วันอังคารที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ประชามติช่วยโจรปล้นแผ่นดิน? เปลว สีเงิน 18 December 2555


ประชามติช่วยโจรปล้นแผ่นดิน?


 "ป๋าเปลว" อินเทรนด์! ไปปฏิบัติภารกิจขึ้นโรงขึ้นศาลที่เชียงใหม่ครับ คดีนักโทษชายทักษิณฟ้องหมิ่นประมาท เป็นจำเลยร่วมกับ คุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เรื่องที่พรรคประชาธิปัตย์ไปปราศรัยที่เชียงใหม่ตั้งแต่ปี ๒๕๔๗  
    ๑๔ เรื่องบนเวทีปราศรัยในวันนั้นที่นำไปสู่การฟ้องร้อง หลายคนคงลืมไปแล้ว ก็เป็นการดีที่จะหยิบยกขึ้นมาทวนความจำกันอีกครั้ง 
    ๑.สนามกอล์ฟอัลไพน์ ซึ่งมีประโยชน์ทับที่ธรณีสงฆ์ ๒.สถานีโทรทัศน์ไอทีวี ซึ่งครอบครัวของนายกฯ เข้าไปถือหุ้นโดยมีรัฐมนตรีคนหนึ่งชี้ช่องให้ไอทีวีไม่ต้องจ่ายสัมปทานเต็มตามจำนวนที่ทำสัญญาไว้กับรัฐ ๓.ปกป้องบริษัท ชิน แซทเทลไลท์ ๔.ไม่บังคับใช้กฎหมายแข่งขันทางการค้าของกระทรวงพาณิชย์ ๕. การออก พ.ร.ก.ภาษีสรรพสามิต เพื่อเอื้อประโยชน์ให้บริษัทมือถือของครอบครัวนายกฯ ทักษิณ  
    ๖.แก้สัญญาบริษัท เอไอเอสฯ ให้เสียค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายให้องค์การโทรศัพท์น้อยลง ๗.การลดภาษีนำเข้ามือถือจาก ๑๐% เหลือ ๐% ๘.เอื้อประโยชน์ให้สายการบินแอร์เอเชีย ๙.ตัดถนนเลียบทางด่วน รัชดา-รามอินทรา ผ่านหมู่บ้านบางกอกบูเลอวาร์ด ที่มีคนในครอบครัวนายกฯ ถือหุ้นอยู่ ๑๐.การควบรวมธนาคารบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยกับธนาคารไทยทนุ และธนาคารทหารไทย ที่มีลูกชายนายกฯ ถือหุ้นใหญ่อยู่ ๑๑.การประมูลเช่าคอมพิวเตอร์การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ๓,๑๙๒ ล้านบาท ที่เอื้อให้บริษัท เอ็ม ลิงก์ฯ ซึ่งเป็นบริษัทของน้องสาวนายกฯ ๑๒.จ้างบริษัทของประเทศจีนต่อเรือชายฝั่งของกองทัพไทย ๒ ลำ เพื่อแลกกับการเลื่อนองศาดาวเทียมของประเทศจีนคือเอเชียแซท เพื่อไม่ให้มาทับคลื่นความถี่ของไอพีสตาร์ของครอบครัวนายกฯ ทำให้ประโยชน์ที่บริษัท ชินแซทฯ จะได้ประโยชน์ถึง ๓๓,๐๐๐ ล้านบาท ตลอด ๑๒ ปี ๑๓.กรณีที่ขายที่ดินของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินมูลค่า ๒,๐๐๐ ล้านบาท แต่ขายให้ภริยานายกฯ เพียง ๗๗๒ ล้านบาท และ ๑๔.การเปิดข้อมูลเอนทรานซ์เอื้อประโยชน์ให้ลูกคนมีอำนาจที่กำลังสอบ แม้ประเมินค่าเป็นเงินไม่ได้ แต่เป็นการทุจริตทางจริยธรรม 
    ไทยโพสต์ถูกพ่วงไปด้วย ทั้งจากข่าวและจากคอลัมน์กรองกระแส ที่เขียนเรื่องเกี่ยวกับนิทานเด็ก ๓ คน  
    ทีแรกนึกว่าต้องขายทุกอย่าง ยกเว้นตัวกับหัวใจลงขันจ่ายค่าเสียหายให้ "น.ช.ทักษิณ" ๕๐๐ ล้านบาท ตามที่เรียกเอากับไทยโพสต์ซะแล้ว  
    ศาลยกฟ้องครับ! 
