วันพุธที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

‘ประยุทธ์’งึมงำนิ้วเดียวไม่เสีย เมื่อ 13 พ.ย.56

‘ประยุทธ์’งึมงำนิ้วเดียวไม่เสีย


รัฐบาลปัดพัลวัน ไทยไม่เสียดินแดน " ปึ้งศักดิ์" ยอมรับต้องขีดเส้นใหม่ เลยเส้นล้อมรั้วตามมติ ครม.ปี 05 พร้อมเจรจากับกัมพูชาเรื่อง "ชะง่อนผา" เปิดประชุมรัฐสภามาตรา 190 ขอกรอบการเจรจา "ปู" อ้างเป็นชัยชนะทั้งสองประเทศ คำตัดสินเป็นคุณกับฝ่ายไทย ผบ.ทบ.ขึงขังย้ำคำเดิม ไม่ยอมเสียพื้นที่แม้ตารางนิ้วเดียว จับตาเขมรไม่ยอมถอนทหารจากภูมะเขือ ส.ว.สรรหาฉีกหน้ารัฐ ชี้ไทยเสียดินแดนครั้งที่ 15 เปรียบมีเงินอยู่ตรงกลาง 1 พันบาท ศาลพิพากษาให้เขมร 300 บาท เทียบ 1 ตร.กม.เท่ากับ 625 ไร่
    ที่สนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ เวลา 14.10 น. วันที่ 13 พฤศจิกายน นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การต่างประเทศ พร้อมด้วย พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมช.กลาโหม แถลงภายหลังเดินทางกลับประเทศไทยหลังรับฟังคำพิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือศาลโลก คดีปราสาทพระวิหารว่า ในวันที่ 13 พ.ย. จะได้นำผลการตัดสินคดีปราสาทพระวิหารเข้าสู่สภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ว่าด้วยเรื่องสนธิสัญญาและข้อตกลงระหว่างประเทศ เพื่อให้ ส.ส.และ ส.ว.เข้าใจตรงกัน พร้อมกันนี้ทางรัฐบาลจะได้ขอกรอบจากสภาเพื่อนำไปเจรจาตามกรอบเจรจาความร่วมมือทวิภาคีไทย-กัมพูชา หรือเจซี นอกจากนี้ ขั้นตอนต่อไป ทางกระทรวงการต่างประเทศจะต้องรีบดำเนินการแปลคำพิพากษาเป็นภาษาไทยอย่างเป็นทางการ
     "ได้ต่อสายตรงถึงนายฮอร์ นัมฮง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ต่างประเทศของประเทศกัมพูชาแล้ว ซึ่งทางกัมพูชาก็พร้อมจะเจรจา อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เราได้ให้ฝ่ายเทคนิค ประกอบด้วยทีมทนายความฝ่ายไทย กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ และกรมแผนที่ทหาร ศึกษาและสรุปผลการตัดสินของศาล และเมื่อได้ข้อสรุปจะได้ถ่ายทอดสดเพื่อชี้แจงต่อไป" นายสุรพงษ์กล่าว
    เมื่อถามถึงการวิพากษ์วิจารณ์ว่าไทยได้เสียดินแดนแล้ว นายสุรพงษ์กล่าวว่า ในอดีตศาลโลกตัดสินเฉพาะตัวปราสาทพระวิหารเท่านั้น วันนี้ศาลโลกจึงพิจารณาเพื่อตีความให้ละเอียดขึ้นจากคำตัดสินเดิมเมื่อปี 2505 ทั้งนี้ เส้นล้อมรั้วตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) ในปี 2505 เป็นเพียงเส้นที่เราขีดขึ้นมาเอง ซึ่งเดิมทีมติ ครม.เสนอเส้นล้อมรั้วไว้ 2 แนวทาง คือ 1. เส้นล้อมรั้วที่ไทยล้อมรั้วอยู่ และ 2.เป็นอีกแนวหนึ่ง อย่างไรก็ตาม เส้นเขตแดนที่ศาลโลกใช้ตัดสินเป็นเส้นใกล้เคียงกับแนวทางที่ 2 ของมติ ครม. สรุปเบื้องต้นว่า ตอนนี้ไทยไม่ได้เสียดินแดน 4.6 ตารางกิโลเมตร ส่วนแผนที่ 1 ต่อ 200,000 จะใช้บริเวณยอดเขาเท่านั้น ที่เหลือใช้แนวสันปันน้ำ รายละเอียดต่างๆ ทีมเทคนิคกำลังรวบรวมอยู่ และจะได้ชี้แจงต่อไป
