วันจันทร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2556

ปฏิเสธอำนาจศาล มุ่งสู่ มิคสัญญี เมื่อ 29 เม.ย.56




ปฏิเสธอำนาจศาล มุ่งสู่ มิคสัญญี
เรายังคงเฝ้าติดตามการชุมนุมของคนเสื้อแดงเพื่อกดดันศาลรัฐธรรมนูญ โดย ณ ขณะนี้คนกลุ่มดังกล่าวยังคงปักหลักอยู่ที่บริเวณด้านหน้าอาคารศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมกับยืนยันว่าจะยกระดับการชุมนุมให้มากขึ้นเรื่อยๆ จนกว่าข้อเรียกร้องให้ ตุลาการทั้ง 9 คนหยุดปฏิบัติหน้าที่
โดยขั้นตอนต่อไปกลุ่มคนเสื้อแดง เตรียมที่จะเดินทางไปสำนักงบประมาณ เพื่อเรียกร้องให้ระงับการจ่ายเงินเดือนของคณะตุลาการทันที อย่างไม่มีเงื่อนไข และหากสำนักงบประมาณไม่ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด กลุ่มผู้ชุมนุมจะร่วมกันแจ้งข้อหาว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและร่วมกันฉ้อโกงประชาชน
รวมไปถึงจะเดินทางไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อนำรายชื่อประชาชนจำนวน 20,000 คน ยื่นถอดถอนคณะตุลาการศาล รธน.
ไม่เพียงเท่านั้น การเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงขณะนี้ยังได้ลุกลามบานปลายไปอีกหลายภาคส่วน โดยล่าสุดได้บุกไปกดดัน นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ให้ลาออกจากตำแหน่ง ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย โดยอ้างเหตุผลว่า นายประสาร บกพร่องในการทำหน้าที่ เป็นผลให้เกิดภาวะค่าเงินบาท แข็ง
นายหนึ่งดิน วิมุตตินันท์ เลขานุการ สหกรณ์เกษตรอินทรีสุพรรณบุรี(จำกัด) และในฐานะทนายความชมรมผู้รักความเป็นธรรม ผู้สนับสนุนกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)หรือกลุ่มเสื้อแดง พร้อมคณะรวม 3 คนเดินทางมายื่นหนังสือถึง นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และนายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (บอร์ด ธปท.) เพื่อเรียกร้องให้ลาออกจากตำแหน่ง โดยอ้างว่าบกพร่องในการทำหน้าที่ดูแลค่าเงินบาท เนื่องจากปล่อยให้ค่าเงินบาทแข็งค่าจาก 30 บาทขึ้นไปถึง 28 บาทต่อเหรียญสหรัฐ จนทำให้ภาคอุตสาหกรรมซึ่งเป็นเศรษฐกิจหลักกำลังจะล้มละลายโดยไม่ดูแล ทั้งที่มีอำนาจในมือ
อย่างไรก็ตาม นายหนึ่งดินได้ฝากหนังสือแถลงการณ์เรียกร้องไว้กับเจ้าหน้าที่รับส่งเอกสาร ธปท. เพื่อนำส่งให้ต่อไป เนื่องจาก นายประสาร และ นายวีรพงษ์ ไม่ได้เดินทางหรือส่งตัวแทนมารับหนังสือเรียกร้องของนายหนึ่งดินแต่อย่างใด
ร.ท.หญิง สุนิสา เลิศภควัต รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวยืนยันว่า รัฐบาลไม่ได้อยู่เบื้องหลัง และใช้มวลชนคนเสื้อแดง มากดดันศาลรัฐธรรมนูญ ตามที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวหา และยืนยันว่า รัฐบาลไม่มีนโยบายทำร้ายประชาชน เพราะการชุมนุมเป็นสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐบาลพร้อมรับฟังความเห็นที่แตกต่างของทุกกลุ่ม ส่วนการที่พรรคประชาธิปัตย์พยายามยุยงให้ภาคประชาชนออกมาต่อต้านรัฐบาล มองว่าพรรคประชาธิปัตย์พยายามปลุกระดมประชาชนมาโค่นล้มรัฐบาลใช่หรือไม่
         
