วันพฤหัสบดีที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2555
เบื้องหลัง! ทำไม? ต้องทดสอบระบายน้ำในกรุงเทพฯ "รอยล" ยันปีนี้ไม่ท่วม แต่ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น เมื่อ 31 ส.ค.55
เมื่อน้ำท่วมใหญ่เมื่อปลายปี 2554 ปัญหาหนึ่งที่ ดร.รอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) พูดถึง นั่นก็คือ ปัญหาเรื่องคลอง โดยดร.รอยล บอกว่า คลองในกรุงเทพมหานคร (กทม.) หายไป เพราะคลองกลายเป็นถนน เช่น ที่ถนนอังรีดูนังต์ เดิมมีคลองอรชร แต่วันดีคืนดีก็หายไป กลายเป็นท่อน้ำแทน ทั้งนี้ ใต้ถนนอังรีดูนังต์เป็นคลอง 2-3 คลอง มีคลองแสนแสบลอดข้างใต้ไปบรรจบที่ถนนพระราม 4 เป็นอุโมงค์ออกแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีไว้ระบายน้ำฝนเพื่อสูบออกคลองแสนแสบ
แต่ข้างต้นคงไม่ฮือฮาเท่ากับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 5 และ 7 กันยายน นี้ เพราะมีกระแสหนาหูถึงการทดสอบประสิทธิภาพการระบายน้ำในพื้นที่ปลายน้ำ หรือในพื้นที่ใกล้กทม. มากมายเหลือเกิน
นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แถลงถึงการทดสอบการระบายน้ำว่า หลังจากน้ำท่วมที่ผ่านมา ได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำเพิ่มเติมในจุดที่น้ำท่วมขัง โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจ จึงควรมีการทดสอบประสิทธิภาพการระบายที่แท้จริงในเส้นทางระบายน้ำที่เคยมีปัญหา
สอดคล้องกับดร.รอยล ที่บอกว่า การทดสอบจะใช้ปริมาณน้ำแค่ 1 ใน 3 หรือ 30 เปอร์เซ็นต์ เพื่อเป็นแบบจำลองว่า หากปริมาณน้ำเท่านี้ จะระบายน้ำได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งจะไม่กระทบกับชาวบ้านเลย ขณะเดียวกันทางกทม. ก็เข้าใจตรงกัน และเห็นด้วยกับการทดสอบดังกล่าว
ส่วนการทดสอบการระบายน้ำนั้น เริ่มจากที่รัฐบาลได้มีการขุดลอกคูคลอง จึงควรมีการทดสอบการระบายน้ำให้รู้ว่าเมื่อปล่อนน้ำมาประมาณเท่านี้ ระดับน้ำในคลองจะสูงขึ้นเท่าไหร่ โดยในวันที่ 5 กันยายน จะทำการทดสอบในพื้นที่ตะวันตก และใช้คลองทวีวัฒนาเป็นหลัก ไหลไปตามคลองภาษีเจริญ 2 ฝั่ง คือ ฝึ่งหนึ่งน้ำจะไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา และอีกฝั่งหนึ่งไหลลงสู่แม่น้ำท่าจีน จากนั้นก็ไหลคลองราชมนตรี คลองท่าข้าม และออกที่คลองมหาชัย ด้วยความเร็วในการระบายที่ 20 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และระหว่างคลองทวีวัฒนาเชื่อมกับคลองภาษีเจริญ จะมีคลองที่เป็นทางแยก เช่น คลองบางไผ่ คลองบางแวก คลองบางจาก
ในวันที่ 7 กันยายน จะทำการทดสอบการระบายน้ำในพื้นที่ฝั่งตะวันออก โดยใช้คลองลาดพร้าวเป็นหลัก ซึ่งเป็นคลองหนึ่งที่ไม่สามารถระบายน้ำได้เมื่อครั้งเกิดน้ำท่วมใหญ่ที่ผ่านมา หรือเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้น้ำท่วมกทม. ทั้งนี้ คลองลาดพร้าวจะใช้ความเร็วในการระบายน้ำที่ 6 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ผ่านไปยังบึงพระราม 9 และสิ้นสุดที่อุโมงค์ผันน้ำ
