วันเสาร์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

รัฐตำรวจ! : ขยายปมร้อน โดยศรุติ ศรุตา-ทีมข่าวความมั่นคง เมื่อ 25 พ.ย.55



รัฐตำรวจ!:ขยายปมร้อน



รัฐตำรวจ! : ขยายปมร้อน โดยศรุติ ศรุตา-ทีมข่าวความมั่นคง

              "การที่ตำรวจจับกุมช่างภาพของโทรทัศน์ช่องหนึ่ง เป็นเพราะว่า มีการถ่ายภาพขณะเกิดเหตุการณ์รุนแรง ซึ่งถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิของประชาชน" พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แถลงหลังเกิดเหตุชุลมุนระหว่างตำรวจกับผู้ชุมนุมที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน สะท้อนให้เห็นอะไรต่อมิอะไรหลายมุมหลายมิติ

              อย่างแรกที่ชัดเจนก็คือ ตำรวจกำลังคิดว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้น เมื่อตำรวจได้ผ่านการใช้ "ดุลพินิจ" ไปแล้ว ความถูกต้องย่อมเสร็จสิ้นสมบูรณ์

              ทั้งที่ความจริงก็รู้อยู่เต็มอกว่า เมื่อเป็นช่างภาพโทรทัศน์ก็ต้องทำหน้าที่ถ่ายภาพ ขณะเดียวกันการถ่ายภาพขณะเกิดเหตุการณ์รุนแรงนั้น ช่างภาพทั่วโลกเขาก็ทำหน้าที่กันอย่างนี้อยู่แล้ว

              แต่จะไปโทษว่า โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติเสียทีเดียวก็คงไม่ถูกนัก เพราะเรื่องราวทั้งหมดนั้น เกิดมาจากการตัดสินใจของรัฐบาลที่เลือกใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง ซึ่งปกติจะเป็นเครื่องมือของทหาร แต่กลับไปเลือกใช้บริการของตำรวจ

              การเลือกกฎหมายฉบับนี้ คงจะเป็นเพราะเชื่อว่า นี่คือการใช้อำนาจรัฐ ที่สามารถบังคับกฎหมายได้ และมอบหมายให้ตำรวจนำไปปฏิบัติ หรือออกคำสั่งภายใต้กฎหมายฉบับนี้ได้

              นั่นคือที่มาของคำสั่งห้ามเข้าเขตที่ห้ามเข้า อาจจะเป็นเพราะบริเวณนั้นใกล้กับทำเนียบรัฐบาล หรือสถานที่สำคัญๆ ตามที่ได้มีมติมีความเห็นชอบกันของรัฐในก่อนหน้านี้

              เป็นการปะทะกันระหว่างแนวคิดของรัฐกับแนวคิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างแท้จริง!

              รัฐบาลบอกว่า การชุมนุมเป็นสิทธิอย่างหนึ่ง แต่เมื่อรัฐออกกฎหมายมาบังคับใช้ ก็เท่ากับว่า อำนาจและความชอบธรรมต้องอยู่กับรัฐ เมื่อประชาชนรุกล้ำเข้ามาก็ชอบที่เจ้าหน้าที่รัฐจะดำเนินการจัดการในรูปแบบใดๆ ก็ตาม ซึ่งกรณีนี้ คือ การใช้กระบองและแก๊สน้ำตา

              ไม่ใช่แค่เพียงแต่รัฐเท่านั้น ที่คิดแบบนี้ หากแต่ ธิดา ถาวรเศรษฐ ประธาน นปช. ในยามที่ยืนฝั่งเดียวกับรัฐ ก็ยังบอกว่า ตำรวจพยายามปกป้องพื้นที่ที่กำหนดเอาไว้

              แต่ในวันที่คนเสื้อแดงไล่ล่า อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ถึงในกระทรวงมหาดไทย คงจะหลีกเลี่ยงที่จะให้ความเห็นตรงนั้น

              สำหรับเรื่องนี้จะรุนแรงเกินกว่าเหตุหรือไม่ คงต้องไปว่ากันอีกทีภายหลังเหตุการณ์นี้สงบลง และมีผู้ไปร้องต่อ ป.ป.ช.หรือต่อศาล

