หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

เซ่นพิษแซนดีสหรัฐเป็นอัมพาต!ข่าวหน้า 1 1 November 2555 - 00:00




เซ่นพิษแซนดีสหรัฐเป็นอัมพาต!

 หายนะมหาเฮอริเคนถล่มอเมริกาฝั่งตะวันออก สังเวยรวมเกินร้อยชีวิต เศรษฐกิจหยุดชะงัก รถใต้ดินยังวิ่งไม่ได้ รถไฟโดนกวาดไปกองทับถมรวมกัน ขณะที่เกาะแมนฮัตตันร้าง แถมไฟไหม้ เกิดคลื่นพายุซัดเมืองน้องๆ สึนามิ สูงเป็นสถิติ 4.2 เมตร ไฟฟ้าดับบ้านเรือน 8 ล้านหลังอยู่ในความมืด ด้านตลาดหุ้นปิดซื้อขาย 2 วัน ไม่เคยปรากฏมา 124 ปี คาดใช้งบฟื้นฟู 1.2 ล้านล้านบาท   
    พายุเฮอริเคนแซนดีที่พัดถล่มสหรัฐอเมริกาฝั่งตะวันออก ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวง ทั้งต่อชีวิตผู้คนและผลต่อระบบเศรษฐกิจ ในทวีปอเมริกาเหนือมีผู้เสียชีวิตรวม 43 คน โดยก่อนหน้านี้ได้คร่าชีวิตผู้คนในพื้นที่ฝั่งแคริบเบียนไปแล้ว 67 คน ในนิวยอร์กซิตี รัฐนิวยอร์ก พื้นที่เดียวเสียชีวิตไป 18 คน
    ฝนที่ตกลงมาอย่างหนักและน้ำทะเลที่ถูกซัดเข้ามา ทำให้เกิดน้ำท่วมในสถานีรถไฟใต้ดิน ต้องปิดให้บริการอย่างไม่มีกำหนด เที่ยวบินกว่า 18,000 เที่ยวถูกยกเลิก แต่สถานการณ์ล่าสุดได้คลี่คลายลงไปบ้างแล้ว บริการสาธารณะที่จำเป็นบางส่วนในรัฐนิวยอร์กและนิวเจอร์ซีย์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ
    พายุได้ก่อให้เกิดหิมะตกลงมาอย่างหนัก มีความสูงถึง 90 เซนติเมตร ในรัฐเวอร์จิเนียตะวันตก เมื่อบ่ายของวันอังคารตามเวลาท้องถิ่น ก่อนที่พายุจะพัดขึ้นเหนือไปยังรัฐนิวยอร์กและหลายรัฐในฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็นวอชิงตัน เพนซิลเวเนีย และแมสซาชูเซตส์ ก่อนที่จะเข้าประเทศแคนาดาในวันพุธ แม้ว่ามีพยากรณ์อากาศออกมาว่าระดับความเร็วของพายุจะลดลง แต่ยังจะเกิดฝนตกหนักและน้ำท่วมในหลายพื้นที่    
    กระทรวงพลังงานสหรัฐระบุว่า บ้านเรือนประชาชนและอาคารธุรกิจอย่างน้อย 8 ล้านหลังเกิดไฟฟ้าดับ ในโลเวอร์แมนฮัตตัน บ้านเรือนกว่า 80 หลังเกิดเพลิงลุกไหม้ และกลายเป็นเมืองร้าง รถยนต์จำนวนมากถูกปล่อยทิ้งให้จมน้ำ มีรายงานว่าเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 3 แห่งถูกปิด อีก 4 แห่งอยู่ในการเฝ้าระวัง
    พายุเฮอริเคนแซนดีได้สร้างสถิติสตอร์มเซิร์จ หรือคลื่นพายุหมุนซัดฝั่ง สูงถึง 4.2 เมตร ในตอนกลางของเกาะแมนฮัตตัน สูงกว่าสถิติเก่า 3 เมตรของพายุเฮอริเคนดอนนาในปีค.ศ.1960 และในนิวเจอร์ซีย์พายุได้กวาดเอาซากอิฐซากปูนไปกองรวมกันสูง 2.25 เมตร และพัดตู้รถสินค้ายกไปกองทับถมกัน