    ส่วนศาลโลกตัดสินว่าชะง่อนผาเป็นของกัมพูชาจะขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญไทยมาตรา 1 ระบุว่า ราชอาณาจักรไทยต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่สามารถแบ่งแยกได้ นายสุรพงษ์ชี้แจงว่า เขตแดนนี้ศาลไม่เคยตัดสิน ไทยยึดแนวสันปันน้ำ แต่ตลอดระยะเวลากัมพูชายึดแผนที่ 1 ต่อ 200,000 ซึ่งมีอยู่หลายเส้น และเป็นการยากว่าจะนำเส้นไหนเป็นเส้นจริง ศาลโลกยังบอกด้วยว่าแผนที่ 1 ต่อ 200,000 ต้องนำมาลงในพื้นที่จริง ดังนั้นเราไม่ได้เสียดินแดน เพราะศาลโลกสั่งให้ไปพูดคุยกัน ซึ่งเราก็จะต้องคุยกันเรื่องชะง่อนผาอีกครั้งกับกัมพูชา
    "เท่าที่ฟังศาลตัดสินเมื่อวันที่ 11 พ.ย. เส้นล้อมรั้วพื้นที่โดยรอบปราสาทน่าจะเป็นเส้นในแนวทางที่ 2 ของมติ ครม.ปี 2505 ไม่น่าจะใช่เส้นล้อมรั้วที่ไทยเคยใช้" นายสุรพงษ์กล่าว 
ชัยชนะทั้ง 2 ประเทศ
    น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ว่า จากการตีความของศาลโลกเป็นการตีความให้เกิดความชัดเจนจากมติ ครม.เมื่อปี 2505 ว่าถ้าเมื่อปราสาทเป็นของกัมพูชา ดินแดนตรงนี้จะมีการดูแลกันอย่างไร เราจะนำกลไกนี้ไปหารือร่วมกับกัมพูชา ซึ่งมีกลไกกรรมาธิการร่วมอยู่แล้ว เพราะศาลโลกได้บอกว่าปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ทั้งสองประเทศต้องร่วมกันพัฒนา ขณะเดียวกันในพื้นที่เรายังให้เจ้าหน้าที่ทหารตรึงพื้นที่อยู่ตามเดิม และการทำงานทั้งหมดคงต้องไปหารือเรื่องเนื้อหาขอบเขตของตัวบริเวณปราสาทเป็นอย่างไร แต่รัฐบาลยังไม่ได้พูดถึงเขตแดน วันที่ 13 พ.ย. จะนำคำพิพากษาไปชี้แจงกับรัฐสภา ขณะเดียวกันตนเองได้ตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาวิเคราะห์เรื่องคำพิพากษา ซึ่งจะเป็นแนวทางที่เราต้องหารือร่วมกัน เราจะทำตามบทบัญญัติของกฎหมายภายใต้รัฐธรรมนูญของไทย
    "เรายื่นไปเป็นการให้ตีความให้ชัดเจนในประเด็นเมื่อครั้งที่ศาลโลกมีคำตัดสินปี 2505 ซึ่งศาลให้ความชัดเจนขึ้นมา และทางฝ่ายกัมพูชาขอให้ศาลวินิจฉัยเรื่องแผนที่ 1 ต่อ 200,000 ในพื้นที่ 4.6 ตร.กม.ก็จบแล้ว ศาลไม่รับในส่วนนี้ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่เป็นคุณ เพราะบริเวณนี้ประชาชนเป็นห่วงกังวล ซึ่งทำให้บรรยากาศแนวชายแดนคลายกังวลไปมาก"
    นายกฯ บอกว่า หลายประเทศเมื่อศาลโลกพิพากษามาแล้ว ทั้งสองประเทศก็ต้องหารือแนวทางตามเจตนาของศาลโลก เพราะไม่อยากให้เกิดความขัดแย้ง ซึ่งคงอยู่ที่สองประเทศ ถ้าสามารถที่จะหารือในการบริหารพื้นที่ร่วมกันได้ก็น่าจะเป็นประโยชน์ ส่วนที่สื่อต่างประเทศและกัมพูชาพูดในทางตรงกันข้ามกับฝ่ายไทย ต้องบอกว่าต่างฝ่ายต่างต้องมองในมุมของตนเอง แต่เราอย่าไปมองว่าเป็นชัยชนะหรืออะไร
    "ถือว่าเป็นชัยชนะของทั้งสองประเทศและความสัมพันธ์ทั้งสองประเทศที่เราไม่ทะเลาะเบาะแว้งกัน หรือไม่ทำให้เกิดความรุนแรงในพื้นที่ เป็นสิ่งที่ทุกคนน่าจะปรารถนา แต่การหารือในส่วนของพื้นที่ที่เรียกว่าเป็นพื้นที่ส่วนน้อยบริเวณนั้น คงต้องไปดูกันในรายละเอียดของแผนที่จริงๆ และตัวพื้นที่อีกที" น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าว
