วันจันทร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

เตือนหุ้นส่วนสหรัฐปิดล้อมจีน ข่าวหน้า 1 13 November 2555 - 00:00



ทีมล่วงหน้าโอบามาบุกทำเนียบฯ เคลียร์พื้นที่ สั่งเพิ่มสไนเปอร์ หวั่นถูกส่องจากตึกสูงรอบทำเนียบฯ "ผบ.ตร." ไม่ห่วงเตรียมทีมกู้ระเบิดไว้พร้อมแล้ว โฆษกรัฐบาลเผย ครม.อนุมัติแถลงการณ์ร่วมไทย-สหรัฐ ด้านความมั่นคง และเข้าร่วมเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก เอ็นจีโอเตือนแผนปิดล้อมจีน ระวังเสียเปรียบเพราะสหรัฐมีข้อเรียกร้องสูง
    เมื่อเช้าวันจันทร์ คณะเจ้าหน้าที่จากทำเนียบขาวสหรัฐอเมริกา ซึ่งประกอบด้วยทีมงานจากสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย  และหน่วยล่วงหน้าฝ่ายรักษาความปลอดภัยประจำตัวนายบารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ประมาณ 30 คน ได้เดินทางเข้าพบเจ้าหน้าที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อหารือเรื่องการรักษาความปลอดภัยให้ประธานาธิบดีโอบามา 
    เจ้าหน้าที่จากทำเนียบขาวได้เข้ามาตรวจความเรียบร้อย และความปลอดภัยของทำเนียบรัฐบาล ทั้งในส่วนของทางเข้า-ออกทั้งหมด และถนนทุกเส้นในกรุงเทพฯ พร้อมกับบันทึกภาพจุดต่างๆ ทั้งบริเวณภายนอกและภายในตึกไทยคู่ฟ้า 
    นายบารัก โอบามา จะเดินทางมาเยือนประเทศไทยในช่วงบ่ายวันที่ 18 พ.ย.นี้ เพื่อร่วมหารือและรับประทานอาหารค่ำกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก่อนที่นายโอบามาและ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะเดินทางไปร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 20 ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชาในวันเดียวกัน
         ขณะที่การรักษาความปลอดภัยในทำเนียบรัฐบาล หลังหน่วยล่วงหน้าสหรัฐเดินทางมาตรวจดูความปลอดภัยของสถานที่ ตั้งแต่ช่วงบ่ายของวันที่ 10 พ.ย. ก็ได้ขอให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของไทยเน้นจุดสูงข่มพื้นที่ตึกสูง ที่อยู่บริเวณโดยรอบทำเนียบรัฐบาลทั้งหมด ทั้งในส่วนของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.), สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.), มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร และขอให้มีการเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่สไนเปอร์จากหน่วยอรินทราช รวมถึงขอให้ทางการไทยปิดการจราจรถนนพิษณุโลกระหว่างที่มีการหารือที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งมีกำหนดการหารือในเวลา 18.00 น.ของวันที่ 18 พ.ย.ด้วย
    พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. กล่าวว่า ทางการข่าวยังไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง แต่ก็จะไม่ประมาท ซึ่งขณะนี้ สตช.มีความพร้อมเต็มที่ในการรักษาความปลอดภัย โดยมอบหมายให้ พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา รอง ผบ.ตร.ประชุมเตรียมการรักษาความปลอดภัยทั้งหมด นอกจากนี้ หน่วยเก็บกู้ระเบิดก็มีความพร้อมในการปฏิบัติงานตลอดเช่นกัน
    ด้าน พล.ต.อ.วรพงษ์ ได้เป็นประธานการประชุมมาตรการรักษาความปลอดภัยนายบารัก โอบามา โดยมีผู้บัญชาการหน่วยที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ ตัวแทนจาก ผบ.เหล่าทัพ ศูนย์รักษาความปลอดภัยพิเศษ ทางด่วนโทลล์เวย์ ท่าอากาศยานไทย และผู้แทนฝ่ายการทูตสหรัฐอเมริกาเข้าร่วมประชุม
    เขาเผยหลังการประชุมว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจจะประจำจุดต่างๆ ร่วมกับหน่วยรักษาความปลอดภัยของสหรัฐ โดยเริ่มจากที่สนามบิน ทำเนียบรัฐบาล และสถานที่อื่นอีก 2 แห่ง โดยนายโอบามามีกำหนดจะพักค้างคืน 1 คืน ก่อนจะเดินทางต่อไปยังประเทศอื่น ทั้งนี้ ทางสหรัฐก็ขอให้เราปฏิบัติหน้าที่เหมือนเมื่อ 7 ปีก่อน
    นายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม.ว่า ครม.อนุมัติตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอขอความเห็นต่อแถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วม ว่าด้วยการเป็นพันธมิตรด้านการป้องกันประเทศ ไทย-สหรัฐอเมริกา 2012 โดยให้กระทรวงกลาโหมจัดทำแถลงการณ์ดังกล่าว  และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นผู้ลงนามฝ่ายไทย ซึ่งหากมีความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของร่างแถลงการณ์ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสาระสำคัญของร่าง ให้กระทรวงกลาโหมพิจารณาดำเนินการได้ตามความเหมาะสม
