วันอังคารที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2555

"พท."วางแนวแก้ไข รธน. 3 แนวทาง ยังกั๊กข้อยุติ รอสัมมนาหลังปีใหม่ วันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2555 เวลา 19:05:43 น.




นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) แถลงผลการประชุมส.ส.ของพรรค ที่มีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม เพื่อรับฟังความเห็นของ ส.ส.ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า ที่ประชุมมีแนวทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 3 แนวทาง ดังนี้  1.เดินหน้าลงมติในวาระที่ 3  2.เสนอแก้ไขรายมาตรา และ 3.ทำประชามติ ซึ่งทางที่ประชุมได้พิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ 3 แนวทาง เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายพรรคที่ได้หาเสียงไว้ โดยที่ประชุมพรรคยังไม่มีข้อสรุปในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะว่าแต่ละแนวทางที่เสนอมา 3 แนวทาง ยังมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ซึ่งที่ประชุมอยากให้สมาชิกพรรคและตัวแทนรัฐบาลที่มีการตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาการทำประชามติและประชาเสวนาว่าจะดำเนินการอย่างไร จากนั้นจะนำผลสรุปที่ได้เสนอเข้าสู่ที่ประชุมพรรคในการสัมมนาที่เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา ระหว่างวันที่ 6-7 มกราคม 2556 อีกครั้ง เพื่อจะชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจถึงข้อเสียของรัฐธรรมนูญ 2550

นายพร้อมพงศ์ กล่าวว่า กรณีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานวิปฝ่ายค้าน เรียกร้องให้รัฐบาลและพรรรคเพื่อไทยเลิกแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะจะนำไปสู่ความแตกแยก และฝ่ายค้านจะคัดค้านทั้งในและนอกสภานั้น แสดงให้เห็นถึงธาตุแท้ว่า สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์เคยหาเสียงไว้ในการเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 ถ้าชนะเลือกตั้งจะให้มีาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่คำพูดของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ตนเห็นว่าเหมือนเขียนด้วยมือลบด้วยเท้า

นายพร้อมพงศ์ กล่าวว่า ส่วนข้อเสนอของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ที่เสนอการแก้ไขรายมาตรา 9 ประเด็น มีทั้งหมด 81 มาตรา โดยสมาชิกพรรคก็รับฟังและคณะกรรมการยุทธศาสตร์ได้เสนอแก้ไขรายมาตรา การลงมติ ในวาระ 3 และการทำประชามติว่าทุกแนวทางมีข้อดีและข้อเสียอย่างไร ซึ่งจะมีการพิจารณาอีกครั้ง โดยต้องรอการเสนอของคณะทำงานที่รัฐบาลได้ตั้งขึ้นได้ดำเนินการศึกษาก่อน โดยตนเห็นว่า การแก้ไขรายมาตราอาจใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 ปี ซึ่งการแก้ไขรายมาตรา มีข้อดีคือไม่ขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ หากลงมติในวาระ 3 ก็จะมีผู้ร้องว่าขัดต่อการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และอาจจะส่งผลให้เกิดการถอดถอนส.ส. หรือ ส.ว.ได้ และอาจนำไปสู่การยุบพรรค

นายพร้อมพงศ์ กล่าวว่า การทำประชามติตัวเลขของผู้มีสิทธิออกเสียงล่าสุดมีประมาณ 48-49 ล้านคน ดังนั้น ผู้มาออกเสียงจะต้องเกินกึ่งหนึ่งคือ 24.6 ล้านคน ที่ต้องมาใช้สิทธิในยกแรก และหากจะผ่านประชามติต้องใช้ 12.5 ล้านคน ส่วนการทำประชามติจะขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น หากไม่ดำเนินการด้วยการทำประชามติจะใช้วิธีการใด  เรื่องประชามติเป็นห่วงเรื่องผู้มาออกเสียงมากกว่า  ซึ่งพรรคเพื่อไทยยืนหยัดว่า จะเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน แต่วิธีการจะเป็นอย่างไร ก็ต้องรอข้อสรุปจากคณะทำงานที่รัฐบาลตั้งขึ้น โดยคาดว่า กลางเดือนมกราคม 2556 น่าจะทราบวิธีการในการดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น