หน้าเว็บ

วันพุธที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

"คำนูณ” เตือนหากโครงการจำนำข้าวเจ๊งจะสร้างภาระหนี้สาธารณะปีละ 3 แสนล้าน



"คำนูณ” เตือนหากโครงการจำนำข้าวเจ๊งจะสร้างภาระหนี้สาธารณะปีละ 3 แสนล้าน หวั่นไม่มีเงินจ่าย ธ.ก.ส. “ทนุศักดิ์” อ้างเหตุการณ์โลกขาดแคลนธัญญาหารจึงระบายข้าวช้า ฝันต้องฝ่าฟันอีก 2-3 ปี ชาวนาลืมตาอ้าปากได้ พาณิชย์งุบงิบชง ครม.วาระจรทำจีทูจีค้าข้าวกับจีนปี 56-58เพิ่มไม่เกินปีละ 5 ล้านตัน ป.ป.ช.รับลูกภาคีต้านคอรัปชั่นสอบจำนำข้าวรอชงบอร์ดชุดใหญ่ฟัน
    การประชุมวุฒิสภาเมื่อวันอังคาร ที่มีนางพรทิพย์ โล่ห์วีระ จันทร์รัตนปรีดา รองประธานวุฒิสภา คนที่ 2 ในฐานะประธานการประชุม ช่วงกระทู้ถามเรื่องแนวทางการแก้ไขปัญหากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวตอนหนึ่งถึงเรื่องโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลว่า อยากฝากถึงนายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.การคลัง ถึงประเด็นที่นายทนุศักดิ์ได้ลงนามเมื่อวันที่ 3 ต.ค.55 ถึงคณะรัฐมนตรี (ครม.) เรื่องโครงการรับจำนำว่า หลักใหญ่ตนเห็นด้วย โดยพาะอย่างยิ่งข้อเสนอในหนังสือดังกล่าวเกือบ 10 ข้อ โดยเฉพาะการลงบัญชีให้ตรงและให้ทันเหตุการณ์โดยที่ไม่ต้องรอให้ปิดโครงการหรือขายข้าวให้หมดเสียก่อน ทั้งนี้ก็เข้าใจว่าเพื่อให้ทั้ง ครม.และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ปรับตัวได้ทันเหตุการณ์
    นายคำนูณกล่าวว่า อีกประการที่เห็นด้วยคือ ได้มีการเสนอให้กระทรวงพาณิชย์เร่งระบายข้าวในสต็อก ถ้ากระทรวงพาณิชย์ระบายข้าวได้เงินก็จะมาคืน ธ.ก.ส.เร็ว เงินมาคืน ธ.ก.ส.เร็วกระทรวงการคลังก็ไม่ต้องมาค้ำประกันหนี้เงินกู้ให้ ธ.ก.ส. เพราะว่าแผนบริหารหนี้สาธารณะปี 56 จากโครงการรับจำนำผลิตผลทางการเกษตรทั้งหมดที่ตั้งไว้ จะต้องใช้งบจำนำข้าวสำหรับนาปี 2.4 แสนล้านบาท ถ้ารวมนาปรังด้วย 4.05 แสนล้านบาท ครม.อนุมัติเฉพาะนาปีไปก่อน 2.4 แสนล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้ในแผนบริหารหนี้สาธารณะเห็นควรให้ ธ.ก.ส.กู้ต่อ หรือค้ำประกันแก่ ธ.ก.ส.ตามมาตรา 25 และมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ 1.5 แสนล้านบาทเท่านั้น ส่วนที่ขาดก็ให้เป็นเงินของ ธ.ก.ส.เอง ซึ่งเข้าใจว่าเม็ดเงินให้นาปีน่าจะเพียงพอ เพราะปีที่แล้ว ธ.ก.ส.ใช้ไป 9 หมื่นล้านบาท ถ้าปีนี้ใช้ 9 หมื่นล้านบาทอีก ก็จะสแควร์ที่ 2.4 แสนล้านบาทพอดี
    "ยังมีนาปรังอยู่อีก คือหากเงินที่กระทรวงพาณิชย์ขายข้าวไม่เข้ามาตามไตรมาสที่ ธ.ก.ส.วางไว้ ปัญหาก็จะตามมา  โดยเฉพาะหนังสือที่นายทนุศักดิ์ได้ลงนามไว้ ก็ชัดเจนว่าในปีการผลิต 54/55 เรามีภาระที่จะต้องปรับโครงสร้างหนี้ไปอีก 2-3 ปี ปีละประมาณ 2 แสนกว่าล้านบาท เฉพาะโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งก็ทำให้เป็นภาระต่องบประมาณพอสมควร เพราะฉะนั้นหนี้สาธารณะก็จะขึ้นไปแตะเท่าไหร่ก็เป็นเรื่องหนึ่ง ถ้าเราก็ไม่สามารถปรับปรุงโครงการรับจำนำผลิตผลทางการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราก็จะมีเลือดไหลออกจากตัวปีละประมาณ 3 แสนล้านบาท อันนี้ทำให้ตัวเลขคาดการณ์หนี้สาธารณะต่อจีดีพีวันนี้อยู่ที่ร้อยละ 44.28 ณ เดือน ส.ค. ตัวเลขก็จะเพิ่มมากขึ้น และยากต่อการควบคุม และจะเป็นปัญหาต่อ ธ.ก.ส.เอง" นายคำนูณกล่าว