    โดยสาระสำคัญเพื่อเป็นการแสดงจุดยืน ถึงการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยความร่วมมือทางทหารจะมุ่งเน้นไปที่ประเด็นทั้ง 4 ด้าน ประกอบด้วย 1.ความเป็นหุ้นส่วนในการสร้างความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 2.การสนับสนุนการมีเสถียรภาพในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก 3.การพัฒนาความพร้อมและขีดความสามารถในการปฏิบัติการร่วม ทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี และ 4.พัฒนาความสัมพันธ์ การประสานงาน และสร้างความร่วมมือในทุกระดับ 
    เขาบอกว่า ความเป็นพันธมิตรจะช่วยสนับสนุนความร่วมมือทางด้านความมั่นคง ทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี ผ่านกิจกรรมที่มีการฝึกร่วมต่างๆ เช่น การฝึกร่วมคอบราโกลด์, ความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศระหว่างไทยกับสหรัฐ, สนับสนุนการมีบทบาทนำของกองทัพไทยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งการปฏิบัติภารกิจรักษาสันติภาพ, การปฏิบัติการเพื่อความมั่นคงทางทะเล, การปฏิบัติการเพื่อการช่วยเหลือมนุษยชน และการบรรเทาภัยพิบัติ โดยคาดว่าจะมีการลงนามร่วมกันระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมไทยและสหรัฐ ในช่วงที่มาเยือนไทยในฐานะแขกของกระทรวงกลาโหมระหว่างวันที่ 15-16 พ.ย.นี้
    รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ครม.เห็นชอบร่างแถลงข่าวร่วมว่าด้วยการประกาศการเข้าร่วมเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership Agreement : TPP) และการรื้อฟื้นการประชุมคณะมนตรีภายใต้กรอบความตกลงการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับสหรัฐ (Trade and Investment Framework Agreement Joint Council: TIFA JC) ใส่ไว้ในแถลงข่าวร่วม (ฉบับเต็ม) ระหว่างนายกรัฐมนตรีไทยและประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ 
        สำหรับความตกลง TPP เป็นความตกลงเปิดเสรีทางเศรษฐกิจที่มีมาตรฐานสูงที่สุดในขณะนี้ เมื่อเทียบกับความตกลง FTA ทั้งหมดทั่วโลก ครอบคลุมหัวข้อเจรจา 26 เรื่อง ประกอบด้วย การเปิดตลาดสินค้า สินค้าเกษตร สินค้าอุตสาหกรรม การแข่งขันและวิสาหกิจ ความร่วมมือและการเสริมสร้างขีดความสามารถ การพัฒนาความสามารถในการแข่งขันและการอำนวยความสะดวกทางธุรกิจ การบริการข้ามพรมแดน การลงทุน พิธีการด้านศุลกากร กฎถิ่นกำเนิดสินค้า สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช  มาตรการเยียวยาการค้า อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ บริการด้านการเงิน การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ทรัพย์สินทางปัญญา โทรคมนาคม การเคลื่อนย้ายนักธุรกิจ ประเด็นด้านกฎหมาย ความสอดคล้องของกฎระเบียบ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สิ่งแวดล้อม และแรงงาน
       นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอวอตช์) กล่าวว่า สำหรับ TPP ที่มีการเจรจากันอยู่ในขณะนี้ สหรัฐมีข้อเรียกร้องสูงมาก ทั้งการบังคับให้จดสิทธิพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์  การไม่อนุญาตให้หน่วยงานจัดซื้อยาของรัฐต่อรองราคายา ซึ่งประเด็นนี้ถือว่าโหดร้ายมาก ส่วนด้านการค้าการลงทุน สหรัฐเรียกร้องให้นักลงทุนต่างชาติถือหุ้นได้ 100 เปอร์เซ็นต์ในทุกกิจการ การโอนเงินทำได้เสรีโดยไม่มีอุปสรรคใดๆ เป็นต้น ซึ่งประเด็นเหล่านี้ประเทศมาเลเซีย เวียดนาม และบรูไน ยังไม่ยอมเลย
    เธอบอกว่า เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องการเมืองอย่างชัดเจน เพราะเป็นเรื่องที่นายบารัก โอบามา ได้ไปดีเบตเอาไว้เมื่อตอนหาเสียงเลือกตั้งว่า TPP เป็นการปิดล้อมประเทศจีน ซึ่งไทยอยู่ระหว่างจีนและสหรัฐ จึงอยากถามว่าเราจะยอมแถลงร่วมอย่างนั้นหรือ
    "จึงอยากถามว่า การที่นายกฯ ไปแถลงร่วมครั้งนี้มีข้อมูลเพียงพอหรือยัง ไม่ใช่เพราะประธานาธิบดีสหรัฐมาแล้วอยากได้หน้าเท่านั้น อีกทั้งเรื่องนี้จะต้องเข้ามาตรา 190 หรือไม่" นางสาวกรรณิการ์กล่าว
    นายจักรชัย โฉมทองดี ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน หรือเอฟทีเอวอตช์ กล่าวว่า จากการศึกษาเบื้องต้นของบริษัทไบรอันเครฟ ที่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เคยจัดจ้างให้ทำยังระบุว่า การเข้าร่วม TPP มีผลกระทบอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องการเข้าถึงยา และผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ
    “แม้แต่งานศึกษาที่กรมเจรจาฯ จัดจ้างบริษัทเอกชนทำยังชี้ว่า ในการเจรจา TPP ที่ 8 ประเทศกำลังเจรจากันอยู่ สหรัฐมีข้อเรียกร้องสูงมาก" ผู้ประสานงานเอฟทีเอวอตช์ระบุถึงข้อเสีย.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น