วันอังคารที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2555

บทความพิเศษ: สถานการณ์ในซีเรีย


บทความพิเศษ: สถานการณ์ในซีเรีย

เป็นตามที่ผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายคาดการณ์ไว้แล้วว่าปัญหาการประท้วงในซีเรียจะลงเอยด้วยความรุนแรง การที่รัฐบาลซีเรียโดยประธานาธิบดี Bashar al-Assad กล้าที่จะให้กองกำลังรักษาความมั่นคง หรือเรียกอย่างง่ายๆ ว่ากองกำลังทหารเข้ามาสลายการชุมนุมอย่างรุนแรงนั้น อาจเป็นเพราะสาเหตุจากการที่ซีเรียได้รับการกดดันจากต่างชาติน้อยมากถ้าเทียบกับลิเบีย นอกจากนี้รัฐบาลซีเรียยังคงสามารถควบคุมกำลังทหารได้อย่างเต็มที่ซึ่งต่างจากเหตุการณ์ในอิยิปต์ที่ทหารส่วนใหญ่แปรพักตร์มาเข้าร่วมกับฝ่ายต่อต้าน เมื่อมีกำลังในมือและไม่มีความกดดันรอบด้านมากมาย คงเป็นไปได้ยากที่ตระกูล Assad ซึ่งเป็นผู้นำรัฐบาลเผด็จการที่ปกครองประเทศมานานจะยอมสละตำแหน่งอย่างง่ายดาย ซึ่งล่าสุดจากปฏิบัติการสลายการชุมนุมในเมือง Hama ซึ่งถือเป็นเมืองศูนย์กลางของกลุ่มผู้ต่อต้านรัฐบาลนั้น ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 30 คน และทำให้ยอดผู้เสียชีวิตจากการประท้วงตั้งแต่กลางเดือนนีนาคมสูงถึงกว่า 1,700 คน นอกจากนี้ยังมีรายงานว่ามีผู้ถูกจับกุมกว่าหนึ่งหมื่นคน โดยล่าสุดประธานาธิบดี Bashar al-Assad ได้ออกมาแถลงโดยโยงการประท้วงเข้ากับกลุ่มก่อการร้าย ซึ่งเป็นเหตุผลที่ต้องทำการปราบปรามอย่างรุนแรง แต่สำหรับผู้ที่ได้ติดตามข่าวในซีเรียมาอย่างต่อเนื่องก็คงจะไม่ค่อยเชื่อคำแถลงดังกล่าวสักเท่าไหร่ อย่างไรก็ตาม แม้ซีเรียจะเป็นส่วนหนึ่งของโดมิโนการประท้วงในโลกอาหรับ แต่เหตุการณ์ในซีเรียก็มีลักษณะเฉพาะอยู่ในตัว ซึ่งบทความนี้จะกล่าวถึงที่ไปที่มา วิเคราะห์สาเหตุ และอนาคตของเหตุการณ์ในซีเรียว่าจะมีทิศทางอย่างไร
ประเทศซีเรียเป็นประเทศโลกอาหรับเพียงไม่กี่ประเทศที่ปกครองด้วยระบบสาธารณรัฐ(แม้โดยพฤตินัยจะเป็นรัฐบาลเผด็จการก็ตาม) ต่างจากประเทศอาหรับอื่นๆ ที่ส่วนใหญ่เป็นการปกครองภายใต้ระบอบกษัตริย์ หรือไม่ก็เป็นรัฐอิสลาม นอกจากนี้รัฐบาลซีเรียยังมีความแปลกตรงที่ว่าเป็นรัฐบาลที่มาจากมุสลิมนิกาย Alawite (เป็นนิกายสาขาของนิกายชีอะ) ซึ่งเป็นสายรองของประเทศ โดยนิกายหลักของประเทศคือซุนนีซึ่งมี 74% ส่วน Alawite กับคริสเตียนนั้นมีจำนวนรวมกันเพียง 10% เท่านั้น ซึ่งต่างจากประเทศอื่นๆ ในตะวันออกกลางที่รัฐบาลมักจะมาจากนิกายหลักของประเทศ และนั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ซีเรียเป็นประเทศที่ปกครองด้วยรัฐบาลแบบฆราวาส (secular) แทนที่จะเป็นรัฐอิสลามเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งทางศาสนาระหว่างประชาชนกับกลุ่มผู้นำ อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นล่าสุดนี้ ก็ไม่ได้มาจากความขัดแย้งทางศาสนาแต่อย่างใด แต่เป็นการประท้วงที่เกิดจากการต่อต้านการปกครองแบบเผด็จการของตระกูล Assad ที่ปกครองซีเรียมานานกว่า 40 ปี และเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมืองในหลายๆ ด้าน โดยสรุปได้ดังนี้


1.    ยกเลิกกฎหมายฉุกเฉิน หรือ Emergency Law ที่ถูกใช้มานานถึง 48 ปี