     นายธีรัตถ์ รัตนเสวี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าการดำเนินการต่อคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารของศาลโลก นายกฯ ให้นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการ ครม. ชี้แจงต่อที่ประชุม ครม. เนื่องจากคำตัดสินมีความอ่อนไหว จึงตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษารายละเอียด จะใช้กลไกที่มีอยู่ทั้งคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวีภาคีไทย- กัมพูชา (เจซี) และคณะกรรมการเขตแดนร่วม (เจบีซี) หารือเพื่อหาทางพัฒนาพระวิหารในฐานะมรดกโลกต่อไป
เปิดประชุมร่วมรัฐสภา
    ทั้งนี้ จากการประชุม ครม.นัดพิเศษ ได้มีการทำหนังสือต่อประธานรัฐสภา เพื่อขอเปิดประชุมสภาร่วม นำเรื่องคำพิพากษาของศาลโลกเข้าที่ประชุม เพื่อขอชี้แจงต่อสภา ตามมาตรา 179 บรรจุเป็นวาระในสภาแล้ว เพื่อเปิดการอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติ  และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะ รมว.กลาโหม ได้สั่งการให้ทหารอยู่ในที่ตั้ง นอกจากนี้ นายกฯ ได้ขอบคุณทีมไทยแลนด์ในการสู้คดี และรักษาบรรยากาศบริเวณชายแดนให้เป็นปกติสุข และขอบคุณเจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทยที่ช่วยชี้แจง
     นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ที่ประชุมพรรคเพื่อไทยขอให้ ส.ส.ช่วยไปทำความเข้าใจกับประชาชนถึงคำวินิจฉัยของศาลโลก เรื่องปราสาทพระวิหาร เพราะสื่อที่อยู่ตรงข้ามรัฐบาลบิดเบือนข้อเท็จจริงว่าไทยเสียดินแดน ทั้งที่ไทยไม่ได้เสียดินแดน จึงไม่อยากให้ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลนำเรื่องนี้เป็นประเด็นการเมืองเพื่อล้มรัฐบาล สร้างความเข้าใจผิดแก่ประชาชน อาจนำไปสู่ความขัดแย้งได้
 
    นายนพดล ปัทมะ อดีต รมว.การต่างประเทศ กล่าวว่า ขอแสดงความดีใจกับทีมกฎหมายและประชาชนคนไทย ที่คำตัดสินของศาลโลกในกรณีปราสาทพระวิหารเป็นคุณต่อประเทศไทย ที่ได้ยืนยันว่าพื้นที่ 4.6 ตร.กม.ไม่ได้เป็นของกัมพูชา และตัดสินว่าแผนที่ 1 ต่อ 200,000 ไม่ใช่เส้นเขตแดนระหว่างไทยและกัมพูชา และศาลขอให้ทั้งสองฝ่ายไปเจรจาเรื่องพื้นที่บริเวณตัวปราสาท วันนี้ทุกอย่างชัดเจนแล้วว่าสิ่งที่รัฐบาลนายสมัคร สมัยตนเป็น รมว.การต่างประเทศ ในปี 2551 เป็นการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่ถูกต้อง ปกป้องแผ่นดินไทย
     พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก(ผบ.ทบ.) กล่าวว่า ทหารยืนยันจะทำหน้าที่ในการรักษาอธิปไตยตามแนวชายแดนเหมือนเดิมทุกประการในทุกที่และทุกจุด ยังไม่มีคำสั่งอะไรเปลี่ยนแปลง ส่วนการปฏิบัติตามคำสั่งศาลโลกนั้น ไม่อยากให้ด่วนสรุปกันเร็วไปนัก ขอให้รอผลการพูดคุยในระดับรัฐบาลของทั้งสองฝ่าย เพื่อแสวงหาข้อตกลงร่วมกันในการทำให้พื้นที่ดังกล่าวเกิดความปลอดภัย อยากให้ทุกคนอยู่ในความสงบ การจะด่วนสรุปอะไรมากหรือน้อยเกินไป จะทำให้เกิดความยุ่งยากในการพูดคุยของคณะทำงานทุกระดับ       
    
