น มีภาพพจน์ในด้านการบริหารประเทศที่ไม่ดีนักในสายตาประชาชนโดยเฉพาะในคราวที่ต้องเสียหน้าอย่างมากจากการปลดพลเอกขิ่นยุ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแต่ตนเองก็ทำได้ไม่ดีเท่า ซึ่งพลเอกขิ่นยุ้นนั้นเป็นผู้ที่มีหัวก้าวหน้าในการพัฒนาเศรษฐกิจ รวมถึงเป็นผู้ที่มีสัมพันธ์อันดีต่อประชาคมต่างประเทศโดยเฉพาะอาเซียนและจีน การปลดครั้งนั้นส่งผลให้รัฐบาลของพลเอกตานฉ่วยบริหารงานด้านเศรษฐกิจผิดพลาด จนก่อให้เกิดความยากจนอดอยาก และที่สำคัญการบริหารงานผิดพลาดดังกล่าวส่งผลให้ราคาน้ำมันในพม่าถีบตัวสูงขึ้นอย่างมาก จนเกิดการเดินขบวนประท้วงโดยประชาชนและพระสงฆ์ขึ้นทั่วประเทศในปี 2550 และนำไปสู่การปราบปรามอย่างรุนแรงจากฝ่ายทหาร นอกจากนี้รัฐบาลชุดดังกล่าวยังบริหารงานผิดพลาดในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยภิบัติจากพายุนานกิส โดยสองเหตุการณ์นี้ทำให้เกิดแรงกดดันจากต่างชาติเป็นอย่างมาก แม้แต่ประเทศจีน มิตรประเทศที่ซึ่งไม่ค่อยจะวิพากษ์วิจารณ์เรื่องในประเทศของพม่าสักเท่าไหร่ ก็ยังกล่าวตำหนิพม่าในเรื่องนี้ผ่านทางสหประชาชาติ ฉะนั้นคาดว่าการดำเนินการในคราวนี้เป็นไปเพื่อลดกระแสและไม่ให้เป็นการเสียหน้าไปมากกว่านี้พลเอกตานฉ่วยจึงชู Roadmap “บันได 7 ขั้น” การเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่ประชาธิปไตยโดยมีการเดินสายหาเสียงสนับสนุนไปทั่วประเทศ โดยพลเอกตานฉ่วยสัญญาว่าจะให้มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปภายในปี 2553
2. เป็นที่ทราบกันดีว่า ในปัจจุบันพลเอกตานฉ่วยนั้นมีปัญหาด้านสุขภาพอย่างมาก ฉะนั้นนอกจากที่พลเอกตานฉ่วยจะต้องการวางมือเพื่อให้งานที่มีอยู่ลดลงแล้ว พลเอกตานฉ่วยยังเกรงว่า ภายใต้การบริหารประเทศแบบเก่า หากพลเอกตานฉ่วยเกิดเสียชีวิตกะทันหัน หรือเกิดเหตุการณ์ใดๆ ขึ้นกับตนเอง ก็จะส่งผลกระทบต่อเครือข่าย บริวาร รวมถึงพรรคพวกที่ย่อมจะเดือดร้อนไปด้วย และที่สำคัญหากไม่ได้วางผู้สืบทอดไว้ อำนาจทั้งหลายจะตกอยู่กับพลเอกอาวุโสหม่องเอ ผู้นำอันดับสองใน SPDC และเป็นคู่แข่งคนสำคัญในการบริหารประเทศโดยทันที ฉะนั้นเพื่อเป็นการป้องกันเหตุการณ์ดังกล่าว พลเอกตานฉ่วยจึงต้องหาผู้สืบทอด และในเวลาเดียวกันต้องทำการจูงมือพลเอกหม่องเอปลดเกษียณไปด้วยกันอีกด้วย
จากการวิเคราะห์ข้างต้นโดยสรุปแล้ว ถือว่าเป็นการเดินเกมส์การเมืองอันแยบยนของพลเอกตานฉ่วยที่ยิงกระสุนนัดเดียวได้นกสองตัวหรือหลายตัวก็เป็นได้

บุคคลในอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร
หากพิจารณาวิเคราะห์ไปที่ตัวบุคคลในรัฐบาลใหม่ก็น่าสนใจไม่น้อย เนื่องจากเป็นปัจจัยสำคัญในการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงและแนวโน้มทางการเมืองในพม่า โดยเฉพาะประมุขของประเทศในปัจจุบัน อย่างพลเอกเต็งเส่ง ประธานาธิบดี ซึ่งในช่วงการปกครองของรัฐบาลเก่า พลเอกเต็งเส่งนั้นเป็นผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ยังเป็นที่ทราบกันว่า พลเอกเต็งเส่งนั้น มีความใกล้ชิดกับพลเอกตานฉ่วยเป็นอย่างมาก โดยในช่วงที่ดำรงตำแหน่งนายกฯอยู่นั้น การทำงานของพลเอกเต็งเส่งมักมีลักษณะรอรับคำสั่งจากพลเอกตานฉ่วยตลอดเวลา และไม่มีการริเริ่มนโยบายใดๆ โดยเฉพาะนโยบายการปฏิรูปเศรษฐกิจและการเมืองโดยไม่ผ่านพลเอกตานฉ่วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการขึ้นดำรงตำแหน่งประมุขของประเทศนั้นเป็นการวางตัวของพลเอกตานฉ่วย และทำให้เป็นที่เชื่อได้ว่าในระยะเริ่มแรกคงจะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงของอำนาจเกิดขึ้นในพม่า นอกจากนี้ พลเอกเต็งเส่งเองก็ไม่ได้มีสุขภาพที่ดีนัก พลเอกเต็งเส่งนั้นเป็นโรคหัวใจและต้องอาศัยเครื่องช่วยการเต้นของหัวใจ (Pacemaker) ซึ่งอาจจะเป็นความตั้งใจของพลเอกตานฉ่วยที่จะวางตัวผู้ที่อ่อนแอจากปัญหาสุขภาพอยู่อย่างพลเอกเต็งเส่งก็เป็นได้ ฉะนั้นดูแล้วอย่างน้อยก็ในช่วงที่พลเอกตานฉ่วยยังมีชีวิตอยู่พลเอกเต็งเส่งคงจะไม่มีพลังเพียงพอที่จะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงประเทศพม่าในอนาคตอันใกล้นี้อย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม สำหรับตำแหน่งรองประธานาธิบดีสองตำแหน่งนั้น หนึ่งในนั้นคือผู้ที่มีความใกล้ชิดกับพลเอกหม่องเอคู่แข่งของพลเอกตานฉ่วยในรัฐบาลเก่าคือพลเอกทินอ่องมินอู ส่วนรองประธานาธิบดีอีกคนคือ นพ.ดร.สายสีหมอกคำนั้นเป็นคนของพรรค USDP ซึ่งน่าจะเป็นคนของพลเอกตานฉ่วย ดังนั้นจะเห็นได้ว่า แม้จะอยู่ในระบบการปกครองใหม่ พลเอกตานฉ่วย กับพลเอกหม่องเอ ก็ยังคงต้องการรักษาสมดุลอำนาจกันเสมอ
ส่วนทางด้านรัฐสภานั้นพรรคสหภาพเพื่อเอกภาพและการพัฒนา (Union Solidarity and Development Party– USDP) ซึ่งเป็นพรรคที่นิยมทหารนั้น ได้ที่นั่งในรัฐสภามากถึง 388 ที่นั่ง จากทั้งหมด 493 ที่นั่ง อันที่จริงแล้ว พรรค USDP นั้น พัฒนามาจากสมาคมสหภาพเพื่อเอกภาพและการพัฒนา(Union Solidarity and Development Association - USDA) ซึ่งเดิมมีหน้าดำเนินกิจกรรมทางสังคมและการเมืองของทหาร ควบคุมโดยพลเอกตานฉ่วย โดยพลเอกตานฉ่วยได้ปรับเปลี่ยนสมาคม USDA ไปเป็นพรรค USDP เพื่อนำไปใช้เป็นพรรคการเมืองเพื่อลงแข่งการเลือกตั้งโดยประธานสภาผู้แทนราษฎร(สภาล่าง)เป็น พลเอกฉ่วยมาน