วันอาทิตย์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2557

จากรัฐประหาร19ก.ย.49ถึง22พ.ค.57 ประชาธิปไตยในมือ‘พล.อ.ประยุทธ์’?เมื่อ 1 มิ.ย.57



จากรัฐประหาร19ก.ย.49ถึง22พ.ค.57 ประชาธิปไตยในมือ‘พล.อ.ประยุทธ์’?
 
แน่นอนว่าประเทศจะต้องมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งเป็นฉบับที่ 19 หลังฉบับที่ 18 หรือฉบับปีพ.ศ.2550 ซึ่งเป็นฉบับที่ผ่านการลงประชามติหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย.49 ถูกฉีกทิ้งไป
ยิ่งเห็นการเดินหน้าเพื่อพาประเทศเข้าสู่เส้นทางประชาธิปไตยอีกครั้งภายหลังเกิดการรัฐประหารครั้งที่ 13 ขึ้นในประเทศไทย ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก หรือ ผบ.ทบ.ซึ่งบัดนี้ได้กลายเป็น หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือ คสช.ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
แน่นอนว่าประเทศจะต้องมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งเป็นฉบับที่ 19 หลังฉบับที่ 18 หรือฉบับปีพ.ศ.2550 ซึ่งเป็นฉบับที่ผ่านการลงประชามติหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย.49 ถูกฉีกทิ้งไป
เป็นเรื่องไม่ง่ายที่จะทำให้สถานการณ์เดินไปถึงจุดนั้น
สิ่งที่น่าสนใจของการรัฐประหารในครั้งนี้ซึ่งแตกต่างจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย.49 นั่นคือ ไม่มีการประกาศถึง “เหตุผล” ของการรัฐประหารเพราะสังคมไทยเข้าใจว่าการกระทำครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อ “ยุติ” ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองซึ่งยืดเยื้อมานานกว่า 6 เดือน แม้จะมีการใช้วิธีการทางการเมืองสารพัด แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถหาทางออกได้ การรัฐประหารซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายไม่พึงปรารถนาจึงเกิดขึ้น
มีบางคนกล่าวไว้ว่า แม้การรัฐประหารจะเป็นเรื่องที่ ไม่ถูกต้อง แต่ในสถานการณ์เช่นนี้การรัฐประหารเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องทำ
ตลอด 1 สัปดาห์หลังเกิดการรัฐประหารและหลังจากนี้ต่อไป “กระบวนการ” กับ “วิธีการ” น่าจะเป็นเรื่องที่สังคมจับตามองและเงี่ยหูฟัง บางคนบอกว่าเส้นทางที่จะพาประเทศกลับเข้าสู่เส้นทางประชาธิปไตยคงไม่ต่างจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย.49 แต่หากดูจากสิ่งที่ คสช.ทำลงไปก็จะพบว่ามี “รายละเอียด” ที่แตกต่างกันอยู่พอสมควร ซึ่งเป็นเพราะการรัฐประหารครั้งที่ผ่านมา “ล้มเหลว” แต่ความล้มเหลวดังกล่าวก็น่าจะเป็น “บทเรียนใหญ่” ให้คสช.ได้ปรับปรุงและแก้ไขข้อผิดพลาดที่ส่งผลถึงสถานการณ์การเมืองในทุกวันนี้
หัวใจสำคัญน่าจะอยู่ที่หัวหน้าคสช.ที่ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งอยู่กับข้อเท็จจริงและซึมซับสถานการณ์ความขัดแย้งมาตั้งแต่ปี 49 และแทบทุกช่วงของการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง พล.อ.ประยุทธ์เข้าไปเกี่ยวข้องทุกครั้งไม่มากก็น้อย
บทเรียนที่ผ่านมาตลอด 8 ปี จึงน่าจะทำให้การรัฐประหารไม่เดิน “ซ้ำรอย” อดีตที่ผ่านมา