    คำพิพากษาน่าสนใจในหลายประเด็น เอาไว้จะนำมาตีพิมพ์เป็นตอนๆเพื่อจะได้รำลึกว่าอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของระบอบทักษิณ  สร้างความฉิบหายให้กับประเทศอย่างไร 
    ความแม้วไม่ทันหายความปูเข้ามาแทรก
    จำการทูตแบบเช้าไปเย็นกลับ สมัยรัฐบาลทักษิณได้มั้ยครับ ไปพม่าเช้าเย็นก็บินกลับ อินเดียก็เช่นกันไปเช้าเย็นกลับอยู่ ๒ รอบ  
    ข่าวคราวจากการทูตฟาสต์ฟู้ด มีแค่เรื่องดาวเทียมกับโทรคมนาคม 
    เป็นเหตุการณ์ช่วงปลายปี ๒๕๔๔ ถึงต้นปี ๒๕๔๕ ไปเยือนอินเดีย ๒ ครั้งในรอบ ๓ เดือน เกิดขึ้นพร้อมกระแสข่าวในอินเดียว่า ทางอินเดียจะไม่ต่อสัญญาเช่าช่องสัญญาณดาวเทียมไทยคม 3 ของชินแซทเทลไลท์ เพราะอินเดียยิงดาวเทียมของตัวเองขึ้นสู่วงโคจรไปก่อนหน้าแล้ว
    มูลค่าที่อาจเกิดความเสียหายกับชินแซทเทลไลท์ ๔๖๗ ล้านบาท
    เกิดอะไรขึ้นครับ ๑๘ มีนาคม ๒๕๔๖ กรมกิจการอวกาศแห่งประเทศอินเดีย (DOS-Department of Space) ต่อสัญญาที่จะใช้ช่องสัญญาณของดาวเทียมไทยคม ๓ ในช่องสัญญาณความถี่ซี-แบนด์ จำนวน ๗ ช่องสัญญาณต่ออีก ๖ เดือน 
    ครับเมื่อวันจันทร์ นายกฯ คนสวยก็สืบสานการทูตฟาสต์ฟู้ด แต่งตัวสวยพร้อมคณะขึ้นเครื่องบินทหาร บินปร๋อไปเมืองทวาย ที่นั่นมีอะไรสำคัญนักหนา ทำไมลมหายใจของรัฐบาลนี้จึงเข้าออกเป็นทวาย 
    คดีรัฐบาลทักษิณปล่อยกู้พม่า ๔,๐๐๐ ล้านบาท ในโครงการพัฒนาระบบโทรคมนาคมของพม่า เพื่อหวังประโยชน์ในธุรกิจดาวเทียมที่มีการสั่งซื้ออุปกรณ์ จากบริษัท ชิน แซทเทลไลท์ เวลานี้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราว 
    ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยหรือไม่ ยังเป็นปริศนาที่จะต้องพูดกันต่อในอนาคต แต่ผมแปลกใจ เพราะไม่เคยเห็นผู้นำประเทศไหนมาเยือนไทยด้วยเหตุที่ว่า ธุรกิจที่นักลงทุนเขามาลงทุนเดินหน้าอย่างล่าช้า 
    ก็มีแต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์นี่แหละครับ ที่ร้อนใจแทนเอกชนไทย ไปทวงถาม พล.อ.เต็ง เส่ง ว่าทำไมล่าช้า นี่ถ้าไม่เคยมีข่าวว่า นายกฯ ยิ่งลักษณ์เคยโทร.ไปคุยกับ พล.อ.เต็ง เส่ง เรื่องทวายมาหลายรอบ ผมไม่แปลกใจเลย แต่นี่มันถี่ราวกับว่ามีเงินในตระกูลชินวัตรไปลงทุนเสียเองอย่างนั้น 
    พม่าเขาไม่ได้โง่ เพราะเขาเริ่มรู้ว่า โครงการนี้เขาเสียเปรียบไทย เหมือนที่เขาเริ่มรู้แล้วว่า ต้องหันไปคบกับอินเดียมากขึ้นเพื่อคานกับอิทธิพลของจีนที่แผ่ลงมามากจนแทบจะหยุดไม่อยู่    
    พม่าเริ่มคบทางทหารกับอเมริกา เขารับคำเชิญให้ส่งผู้แทนเข้าร่วมสังเกตการณ์การฝึกคอบราโกลด์ในไทย เพื่อให้จีนเห็นว่าเขาเริ่มมีที่ไป 
