วันที่ 27 พ.ค.57 หลังจากที่นายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ที่ปรึกษากฎหมายของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร และนปช.
ออกแถลงการณ์เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า อดีตรัฐบาลน.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กำลังพิจารณาตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น โดยมีรัฐบาลบางประเทศแสดงความเต็มใจที่จะให้ใช้เป็นที่ตั้ง ภายใต้กฎเกณฑ์และหลักปฏิบัติสากล ได้จุดกระแสคาดการณ์ทันทีว่า กัมพูชาอาจเป็นหนึ่งในประเทศเหล่านั้น เนื่องจากอยู่ใกล้ ประกอบกับความใกล้ชิดกับตระกูลชินวัตร และนายกรัฐมนตรีฮุน เซน ก็เคยต้อนรับขับสู้อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณอย่างอบอุ่น
ล่าสุด หนังสือพิมพ์พนมเปญ โพสต์ ในกัมพูชา รายงานว่า
บรรดาเจ้าหน้าที่อาวุโสในรัฐบาลและพรรคประชาชนกัมพูชา (ซีพีพี) ได้ออกมาปฏิเสธความเป็นไปได้ในเรื่องนี้ โดยยกเหตุผลทางรัฐธรรมนูญที่กำหนดว่ากัมพูชาจะต้องวางตัวเป็นกลางและไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดอย่างถาวร พร้อมให้คำมั่นจะไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น ไม่ว่าโดยตรงหรือทางอ้อม
นายพาย สีพัน โฆษกคณะรัฐมนตรีกัมพูชา กล่าวว่า เป็นไปไม่ได้ที่กัมพูชาจะเป็นทางเลือกของรัฐบาลไทยพลัดถิ่น ประการแรก เพราะรัฐธรรมนูญของเรา ประการที่สองเพราะเรามีกลไกระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศกำกับอยู่
ขณะที่นายเขียว กัณหฤทธิ์ รัฐมนตรีสารนิเทศกัมพูชา กล่าวอย่างชัดเจนผ่านเฟซบุ๊คว่าเราไม่อาจอนุญาตให้รัฐบาลใดมาอยู่บนแผ่นดินเราได้
พนมเปญ โพสต์ ระบุว่าหลังการยึดอำนาจในไทยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รัฐบาลกัมพูชาพยายามแสดงท่าทีเป็นกลางในประเด็นการเมืองของไทยแต่ก็แสดงความหวังว่า การปกครองโดยคณะทหาร จะอยู่เพียงชั่วคราวเท่านั้น
ก่อนหน้านี้และก่อนหน้ารัฐประหาร นายกรัฐมนตรีฮุน เซน เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้อาเซียนออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ปัญหาการเมืองไทย ได้รับการแก้ไขผ่านการเจรจาและเรียกร้องให้เคารพหลักการประชาธิปไตยอย่างเต็มที่
ด้าน นายอัมสเตอร์ดัม ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์เมื่อวันอาทิตย์
โดยไม่ยืนยันว่า กัมพูชาได้รับการติดต่อเรื่องรัฐบาลพลัดถิ่นหรือไม่ โดยอ้างว่าสถานการณ์ในไทยยังไม่นิ่ง "เรากำลังเตรียมพร้อมแต่จะไม่แถลง" แต่เสริมว่าตามกฎหมายระหว่างประเทศนั้น การตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น จำเป็นต้องมีตัวแทนคนหนึ่งจากรัฐบาลชุดก่อน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น