นอกจากนี้ ยังกล่าวถึงกรณีที่นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน วิจารณ์รัฐบาลว่า ใช้อำนาจเถื่อนนั้น มองว่าเป็นเพียงความเห็นส่วนตัวเท่านั้น พร้อมเรียกร้องให้นายสุริยะใสออกมาเปิดเผยถึงอำนาจนอกระบบที่อยู่เบื้องหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ประชาชนสามารถแสดงความเห็นต่างจากศาลรัฐธรรมนูญได้ ตราบที่ประชาชนชุมนุมสงบโดยปราศจากอาวุธ ไม่ควรมีรัฐบาลใดๆ ทำอันตรายหรือปราบปราม
นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แถลงว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้เป็นผู้สั่งการหรือเกี่ยวข้องให้กลุ่มคนเสื้อแดง ชุมนุมขับไล่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อทำลายองค์กรอิสระ ตามที่ถูกพรรคประชาธิปัตย์กล่าวหาแต่อย่างใด โดยยืนยันว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องการเห็นความสงบสุขและปรองดองในสังคม ซึ่งการชุมนุมดังกล่าว เป็นเรื่องของประชาชนที่ต้องการแสดงความคิดเห็นตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งอาจมีความคลางแคลงใจการพิจารณาคดีต่างๆ ในอดีต และหากสั่งการจริง คงมีคนมาชุมนุมจำนวนมากกว่านี้ ทั้งนี้ เชื่อว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้รู้สึกกดดันแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่า ผู้ชุมนุมจะไม่สร้างปัญหา และอีกไม่กี่วันผู้ชุมนุมจะสลายการชุมนุมแล้ว

          
ขณะเดียวกัน นายนพดล เปิดเผยว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ยังคงอยู่ที่นครดูไบ และจะเดินทางมาแถบประเทศเอเชีย ในช่วงเดือนพฤษภาคม
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธานคณะกรรมการคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) มีความเห็นให้แก้ไขโครงสร้างศาลรัฐธรรมนูญว่า แนวคิดของคอ.นธ.จะย้อนไปในปี 2517-2518 ที่เชื่อว่า เสียงข้างมากในสภาฯ จะตัดสินทุกอย่างได้ และการปฏิรูปการเมืองในปี2540 เพราะเห็นว่า ระบบดังกล่าวไปไม่ได้ จึงให้มีการตั้งองค์กรอิสระขึ้นมา แต่ขณะนี้นายอุกฤษ พยายามย้อนกลับไปก่อนปี 2540 ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของพรรคเพื่อไทย ที่พยายามรวบอำนาจให้อยู่กับฝ่ายบริหารทั้งหมด การตัดทอนอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญลง จะทำให้กลับไปสู่การใช้เสียงข้างมากตัดสิน และหากเป็นการกระทำของฝ่ายการเมืองเอง ก็จะทำให้ขาดการตรวจสอบการถ่วงดุลในเชิงอำนาจ ซึ่งจะเป็นอันตราย และรัฐบาลก็ทำในแนวทางนี้ทั้งหมด และจะมาเป็นชุดไม่ให้มีศาลรัฐธรรมนูญ หรือไม่ก็ไม่ให้มายุ่งในเรื่องการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่ตรงกับหลักประชาธิปไตย แต่พรรคประชาธิปัตย์ จะทำหน้าที่เรียกร้องให้สังคมร่วมตรวจสอบสิ่งที่เกิดขึ้น
นายอุดมเดช รัตนเสถียร ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย ที่ปรึกษาวิปฯรัฐบาล กล่าวว่า ภายในสัปดาห์หน้า สมาชิกรัฐสภา 312 คนจะสามารถออกแถลงการณ์ไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการร่างแถลงการณ์คาดว่าจะเสร็จหลังวันที่ 1 พ.ค.นี้ ซึ่งการที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า หากสมาชิกรัฐสภาไม่ส่งคำชี้แจงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ก็สามารถพิจารณาได้ต่อไปนั้น

          
นายอุดมเดชกล่าวว่า เมื่อพวกตนเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญทำเกินหน้าที่ตุลาการ ฝ่ายตนก็จะทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ หากจะวินิจฉัยอย่างไรก็ทำต่อไป ก็ไม่เกี่ยวข้อง และไม่ยื่นคำชี้แจงในสิ่งที่ถามมา และยอมรับการเสียสิทธิชี้แจง
คำพูดของ นายอุดมเดช รัตนเสถียร ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย ที่ปรึกษาวิปฯรัฐบาล  ระบุว่าศาลรัฐธรรมนูญทำเกินหน้าที่ตุลาการ ฝ่ายตนก็จะทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ หากจะวินิจฉัยอย่างไรก็ทำต่อไป ก็ไม่เกี่ยวข้อง คำว่าไม่เกี่ยวข้องเท่ากับเป็นการยืนยันว่าจะไม่ยอมรับคำตัดสินของศาลในอนาคตด้วยหรือไม่
และการกระทำดังกล่าวจะทำให้ประเทศชาติเดินหน้าต่อไปอย่างไร เราจะไปพูดคุยกับนายอุดมเดช ที่ปรึกษาวิปฯรัฐบาล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น