    ดังนั้น การลงทุนที่ทวายใครบางคนต้องควักกระเป๋ามากกว่าที่เคยดีดลูกคิดเอาไว้ แม้จะใช้อำนาจรัฐของไทยเข้าไปจัดการแล้วก็ตาม
เป็นเรื่องเป็นราวให้ต้องตีความครับ คำว่า "คว่ำประชามติ" ในความหมายของพรรคประชาธิปัตย์ ที่หลุดออกจากปาก "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" มันคืออะไร? 
    ถ้าเป็นการปลุกระดมเพื่อขัดขวางมิให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่จะนำไปสู่การยกระดับประชาธิปไตยในประเทศไทย การสร้างความแข็งแกร่งให้ระบบการตรวจสอบการใช้อำนาจของนักการเมือง ผมคิดว่าสมควรลากตัว "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ไปประหารชีวิตเจ็ดชั่วโคตรครับ 
    แต่การพูดในบริบทที่รัฐบาลต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ที่มีเป้าหมายหลักเพื่อล้างความผิดให้ "น.ช.ทักษิณ ชินวัตร" การคว่ำที่ว่าคือ การต่อต้านการล้างความผิดที่เกิดจากการคอรัปชั่น และการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรมของ "น.ช.ทักษิณ ชินวัตร"  
    นี่คือสิ่งที่ต้องคุยกัน ว่าจะเดินหน้าเพื่อคว่ำประชามติด้วยวิธีไหน!
    การหักดิบ รณรงค์ให้ประชาชนไม่ออกไปใช้สิทธิ์ ดูจะเป็นวิธีที่ขลาดเขลา และพรรคการเมืองไม่ควรทำอย่างยิ่ง 
    ถ้าประชาธิปัตย์เลือกทางนั้น จะเป็นคำถามที่พรรคประชาธิปัตย์ต้องตอบตราบเท่าที่พรรคประชาธิปัตย์ดำรงอยู่ 
    "การล้มประชามติในความหมายของผมคือการใช้กระบวนการทำให้การลงประชามติไม่ผ่านเพื่อแสดงให้รัฐบาลเห็น" เป็นการอธิบายเพิ่มเติมของ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" 
    แน่นอนครับถ้าให้พรรคเพื่อไทยตีความ ก็จะออกไปแนวที่ว่า ประชาธิปัตย์ปลุกไม่ให้ประชาชนไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง 
    แต่เมื่อพูดถึง "กระบวน" ที่จะใช้ โดยไม่ชัดเจนว่าจะทำอย่างไร ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะคำถามยังไม่มา แล้วจะมีคำตอบได้อย่างไร 
    ไม่เหมือนเมื่อตอนซักฟอกรัฐบาลนี่ครับ ที่ "นายกฯ ยิ่งลักษณ์" เล่นท่องโพยคำตอบมาจากบ้าน ทั้งๆ ที่ยังไม่รู้เลยว่าฝ่ายค้านจะถามอะไร ผลจึงออกมาอย่างที่วิจารณ์กันเป็นเรื่องโจ๊กนั่นแหละครับ 
    พรรคประชาธิปัตย์ล้มเหลว เพราะถามไม่ตรงคำตอบ 
    ประเด็นการตั้งคำถามประชามติจึงมีความสำคัญกว่าอะไรทั้งหมด และตราบที่ยังไม่มีคำถามออกมา ก็ยากที่ประชาธิปัตย์จะเลือกว่าใช้กระบวนการไหนในการคว่ำประชามติ 