หนึ่งในผู้นำของกองทัพซึ่งมีสายสัมพันธ์กับพลเอกตานฉ่วยและมีความขัดแย้งกับพลเอกหม่องเออยู่ลึกๆ ในสมัยการปกครองเดิม ส่วนประธานวุฒิสภา(สภาสูง)เป็นพลเอกทินอ่องมินอู ซึ่งมีสายสัมพันธ์กับนายพลหม่องเอ สำหรับคณะรัฐบาลส่วนใหญ่ก็เป็นคนจากกลุ่มอำนาจเก่า โดยเฉพาะรัฐมนตรีในกระทรวงสำคัญๆ เช่นพลโทโกโกเป็นรัฐมนตรีกระทรวงกิจการภายในประเทศ(Home minister)ซึ่งเดิมคือหนึ่งในผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานปฏิบัติการพิเศษ (Bureau of Special Operations – BSO) ในสมัยรัฐบาลเดิม ที่ได้รับการแต่งตั้งโดยพลเอกตานฉ่วย นายทินนังเต็ง เป็นรัฐมนตรีกระทรวงการคลังซึ่งเดิมก็เป็นรัฐมนตรีการค้าในสมัยรัฐบาลชุดเดิมที่มีสายสัมพันธ์อันดีกับพลเอกเต็งเส่งเช่นกัน

ประชาคมโลกกับการเปลี่ยนแปลงของพม่า
อย่างไรก็ดี หากมองเรื่องนี้อย่างเป็นกลาง ก็ถือว่าเป็นก้าวแรกเล็กๆ ของประเทศพม่า ที่จะเปลี่ยนแปลงระบบและระบอบการปกครองมาเป็นประชาธิปไตยตามกระแสโลก ส่วนในเรื่องที่ว่ากลุ่มอำนาจเก่าจะยอมสละอำนาจออกไปทั้งหมดทันทีเลยก็ต้องยอมรับว่าเป็นไปไม่ได้ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่อย่างใด โดยถึงแม้ว่าประเทศตะวันตกจะไม่ค่อยให้ความสนใจกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในพม่า แต่ในแง่ของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ในอาเซียน หรือแม้กระทั่งระหว่างประเทศพม่ากับประเทศไทย ก็มีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวยังจะไม่ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างทันทีทันใด ประเทศหลายประเทศโดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกา รวมถึงประเทศกลุ่มสภาพยุโรปก็ยังคงไม่เปลี่ยนมุมมองที่มีต่อประเทศพม่า สหรัฐอเมริกาและอังกฤษยังคงให้ความสำคัญและใช้กิจกรรมของนางออง ซาน ซูจี เป็นสัญลักษณ์บ่งบอกระดับของเสรีภาพของประชาชนในพม่าเป็นหลักเหมือนเดิม ยิ่งการเลือกตั้งที่ผ่านมา นางออง ซาน ซูจีถูกตัดสิทธิ์ในการเลือกตั้ง รวมถึงพรรค NLD ของนางยังถูกยุบ สหรัฐอเมริกาและอังกฤษจึงไม่เห็นว่าพม่าจะมีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใดในตอนนี้
ในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนั้นก็เป็นอีกเรื่องที่น่าสนใจมาก เนื่องจากประเทศพม่าตั้งอยู่ตรงกลางระหว่างประเทศมหาอำนาจใหม่อย่างประเทศจีนและประเทศอินเดียซึ่งกำลังแข่งขันกันในทุกๆ ด้าน โดยประเทศจีนนั้นเป็นประเทศแรกที่แสดงความยินดีกับรัฐบาลชุดใหม่ของพม่าอย่างเป็นทางการ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจีนให้ความสำคัญกับรัฐบาลใหม่ของพม่ามากเพียงใด เนื่องจากในสมัยรัฐบาลเก่า