จะว่าไปแล้วการระบายน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาผ่านกทม. ไหลลงสู่อ่าวไทย มีความจำเป็นในการบริหารพื้นที่ปลายน้ำ เนื่องจากในพื้นที่กทม. แม่น้ำเจ้าพระยามีขนาดแคบที่สุด คือ 70 กิโลเมตร ขณะเดียวกัน การขยายตัวของเมืองทำให้เกิดสิ่งก่อสร้างกีดขวางทางน้ำเพิ่มขึ้น ทำให้การระบายน้ำในพื้นที่ปลายน้ำมีประสิทธิภาพลดลง ประกอบกับคลองต่างทรุดไปจากเดิมมาก นอกจากนี้ ยังพบว่า คลองหลายเส้นมีการทำแนวกันน้ำไว้ ซึ่งอาจจะทำให้การระบายน้ำมีปัญหาหากไม่ทำการทดสอบ
ส่วนการบริหารจัดการน้ำในปีนี้ ดร.รอยล กล่าวว่า น้ำจะไม่ท่วม หรือโอกาสเกิดน้ำท่วมน้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำ ขณะที่สภาพอากาศในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไม่เหมือนสมัยก่อน ทำให้การบริหารจัดการน้ำไม่ง่าย กล่าวคือ ในพื้นที่หนึ่งแล้ง แต่อีกพื้นที่หนึ่งน้ำท่วม หรือที่ภาคอีสานเกิดภัยแล้งนั้น ก็ไม่ได้แล้งทั้งภาค ฉะนั้น จึงจำเป็นต้องศึกษาข้อมูล แม้กระทั่งการจัดการน้ำในเขื่อน เมื่อเทียบกับปี 2553 ถือว่าแล้งกว่าปีนี้ด้วยซ้ำ หรือดูเหมือนน้ำจะน้อยแต่ปริมาณน้ำก็เพิ่มขึ้น คือปีนี้น้ำไหลเข้าเขื่อนภูมิพล 29 ล้านลูกบาศก์เมตร ไหลเข้าเขื่อนสิริกิติ์ที่ 40-50 ลูกบาศก์เมตร ท้ายที่สุดก็คือ ต้องบริหารจัดการน้ำอย่างสมดุลกันระหว่างน้ำแล้งกับน้ำท่วม
นอกจากนี้ ดร.รอยล ยังกล่าวอีกว่า ในช่วงเดือนต.ค. 2554 ที่ผ่านมา ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านอ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นจุดเฝ้าระวังน้ำก่อนเข้าสู่เมืองหลวง ตรวจวัดได้สูงสุดประมาณ 5 พันลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งเกินกว่าความจุของลำน้ำที่ 3.5 พันลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งน้ำส่วนเกินนี้ เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดวิกฤติน้ำท่วมในกทม. และปริมณฑลในปีที่ผ่านมา หากสามารถตัดยอดน้ำส่วนเกินที่ประมาณ 1.5 พันลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ได้มากเท่าไหร่ ก็จะลดความเสียหายที่เคยเกิดขึ้นในปีที่ผ่านมาได้มากเท่านั้น เช่น การผันน้ำลงสู่แม่น้ำบางประกงประมาณ 300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที การเพิ่มประสิทธิภาพการผันน้ำที่ทุ่งตะวันออก เพื่อป้อนน้ำเข้าสู่ระบบน้ำสุวรรณภูมิ และคลองด่านประมาณ 400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และเพิ่มศักยภาพการผ่านน้ำในพื้นที่กทม. ทั้งฝั่งธนบุรี และฝั่งพระนครประมาณ 300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็นต้น
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น