    ถ้าพรรคเพื่อไทยยังเดินในแนวทางเดิมคือ ให้ลงประชามติ เสร็จแล้วจึงจะโหวตร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมในวาระที่ ๓ แล้วเข้าสู่กระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา ๒๙๑/๑ ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แนวทางนี้ประชาธิปัตย์ซึ่งประกาศชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ก็มีทางคว่ำประชามติแค่แนวทางเดียวคือ ปลุกให้ประชาชนไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ 
    หากเสียงค้านเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ์ แม้ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมจะไม่ตกไป แต่นั่นจะเป็นสัญญาประชาคม ที่ประชาชนแสดงให้รัฐบาลเห็นว่าไม่สมควรแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ 
    แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ คำถามที่รัฐบาลจะถามว่า "เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่?" 
    ห้วนๆ แค่นั้น เพราะรัฐบาลเล็งว่าการถามเพียงแค่นั้น รัฐบาลเป็นฝ่ายได้เพียงฝ่ายเดียว ไม่มีอะไรเสีย ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์เคลื่อนไหวยากเสียด้วยซ้ำ 
    แต่เอาเถอะเมื่อชั่วแล้วก็ชั่วเสียให้สุด รัฐบาลอาจทิ้งการโหวตวาระที่ ๓ ไว้ข้างหลัง โดยให้ถามประชามติว่าเห็นด้วยหรือไม่กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๐๙ ซึ่งถือว่าตรงประเด็นที่สุด 
    ไม่เสียเวลา สามารถทำฝันของ "น.ช.ทักษิณ" ให้เป็นจริงในเวลาไม่กี่วัน 
    อยู่ที่ว่ารัฐบาลจะกล้าทำเช่นนั้นหรือไม่ 
    บอกตรงๆ ว่าผมกลัว! ไม่กล้าท้าครับ เพราะสำหรับรัฐบาลนี้แล้วอะไรที่ผิดกฎหมายหรือไร้ความชอบธรรมสามารถเกิดขึ้นได้เสมอ 
    "น.ช.ทักษิณ" ออกทีวีหอยแดง เคลียร์ความผิดให้ตัวเอง คนในรัฐบาลก็ดำน้ำอ้างว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ใครๆ ก็สามารถทำได้ 
    ครับเมื่อประชามติเป็นใบเบิกทาง ล้างความผิดให้ "น.ช.ทักษิณ" รัฐบาลก็จะเอาให้ได้ไม่วิธีไหนก็วิธีหนึ่ง 
    ก่อนนี้รัฐบาลกลัวการทำประชามติ พอตั้งหลักได้ และประเมินใหม่ว่า ประชามติคือเครื่องมือในการปิดปากประชาชนฝ่ายที่คัดค้าน ก็จะเป็นการรวบรัดแก้ไขเฉพาะมาตรา ๓๐๙ อย่างที่ว่าข้างต้นได้ไม่ยากเลยครับ
    และถ้าทำประชามติ ๒ รอบ รอบแรกก่อนยกร่าง รอบหลังตอนยกร่างเสร็จตามที่ทักษิณคิดให้ยิ่งลักษณ์พูด "น.ช.ทักษิณ" ลอยตัวเลยครับ เพราะรัฐบาลปูพรมประชานิยมไปอื้อแล้ว
    คิดว่ามีวิธีไหนที่จะรับมือกับการทำประชามติล้างผิดให้โจรปล้นชาติมั้ยครับ?. 
                                              ผักกาดหอม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น