วันอังคารที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2555

พล่านขวางโนโหวต เพื่อไทยชี้ขัดปชต.ขู่ยุบพรรค‘ปู’แบไต๋ทำประชามติ2รอบ เมื่อ 18 ธ.ค.55


พล่านขวางโนโหวต เพื่อไทยชี้ขัดปชต.ขู่ยุบพรรค‘ปู’แบไต๋ทำประชามติ2รอบ




 "ยิ่งลักษณ์" อ้างประชามติเป็นเรื่องของ ปชช. ปัดทำเพื่อ "ทักษิณ " แบไต๋ทำ 2 รอบก่อนและหลังแก้ รธน. เดินหน้าชง ครม.อังคารนี้ เพื่อแม้วโต้ "อภิสิทธิ์" ขัดขวาง ปชต. โวยนำเสียงคนที่ไม่เห็นด้วยรวมกับคนที่ไม่ออกมาใช้สิทธิ์ไม่ได้ ขู่เอาผิดถึงขั้นยุบพรรค "มาร์ค" ยันไม่ก่อความวุ่นวาย "สุริยะใส" ลั่นปชช.ทำได้ทั้งโหวตโนและโนโหวต เชื่อไม่ผิดกฎหมาย "สดศรี" แนะต้องตั้งประเด็นให้ชัดเจนเข้าใจง่าย เตือนล้มประชามติมีโทษจำคุก 10 ปี ชี้หากไม่เห็นด้วยให้รณรงค์กาช่องไม่เห็นด้วยดีกว่า
    จดหมายเปิดผนึกของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ปลุกประชาชนให้ร่วมกันล้มประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ช่วย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ให้พ้นผิด ทำให้พรรคเพื่อไทยและแกนนำรัฐบาลออกมาตอบโต้อย่างดุเดือด โดยเมื่อวันจันทร์ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าวว่า การมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ และรัฐบาลมองใน 2 แนวทาง คือ 1.การทำประชาเสวนา และ 2.การทำประชามติ สำหรับการทำประชามติเป็นสิ่งดี ที่มีการเห็นชอบจากประชาชน ให้ประชาชนออกความเห็น เรื่องดังกล่าวยังถือว่าอยู่ในช่วงเริ่มต้น
    "วันนี้อาจจะเร็วเกินไปที่จะสรุปแบบว่าทำเพื่อใคร เพราะขั้นตอนทั้งหมด ยังไม่มีการตั้งหัวข้อเลยว่า การทำประชามติจะมีเรื่องอะไรบ้าง ยืนยันว่าการทำประชามติเป็นเรื่องของประชาชน ไม่มีใครสามารถเข้ามาแทรกแซงได้ เพราะประชาชนเท่านั้นที่จะเป็นเจ้าของ ยืนยันรัฐบาลทำตามระบอบประชาธิปไตย"
    ส่วนท่าทีจากพรรคประชาธิปัตย์ที่ต้องการล้มประชามติ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า เป็นสิทธิ์ของแต่ละท่านที่จะร่วมกันแสดงความคิดเห็น แต่กระบวนการมีส่วนร่วมเป็นอย่างไร ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสิน เมื่อถามว่า เรื่องดังกล่าวจะเป็นปัญหาหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ตอบว่า "ไม่หรอกค่ะ รัฐบาลทำทุกอย่างถูกต้องตามหลักประชาธิปไตย เมื่อประชาชนใช้สิทธิ์ในการแสดงความคิดเห็นก็ต้องเคารพกติกา”
    เมื่อถามว่า จะทำให้ประชาชนสับสนว่าแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวปฏิเสธ และบอกว่าอยู่ที่เนื้อหาและหัวข้อที่จะตั้ง วันนี้เนื้อหายังไม่ได้ตั้งว่าจะทำประชามติอย่างไร ถามว่า เห็นด้วยกับการทำประชามติทั้งก่อนและหลังจากที่ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์บอกว่า "ใช่ หลักการต้องเป็นอย่างนั้น ทุกอย่างประชาชนจะมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทุกขั้นตอน"
    ถามย้ำว่า การแก้รัฐธรรมนูญได้ทำเพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณหรือไม่ นายกฯ ยืนยันว่าไม่ใช่ การแก้รัฐธรรมนูญเป็นสิทธิ์ของประชาชน ประชาชนและประเทศชาติจะได้ประโยชน์ วันนี้เป็นการให้ประชาชนเสนอทางออกว่า จะให้รัฐธรรมนูญเดินหน้าอย่างไร เราทำงานเพื่อประชาชนและประเทศชาติเป็นที่ตั้ง
     นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทยและหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า สาเหตุที่เราต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 เพราะรัฐธรรมนูญปี 50 มาจากการทำรัฐประหาร และประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมในการร่าง คือมาจากระบบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย จึงอยากให้ประชาชนร่าง ซึ่งเรื่องนี้เป็นธาตุแท้ของพรรคประชาธิปัตย์ที่ไม่อยากให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ
    "ก็บอกมาตรงๆ เลยซิว่า พรรคประชาธิปัตย์ส่งเสริมรัฐธรรมนูญปี 50 ที่มาจากเผด็จการ ทั้งที่ประชาธิปัตย์บอกว่าต่อต้านระบบเผด็จการ ทำไมรัฐธรรมนูญปี 40 ที่มาจากประชาชน แม้จะมีข้อบกพร่องบ้างก็แก้ได้ ทำให้ดีได้ แต่ไม่ทำ แล้วมาทำรัฐประหารเสีย พอมีรัฐธรรมนูญปี 50 แล้วมันไม่เป็นประชาธิปไตย ที่มาขององค์กรอิสระทั้ง 8 มาจากใคร มาจาก คมช. แล้วมาตรา 309 ว่ายังไง อะไรที่ คมช.ทำไม่ผิดสักอย่าง ทั้งอดีต อนาคตและปัจจุบัน แม้แต่บุคคลที่ คมช.ตั้งก็ไม่ผิดสักอย่าง แล้วประชาธิปัตย์รับได้หรือ” นายจารุพงศ์ กล่าว
ขู่เอาผิดถึงขั้นยุบ ปชป.   
    นายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะคณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 กล่าวว่า วันที่ 18 ธ.ค.นี้ ครม.จะมีการพิจารณาเกี่ยวกับการจัดทำประชามติเรื่องแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เนื่องจาก พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม ได้รวบรวมความเห็นจากทุกฝ่ายครบถ้วนแล้ว ส่วนกรณีนายอภิสิทธิ์ จะรณรงค์ให้ประชาชนคว่ำประชามติ ตนเป็นห่วงว่าจะทำให้ประชาชนซึ่งเป็นผู้ที่ต้องการประชาธิปไตยเกิดความสับสน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนของการเสนอให้ ครม.เห็นชอบในหลักการ ส่วนเนื้อหาและประเด็นคงต้องรอดูผลออกมาก่อน
     "สิ่งที่นายอภิสิทธิ์เสนอเป็นเรื่องที่ขัดต่อระบอบประชาธิปไตย อย่างน้อยคือการไม่ส่งเสริมให้คนไปใช้สิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นการไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง หรือการไปใช้สิทธิ์ออกเสียงลงประชามติ หากต้องการที่จะไม่ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะต้องรณรงค์ให้คนไปใช้สิทธิ์และรณรงค์ให้คนไม่เห็นด้วยน่าจะถูกต้องมากกว่า โดยหลักทั่วไปในจำนวนผู้มีสิทธิ์ 100 เปอร์เซ็นต์ จะมีประมาณ 20-30 เปอร์เซ็นต์ไม่มาใช้สิทธิ์อยู่แล้ว ฉะนั้นการนำเอาคนที่ไม่เห็นด้วยไปรวมกับคนที่ไม่ออกมาใช้สิทธิ์ เพื่อที่จะให้เสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่ง คิดว่าเป็นการคิดทางการเมืองที่ชาญฉลาดของนายอภิสิทธิ์ ที่ไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ถูกต้องและรับไม่ได้"
    นายวราเทพบอกว่า กฎหมายการทำประชามติมีลักษณะคล้ายๆ กับกฎหมายการเลือกตั้ง การให้ข้อมูล การหลอกลวง การพยายามที่จะทำให้ประชาชนไม่ออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งอาจเป็นความผิด ซึ่งเป็นความผิดในเรื่องของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยออกเสียงประชามติ แล้วยังมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.พรรคการเมือง เพราะการที่ไม่ส่งเสริมประชาธิปไตย อาจนำไปสู่การฟ้องร้องหรือนำไปสู่การยุบพรรคได้
    นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ตอบโต้นายอภิสิทธิ์ว่า เป็นลักษณะของคนธาตุไฟแตก การทำประชามติก่อนโหวตวาระ 3 เป็นการให้ประชาชนมีส่วนร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญตั้งแต่แรก เพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน จดหมายเปิดผนึกของนายอภิสิทธิ์เป็นมายาคติ ไม่เคารพรัฐธรรมนูญและประชาชน จะติดตามการรณรงค์คว่ำประชามติของนายอภิสิทธิ์ ว่ามีการดำเนินการผิดกฎหมาย พ.ร.บ.ประชามติหรือไม่ หรือไปร่วมมือกับกลุ่มการเมืองเพื่อแช่แข็งประเทศ หากมีการทำผิดกฎหมายจะรวบรวมหลักฐานยื่นเอาผิดต่อ กกต.เพื่อนำไปสู่การยุบพรรคต่อไป
 
    นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม.ในฐานะรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้ กกต. ในฐานะที่เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และมีหน้าที่โดยตรงในการจัดทำประชามติ แสดงจุดยืนต่อการคว่ำประชามติของพรรคประชาธิปัตย์ครั้งนี้ ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ขณะเดียวกันในส่วนของพรรคเพื่อไทย จะมีการหารือกันในที่ประชุม ส.ส.และทีมกฎหมายของพรรค ว่าจะมีการยื่นฟ้องร้องต่อพรรคประชาธิปัตย์ในเรื่องนี้หรือไม่เช่นกัน
'เหลิม' ฟันธงประชามติแท้ง
    ขณะที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มันเป็นสิทธิ์ของพรรคประชาธิปัตย์ พรรคใครพรรคมัน แต่รัฐบาลจะทำการรณรงค์ให้ประชาชนเข้าใจในเรื่องนี้ ทั้งนี้ การจะประกาศคว่ำการทำประชามติของพรรคประชาธิปัตย์นั้น สามารถทำได้ แต่ถ้าไปกระทำอย่างที่พูด เดี๋ยวจะมีโดนอีก พรรคประชาธิปัตย์ไม่ยอมศึกษาข้อกฎหมายก่อน ซึ่งการไปออกรณรงค์ต่างๆนั้นถือว่าเป็นการหมิ่นเหม่ แต่หากแค่ประกาศจุดยืนเฉยๆ ก็เป็นสิทธิ์ที่สามารถจะทำได้ แต่ถ้าออกตัวมากๆ ก็จะเป็นปัญหา เดี๋ยวจะหาว่ารัฐบาลกลั่นแกล้งอีก
     ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีดังกล่าวถือว่าเป็นการเทียบเคียงกับการคว่ำบาตรการเลือกตั้งที่ผ่านมา ซึ่งมีการรณรงค์ไม่ให้ประชาชนออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งได้หรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า มันคนละประเด็นกัน กรณีที่ไม่ลงเลือกตั้งนั้นไม่ใช่เป็นการประท้วง แต่พรรคประชาธิปัตย์กลัวแพ้การเลือกตั้ง
        "หากสุดท้ายการทำประชามติไม่ผ่าน ก็ใช้บริการผม ผมแก้ 7 ประเด็นจบหมดเรื่อง แต่ยังไม่บอกว่ามีประเด็นอะไรบ้าง เพราะทางรัฐบาลไม่ใช้ อะไรง่ายๆ ไม่ยอมทำ ผมก็แปลกใจ แต่ไปทำอะไรยากๆ”
        เมื่อถามว่า หากแม้การทำประชามติสามารถผ่านไปได้ แต่ก็จะมีการขัดขวางอยู่หรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิมบอกว่า มีการขัดขวางอย่างแน่นอน และตนเชื่อว่าประชามตินั้นต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ ไม่ใช่แค่เสียงของผู้มาใช้สิทธิ์ คือต้องได้ 23 ล้านเสียงขึ้นไป แล้วยังมองไม่เห็นอีกว่าเป็นการเข็นครกขึ้นภูเขา
    ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้สัมภาษณ์ในรายการฟ้าวันใหม่ ทางบลูสกายแชนเนล ในช่วงเช้า เกี่ยวกับเรื่องจดหมายเปิดผนึกที่จะรณรงค์คว่ำประชามติว่า ตนเห็นว่าขณะนี้เราติดหล่มกันในเรื่องการเมือง ซึ่งชัดเจนว่ารัฐบาลก็ยังหมกมุ่นอยู่กับการแก้ปัญหาเกี่ยวกับคดีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งหัวใจสำคัญข้อหนึ่งที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการก็คือ การพยายามล้มคดีด้วยการรื้อรัฐธรรมนูญ โดยใช้วิธีการทำประชามติ ซึ่งในจดหมายเปิดผนึกของตนนั้นก็เป็นเพียงการเชิญชวนว่า เป็นโอกาสของประชาชนที่ต้องยืนยันให้เห็นว่า ประชาชนกับกฎหมายต้องใหญ่กว่าอำนาจรัฐ อำนาจเงิน แม้พรรคเพื่อไทย หรือพรรคของบริวาร พ.ต.ท.ทักษิณจะชนะการเลือกตั้งและมีอำนาจ แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย
    "จึงเห็นว่าโอกาสนี้ ประชาชนสามารถที่จะทำให้การทำประชามติครั้งนี้ไม่ผ่านได้ เพื่อเป็นการยืนยันหลักการดังกล่าว ซึ่งผมก็ไม่ได้เห็นสวนทางกับศาลรัฐธรรมนูญ ที่ว่าต้องมีการทำประชามติก่อนแก้รัฐธรรมนูญ เพราะการล้มประชามติในความหมายของผมคือ การใช้กระบวนการทำให้การลงประชามติไม่ผ่านเพื่อแสดงให้รัฐบาลเห็น" นายอภิสิทธิ์กล่าว
ปชป.โต้ไม่ก่อความวุ่นวาย