2.    หยุดพฤติกรรม ‘ศาลเตี้ย’ ของรัฐบาล การฆ่า และการทรมาน
3.    ปล่อยตัวนักโทษทางการเมือง และกลุ่มผู้ประท้วงที่ถูกจับ
4.    เปลี่ยนแปลงการปกครองให้เป็นประชาธิปไตย และอิสระ ภายใต้สังคมที่ยอมรับความแตกต่าง
5.    ให้อิสรภาพแก่สื่อ
6.    ให้องค์กรตุลาการเป็นหน่วยงานอิสระ หยุดศาลเตี้ย และกฎอัยการศึก
7.    ให้เงินค่าชดเชยแก่ผู้โดนเนรเทศจากโทษทางการเมือง บุคคลหายสาบสูญ และนักโทษทางการเมือง
จุดประสงค์หลักของการประท้วงน่าจะเป็นข้อที่ 4 ซึ่งทางประธานาธิบดี Bashar al-Assad เองก็ได้ออกปากยอมปฏิรูปการเมืองตามคำเรียกร้อง แต่ก็ยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ ที่เป็นรูปธรรม อีกทั้งยังส่งกองกำลังเข้าปราบปรามประชาชนอย่างรุนแรง
ส่วนสาเหตุของการเรียกร้องดังกล่าว แน่นอนว่าส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากแรงโดมิโนจากการประท้วงที่เกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ ของโลกอาหรับ แต่ก็แสดงให้เห็นว่าภายในประเทศซีเรียเองก็มีปัญหาสั่งสมอยู่ไม่น้อยเช่นกัน กระแสคลั่งไคล้การปกครองกระแสหลักอย่างประชาธิปไตยในหมู่ประเทศอาหรับที่ปกครองโดยระบอบเผด็จการนั้นมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากที่ประชาชนมุสลิมส่วนใหญ่เริ่มเหนื่อยหน่ายกับกลุ่มก่อการร้ายชาวมุสลิมอย่างเช่น Al Qaeda ซึ่งเคยได้วิเคราะห์ใน บทความพิเศษ: บทวิเคราะห์สงครามการก่อการร้ายหลังยุคบิน ลาเดน ซึ่งครั้งหนึ่งเคยได้รับการยกย่องว่าจะมาเป็นผู้ปลดปล่อย แต่สุดท้ายแล้วก็พบว่าตนเองไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยจากกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงเลย โดยเฉพาะซีเรียที่เศรษฐกิจตกต่ำลงเรื่อยๆ และอัตราการว่างงานเพิ่มมากขึ้น แต่ผู้นำเผด็จการกลับยังอยู่สุขสบายเหมือนเดิม สุดท้ายก็ต้องพึ่งตนเองโดยการเดินขบวนเรียกร้องการปฏิรูปการเมืองเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ในภาพใหญ่แล้ว เหตุผลของการประท้วงในซีเรียนั้นตรงไปตรงมาคือการเรียกร้องการปฏิรูปการเมือง โดยไม่มีปัจจัยแวดล้อมจากภายนอกสนับสนุนแบบของลิเบีย แต่ก็ด้วยเพราะไม่มีปัจจัยแทรกซ้อนดังกล่าว ทำให้รัฐบาลซีเรียกล้าที่จะปราบปรามการชุมนุมอย่างรุนแรง กว่าที่ประเทศมหาอำนาจจะขยับตัวเหตุการณ์ก็บานปลายจนยั้งไม่อยู่ เช่น สหภาพยุโรปประกาศตัดสัมพันธ์ทางการค้ากับซีเรียในเดือนมิถุนายน ส่วนสหรัฐฯ และสหประชาติ ก็เพิ่งประณามการกระทำของรัฐบาลซีเรีย หรือการที่สหรัฐฯ ตัดช่องทางทางการเงินของประธานาธิบดี Bashar Al-Assad หลังจากเหตุการณ์บานปลายไปแล้ว ซึ่งปฏิกริยาดังกล่าวถือว่าเบามาก เมื่อเทียบกับเหตุการณ์ในลิเบีย ส่วนใหญ่เป็นการกระทำตอบโต้แบบเสียมิได้ อันที่จริงแล้วประเทศมหาอำนาจตะวันตกนั้นค่อนข้างจะพอใจในการคบหากับประเทศที่ปกครองในระบอบแบบนี้ กล่าวคือประเทศยักษ์ใหญ่ในโลกเสรีนั้นไม่สามารถหาผลประโยชน์ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยจากประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอย่างเต็มรูปแบบเพราะมีประชาชนจำนวนมากซึ่งเป็นประชาสังคมอันแข็งแกร่งของประเทศนั้นๆ ร่วมตัดสินใจกิจการของประเทศแม้จะเป็นในทางอ้อม ส่วนประเทศที่เป็นเผด็จการแบบเต็มตัว แม้ว่าจะง่ายต่อการคบหาค้าขายเพราะผู้นำสามารถตัดสินใจได้แต่เพียงผู้เดียว แต่ประเทศโลกเสรีก็ค่อนข้างไม่สบายใจกับการติดต่อคบหากับประเทศแบบนี้ เสมือนเป็นการกลืนน้ำลายตัวเอง ฉะนั้นประเทศที่นิตินัยเป็นประชาธิปไตยแต่พฤตินัยเป็นแบบเผด็จการแบบซีเรียจึงเป็นประเทศที่โลกเสรีสามารถหาผลประโยชน์ได้มากที่สุด ฉะนั้น อาจจะกล่าวได้ว่าลึกๆ แล้ว ประเทศมหาอำนาจคู่ค้าของซีเรียเอง ก็ไม่ค่อยที่จะอยากให้มีการเปลี่ยนแปลงในประเทศสักเท่าไหร่ ซึ่งจะเห็นได้จากข้อเรียกร้องจากนานาชาติให้ประธานาธิบดี Assad ทำการปฏิรูปการเมืองทันที แต่ไม่มีประเทศใดที่เรียกร้องอย่างจริงจังให้ประธานาธิบดี Assad ลงจากอำนาจ
นอกจากนี้เอาเข้าจริงแล้ว ประชาชนชาวซีเรียหลายกลุ่มก็มิได้เรียกร้องอยากจริงจังให้ประธานาธิบดี Assad ลงจากอำนาจ มิหนำซ้ำยังเชื่อว่าประเทศซีเรียอาจจะเกิดความโกลาหลไปพักใหญ่ หากประธานาธิบดี Assad ลงจากอำนาจ เนื่องจากยังไม่มีกระบวนการทางการเมืองที่สามารถเชื่อมั่นได้มารองรับ แค่เพียงในช่วงที่มีการประท้วงอยู่ในตอนนี้ที่ส่งผลให้การควบคุมจากรัฐบาลเป็นไปอย่างไม่ทั่วถึง ก็เกิดความวุ่นวายขึ้นมากมายเช่นไม่มีตำรวจดูแลการฝ่าฝืนกฎจราจร การตั้งแผงร้านค้าแบบผิดกฎหมายตามอำเภอใจ การสร้างสิ่งก่อสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเป็นไปได้ว่าหากเกิดสูญญากาศทางการเมืองขึ้นจริงในซีเรีย สังคมอาจจะเกิดความวุ่นวายหนักขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้คนในประเทศและนานาชาติกังวล ฉะนั้นสิ่งที่หลายฝ่ายต้องการจริงๆ ก็เป็นเพียงแต่ประธานาธิบดี Assad ทำการปฏิรูปการเมืองอย่างจริงจัง อย่างที่ได้เคยสัญญาไว้
อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันของประธานาธิบดี Assad คือการที่ยังไม่ยอมตัดสินใจแก้ไขสถานการณ์อย่างเป็นรูปธรรมในระยะยาว และอาจจะเป็นความดื้อด้านของตัวประธานาธิบดีเองด้วย ทำให้ประเทศเพื่อนบ้าน และประเทศมหาอำนาจที่อยู่เงียบมานานเริ่มหมดความอดทน อย่างที่สหภาพยุโรปประกาศตัดสัมพันธ์ทางการค้ากับซีเรีย รัฐบาลสหรัฐฯ เองก็เริ่มมีท่าทีขึงขังมากขึ้น สหประชาชาติก็ออกแถลงการณ์ประณามการกระทำของรัฐบาล ประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศซาอุดิอาระเบียเองก็เรียกทูตประจำซีเรียกลับ ยิ่งไปกว่านั้นกษัตริย์อับดุลลาแห่งซาอุฯ ยังออกแถลงการณ์เรียกร้องให้หยุดการสังหารประชาชน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยจะเกิดขึ้นบ่อยนักที่กษัตริย์แห่งซาอุฯ จะออกแถลงการณ์สาธารณะเช่นนี้ แต่ที่ดูจะจริงจังมากที่สุดคือรัฐบาลตุรกี ซึ่งได้ส่งรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศมาเข้าพบ เนื่องจากว่าประเทศตุรกีนั้นเริ่มได้รับผลกระทบจากการปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงอย่างรุนแรงของรัฐบาลซีเรียเพราะเป็นประเทศที่ต้องตั้งค่ายรับผู้อพยพที่หนีมาจากซีเรีย แต่ในทางกลับกันกลุ่มชาติสันนิบาตอาหรับ (Arab League) กลับสงวนท่าทีและแสดงออกต่อสถานการณ์นี้น้อยมาก โดยมีเพียงแค่การออกแถลงการณ์แสดงความกังวลถึงการสูญเสียชีวิตของประชาชนชาวซีเรีย ซึ่งเป็นที่ประหลาดใจและขุ่นเคืองใจต่อนานาชาติรวมถึงสื่อต่างๆ อย่างมาก ซึ่งอาจเป็นเพราะหลายประเทศในกลุ่มสันนิบาตอาหรับเองก็ยังประสบปัญหากลุ่มผู้ประท้วงเช่นกัน พูดง่ายๆ คือยังเอาตัวเองไม่รอด ทำให้กลุ่มประเทศอาหรับเองก็ยังไม่อยากขยับอะไรมากมาย เพราะเกรงว่าจะไปจุดเชื้อปะทุของกลุ่มผู้ประท้วงในประเทศ