    ไมเคิล บลูมเบิร์ก นายกเทศมนตรีนครนิวยอร์ก กล่าวว่า เป็นพายุที่สร้างความเสียหายอย่างมหาศาล อาจจะมากที่สุดในประวัติศาสตร์ที่เคยประสบมาก็เป็นได้ ระบบขนส่งมวลชนใต้ดินของนครนิวยอร์กได้รับความเสียหายสูงสุดในประวัติศาสตร์ 108 ปีนับตั้งแต่มีการก่อตั้ง อุโมงค์เดินรถเต็มไปด้วยมวลน้ำ อุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ จะต้องได้รับการทำความสะอาดก่อนที่จะเปิดทำการใหม่ได้
    บลูมเบิร์กบอกว่า ยังไม่มีกำหนดหรือตารางเวลาว่าเมื่อไหร่ระบบรถใต้ดินจะเริ่มให้บริการอีกครั้ง แต่หวังว่ารถโดยสารจะกลับมาให้บริการปกติในวันพุธ ส่วนระบบไฟฟ้าของเมืองอาจต้องใช้เวลาอีกประมาณ 2-3 วันจึงจะกลับมาเชื่อมต่อได้อย่างปกติ ส่วนระบบให้บริการรถไฟบนดินที่เชื่อมต่อระหว่างรัฐนิวเจอร์ซีย์และนิวยอร์กอาจต้องหยุดบริการไปอีกประมาณ 7-10 วัน
    ท่าอากาศยานนานาชาติจอห์น เอฟ เคนเนดี ในนิวยอร์ก และเนวาร์ค ในนิวเจอร์ซีย์ มีกำหนดเปิดบริการอีกครั้งในตอนเย็นของวันพุธ แต่ไม่เต็มรูปแบบ ส่วนสนามบินลากาเดียในนิวยอร์กยังคงปิดทำการต่อไป
    ตลาดหุ้นนิวยอร์กและแนสแด็กกำลังจะเปิดทำการอีกครั้งหลังจากปิดการซื้อขายไป 2 วัน ซึ่งกรณีปิดตลาดหุ้นเป็นเวลา 2 วันก่อนหน้านี้ ต้องย้อนไปเมื่อปี ค.ศ.1888 หรือ 124 ปีก่อน ธุรกิจประกันภัยมีภาระต้องจ่ายประมาณ 7,000-15,000 ล้านเหรียญฯ หรือประมาณ 210,000-450,000 ล้านบาท    
    ประธานาธิบดีบารัก โอบามา มีกำหนดเดินทางไปเยี่ยมพื้นที่ภัยพิบัติในรัฐนิวเจอร์ซีย์ในวันพุธ พร้อมกับคริส คริสตี ผู้ว่าการรัฐฯ สมาชิกรีพับลิกัน ผู้สนับสนุนมิตต์ รอมนีย์ ผู้ท้าชิงการเลือกตั้งประธานาธิบดี ที่จะมีขึ้นในวันที่ 6 พฤศจิกายนนี้ ได้กล่าวชื่นชมโอบามาในการรับมือกับเฮอริเคนที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
    คริสตีกล่าวว่า ได้พูดคุยกับโอบามา 3 ครั้งในระหว่างที่พายุพัดถล่มรัฐนิวเจอร์ซีย์ โอบามาให้การสนับสนุนและช่วยเหลือรัฐนิวเจอร์ซีย์อย่างเต็มกำลัง และไม่มีแม้แต่ครั้งเดียวที่จะพูดเกี่ยวกับการเลือกตั้งออกมา และหากเขาไม่หยิบยกประเด็นการเลือกตั้งขึ้นมา ตนก็จะไม่ทำเช่นกัน
    ส่วนรอมนีย์ ก็งดกิจกรรมการรณรงค์เลือกตั้งลง โดยไปเยี่ยมเยียนผู้ประสบภัยในรัฐโอไฮโอแทน
    การประเมินตัวเลขงบประมาณการฟื้นฟูหลังจากพายุผ่านไปอยู่ที่ประมาณ 3-4 หมื่นล้านเหรียญฯ หรือประมาณ 9 แสน-1.2 ล้านล้านบาท ยังน้อยกว่าความเสียหายที่เกิดจากพายุเฮอริเคนแคทรินาในปี 2548 ที่สูงถึง 1 แสนล้านเหรียญฯ หรือประมาณ 3 ล้านล้านบาท.
    ///////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น