วันอังคารที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2555

บทความพิเศษ: อันดับโลกทางการทหารของไทย


บทความพิเศษ: อันดับโลกทางการทหารของไทย


เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวฮือฮาอยู่ชิ้นหนึ่งที่กล่าวถึงการจัดอันดับโลกทางการทหารโดยเวบไซต์ www.globalfirepower.com ซึ่งประเทศไทยอยู่อันดับที่ 19 ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของคนทั่วไป พูดง่ายๆ คือไม่เชื่อกับอันดับที่จัดในครั้งนี้ จะเป็นไปได้อย่างไรที่ประเทศที่ยังผลิตยุทโธปกรณ์ขนาดใหญ่เองไม่ได้อย่างประเทศไทยจะมีอันดับเหนือกว่าประเทศยูเครน(อันดับที่ 20) ทั้งที่กองทัพบกเพิ่งซื้อรถลำเลียงพลหุ้มเกราะล้อยาง BTR-3 มาจากยูเครน จะเป็นไปได้อย่างไรที่ประเทศไทยจะมีอันดับสูงกว่าสวีเดน(อันดับที่ 28) ทั้งที่กองทัพอากาศเพิ่งซื้อ เครื่องบินรบ Gripen มาจากสวีเดน ประเทศไทยยังมีอันดับสูงกว่าสเปน(อันดับที่ 29) ทั้งที่เป็นประเทศที่ต่อเรือหลวงจักรีนฤเบศรซึ่งเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินให้แก่กองทัพเรือ แน่นอนว่าแค่ดูผ่านๆ เท่านี้ก็รู้สึกถึงความเพี้ยนของการจัดอันดับในเวบไซต์นี้ แต่อะไรทำให้การจัดอันดับในเวบไซต์นี้ดูแล้วไม่น่าเชื่อถือเช่นนี้ หรือว่าจริงๆ แล้วก็มีเรื่องที่น่าขบคิดซ่อนอยู่ในการจัดอันดับนี้
ก่อนอื่นต้องกล่าวก่อนว่า การจัดอันดับโดยเวบไซต์สำนักนี้ใช้ปัจจัยที่นำมาวิเคราะห์หลักๆ อยู่ 42 ปัจจัยย่อย และได้ตัดปัจจัยเรื่องอาวุธนิวเคลียร์ออกไป ปัจจัยแรกคือบุคลากรได้แก่จำนวนประชากรรวม ประชากรวัยทำงาน ประชากรที่สามารถนำมาใช้งานทางทหาร จำนวนประชากรที่เข้าสู่วัยที่ต้องเข้าเกณฑ์ทหาร หรือสมัครทหารได้ในปีนั้นๆ จำนวนทหารที่มีอยู่จริง จำนวนทหารกองหนุนที่มีอยู่จริง ปัจจัยที่สองคือกองทัพบกได้แก่จำนวนระบบอาวุธภาคพื้นดินทั้งหมด จำนวนรถถัง จำนวนรถลำเลียงกำลังพลหุ้มเกราะ จำนวนปืนใหญ่ลากจูง จำนวนปืนใหญ่อัตตาจร(เคลื่อนที่เองได้) จำนวนระบบจรวดหลายลำกล้อง จำนวนปืนครก จำนวนอาวุธต่อต้านรถถังนำวิถี จำนวนอาวุธต่อต้านอากาศยาน จำนวนรถลำเลียง ปัจจัยที่สามคือกองทัพอากาศได้แก่จำนวนเครื่องบินทั้งหมด จำนวนเฮลิคอปเคอร์ จำนวนสนามบินที่ใช้งานได้จริง ปัจจัยที่สี่คือกองทัพเรือได้แก่จำนวนเรือทั้งหมด จำนวนเรือสินค้าที่สามารถปรับใช้ในภารกิจทางทหารได้ จำนวนท่าเรือใหญ่ จำนวนเรือบรรทุกเครื่องบิน จำนวนเรือพิฆาต จำนวนเรือดำน้ำ จำนวนเรือฟรีเกต จำนวนเรือตรวจการ จำนวนเรือทำลายทุ่นระเบิด จำนวนเรือสะเทินน้ำสะเทินบก ปัจจัยที่ห้าคือผลิตและขนส่งได้แก่จำนวนแรงงาน ความยาวถนนโดยรวม ความยาวทางรถไฟโดยรวม ปัจจัยที่หกคือการเงินได้แก่งบประมาณด้านการทหาร เงินทุนสำรองระหว่างประเทศและทองคำสำรอง อำนาจการซื้อ ปัจจัยที่หกคือน้ำมันได้แก่ปริมาณการผลิตน้ำมัน ปริมาณการบริโภคน้ำมัน ปริมาณน้ำมันดิบสำรองจากแหล่งภายในประเทศ และปัจจัยสุดท้ายคือสภาพทางภูมิศาสตร์ได้แก่ความยาวทางน้ำ ความยาวชายฝั่ง ความยาวชายแดน และขนาดประเทศ
จากที่กล่าวมาด้านบนจะเห็นได้ว่าผู้จัดอันดับได้นำปัจจัยทุกๆ ด้านของประเทศมาวิเคราะห์ไม่ใช่เพียงแต่ปัจจัยด้านกำลังทหารเท่านั้น โดยผู้จัดอันดับได้คัดเลือกปัจจัยที่จะส่งผลให้เกิดผลแพ้ชนะของสงครามตามรูปแบบโดยอาศัยตัวแปรจากสงครามตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตามก็มีจุดอ่อนอยู่หลายจุดที่ทำให้ข้อมูลการจัดอันดับนี้ดูไม่ค่อยน่าเชื่อถือ ประเด็นแรกคือแหล่งที่มาของข้อมูลเกือบทั้งหมดนั้นมาจากแหล่งเดียวคือเวบไซต์ CIA the World Factbook ซึ่งแม้ว่าจะเป็นแหล่งอ้างอิงที่ได้รับการยอมรับพอสมควร แต่ก็พอเป็นที่รู้กันว่าก็เชื่อถือได้บ้างไม่ได้บ้าง และมีข้อกังขาในความเป็นกลาง นอกจากนี้ก็มีการจัดอันดับไม่ครอบคลุมทุกประเทศ หรือมีประเทศที่ถูกนำมาจัดอันดับน้อยเกินไป อย่างน้อยก็ไม่มีประเทศกัมพูชาที่คนไทยอยากจะรู้ข้อมูลว่าอยู่อันดับที่เท่าใด ไม่มีเวียดนามที่ในช่วงสองสามปีหลังได้เทงบซื้ออาวุธจำนวนมาก และไม่มีประเทศอย่างอุสเบกิสถาน หรือคาซัคสถาน ที่ช่วงหลังพัฒนาขึ้นมาอย่างมาก ประการต่อมาที่เป็นข้อถกเถียงกันก็คือการที่ผู้จัดอันดับใช้การวิเคราะห์จากปริมาณอาวุธเป็นหลัก แต่ไม่ได้ใช้ปัจจัยด้านคุณภาพของอาวุธมาวิเคราะห์ด้วย หากมีอาวุธมากมายแต่เป็นอาวุธเก่าที่ใช้ได้บ้างไม่ได้บ้าง ก็อาจจะไม่สามารถสู้ประเทศที่มีอาวุธน้อยกว่าแต่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพได้ อีกทั้งจำนวนอาวุธที่ผู้จัดทำนำมาใช้เป็นปัจจัยนั้น ไม่ได้กล่าวถืงอาวุธเล็กๆ ที่เป็นอาวุธประจำกายเช่นปืนเล็กยาว ปืนสั้น ลูกระเบิด เครื่องยิงลูกระเบิด(RPG) ฯลฯ ซึ่งเป็นการยากมากที่จะหาจำนวนได้ นอกจากนี้ทางเวบไซต์ก็ไม่ได้นำปัจจัยด้านประสิทธิภาพด้านการบังคับบัญชามาวิเคราะห์ด้วย ประการสุดท้ายคือในเวบไซต์นั้นไม่ได้บอกถึงวิธีการทางสถิติอย่างชัดเจนในการนำปัจจัยทั้งหมดนั้นมาวิเคราะห์และแปลออกมาเป็นอันดับโลกเช่นนี้
ยกตัวอย่างเช่น หากเข้าไปในเวบไซต์แล้วนำประเทศไทยกับสิงคโปร์(อันดับที่ 41) มาเทียบกัน จะเห็นได้ว่าหลายปัจจัยนั้นในแง่จำนวนไม่สามารถสู้ประเทศไทยได้เลย หากเปรีบเทียบกันแบบนี้ก็ไม่ต้องแปลกใจเลยว่าเหตุใดสิงคโปร์ถึงมีอันดับห่างไทยถึง 22 อันดับ แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีว่าสิงคโปร์เป็นหนึ่งในประเทศที่มียุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยที่สุด มีกองทัพที่แข็งแกร่ง และการบังคับบัญชาที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งทำให้อันดับที่จัดนั้นค้านกับความรู้สึกของคนทั่วไป แม้แต่คนไทยผู้รักชาติก็ยังรู้สึกกังขากับผลลัพธ์นี้