              ขณะเดียวกัน ข้างฝั่งประชาชนที่พยายามเดินทางเข้ามาชุมนุมต่างก็ยึดเอารัฐธรรมนูญ มาตรา 63 เป็นยันต์กันผี ว่า ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ

              นอกจากนี้การชุมนุมยังได้แจ้งล่วงหน้าแล้วว่าจะใช้บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า และถนนราชดำเนิน เป็นแนวในการชุมนุม แต่ก็ไม่ได้ทำให้ตำรวจอันเป็นเครื่องมือของรัฐบาลอะลุ้มอล่วยให้การชุมนุมเป็นไปด้วยดี

              กลับแสดงเขตอำนาจรัฐอย่างชัดแจ้ง เมื่อประชาชนรุกล้ำเข้าไปการดำเนินการอย่างเด็ดขาดจึงเกิดขึ้นอย่างเด็ดขาด อย่างไม่ปรานีปราศรัย

              การที่รัฐมุ่งเน้นสร้างนิติรัฐ แล้วยังใช้บริการตำรวจ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้ชุมนุมจึงดูจะแรงเกินกว่าปกติ

              ขั้นตอนการควบคุมฝูงชนจึงถูกตั้งคำถามว่า ได้ทำตั้งแต่ขั้นแรกไล่ไปจนถึงการใช้กระบองทุบตีหรือไม่

              เพราะภาพที่ออกมาตำรวจอยู่ในแถว แต่หลังเกิดเหตุปะทะกัน เมื่อผู้ชุมนุมเดินผ่านก็โดนกระบองหวดใส่จนบางรายหัวร้างข้างแตก

              เป็นรัฐตำรวจแล้วอย่างชัดเจน !

              เพราะทหารที่แม้จะมีวอร์รูมของแต่ละเหล่าทัพ หรือกองทัพบกที่เตรียมกำลังไว้เข้าช่วยเหลือเจ้าพนักงาน 24 กองร้อย ก็ไม่ได้ขยับอะไร เฝ้าดูการชุมนุมอย่างสงบ

              อาจจะช็อกบ้างก็ตอนที่ เสธ.อ้าย ด่วนประกาศยุติการชุมนุมลงกลางคันเท่านั้น !

              ถึงแม้การชุมนุมจะจบลง แต่การปะทะกันของสองแนวคิดระหว่างรัฐกับประชาชนยังคงอยู่ หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป การปะทะจนถึงขั้นเผชิญหน้าก็จะเกิดขึ้นอีกไม่มีที่สิ้นสุด

              จนกว่าจะมีองค์กรหลัก ซึ่งอาจจะเป็นศาลรัฐธรรมนูญมาชี้ว่า อะไรคือ "ความชอบธรรมอย่างแท้จริง"

              หาไม่แล้วประชาชนก็ต้องมาชั่งใจเอาเองว่า จะยินยอมให้รัฐใช้อำนาจเช่นนี้ต่อไปหรือไม่

              จะยอมให้รัฐเลือกที่จะเปิดประตูรับ หรือเลือกที่จะฟังความเห็น จากคนที่สนับสนุนรัฐแต่เพียงฝ่ายเดียวต่อไปหรือไม่

              จะยินยอมให้รัฐอุปโลกน์สถานการณ์ขึ้นมาว่า การชุมนุมจะไปปิดล้อมที่นั่นที่นี่ จะก่อความรุนแรงอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วออกคำสั่งเพื่อสร้างเขตอำนาจรัฐ เขตห้ามเข้า เขตหวงห้าม สร้างความชอบธรรมในการจัดการกับผู้ชุมนุมได้อย่างนั้นหรือ

              จะปล่อยให้รัฐมุ่งสร้างความเป็น "นิติรัฐ" มากกว่า "การส่งเสริมประชาธิปไตย" อย่างนั้นหรือ

              แม้ เสธ.อ้าย จะประกาศยุติการชุมนุม แต่สิ่งเหล่านี้ยังคงอยู่กับสังคมไทย ยังคงรอว่า เมื่อใดจะปะทุขึ้นมาอีกครั้ง
....................

(หมายหตุ : รัฐตำรวจ! : ขยายปมร้อน โดยศรุติ ศรุตา-ทีมข่าวความมั่นคง)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น