พลเอกตานฉ่วยนั้นพยายามจะผูกมิตรกับอินเดียมากกว่าจีน สืบเนื่องมาจากพลเอกขิ่นยุ้นที่ถูกพลเอกตานฉ่วยปลดนั้นมีความสัมพันธ์อันดีกับจีน ซึ่งจีนก็หวังว่ารัฐบาลชุดนี้จะให้ความสำคัญกับจีนมากขึ้น เพราะว่าแม้พลเอกเต็งเส่งจะบริหารงานภายใต้คำสั่งของพลเอกตานฉ่วย แต่ก็คนบุคคลที่ค่อนข้างจะมีแนวคิดสมัยใหม่ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเบื้องต้นแล้วทั้งสองประเทศคงจะรอดูท่าทีรัฐบาลใหม่ แต่ผลประโยชน์เดิมๆ ที่ทั้งอินเดียและจีนมอบให้พม่าคงจะยังไม่เปลี่ยนแปลง สิ่งที่น่าสนใจคือรัฐบาลชุดใหม่ของพม่านี้จะสามารถรักษาสมดุลย์ของทั้งสองมหาอำนาจนี้อย่างไร หากสามารถทำได้ดี แน่นอนว่าความช่วยเหลือในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นทางเศรษฐกิจ ทางการศึกษา ทางการทหารและความมั่นคง และอื่นๆ จากทั้งสองประเทศจะเข้ามาสร้างผลประโยชน์ให้แก่ประเทศพม่าอย่างมาก ยิ่งไปกว่านั้นก็ยังน่าสนใจว่ากลุ่มประเทศอาเซียนที่มีพม่าเป็นสมาชิกนั้นจะสามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากพม่าในฐานะสมาชิกและเป็นประตูสู่จีนและอินเดียอีกประตูหนึ่งได้มากเพียงใด
ในระดับภูมิภาคอาเซียน แม้ว่าทั้งๆ ที่กลุ่มประเทศอาเซียนมีท่าทีสนับสนุนการเลือกตั้งของพม่าอย่างเต็มที่ก่อนจัดการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายนอยู่แล้ว แต่ประเทศสมาชิกกลับมีปฏิกริยาต่อการจัดตั้งรัฐบาลของพม่าค่อนข้างน้อย อย่างไรก็ดี ก็ยังมีความน่าสนใจอยู่สองเรื่อง เรื่องแรกคือการที่พม่าเปลี่ยนการบริหารประเทศมาเป็นรูปแบบของประชาธิปไตยที่ถึงแม้เนื้อในอาจจะยังไม่เปลี่ยนทำให้กลุ่มประเทศสมาชิกอาจจะโล่งใจไปเปราะหนึ่ง เนื่องจากในปี 1997 ที่กลุ่มประเทศอาเซียนลงนามเห็นชอบรับพม่าเข้ามาเป็นสมาชิกนั้น ประเทศตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาได้โจมตีถึงการรับรัฐบาลเผด็จการทหารเข้ามาเป็นสมาชิกอย่างมาก ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ ทำให้อาเซียนสามารถบอกกล่าวกับประชาคมโลกได้ว่าระบบทางการเมืองของพม่าไม่ได้ขัดแย้งกับนโยบายของอาเซียนแล้ว อย่างน้อยก็ในทางการทูต เรื่องที่สองคือการที่รัฐบาลพม่าประกาศจะใช้ระบบเศรษฐกิจแบบตลาด ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย และมีแนวโน้มว่าจะมีการจัดการอย่างจริงจังหลังจากที่พลเอกตานฉ่วยเสียหน้ามาครั้งหนึ่งเพราะตนเองได้ปลดพลเอกขิ่นยุ้นออก และเข้าบริหารเศรษฐกิจของประเทศผิดพลาด พลเอกตานฉ่วยคงจะไม่อยากเสียหน้ากับผลงานของ Roadmap ของตนครั้งนี้ ฉะนั้น