นอกจากปัจจัยอย่างประสบการณ์ของพล.อ.ประยุทธ์ ผู้ซึ่งอยู่กับข้อเท็จจริงมาตลอดแล้ว ความเห็นพ้องของสังคมไทยที่มีต่อการ “ปฏิรูปการเมือง” ซึ่งถูกจุดกระแสจาก กปปส. ภายใต้การนำของ สุเทพ เทือกสุบรรณ ก็น่าจะเป็นอีกแรงขับเคลื่อนให้การแก้ไขปัญหาลุล่วงไปได้ตลอดรอดฝั่ง
ทางหนึ่งแม้จะเป็นแรงผลักให้คสช.เดินหน้าแต่อีกทางหนึ่งก็เป็นแรงกดดัน ทุกย่างก้าวของคสช.จึงเต็มไปด้วย “ความหวัง” ที่สังคมอยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ดีกว่าที่ผ่านมา
บทเรียนราคาแพงที่รัฐประหารปี 49 สอนไว้คือ นอกจากกระบวนการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว การเป็น รัฐบาลเฉพาะกาล ก็เป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้เด็ดขาด ถึงตอนนี้แม้จะยังไม่ชัดเจนว่านายกรัฐมนตรีคนที่ 29 จะเป็นพลเรือนหรือทหาร แต่สิ่งที่รัฐบาลเฉพาะกาลต้องคำนึงถึงคือ ความมั่นคง ซึ่งเป็น “หัวใจ” สำคัญในการขับเคลื่อนของรัฐบาล
หากเป็นเช่นนั้น คสช.ต้องเข้าไปมีส่วนร่วมและบริหารจัดการ ขณะที่ปัญหาสำคัญอีกด้านคือปัญหาเศรษฐกิจก็เป็นเรื่อง “มืออาชีพ” ซึ่งคสช.เชิญเข้ามาร่วมงานต้องรีบแก้ไข
สำหรับแนวทางที่ คสช.ได้กำหนดออกมาโดยจะแบ่งการบริหารงานออกเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย
ระยะที่ 1 การบริหารราชการตามปกติ รวมถึงกฎหมายพิเศษเพื่อขับเคลื่อนงาน
ระยะที่ 2 การสร้างสภาวะแวดล้อมให้เหมาะสมเพื่อเข้าสู่การมีธรรมนูญปกครอง สภาปฏิรูป สภานิติบัญญัติ
ระยะที่ 3 การนำไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบด้วยการเลือกตั้ง
การประกาศจ่ายเงินค่าข้าวที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในอดีต “ค้างจ่าย” ชาวนาไว้กว่า 9 หมื่นล้านบาท น่าจะเป็น “ประกาย” สำคัญในการสร้างความยอมรับถึงเจตนาของการเข้ามาทำหน้าที่ในครั้งนี้ได้เป็นอย่างดี
กรณี “ค่าข้าว” เป็นการสร้างความมั่นใจให้กับชาวนา ขณะที่ในกรณีของข้าราชการ ซึ่งมีการโยกย้ายกันยกใหญ่ คสช.ก็หวังทำให้เกิดระบบคุณธรรมขึ้นในกลไกราชการซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ รวมไปถึงการเร่งจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ พ.ศ.2558
ประเทศไทยมีปัญหาและจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้เวลาในการแก้ไข ทุกฝ่ายเชื่อว่าไม่น่าจะใช้เวลาเท่ากับคมช.แน่นอน เพราะการรัฐประหารครั้งนี้มีเป้าหมายสำคัญนั่นคือการปฏิรูปประเทศไทยในทุกด้าน
ป่วยการที่วันนี้จะพูดว่าการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมาถูกต้องหรือไม่ แต่หัวใจหลักคือ การที่ทุกฝ่ายต้องเร่งให้กระบวนการปฏิรูปเกิดขึ้นท่ามกลางการมีส่วนร่วมที่หลากหลายจากทุกภาคส่วนในสังคม
คสช.จะอยู่สั้นหรืออยู่ยาว ไม่ได้อยู่ที่การยอมรับหรือต่อต้าน แต่อยู่ที่การปฏิรูปว่าจะเป็นรูปธรรมเมื่อไหร่
“ปฏิรูปการเมือง” คือทางเดียวที่จะทวงคืนประชาธิปไตยที่วันนี้อยู่ในกำมือของพล.อ.ประยุทธ์ให้กลับคืนมา.   
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น