    ส่วนกรณี กกต.เห็นว่า การคว่ำการทำประชามติอาจจะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย นายอภสิทธิ์กล่าวว่า "ไม่มีใครก่อความวุ่นวายอยู่แล้ว ซึ่งผมก็พูดมาโดยตลอดว่า เราไม่มีการก่อความวุ่นวาย แต่จะทำตามเจตนารมณ์ของกฎหมายประชามติ"
    นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า  พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ขัดขวางการทำประชามติ แต่ต้องจับตาดูว่ารัฐบาลจะออกแบบการทำประชามติอย่างไร แต่ไม่ว่ารัฐบาลจะออกแบบการทำประชามติอย่างไร ก็เป็นสิทธิ์ของประชาชน ส่วนแนวคิดของรัฐบาลที่ว่า แม้ผลการทำประชามติจะออกมาว่าไม่เห็นด้วย แต่รัฐบาลก็สามารถใช้รัฐสภาลงมติวาระ 3 เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไปได้นั้น แสดงให้เห็นว่าไม่ว่าผลการลงมติจะออกมาอย่างไร ก็ไม่สามารถล้มการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้
    ส่วนกรณีที่ กกต.เห็นว่า การคว่ำการทำประชามติอาจจะเป็นการกระทำที่ผิดตามมาตรา 43 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2552 นายองอาจยืนยันว่า การดำเนินการใดๆ ของพรรคประชาธิปัตย์จะไม่ดำเนินการที่ผิดกฎหมายอย่างเด็ดขาด เพราะไม่ว่าจะเป็น 1.การก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงประชามติไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย 2. ให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใด อาจจะคำนวณเป็นเงิน หรือ 3.หลอกลวงบังคับขู่เข็ญ หรือใช้อิทธิพลคุกคาม ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ก็คงไม่ทำเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว
     ส่วนนายนิคม ไวรัชพานิช ประธานวุฒิสภา กล่าวถึงกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์จะรณรงค์ไม่ต้องออกไปใช้สิทธิ์ในการออกเสียงประชามติ ว่า เป็นสิ่งที่ไม่สมควรกระทำ เป็นการส่งเสริมประชาธิปไตยที่ไม่เป็นแบบอย่างที่ดีต่อเด็กเยาวชน ถ้าตนเป็นฝ่ายค้านก็จะเรียกร้องให้มาใช้สิทธิ์ และการกระทำดังกล่าวอาจเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2552 มาตรา 43 (1) ว่าการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงเป็นไปด้วยความไม่เรียบร้อย เห็นว่าถ้าไม่เห็นด้วยก็ควรออกไปใช้สิทธิ์ แต่ไม่ลงคะแนน (โหวตโน)
    นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน ระบุว่า เกมแก้รัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมสลับซับซ้อน และลับลวงพรางยิ่งขึ้น เพราะ "การออกเสียงประชามติ" ครั้งนี้ซับซ้อนซ่อนเงื่อน ถูกออกแบบเป็นขั้น เป็นตอน เพื่อปลายทางเก่าปลายทางเดิม คือ "รื้อรัฐธรรมนูญเพื่อคนคนเดียว" ด้วยยุทธการบันได 3 ขั้น
    ขั้นที่ 1 แอบอ้างประชามติว่าเป็นไปตามแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ขั้นที่ 2 เตรียมการให้มหาดไทย, ผู้ว่าฯ, ฝ่ายปกครอง, ตร.ทุกจังหวัดระดมจัดตั้งและกะเกณฑ์ประชาชน ให้มาออกเสียงประชามติให้มากที่สุด ขั้นที่ 3 ถ้าประชามติไม่ผ่าน รัฐบาลก็จะขอแก้ รธน.เป็นรายมาตราแทน
    "ทั้งหมดนี้เพื่อปูทางสร้างกระแสให้การแก้รัฐธรรมนูญเพื่อคนคนเดียว  แต่ก็ไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะกระแสต่อต้านการรื้อรัฐธรรมนูญ ประชาชนที่ไม่เห็นด้วยทำได้ทั้งไปออกเสียงไม่เห็นด้วย (Vote No) และไม่ไปออกเสียงเลย (No Vote) ประชาชนสามารถทำได้ทั้ง 2 ทาง ไม่ผิดกฎหมายและไม่เสียสิทธิ์ใดๆ เกมนี้ระหว่างทางยังมีความเสี่ยงสารพัด ยืดเยื้อ สลับซับซ้อน เห็นสงครามกลางเมืองที่อียิปต์เรื่องลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ ดูเหมือนไทยเรากำลังเดินตามยังไงยังงั้น" นายสุริยะใสระบุ
กกต.เตือนล้มประชามติผิด กม.
