วันเสาร์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2555

จำนำข้าวเจ๊ง! หนี้บาน ธ.ก.ส.ตายหยังเขียด โดย ASTVผู้จัดการรายวัน 22 ธันวาคม 2555 06:41 น.



ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-มองเห็นความฉิบหายชัดขึ้นเรื่อยๆ สำหรับ โครงการอภิมหาประชานิยมรับจำนำข้าว ที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ดันทุรังเดินหน้าต่อไปโดยไม่ฟังเสียงท้วงติง และรอบนี้ดูท่าจะหนักหนาไม่น้อยเพราะยังไม่รู้ว่าจะเอาเงินจากไหนมารับจำนำข้าวในฤดูกาลผลิตปี 2555/2556 ตามที่มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติกรอบวงเงินไว้ให้แล้ว 2.4 แสนล้านบาท
       
       เพราะงานนี้ กระทรวงการคลัง ไม่อยากจะค้ำประกันเงินกู้ เนื่องจากหนี้สาธารณะของประเทศพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) ก็หัวหมุนล้วงควักเงินของแบงก์ออกมาสนองนโยบายจนใกล้จะถังแตก จะรอเงินจากการขายข้าว กระทรวงพาณิชย์ ก็ยังไม่มีปัญญาระบายข้าวให้ได้ตามราคาคุย ไม่นับว่าขาดทุนบักโกรกเพราะรับจำนำหรือรับซื้อมาแพงแต่ขายออกไปในราคาถูก
       
       คราวนี้จะได้เห็นกันจะจะคาตาว่า สารพัดโครงการประชานิยม รวมทั้งการจำนำข้าวทุกเม็ด ที่ปั่นกันจนวงจรการหมุนเงินในโครงการประชานิยมสะดุด จะส่งผลสะเทือนเป็นโดมิโนพังกันทั้งประเทศอีกหรือไม่
       
       วิธีการแก้ผ้าเอาหน้ารอด เมื่อตอบคำถามไม่ได้ว่าจะเอาเงินจากไหนมารับจำนำข้าว นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จึงตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาหาเงินทุนเพื่อรับจำนำข้าว โดยมีปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน พร้อมด้วย ธ.ก.ส., สำนักบริหารหนี้สาธารณะ, สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง, สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร, กรมการค้าระหว่างประเทศ, องค์การคลังสินค้า ร่วมเป็นกรรมการ
       
       นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) อธิบายถึงการตั้งคณะอนุกรรมการดังกล่าวว่า สืบเนื่องมาจากคณะรัฐมนตรี อนุมัติกรอบวงเงิน 2.4 แสนล้านบาท ในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปีฤดูกาลผลิตปี 2555/2556 วางเป้าหมาย 15 ล้านตัน โดยกระทรวงการคลัง จัดหา 1.5 แสนล้านบาท และกระทรวงพาณิชย์ นำส่งเงินจากการระบายข้าว 5 หมื่นล้านบาท แต่เพื่อให้แผนงานการระดมเงินเพื่อรับจำนำข้าวมีความชัดเจน นายกรัฐมนตรีจึงตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาดูแล
       
       ถ้าเป็นอย่างนั้น ก็ต้องถามกันว่า ที่ผ่านมาแผนระดมเงิน 2.4 แสนล้าน เพื่อรับจำนำข้าว ยังไม่ชัดเจนใช่หรือไม่ โดยเฉพาะก้อนใหญ่ 1.5 แสนล้าน ที่กระทรวงการคลัง จะต้องจัดหา หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ไปกู้ยืมมาเพื่อธ.ก.ส. จะได้เอาไปรับจำนำข้าว
       
       ส่วนอีก 9 หมื่นล้านบาทนั้น ตามแผนการต้องมาจากการขายข้าวของกระทรวงพาณิชย์ 5 หมื่นล้านบาท ส่วนอีก 4 หมื่นล้านบาท ยังไม่ชัดเจนเช่นกันว่าจะเอามาจากไหน
       
