วันพุธที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

'ฮุน เซน'ปัดยุ่งหวัง'แม้ว-ปู'เข้าใจ! เมื่อ 28 พ.ค.57



'ฮุน เซน'ปัดยุ่งหวัง'แม้ว-ปู'เข้าใจ!
 

'ฮุน เซน' ยัน ไม่แทรกแซงกิจการภายในเพื่อนบ้าน ย้ำตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นไม่ชอบด้วยรธน. หวังอดีตนายกฯ ทั้งสองเข้าใจ ชี้ คสช.ได้รับโปรดเกล้าฯแล้ว ยินดีร่วมมือกองทัพไทย


28 พ.ค. 57  หนังสือพิมพ์พนมเปญ โพสต์ ของกัมพูชา รายงานอ้างถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรีฮุน เซน
เมื่อวานนี้ว่า รัฐบาลของเขาจะทำงานร่วมกับกองทัพไทย ที่ก้าวขึ้นสู่อำนาจหลังทำรัฐประหารเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รวมทั้งดับฝันการคาดการณ์ใดๆ ที่ว่า ตระกูลชินวัตร อาจได้รับอนุญาตให้เข้าตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นในกัมพูชาด้วย
ในการกล่าวสุนทรพจน์เนื่องในพิธีมอบปริญญาของนักศึกษาราว 3,000 คน ของรอยัล ยูนิเวอร์ซิตี้ ออฟ พนมเปญ ที่เกาะพิช เอ็กซิบิชั่น เซ็นเตอร์ นายกรัฐมนตรีฮุน เซน กล่าวว่า โดยรัฐธรรมนูญของกัมพูชา และการมีสมาชิกภาพในสมาคมอาเซียน ได้ป้องกันไม่ให้กัมพูชาเข้าแทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่นในภูมิภาค
ผู้นำกัมพูชา กล่าวด้วยว่า กัมพูชาได้พิจารณาสถานการณ์ในประเทศไทยแล้ว
และเห็นว่าเป็นกิจการภายในของประเทศไทย และกัมพูชาก็จะไม่เข้าไปแทรกแซงกิจการภายในของไทยด้วย และตอนนี้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ก็ได้รับพระราชทานโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ทำหน้าที่บริหารประเทศแล้ว ซึ่งเขาหวังว่า อดีตนายกรัฐมนตรีทั้งสองคน คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และนางสาวยิ่้งลักษณ์ ชินวัตร จะเข้าใจจุดยืนของกัมพูชา
พนมเปญ โพสต์ รายงานว่า การรัฐประหารในประเทศไทย เกิดขึ้นหลังการเมืองเผชิญวิกฤติทางตัน และการประท้วงที่กลายเป็นความรุนแรงบนถนนมานาน 6 เดือน 
ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 28 คน // การให้ความเห็นของผู้นำกัมพูชา มีขึ้นในเวลาไม่กี่วัน หลังจากนายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ทนายความของ พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวว่า มีรัฐบาลหลายชาติที่เสนอตัวพร้อมเปิดทางให้สองพี่น้องเข้าไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น เพื่อเป็นตัวแทนที่ชอบธรรมของไทยในเวทีโลก ส่งผลให้เกิดการคาดการณ์ไปที่กัมพูชา
ในขณะที่มีเจ้าหน้าที่ในรัฐบาลกัมพูชาหลายคน ทยอยออกมาปฏิเสธในสัปดาห์นี้ว่า จะไม่ยินยอมให้มีการเข้าไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น 
นายเจียม เยียบ ส.ส.อาวุโสของพรรคประชาชนกัมพูชา หรือ CPP ได้เปิดเผยต่อพนมเปญ โพสต์ เมื่อวันอาทิตย์ว่า แม้ว่าบทบัญญัติจะห้ามไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่การตัดสินใจครั้งสุดท้ายขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรี // แต่นายกรัฐมนตรีฮุน เซน เพิ่งจะกล่าวเมื่อวานนี้ว่า แม้ว่าเขาจะมีความสัมพันธ์ส่วนตัวที่ใกล้ชิดกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งเขาได้แต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจ เมื่อปี 2552 จนเกิดความร้าวฉานบนความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทยในขณะนั้นว่า การให้มีการจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นในประเทศ ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
นายกรัฐมนตรีฮุน เซน ย้ำด้วยว่า กัมพูชาไม่ใช่สถานที่ที่จะให้ประเทศ หรือกลุ่มใดๆ แม้แต่กลุ่มของ พ.ต.ท.ทักษิณ เข้าไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น
รัฐธรรมนูญของกัมพูชาไม่อนุญาตให้ชาวต่างชาติใดก็ตาม เข้าไปใช้ดินแดนเป็นฐานในการสร้างกองกำลังเพื่อโจมตีรัฐบาลของประเทศอื่น // เขาบอกด้วยว่า กัมพูชามีชายแดนร่วมกับไทย จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องธำรงไว้ซึ่งความร่วมมือและความสัมพันธ์อันดี แม้ว่าทหารจะเข้ายึดอำนาจก็ตาม
ผู้นำกัมพูชา กล่าวว่า ไม่มีทางเลือกอื่นใดอีก เนื่องจาก คสช.ได้รับพระราชทานโปรดเกล้าฯแล้ว 
ดังนั้น กัมพูชาจึงต้องทำงานร่วมกับ คสช.อย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง // นักวิเคราะห์ในกัมพูชาหลายคน ต่างเห็นด้วยกับความเห็นของนายกรัฐมนตรีฮุน เซน โดยเฉพาะเหตุผลที่ว่า การปล่อยให้มีการตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ // กัมพูชาเป็นประเทศเอกราช เป็นกลาง และมีอธิปไตย จึงต้องไม่ยอมให้กลุ่ม หรือประเทศใด เข้าไปร่วมมือกันต่อต้านประเทศอื่น และภายใต้กฎบัตรอาเซียน ก็ชัดเจนอยู่แล้วว่า ไม่มีประเทศไหนสามารถแทรกแซงกิจการการเมือง หรือกิจการภายในของประเทศสมาชิกได้ ส่วนนักวิเคราะห์อีกคนหนึ่ง บอกว่า กัมพูชามีจุดยืนที่ยอดเยี่ยม ที่ไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น ทำให้กัมพูชาคงไว้ซึ่งเสถียรภาพทางการเมือง
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น