     นางสดศรี สัตยธรรม คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการพรรคการเมืองและออกเสียงประชามติ กล่าวถึงกรณีรัฐบาลจะจัดทำประชามติก่อนการลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 วาระ 3 ว่า ประเด็นที่จะจัดทำประชามติควรมีประเด็นที่ชัดเจน และทำให้ประชาชนเข้าใจได้ง่าย โดยรัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการทำออกเสียงประชามติ ที่จะต้องให้ฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยมีการโต้แย้งกันได้ และควรเป็นคำถามหรือหัวข้อปลายปิดว่า เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ไม่จำเป็นต้องเป็นคำถามที่อธิบายยาว
    ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีนายอภิสิทธิ์ระบุว่า จะรณรงค์ให้ประชาชนล้มการจัดทำประชามติในครั้งนี้ นางสดศรีกล่าวว่า กรณีดังกล่าวอาจจะเป็นการสุ่มเสี่ยงมีความผิดตามมาตรา 43 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2552 (3) ที่ระบุว่า "ผู้ใดหลอกลวงบังคับขู่เข็ญหรือใช้อิทธิพลคุกคาม เพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้เสียง ออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง หรือเพื่อให้สำคัญผิดในวัน เวลา ที่ออกเสียง หรือวิธีการลงคะแนนออกเสียง อาจต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 2 แสนบาท" ดังนั้น หากนักการเมืองหรือพรรคการเมืองใดที่กระทำการใดที่ส่อพฤติกรรมที่มีความผิด อาจจะมีความผิดตามกฎหมายหรืออาจถูกร้องต่อ กกต. และศาลอาญาได้ และอาจถึงขั้นยุบพรรคการเมืองได้
    "การที่ประชาชนไม่ออกไปลงเสียงประชามติ ก็ถือว่าไม่ขาดสิทธิ์เหมือนการเลือกตั้งทั่วไป ที่มีผลต่อการเสียสิทธิ์ลงสมัครเลือกตั้งระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ ทั้งนี้ ถ้าประชาชนคนไหนไม่เห็นด้วยกับการทำประชามติ ควรจะมีการรณรงค์ให้ประชาชนออกไปลงเสียงประชามติ และกาในช่องไม่เห็นด้วยกับการทำประชามติ ก็น่าจะดีกว่าและไม่ขัดกับหลักกฎหมาย"
    นางสดศรีกล่าวด้วยว่า ขณะนี้มีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมดประมาณ 46 ล้านคน โดยการออกเสียงประชามติที่ถือว่ามีข้อยุตินั้น ต้องมีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งออกมาใช้สิทธิ์เป็นจำนวนเสียงข้างมากประมาณ 23 ล้านคน และต้องมีจำนวนเสียงที่เห็นชอบในการทำประชามติเกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มาออกเสียง ประมาณ 12 ล้านคน หากไม่เป็นไปตามหลักข้อใดข้อหนึ่ง การจัดทำประชามติก็จะถือว่าตกไปทันที
    นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต.กล่าวว่า หาก ครม.มีมติให้ กกต.ดำเนินการจัดทำประชามติ กกต.ก็มีความพร้อม แต่เห็นว่าในการจัดทำประชามติควรที่จะกำหนดประเด็นในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลอย่างรอบด้าน แต่ต้องมีการปรับปรุงระเบียบเล็กน้อย ก็สามารถจัดทำประชามติได้ คาดว่าในการกำหนดวันออกเสียงประชามติ น่าจะอยู่ในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย.56 ตามที่กฎหมายระบุให้ กกต.จัดทำประชามติไม่น้อยกว่า 90 วัน แต่ไม่เกิน 120 วัน.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น