หากจะคาดการณ์อนาคตของประเทศซีเรียจากสภาพแวดล้อมในตอนนี้ ต้องบอกว่าเป็นเรื่องยากที่ประธานาธิบดี Assad จะลงจากตำแหน่ง เนื่องจากว่าตัวประธานาธิบดี Assad ยังคงกุมอำนาจทางทหารไว้อย่างเหนียวแน่น อีกทั้งแรงกดดันจากนานาชาติยังค่อนข้างเบาบางหากเทียบกับสถานการณ์ในประเทศลิเบีย หรืออียิปต์ ผลก็คือประชาชนผู้ประท้วงจะยังโดนปราบปรามต่อไปเรื่อยๆ ทั้งบนดินและใต้ดิน ซึ่งในตอนนี้ประธานาธิบดี Assad ได้ใช้เหตุผลว่าเป็นการปราบปรามกลุ่มผู้ก่อการร้าย และกลุ่มผู้ไม่หวังดีต่อประเทศ อย่างไรก็ตาม หากเหตุการณ์สงบขึ้นระดับหนึ่ง เป็นไปได้ที่ประธานาธิบดี Assad น่าจะพิจารณาทบทวนการปฏิรูปการเมืองอย่างจริงจังอีกครั้งหนึ่ง เพราะการประท้วงที่เริ่มมาตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมาทำให้เศรษฐกิจของประเทศซีเรียตกต่ำลงอย่างมาก จนทำให้กลุ่มนักธุรกิจที่สนับสนุนรัฐบาลประสบความเสียหาย ถึงขนาดว่ามีบางกลุ่มพยายามตีตัวออกห่าง แม้แต่กลุ่ม Alawite บางกลุ่มก็เริ่มไม่ค่อยไว้ใจรัฐบาลเท่าไหร่ อย่าลืมว่ารัฐบาลของประธานาธิบดี Assad เป็น Alawite ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยของประเทศ หากกลุ่ม Alawite รวมถึงกลุ่มคริสเตียนที่เป็นพันธมิตรกับ Alawite ยังคลางแคลงใจกับตัวประธานาธิบดี Assad เอง ก็เป็นเรื่องยากที่ตนเองจะสามารถบริหารประเทศต่อได้อย่างราบรื่น ซึ่งจะยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก และก็คงจะเกิดความรุนแรงขึ้นมาอีก เป็นวงจรจนกว่าตัวประธานาธิบดีจะออกจากอำนาจไปเอง
โดยสรุปแล้ว จนถึงตอนนี้ก็อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นการยากที่ประธานาธิบดี Assad ลงจากตำแหน่ง หรือโดนบังคับออกจากตำแหน่ง เนื่องจากมีแรงกดดันจากนานาชาติไม่เพียงพอ รวมถึงประธานาธิบดี Assad ยังคงมีอำนาจทางทหารอยู่ในมือ แต่ความดื้อด้านหรือความไม่กล้าตัดสินใจอาจจะส่งผลร้ายตามมาทีหลัง ซึ่งตัวประธานาธิบดีเองจำเป็นต้องจัดการกับปัญหานี้ในระยะยาวและเป็นรูปธรรม ซึ่งอาจจะหมายถึงการปฏิรูปการเมืองอย่างจริงจัง ตามที่ผู้ประท้วงได้เรียกร้อง อย่างไรก็ตาม หลังจากที่รัฐบาลได้ใช้มาตรการขั้นรุนแรงจัดการกับประชาชนกลุ่มผู้ประท้วงก็ทำให้ความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกันฝังรากลึกลงไป ซึ่งส่งผลให้เกิดความตึงเครียดไปทุกภาคส่วน ผู้นำเองก็มีความทุกข์กับการหาวิธีรักษาอำนาจ ประชาชนเองก็ทุกข์จากความไม่เชื่อใจผู้บริหารประเทศ สรุปแล้วไม่มีใครมีความสุขกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งถือเป็นบทเรียนทางประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งที่ประเทศไทยควรจะเรียนรู้ไว้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น