อย่างไรก็ตาม หากมองในอีกแง่มุมหนึ่ง มันก็เป็นไปได้ยากที่ใครจะสามารถนำปัจจัยเรื่องคุณภาพของอาวุธ และประสิทธิภาพของการบังคับบัญชาเข้ามาวิเคราะห์อันดับโลกทางทหารได้ ซึ่งนับว่าเป็นจุดบอดของผู้ที่พยายามจะจัดอันดับโลกทางการทหาร อันที่จริงก็ต้องยอมรับกันกลายๆ ว่าการที่จะสามารถจัดอันดับในเรื่องนี้ได้ ก็มีแต่การนำจำนวนทหารและยุทโธปกรณ์ และข้อได้เปรียบเสียเปรียบทางภูมิศาสตร์ ซึ่งเป็นข้อมูลที่เห็นได้ชัด และปิดบังได้ยากเท่านั้น เนื่องจากข้อมูลในเรื่องอื่นๆ ที่มีความอ่อนไหวนั้น อาจจะยากเกินกว่าจะหามาใช้เป็นข้อมูลได้ อีกทั้งข้อมูลบางอย่างอย่างเช่นประสิทธิภาพของการบังคับบัญชานั้น เป็นข้อมูลเชิงคุณภาพซึ่งยากต่อการเก็บและนำมาประมวลผล
อีกทั้ง หากคิดในแง่ของการทำวิจัยจากข้อมูลที่พอจะหาได้และตัดปัจจัยแวดล้อมภายนอกออก กล่าวง่ายๆ คือหากประเทศสองประเทศต้องมารบกันตัวต่อตัว โดยไม่มีประเทศอื่นมาเกี่ยวข้อง สิ่งที่ผู้จัดอันดับนำมาใช้วิเคราะห์นั้นก็น่าสนใจไม่น้อย ยกตัวอย่างเช่น กลับมาที่ตัวอย่างข้างต้นระหว่างไทยกับสิงคโปร์ แม้ว่าจะเป็นที่ทราบกันดีว่ายุทโธปกรณ์ของสิงคโปร์นั้น หลายอย่างมีความทันสมัยกว่าประเทศไทยมาก แต่เมื่อมองถึงตัวจำนวนทหารที่ประจำการอยู่จริงแล้ว ทหารประจำการของสิงคโปร์มีจำนวนเพียงประมาณ 24% ของไทยเท่านั้น แล้วหากยิงถล่มจนจำนวนทหารเหลือน้อย ประชากรที่สามารถนำมาใช้งานทางทหารของสิงคโปร์นั้น มีจำนวนเพียงประมาณ 8% เมื่อเปรียบเทียบกับของไทย ยิ่งไปกว่านั้นหากสงครามยืดเยื้อออกไปราว 2-3 ปี ทรัพยากรสำคัญยิ่งยวดสำหรับสงครามอย่างน้ำมันนั้นแล้ว สำหรับสิงคโปร์คงจะหมดเร็วกว่าไทยมาก อีกทั้งน้ำมันสำรองของสิงคโปร์นั้นก็เป็นศูนย์ แต่สำหรับไทยนั้นยังพอจะมีสำหรับใช้ในสงครามที่ยืดเยื้อ นอกจากนี้ไทยยังมีพื้นที่ในการเพาะปลูกสะเบียง การฝึก การสร้างโรงงานผลิตยุทโธปกรณ์ และมีแรงงานจำนวนมากในการผลิต ผิดกับสิงคโปร์ที่ไม่สามารถพึ่งพาตัวเองในเรื่องนี้ได้เลย เรียกได้ว่าหากสงครามยืดเยื้อผู้ที่จะได้เปรียบสงครามก็คือประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงก็คงจะไม่เป็นเช่นนี้ และเอาเข้าจริงแล้วก็เป็นการยากเช่นกันที่จะทราบได้ว่าประเทศแต่ละประเทศ เมื่อมารบกันด้วยสงครามตามรูปแบบกันตัวต่อตัว โดยไม่มีประเทศอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง ใครจะเป็นผู้ชนะใครจะเป็นผู้แพ้ เนื่องจากการทำสงครามนั้นไม่มีเวทีกลางเหมือนเวทีมวยที่ให้ทั้งสองฝ่ายมาสู้กันภายใต้สภาพแวดล้อมเดียวกันโดยไม่มีใครเข้ามายุ่งเกี่ยว ฉะนั้น โดยสรุปแล้วหากมองอย่างเป็นธรรมกับเวบไซต์ผู้จัดอันดับนั้น ก็ถือว่าทำดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ภายใต้แหล่งข้อมูลอันจำกัด มองในแง่หนึ่ง ผลการจัดอันดับนั้นค้านกับความรู้สึกคนทั่วไปอย่างมาก บางทีถึงกับน่าหัวเราะด้วยซ้ำ แต่หากมองอีกแง่ เมื่อพิจารณาในส่วนอื่นๆ ประกอบอย่างที่ผู้จัดอันดับได้ตั้งใจทำไว้ ผลลัพธ์ที่ได้ออกมาก็สะท้อนความจริงบางประการที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ ที่ทำให้ประเทศไทยอยู่ถึงอันดับ 19 อย่างค้านสายตา ขอเพียงแค่คนไทยอย่างทะเลาะกันก็พอ

พรพล น้อยธรรมราช SDA2...

ภาพจาก http://www.globalfirepower.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น