|
|
ผ่านสัปดาห์แรกของการรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 ไปแล้วหลังจากเคลียร์พื้นที่ ยกเลิกรัฐธรรมนูญ ยุบวุฒิสภา เรียกอดีต รมต. แกนนำกลุ่มต่างๆ มารายงานตัว และควบคุมตัว โยกย้ายข้าราชการอันเป็นชุดที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลเพื่อไทย โดยเฉพาะคือผู้ว่าฯ และตำรวจ ฯลฯ
จังหวะก้าวต่อๆ ไปของ คสช. เห็นได้จากคำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. เมื่อวันจันทร์ที่ 26 พ.ค.ที่ผ่านมา อันเป็นวันเข้ารับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็น "หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ" หรือ คสช.
เป็นสเต็ปที่ไม่ค่อยต่างจากรัฐประหารรุ่นพี่ นั่นก็คือ จะต้องแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี ประกาศใช้ธรรมนูญการปกครอง ตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสภาปฏิรูป
แต่ที่แตกต่างออกไป คือตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะเดิมนั้นหลังจากยึดอำนาจสำเร็จ มักจะมีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ก่อนไปจัด ครม.อีกต่อหนึ่ง เที่ยวนี้ คสช.ยังรั้งรออยู่ ทำให้เกิดคำถามว่า พล.อ.ประยุทธ์จะเข้ารับตำแหน่งนายกฯเองหรือไม่ อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้สื่อข่าวซักถาม พล.อ.ประยุทธ์ ยังอุบไต๋ไม่พูดชัดเจน รวมถึง "กรอบเวลา" ในการทำงานว่าจะใช้เวลาเท่าไหร่ ก่อนคืนอำนาจให้มีการเลือกตั้ง
ภาพการทำงานของ คสช.ชัดเจนขึ้นอีกจากการแถลงข่าวในวันที่ 29 พ.ค.ที่ผ่านมาระบุถึง 3 ขั้นตอนในการทำงานของ คสช. ได้แก่
ระยะแรก การบริหารราชการปกติ และใช้กฎหมายพิเศษเพื่อขับเคลื่อนงาน
ระยะที่สอง สร้างสภาวะแวดล้อมให้เหมาะสม เพื่อเข้าสู่การมีธรรมนูญการปกครอง สภาปฏิรูป และสภานิติบัญญัติ
ระยะที่สาม การนำไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ด้วยการเลือกตั้ง ทั้งหมดนี้ อยู่ภายใต้ธงผืนใหญ่ที่ คสช.ชูมาตั้งแต่ต้น คือการ "ปฏิรูปประเทศ"
สําหรับขั้นตอนขณะนี้ อยู่ระหว่างการใช้ "กฎหมายพิเศษ" คือคำสั่งของ คสช.ขับเคลื่อนงานต่างๆ ในระยะที่ยังไม่มีธรรมนูญการปกครอง ยังไม่มีนายกรัฐมนตรี อำนาจหน้าที่ของนายกฯ จะอยู่ที่หัวหน้า คสช. ทั้งหมด
เช่นเดียวกับอำนาจของสภาผู้แทนฯหรือวุฒิสภา ก็อยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช. เช่นกัน งานที่ คสช.ต้องขับเคลื่อนในระยะนี้ ได้แก่ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า จ่ายเงินจำนำข้าวที่คาราคาซังจากวิกฤตชัตดาวน์ คืนให้ชาวนา และยังมีคำสั่ง คสช.สำทับห้ามเจ้าหนี้นอกระบบเข้าไปทวงหนี้ชาวนาที่เพิ่งรับเงินไป
ขณะที่การบริหารราชการประจำวันของกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ก็ต้องดำเนินไป โดยให้ปลัดกระทรวงทำหน้าที่แทนรัฐมนตรี โดยมีรองหัวหน้า คสช. ได้แก่ ผบ.เหล่าทัพต่างๆ ตลอดจนนายทหารระดับสูงที่ได้รับมอบหมาย ไปทำหน้าที่คุมงาน คล้ายกับเป็นรองนายกฯ