       ทำไมกระทรวงการคลัง จึงไม่กระตือรือร้นสนองนโยบายของรัฐบาล เพราะว่าเจ้ากระทรวงก็ไม่ใช่ใครที่ไหนแต่เป็นเบอร์หนึ่งด้านเศรษฐกิจ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ ควบรมว.คลัง นั่นเอง 
       
       หรือนี่ก็อาจเป็นอีกสัญญาณที่บอกไปถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ว่าใช่จะมาสั่งให้ข้าราชการขวาหันซ้ายหัน หลับหูหลับตาสนองนโยบายอย่างเดียว เพราะนักการเมืองมาแล้วเดี๋ยวก็จากไป แต่ข้าราชการผู้บริหารกระทรวงการคลัง ยังต้องอยู่ และต้องดูฐานะการคลัง ดูผลกระทบและความฉิบหายต่อประเทศชาติที่จะตามมาด้วย ไม่ใช่ข้าราชการทุกคนจะชอบสอพลอ“ได้ครับพี่ ดีครับนาย” เสียที่ไหน
       
       เงื่อนปมก่อนหน้าที่จะมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ มีรายงานข่าวว่า มาจากเหตุที่กระทรวงการคลังกับ ธ.ก.ส. ประชุมถกเครียดเรื่องเงินกู้ก้อนใหญ่ในการนำมารับจำนำข้าว แต่ทำความตกลงกันไม่ได้ เพราะกระทรวงคลังบอกว่า ครม.มีมติให้คลังไปหาเงินกู้มาให้ธ.ก.ส. ภายใต้วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท อีก 5 หมื่นล้าน ให้ไปเอากับกระทรวงพาณิชย์นั้น ปรากฏว่า กระทรวงพาณิชย์ มีปัญหาขายข้าวไม่ได้ตามแผนที่วางไว้ ถึงตอนนี้พาณิชย์ ยังตอบไม่ได้ว่า จะระบายข้าวและมีเงินมาใช้รับจำนำข้าวรอบใหม่เมื่อไหร่และเท่าไหร่ ซ้ำยังมี ความต้องการให้คลังกู้เงินให้มากกว่า 1.5 แสนล้านบาท เพื่อให้เพียงพอกับการจำนำข้าวรอบใหม่
       
       ต้องย้ำอีกครั้งว่า เรื่องการค้ำประกันเงินกู้นี้ กระทรวงการคลัง เคยส่งหนังสือถึงคณะรัฐมนตรี มาแล้วโดยบอกชัดเจนว่า กระทรวงการคลัง จะไม่มีการค้ำประกันเงินกู้ให้ธ.ก.ส.นอกเหนือไปจาก 1.5 แสนล้านบาท ตามที่เสนอไว้เท่านั้น
       
       โดยหนังสือจากสำนักบริหารหนี้สาธารณะ ลงนามโดยนายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.กระทรวงการคลัง ลงวันที่ 3 ต.ค.2555 ส่งถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่นายคำนูน สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา นำมาเผยแพร่นั้น ระบุชัดถึงความห่วงใยต่อโครงการรับจำนำผลผลิตทางการเกษตรว่าเป็นภาระงบประมาณสูงมาก โดยวงเงินรับจำนำในปีการผลิต 2554/55 ทั้งในส่วนเงินทุน ธ.ก.ส. กรอบวงเงินกู้เดิม และส่วนที่อยู่ระหว่างการขยายปริมาณและกรอบการใช้เงิน (กรณีพิเศษ) เพิ่มเติม รวมทั้งสิ้น 408,160 ล้านบาท ซึ่งกินวงเงินค้ำประกันโครงการลงทุนของประเทศของหน่วยงานอื่นๆ
       
