วันเสาร์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ติดหล่มแก้รัฐธรรมนูญ : บทบรรณาธิการประจำวันที่ 23 ธ.ค.2555




ติดหล่มแก้รัฐธรรมนูญ

ติดหล่มแก้รัฐธรรมนูญ : บทบรรณาธิการประจำวันที่ 23 ธ.ค.2555

              ในที่สุดคณะยุทธศาสตร์และประชาสัมพันธ์พรรคเพื่อไทย ที่มีนายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้ออกมายืนยันภายหลังการหารือถึงแนวทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า จะเดินหน้าแก้ไขด้วยการจัดทำประชามติ โดยมิฟังเสียงทักท้วงของหลายฝ่าย อาทิ นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา นางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หรือแม้แต่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นคนรัฐบาลด้วยกันเอง ที่เสนอแนะให้แก้ไขรายมาตรา ซึ่งเป็นเรื่องที่ง่ายกว่าการทำประชามติที่สุมเสี่ยงต่อเสียงสนับสนุน

              สอดรับกับแนวทางคณะทำงานเพื่อศึกษาแนวทางการออกเสียงประชามติของรัฐบาล ที่จะมีการประชุมกันนัดแรกในวันที่ 24 ธันวาคมนี้ โดยมีการวางกรอบคร่าวๆ แบ่งเป็น การหาแนวทาง ซึ่งใช้เวลาประมาณ 1 เดือน หลังจากนั้นอีก 4 เดือนเป็นการทำประชามติตามขั้นตอนของกฎหมาย แบ่งเป็นช่วงการเผยแพร่ข้อมูลให้ประชาชนทราบอย่างทั่วถึง 90 วัน ที่เหลืออีก 30 วันเป็นช่วงที่จะมีการออกเสียงประชามติ โดยระยะเวลาดังกล่าวถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.), ฝ่ายเผยแพร่ข้อมูล และฝ่ายกฎหมาย ต้องดำเนินการอย่างรัดกุม ไม่ให้มีปัญหาการทักท้วงหรืออุปสรรคต่างๆ ตามมาภายหลัง

              ยุทธศาสตร์ทั้งของรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยนั้น เกิดขึ้นเพื่อให้ประชาชนเข้าใจไปในทิศทางเดียว โดยทุ่มเทสรรพกำลังรณรงค์การทำประชามติอย่างเต็มที่ หลังจากมีกระแสต่อต้านจนอาจทำให้คนมาใช้สิทธิ์ไม่ถึง 23-24 ล้านเสียงก็ตาม และเชื่อว่าระยะเวลาก่อนถึงวันลงประชามติ 3-4 เดือน จะสามารถทำให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิ์ได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ เมื่อได้ผลประชามติแล้วรัฐสภาก็จะลงมติในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 และถึงขั้นตอนของการสรรหาและคัดเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญใน 120 วัน จากนั้นก็จะทำการยกร่างใหม่อีก 240 วัน ซึ่งคาดว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเสร็จสิ้นภายในปีเศษๆ

              ส่งผลต่ออุณหภูมิการเมืองให้ร้อนแรงขึ้นในปลายปีทันที เพราะเป็นแนวทางที่รัฐบาลพูดมาตลอด เพราะการออกมายืนยันของที่ปรึกษากฎหมายอดีตนายกรัฐมนตรี ตอกย้ำให้เห็นว่า รัฐบาลไม่ฟังเสียงทักท้วงจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย และพร้อมเผชิญปัญหาไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เนื่องเพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะทั้งฉบับหรือรายมาตรา พุ่งเป้าไปที่เจตนาซ่อนเร้นที่จะหาทางล้มล้างคดีต่างๆ ของคนในรัฐบาลปัจจุบันและอดีตรัฐบาล ด้วยการตัดมาตรา 309 ออก ทำให้การตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ หรือ คตส. ถูกลบล้างไป

              สุดท้ายแล้ว การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องเกิดขึ้น แต่เกิดขึ้นเพียงเพราะเงื่อนไขบุคคลเป็นหลัก ไม่ใช่เรื่องสัญญิงสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนขณะหาเสียงเลือกตั้ง เพราะหลายเรื่องที่ได้หาเสียงก็ไม่ได้ทำตามนั้น หรือไม่ได้ทำเลยก็มี จึงเป็นการพูดเพื่อประโยชน์ฝ่ายตนเพียงอย่างเดียว ทางออกที่ดีที่สุดรัฐบาลควรชะลอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญและร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ไปก่อน ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีอำนาจโดยตรงที่จะหยุดเรื่องดังกล่าว ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรีว่าจะตัดสินใจอย่างไร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น