งานสำคัญที่ คสช.เข้าไปจัดการอีกเรื่องได้แก่ การจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 ต้องเร่งเครื่องกันเต็มที่ โดยมีเส้นตายจะต้องดำเนินการให้เสร็จก่อนสิ้นเดือน ก.ย.นี้ ส่วนโครงการของรัฐบาลเพื่อไทยที่หมดอำนาจไป ก็มีการทบทวนในบางเรื่อง อาทิ การแจกแท็บเล็ตให้นักเรียน
แต่ในบางเรื่องก็มีสัญญาณน่าสนใจ ที่น่าจับตาได้แก่ การที่ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองหัวหน้า คสช.ที่ดูแลงานด้านเศรษฐกิจ ได้ปรารภจะให้นำเอาการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะในเรื่องระบบราง กลับมาผลักดันใหม่หลังจากที่ พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 2 ล้านล้าน โดนศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าขัดกับรัฐธรรมนูญไปแล้ว
โดยพุ่งเป้าไปที่โครงการสร้างรถไฟความเร็วสูงหรือไฮสปีดเทรน ในภาคเหนือและอีสาน ซึ่งหาก คสช.เข้าไปจับงานนี้จริงๆ ก็จะเป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองที่น่าสนใจมาก
งานใหญ่ของ คสช.ยังได้แก่ การประกาศปรับโครงสร้างตำรวจ และหน่วยงานสำคัญๆ อย่างดีเอสไอ อันเป็นหน่วยงานที่ คสช.มองว่ามีความใกล้ชิดกับรัฐบาลที่แล้ว จะต้องลงมือผ่าตัดใหญ่
มองในแง่หนึ่งถือเป็นการปรับฐานทางการเมืองไปพร้อมกัน มีกระแสข่าวระบุความคืบหน้าในการจัดตั้งรัฐบาลของ คสช. ว่าการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีน่าจะเกิดขึ้นใน 3 สัปดาห์ข้างหน้า หรือประมาณกลางเดือน มิ.ย. ขณะที่ ธรรมนูญการปกครองที่จะนำมาใช้ในช่วงปฏิรูปประเทศ ที่คาดว่าจะมี 30 มาตรา ก็เสร็จเรียบร้อยแล้วแสดงว่า ขั้นตอนที่ 2 ในการทำงานของ คสช. น่าจะอยู่ไม่ไกลข้างหน้า
หากมีนายกฯและคณะรัฐมนตรีเกิดขึ้น มีธรรมนูญการปกครอง และสภา น่าจะทำให้บรรยากาศทางการเมือง กลับสู่สภาพที่เป็นปกติมากกว่าช่วงแรกๆ ของการรัฐประหาร
แต่ขั้นตอนที่ 2 ก็จะเป็นขั้นตอนที่ใช้เวลายาวนานพอสมควร เพราะจะต้องร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใช้ใหม่ และจะต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่รองรับการปฏิรูปการเมืองอีกด้วย การรัฐประหาร 2549 ที่มีรัฐธรรมนูญ 2550 ออกมาทำหน้าที่จัดระเบียบการเมือง แต่ผลที่เกิดขึ้นคือ สภาพการเมืองที่ยุ่งเหยิงตลอดของยุครัฐธรรมนูญดังกล่าว จนต้องลงเอยด้วยการรัฐประหารถือเป็นบทเรียนสำคัญ
โจทย์สำคัญของการปฏิรูปการเมืองรอบนี้จึงได้แก่ จะต้องทำให้การเดินเข้าสู่การเลือกตั้งในขั้นตอนที่สามหรือขั้นตอนที่สาม มีความราบรื่น การขับเคลื่อนการปฏิรูปเป็นเรื่องใหญ่ เกี่ยวข้องและมีผล กระทบต่อประชาชนในวงกว้าง จะเรียบร้อยราบรื่นมากน้อย แค่ไหน
ขึ้นกับ"แนวทาง"ในการปฏิรูป และแยกไม่ออกจากการสร้างการขับเคลื่อน เคลียร์พื้นที่และสร้างฐานของ คสช.ในระยะนี้
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น