       ดังนั้น หากจะดำเนินโครงการต่อเนื่อง ต้องวิเคราะห์ประเมินผลโครงการที่ได้ทำไปแล้ว และเร่งระบายผลผลิตที่รับจำนำก่อนการดำเนินโครงการรับจำนำผลผลิตทางการเกษตรรอบใหม่ หรือปีการผลิต 2555/56 ซึ่งต้องใช้วงเงินสูงถึง 405,000 ล้านบาท ไม่เช่นนั้นจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการค้ำประกันเงินกู้โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56
       
       หนังสือของกระทรวงการคลัง ระบุด้วยว่า “เนื่องจากเงินค้ำประกันใน ปีงบประมาณ 2556 มีจำกัด กระทรวงการคลัง เห็นควรจัดสรรวงเงินกู้ไม่เกิน 150,000 ล้านบาท สำหรับเป็นการหมุนเวียนในการดำเนินโครงการที่มีวัตถุประสงค์ในการแก้ไขปัญหาราคาผลิตผลทางการเกษตรตามนโยบายรัฐบาล โดยโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56 เป็นส่วนหนึ่งของกรอบหนี้ โดยกระทรวงการคลัง ค้ำประกันต้นเงินกู้และดอกเบี้ย รัฐบาลรับภาระชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยจากเงินกู้ และค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นจริงจากการดำเนินโครงการทั้งหมด
       
       “วงเงินส่วนที่เหลือเห็นควรให้ ธ.ก.ส.ระดมเงินจากตลาดและเงินฝาก ธ.ก.ส.ตามกรอบของพระราชบัญญัติ ธ.ก.ส. เป็นลำดับแรก หากไม่เพียงพอให้กระทรวงการคลังจัดหาเงินกู้ให้โดยไม่ค้ำประกันเงินกู้ดังกล่าว” หนังสือระบุ
       นั่นหมายความว่า กระทรวงการคลัง ได้บอกล่วงหน้าแล้วว่า จะค้ำประกันเงินกู้สำหรับธ.ก.ส.ใช้ดำเนินการในโครงการรับจำนำผลผลิตทางการเกษตร วงเงิน 1.5 แสนล้านบาทเท่านั้น โดยจำนำข้าวก็เป็นเม็ดเงินที่รวมอยู่ในส่วนนี้ด้วย ส่วนที่เหลือให้ ธ.ก.ส.ไปหาทางระดมเงินเอง หากไม่พอจะกู้เพิ่มกระทรวงคลังก็จะไม่ค้ำประกันเงินกู้ให้
       
       ความหมายของคำว่า “ส่วนที่เหลือ” จาก 1.5 แสนล้านบาท ที่ให้ ธ.ก.ส.ไปหาทางระดมเงินหรือจะกู้ก็ได้แต่คลังไม่ค้ำประกันเพื่อมาใช้สำหรับโครงการรับจำนำผลผลิตทางการเกษตรทุกตัวนั้น หักลบกันแล้ว หมายความว่าต้องหาเพิ่มถึง 2.55 แสนล้านบาท ถึงจะพอสำหรับรับจำนำผลผลิตการเกษตรในฤดูการผลิต 2555/56 ที่กระทรวงการคลัง ประเมินว่าต้องใช้เงินมากถึง 405,000 ล้านบาท
       
       การตั้งคณะอนุกรรมการฯ ขึ้นมาดูแลและบริหารจัดการเรื่องการใช้จ่ายในโครงการจำนำข้าว ที่มีทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้ามานั่งร่วมเป็นกรรมการ มองอีกด้านหนึ่งถือเป็นการลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับ ธ.ก.ส.หากการดำเนินโครงการจำนำข้าวมีปัญหา รวมทั้งผลผลิตการเกษตรอื่นๆ ที่ธ.ก.ส.ได้รับมอบหมายให้ไปดำเนินการรับจำนำซึ่งคาดว่าจะตามมาอีกไม่น้อย
       