ถ้าหากทำได้จริงก็หมายความว่ากลุ่มประเทศอาเซียนจะสามารถเข้าไปทำธุรกิจในพม่าได้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มนักธุรกิจที่ไม่มีเส้นสายทางการเมืองหรือการทหาร ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง ประเทศพม่าเองก็จะมีการขยายตัวของภาคธุรกิจขนาดกลางและย่อม (SME) รวมถึงการขยายตัวของชนชั้นกลางมากขึ้นอย่างมากยังผลให้โอกาสในการเผชิญหน้าทางการทหารและปัญหาความมั่นคงรูปแบบเก่าๆ ลดลงไป นอกจากนี้ยังเป็นผลดีต่อนโยบายการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) และนโยบายตลาดเดียว (Single Market) ภายใต้แผนงาน ASEAN Economic Community 2015 และยังจะสร้างเสถียรภาพแก่อาเซียนมากขึ้นตามไปด้วย
โดยสรุปแล้ว จากสถานการณ์ในปัจจุบันนี้ก็ยังไม่มีอะไรที่สามารถรับประกันได้ว่าประเทศพม่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นจริงๆ เนื่องจากกลุ่มอำนาจเก่าก็ยังมีอำนาจอยู่มากและไม่สามารถคาดการณ์อะไรได้ เพราะในเบื้องต้นนี้คงจะเป็นการเล่นการเมืองกันของสองผู้มีอำนาจอย่างพลเอกอาวุโสตานฉ่วย และพลเอกอาวุโสหม่องเอกันอยู่เหมือนเดิม แม้ทั้งสองคนจะเกษียณไปแล้วก็ตาม นอกจากนี้ท่าทีต่อพม่าของประเทศมหาอำนาจตะวันตกที่ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงตราบใดที่สถานะของออง ซาน ซูจี ยังไม่เปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตามแต่หากดูจากลักษณะของพลเอกเต็งเส่งผู้มีความคิดสมัยใหม่ รวมถึงนโยบายเศรษฐกิจแบบตลาดซึ่งพลเอกตานฉ่วยให้การสนับสนุน ก็ถือว่าเป็นนิมิตหมายอันดีของประเทศพม่าและมิตรประเทศรวมถึง ASEAN ซึ่งหากพม่าประสบความสำเร็จอย่างที่ควรจะเป็นแล้ว ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาอาจจะอยากกลับเข้ามาสนใจพม่าอีกครั้ง และเมื่อถึงเวลานั้นพม่าคงจะกลายเป็นจุดศูนย์กลางใหม่ของความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการเมืองของภูมิภาคเอเซียตะวันออกอย่างหลีกเลี่ยงมิได้แน่นอน

พรพล น้อยธรรมราช SDA2

อ้างอิง
‘A long march’, The Economist, 2 April 2011, p.35.
Win Min, 'Internal dynamics of the Burmese military: before, during and after the 2007 demonstrations' in M Skidmore & T Wilson (eds.), Dictatorship, disorder and decline in Myanmar, ANU E Press, Canberra, 2008, p 44.
'การเมืองพม่ายุคใหม่ ยุติการปกครองโดยทหารแต่กองทัพยังผูกขาด', ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 2011, Retrieved 6 April 2011, <http://www.manager.co.th/IndoChina/ViewNews.aspx?NewsID=9540000040379>

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น