หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ฆ่า "อภิสิทธิ์" ชุบชีวิต "ทักษิณ" บทบรรณาธิการ 13 November 2555 - 00:00



ด้วยผลประโยชน์เพื่อการเมือง ทำให้การบังคับใช้กฎหมายในประเทศไทยบิดเบือนไปจากเจตนารมณ์ครั้งแล้วครั้งเล่า คุณค่าของกฎหมายถูกทำลาย แต่นั้นไม่สำคัญเท่านักการเมืองไทยทำลายคุณค่าความเป็นคนของตนเอง ลักษณะด้านมืดถูกนำมาใช้ครั้งแล้วครั้งเล่า จนกลายเป็นสภาวะปกติที่ทำกันอยู่ในทุกวันนี้
    มีความพยายามจะหลบหนีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยนำการหนีการเกณฑ์ทหารของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มาขยายผลให้เป็นการตีความคุณสมบัติ ส.ส. เพื่อหวังผลให้ญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจมีปัญหา ซึ่งแน่นอนว่าศาลรัฐธรรมนูญ หรือคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่น่าจะวินิจฉัยประเด็นนี้ได้ทันก่อนที่ฝ่ายค้านจะเปิดซักฟอก แต่ได้เกิดประเด็นใหม่ขึ้นมาแล้ว นั่นคือนายอภิสิทธิ์ ควรทำหน้าที่ผู้นำฝ่ายค้านต่อไปหรือไม่ หรือควรแสดงสปิริตพักการทำงานไว้ชั่วคราว
    น่าคิดตรงที่ประเด็นนี้ร้อน และจะร้อนขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงวันอภิปรายไม่ไว้วางใจช่วงสิ้นเดือน และอาจกลายเป็นประเด็นหลักที่มีการอภิปรายกันในสภา ปล่อยให้ประเด็นรับจำนำข้าวที่มีการโกงกันมโหฬารเป็นประเด็นรอง หากเป็นไปตามนั้นจริง ถือว่ารัฐบาลประสบความสำเร็จอย่างมาก ในการหลีกหนีการตรวจสอบ 
    แผนนี้น่าจะได้รับแรงบันดาลใจจากกรณีนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ที่ชิงลาออกจากตำแหน่งทางการเมืองทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เพื่อป้องกันมิให้พรรคประสบวิกฤติเหมือนอย่างในอดีต และหากทำให้พรรคประชาธิปัตย์ตกอยู่ในสภาพเดียวกันบ้าง ก็น่าจะได้เปรียบทางการเมืองอยู่ไม่น้อย 
    แต่ความต่างนั้นมีอยู่มหาศาล กรณีของนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ นั้น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดคดีฮุบที่ธรณีสงฆ์ ให้ไล่ออกจากราชการ นั่นถือว่าสิ้นสุดกระบวนการไปแล้ว ส่วนกรณีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นั้น กระทรวงกลาโหม ถอดยศ เรียกเบี้ยหวัดคืนและปลดออกจากราชการ ซึ่งการต่อสู้ตามกฎหมายยังมีกระบวนการอีกยาวนาน
    อย่างไรก็ตาม ความพยายามของรัฐบาลเพื่อไทย ต้องการให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตกที่นั่งลำบาก ต้องไปดิ้นรนเพื่ออธิบายถึงคุณสมบัติการเป็น ส.ส.ของตนเองว่า ไม่ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 102 (6) ที่ระบุว่าเคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ เพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ
    นั่นเป็นที่มาของการตอกย้ำว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ใช้เอกสารเท็จในการสมัครเข้าเป็นนายทหารสัญญาบัตร เป็นการกระทำการทุจริตในหน้าที่ราชการ เพื่อให้ครบองค์ประกอบในการสังหารทางการเมืองนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 
    หลังจากนี้ต้องติดตามกันต่อไปว่า ฝ่ายไหนถูกผิด โดยเฉพาะที่ศาลปกครอง ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ดำเนินการยื่นคำร้องไปแล้ว ว่าคำสั่งของพล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมนั้น ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงการที่ส.ส.พรรคเพื่อไทย เตรียมยื่นฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมการการเลือกตั้ง ให้วินิจฉัยคุณสมบัติการเป็น ส.ส.ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 
    แต่สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วคือ การเปิดเกมการเมือง ที่ทำให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต้องเสียเวลาไปกับการชี้แจงเรื่องตัวเอง แทนที่จะได้ทำหน้าที่ซักฟอกรัฐบาล แต่นั้นก็เป็นเรื่องที่นักการเมืองต้องว่ากันไป ขณะที่ความเสียหายอย่างใหญ่หลวงคือการนำสถาบันกองทัพมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เหมือนที่เครือข่ายทักษิณ นำสภาความมั่นคงแห่งชาติ มาใช้ประโยชน์ทางการเมืองเพื่อความมั่นคงของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร  
    นี่จะเป็นอีกหนึ่งในจุดเริ่มต้นในการทำลายคู่แข่งการเมือง โดยใช้สถาบันทางราชการเป็นเครื่องมือ เพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง เพื่อช่วยเหลือคนเพียงคนเดียว โดยไม่สนใจว่าจะกระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือไม่.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น