       นายสุพัฒน์ เอี้ยวฉาย ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส. ได้สะท้อนถึงข้อกังวลนี้เมื่อคราวไปชี้แจงต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการการพาณิชย์ฯ สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายสุรศักดิ์ อนรรฆพันธ์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย จ.เพชรบูรณ์ เป็นประธานพิจารณาวาระศึกษาผลการดำเนินงานปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวเปลือกตามนโยบายรัฐบาล เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2555 ว่า โครงการรับจำนำข้าวเปลือกปี 55/56 ที่ตั้งวงเงินไว้ 2.4 แสนล้านบาทนั้น เป็นเงินที่กระทรวงการคลังจัดสรรให้ 1.5 แสนล้านบาท ขาดอีก 9 หมื่นล้านบาท แม้จะคืนเงินมาแล้ว 4.2 หมื่นล้านบาท แต่อีก 4 หมื่นกว่าล้านบาท ซึ่งต้องรอการระบายข้าวของกระทรวงพาณิชย์ ไม่เช่นนั้นอาจกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงินของธ.ก.ส.ได้ 
       
       ทั้งนี้ ธ.ก.ส.เชื่อว่า โครงการรับจำนำข้าวนาปีฤดูกาลผลิตนี้ คาดว่าชาวนาจะนำข้าวมาจำนำประมาณ 10 ล้านตัน คงไม่ถึงเป้าหมาย 15 ล้านตัน ตามที่รัฐบาลตั้งไว้ ดังนั้น น่าจะใช้เงินประมาณ 2 แสนล้านบาท และปีนี้สหกรณ์ได้ออกมารับซื้อข้าวจากสมาชิกเพื่อแปรสภาพและบรรจุถุงขาย จึงช่วยลดปริมาณนำข้าวมาจำนำกับรัฐบาล
       
       ไม่เพียงแต่ช่วยลดความเสี่ยง ธ.ก.ส. เท่านั้น การตั้งคณะอนุกรรมการฯ ยังจะช่วยลดความเสี่ยงต่อภาระหนี้สาธารณะของประเทศที่กำลังไต่ระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งธนาคารโลก ออกส่งเสียงเตือนว่า หนี้สาธารณะของไทยปีหน้าจะใกล้เคียง 50% ของจีดีพี จาก 45% ในปีนี้ ซึ่งเป็นการกู้เงินเพื่อใช้ในโครงการบริหารจัดการน้ำ รวมทั้งนโยบายของภาครัฐ สิ่งที่เป็นห่วง คือ หนี้สาธารณะซ่อนเร้นที่รัฐต้องแบกรับ อาจส่งผลต่อฐานะการคลังในภาพรวม จึงควรมีการบริหารจัดการให้ดี
       
       สำหรับตัวเลขหนี้สาธารณะคงค้างของประเทศไทย ณ เดือนสิงหาคม 2555 อยู่ที่ 5.01 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 44.89 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ
       
       อย่างไรก็ตาม ในขณะที่มีข่าวว่ากระทรวงพาณิชย์ ไม่มีฝีมือในการระบายสต็อกข้าว เพื่อมาใช้เป็นทุนในการรับจำนำข้าวรอบต่อไป นายบุญทรง เตติยาภิรมย์ รมว.กระทรวงพาณิชย์ กลับออกมาอวดโอ่ว่า จนถึงสิ้นปี 2555 นี้ กระทรวงพาณิชย์จะขายข้าวในสต๊อกรัฐ และนำเงินมาคืนให้กระทรวงการคลัง ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ 8.5 หมื่นล้านบาท อีกทั้งจะไม่ล้มเลิกโครงการรับจำนำอย่างแน่นอน ส่วนการหาเงินกู้ 1.5 แสนล้านบาท เพื่อใช้ดำเนินโครงการเป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลัง ที่จะเร่งจัดหามาให้
       
       แบบว่า ท่องคาถาเดินหน้าลงเหวลูกเดียว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น