    ด้านนายทนุศักดิ์ ชี้แจงว่า การประชุม ครม.เมื่อวันที่ 2 ต.ค.ที่ผ่านมา รมว.พาณิชย์ได้แจ้งต่อ ครม.ว่า ช่วงนี้ขายข้าวได้เงินมา 4 หมื่นกว่าล้าน และภายในสิ้นเดือน พ.ย.จะได้เพิ่มอีก 4 หมื่นล้านบาท และปี 56 รวมยอดของปี 55 ด้วยนั้น คาดว่าน่าจะเกิน 2 แสนล้านบาท เพราะฉะนั้นเชื่อว่าเมื่อมีการปิดบัญชีในระยะใดระยะหนึ่ง ความน่าเป็นห่วงก็จะลดลง เพราะว่าสต็อกข้าวก็จะลดลง ทั้งนี้ ที่รัฐบาลไม่รีบระบายข้าวก็เพราะเกิดภาวะขาดแคลนข้าว ธัญญาหารของโลก หลายประเทศที่เป็นคู่แข่งขายข้าวก็ประสบปัญหาภัยแล้งทำให้ผลผลิตลดลง 
    "นโยบายข้าวของรัฐบาลหลายชุดที่ผ่านมาเป็นไปตามลักษณะของกลไกตลาด กล่าวคือเป็นไปตามลักษณะว่าให้พ่อค้าซื้อจากชาวนาโดยตรงเลยในราคาที่เห็นเหมาะสม ซึ่งราคาตรงนั้นก็จะต่ำ แต่พอรัฐบาลชุดนี้ทำแบบนี้ ทางรัฐบาลก็ได้มีการวิเคราะห์ ซึ่งก็พบว่าจะพบปัญหายุ่งยากในปีแรก และต้องต่อสู้ฟันฝ่าไปอีกประมาณ 2-3 ปี และหลังจากนั้นเสถียรภาพราคาข้าวจะอยู่ในระดับที่ประชาชนลืมตาอ้าปากได้" นายทนุศักดิ์กล่าว ส่วนหนังสือที่ตนได้ลงนามไปนั้นก็เป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นว่า ถึงแม้จะเป็นรัฐบาลเดียวกัน แต่ก็ยึดผลประโยชน์ประเทศชาติเป็นหลัก ไม่ใช่ว่าอะไรที่ไม่ถูกต้องหรือยังไม่เรียบร้อยก็ปล่อยปละละเลย
    ขณะเดียวกัน มีการประชุมคณะกรรมาธิการการเงินการคลัง การธนาคาร และสถาบันการเงิน วุฒิสภา ที่มีนาย นายวิทวัส บุญญสถิตย์ ส.ว.สรรหา เป็นประธาน มีการพิจารณาเรื่องความคืบหน้าการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือก โดยเชิญนายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มาชี้แจง โดยนายลักษณ์กล่าวว่า การดำเนินการของ ธ.ก.ส.เป็นไปตามมติ ครม.ทุกประการ โดยกระทรวงการคลังกำหนดโครงการรับจำนำข้าวให้แยกเป็นบัญชีธุรกรรมนโยบายรัฐ ซึ่งงบประมาณส่วนไหนที่ไม่ได้มาจากการใช้เงินของ ธ.ก.ส.ก็ไม่ต้องบันทึกเป็นทรัพย์สินหรือหนี้สินของธนาคาร ให้บันทึกเป็นภาระผูกพันนอกงบประมาณของ ธ.ก.ส. ทั้งนี้ ธนาคารมีสภาพคล่องสำหรับการดำเนินการนโยบายนี้ประมาณ 9 หมื่นล้านบาท ส่วนถ้าเป็นงบประมาณนอกเหนือจากส่วนนี้กระทรวงการคลังจะเป็นผู้จัดหามาใหม่และเป็นผู้ค้ำประกัน
    "เพราะฉะนั้น เม็ดเงินประมาณ 2 แสนล้านที่รัฐบาลจะนำมาให้ ธ.ก.ส.ดำเนินโครงการนี้จะไม่เกี่ยวข้องกับงบดุลและงบบัญชีกำไรขาดทุนของธนาคาร" นายลักษณ์กล่าว
    ส่วนในการประชุม ครม. ที่มี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ รักษาการนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมครม.เห็นชอบตามที่นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ เสนอ ครม.พิจารณาเป็นวาระจรในการทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปี 56-58 จากเดิมที่มีการซื้อขายปีละ 3 แสนตัน จะเพิ่มขึ้นไม่เกินปีละ 5 ล้านตัน เนื่องจากขณะนี้ทางจีนต้องการข้าวเพิ่ม และประเทศไทยมีความต้องการที่จะระบายข้าวออก 
    อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม ครม.ได้มีการตั้งข้อสังเกตว่า เรื่องสำคัญแบบนี้ทำไมกระทรวงพาณิชย์จึงเสนอเป็นวาระจร ที่สำคัญนายกรัฐมนตรีไม่ได้เป็นประธานการประชุม ครม. ทางผู้อำนวยการกรมการค้าต่างประเทศได้ชี้แจงเหตุผลที่ต้องเสนอเป็นวาระจรว่า เนื่องจากต้นเดือน ธ.ค.ตัวแทนจากรัฐบาลจีนจะเดินทางมาไทยเพื่อหารือเรื่องข้าว ดังนั้นจะต้องเร่งทำลงนามบันทึกนามข้อตกลง (เอ็มโอยู) ทำให้ไม่สามารถรอเข้าประชุม ครม.สัปดาห์หน้าได้ ทั้งนี้ เห็นว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่ดี โครงการรับจำนำข้าวจะได้ต่อเนื่อง ส่วนเรื่องของราคาจะซื้อขายในราคา ณ ขณะนั้น คาดการณ์ว่าราคาข้าวจะสูงขึ้น และจีนถือเป็นคู่ค้าข้าวที่สำคัญของไทย 
    ขณะที่นายวิชัย อัศรัสกร กรรมการเลขาธิการหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ภาคีเครือข่ายต่อต้านคอรัปชั่นที่มีนายประมนต์ สุธีวงศ์ เป็นประธาน ได้เสนอเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รับพิจารณาและตรวจสอบการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว เพราะเห็นว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นจริง ซึ่งล่าสุดทาง ป.ป.ช.ได้รับเรื่องไว้แล้ว และกำลังอยู่ระหว่างการเสนอให้บอร์ด ป.ป.ช.ชุดใหญ่พิจารณาแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อตรวจสอบในเรื่องนี้ต่อไป และ ป.ป.ช.เมื่อเรียกข้อมูลมาดู มั่นใจว่าจะตรวจสอบพบว่ามีการรั่วไหลตรงจุดไหนบ้าง เพราะตัวเลขมันจะฟ้องออกมาเอง
    นายวิชัยกล่าวว่า เอกชนเป็นห่วงในเรื่องการใช้นโยบายการรับจำนำข้าว เพราะใช้งบประมาณสูงถึงปีละ 4 แสนล้านบาท หากใช้ต่อไปเรื่อยๆ รัฐบาลจะไม่มีเงินไปพัฒนาอย่างอื่น และส่งผลกระทบต่อหนี้สาธารณะที่จะเพิ่มมากขึ้น แต่หากรัฐบาลนำเงินเพียงบางส่วนจากงบประมาณที่ใช้ในการรับจำนำไปหาทางเพิ่มผลผลิตต่อไร่ หาทางลดต้นทุนให้กับเกษตรกร ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินอย่างมากปีละ 2 หมื่นล้านบาท ใช้ช่วยเหลือเกษตรกรได้ 50-60 ปี เมื่อเทียบกับการรับจำนำแค่ 3 ปี ที่จะใช้เงินสูงถึง 1.2 ล้านล้านบาท
    นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าคณะโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญวันที่ 7 พ.ย. จะมีการพิจารณารับหรือไม่รับคำร้องที่ประธานวุฒิสภาส่งความเห็นของ 67 ส.ว. ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสัญญาขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี ) จำนวน 7.32 ล้านตันของรัฐบาล เข้าข่ายเป็นหนังสือสัญญาที่ต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาก่อนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 วรรคสองหรือไม่ ไว้พิจารณาวินิจฉัย.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น