    ผู้สื่อข่าวถามว่า ศาลโลกชี้ว่าภูมะเขือไม่ใช่ของกัมพูชา แต่ยังมีทหารกัมพูชายังยึดพื้นที่อยู่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่มีการยึดพื้นที่ เขาก็อยู่ในพื้นที่ของเขา ส่วนกัมพูชาต้องถอนทหารออกไปหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการพูดคุย ไม่ใช่พูดต่อหน้าสื่อ เพราะจะไม่มีวันจบ ซึ่งการพูดคุยจะต้องทำให้เกิดประโยชน์ต่อแผ่นดิน ส่วนการชุมนุมต่างๆ ที่มีการปลุกกระแสเรื่องการเสียดินแดนนั้น ไม่มีใครประกาศว่าใครเสียตรงไหน ศาลยังไม่ได้ประกาศอะไรทั้งนั้น อย่าเพิ่งด่วนสรุป
    เมื่อถามว่า ผบ.ทบ.บอกว่าจะรักษาอธิปไตยไทยทุกตารางนิ้ว พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ทำไมจะรักษาไม่ได้ ก็รักษาตามกฎกติการะเบียบที่มีอยู่ ทั้งนี้ หลังจากที่ศาลโลกพิพากษาคดีได้มีการประชุมหารือร่วมกับนายกฯ มาโดยตลอด ขณะนี้เป็นขั้นตอนการสรุปคำตัดสินของศาล และปรึกษาหารือระหว่างรัฐบาล กระทรวงต่างประเทศ ฝ่ายความมั่นคง ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เพื่อนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ดีต่อไปในอนาคต
กห.ทำตามรัฐบาล
    ถามว่า กรณีที่ศาลไม่ได้ชี้ว่าภูมะเขือเป็นของประเทศไหน จะทำให้เกิดปัญหาในอนาคตหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ศาลตอบคนฟ้อง เมื่อศาลบอกว่าไม่ใช่ ก็จบตรงนั้น แล้วจะต่อความจากศาลทำไม ศาลตอบครบแล้ว ทุกอย่างเป็นสิ่งที่ดีที่เราจะทำงานต่อไปได้ในอนาคต
    "เสียตรงไหน ที่บอกว่าแคบๆ ตรงไหน เมื่อศาลยังไม่ได้บอก ก็ยังไม่เสีย" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
    ขณะที่กระทรวงกลาโหม โดย พ.อ.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกระทรวงกลาโหม ออกเอกสารชี้แจงระบุว่า แนวทางการปฏิบัติของกระทรวงกลาโหม จะดำรงรักษาความสัมพันธ์ทางทหารกับกัมพูชา ในทุกระดับตามนโยบายของรัฐบาล พร้อมกับจะติดตามสถานการณ์ตามแนวชายแดนรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ รวมทั้งจะไม่ดำเนินกิจกรรมใดๆ ที่ก่อให้เกิดความตึงเครียดตามแนวชายแดน พร้อมกับเน้นย้ำกำลังพลให้มีความอดทน อดกลั้น กวดขันในการใช้อาวุธด้วยความระมัดระวัง ลดความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน
    แหล่งข่าวทหารทหารระบุว่า คำพิพากษาของศาลโลกไม่ได้ยืนยันเรื่องแผนที่ 1 ต่อ 200,000 ตารางกิโลเมตร ตามที่ฝ่ายกัมพูชาพยายามอ้าง และหาเสียงกับประชาชนของประเทศเขาในขณะนี้ แต่เป็นไปตามที่นายวีรชัย พลาศรัย หัวหน้าคณะดำเนินคดีฯ ที่บอกว่าแผนที่ฉบับที่กัมพูชานำมาอ้างนั้นไม่มีสิทธิ์ที่จะนำมาใช้อ้างอิง ในคำพิพากษามีความชัดเจน ซึ่งพื้นที่แคบๆ เล็กๆ ที่ศาลระบุนั้น คณะทำงานของสองประเทศจะต้องมาหารือกันว่าเป็นพื้นที่ตรงไหน และบริเวณใด แต่หากดูตามการอธิบายของศาล คาดว่าแนวทางการพูดคุยจะยืนอยู่ในข้อเท็จจริงของคำพิพากษานี้ ซึ่งทิศตะวันตกเฉียงใต้จะเป็นพื้นที่ด้านใต้ของลำห้วยตานี และในส่วนจุดที่ตั้งฐานของตำรวจตระเวนชายแดน ที่ถอนมาจากบริเวณปราสาทพระวิหาร ที่เราได้ปฏิบัติตามบทปฏิบัติการข้อ 2 ตามคำพิพากษาศาลโลกเมื่อปี 2505 ซึ่งอยู่บริเวณผลาญหิน ทางขึ้นเขาพระวิหาร ช่วงช่องคานม้า รอยต่อระหว่างเขาพระวิหารกับภูมะเขือ อย่างไรก็ตาม พื้นที่บริเวณดังกล่าวยังไม่ได้คำนวณว่าเกินจากแนวลวดหนามเดิมเท่าไหร่ แต่ไม่ได้ถึงแนวผามออีแดงอย่างที่หลายฝ่ายระบุ
     “โดยพฤตินัย เราไม่มีทหารอยู่บริเวณนั้น เพราะฉะนั้นไม่มีการปฏิบัติเรื่องถอนทหาร แต่บริเวณภูมะเขือมีกำลังทั้งสองฝ่าย เมื่อคำพิพากษาบอกว่า Vicinity มีขอบเขตที่ไม่ได้หมายรวมถึงภูมะเขือ จึงมีคำถามว่า ทหารกัมพูชาที่อยู่บนภูมะเขือจะลงมาหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องคุยในรายละเอียดของคณะทำงานสองประเทศ แต่ขณะนี้กำลังทั้งสองชาติจะแพ็กอยู่ที่เดิม คงยังไม่ขยับไปไหม และจะมีประสานงานกันระหว่างทหารสองฝ่ายเพื่อไม่ให้เกิดปัญหากระทบกระทั่งกัน” แหล่งข่าวระบุ
    ที่รัฐสภา นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา, นายสาย กังกะเวคิน ส.ว.ระยอง และนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา ในฐานะ กมธ.ศึกษา ตรวจสอบ เรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา แถลงตอบโต้รัฐบาลที่ระบุว่าคำตัดสินของศาลโลกไทยไม่เสียดินแดนในพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร โดยนายคำนูณกล่าวว่า จากการฟังดูทิศทางจากสื่อต่างประเทศ ทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส รวมทั้งความเห็นของนายสุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งจบกฎหมายจากฝรั่งเศส ยืนยันได้ว่าเราแพ้คดี โดยเราเสียดินแดนชะง่อนผา (ยอดเขาพระวิหาร) หรือ Promontory ให้กัมพูชาทั้งหมด อาทิ บริเวณวัดแก้วสิกขาคีรีสวาระ และถนนจากบ้านโกมุยที่เขมรสร้างขึ้นมายังเขาพระวิหาร ซึ่งเสียดินแดนไปมากกว่าแนวรั้วลวดหนาม ตามมติ ครม.วันที่ 10 ก.ค. 2505 ดังนั้นหากจะมองตามจุดยืนที่กระทรวงการต่างประเทศที่ระบุว่าเราจะไม่เสียดินแดนเพิ่ม ก็เท่ากับเราแพ้ ส่วนจะเสียดินแดนมากน้อยขนาดไหนอยู่ที่การเจรจา
     นายคำนูณเรียกร้องไปที่รัฐบาล 4 ข้อ ดังนี้ 1. รัฐบาลอย่างเพิ่งปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโลก เพราะยังไม่มีความชัดเจน 2.ควรเร่งศึกษาคำพิพากษาอย่างละเอียดถึงข้อดีและข้อเสียของการปฏิบัติตามหรือไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา รวมถึงศึกษากรณีคำตัดสินของศาลโลกในลักษณะนี้ทั้ง 4 คดีมาเทียบเคียง โดยเปิดโอกาสให้ตัวแทนจากภาควิชาการและภาคประชาชนเข้าร่วมด้วย 3.ให้รัฐบาลและกระทรวงการต่างประเทศให้นำทุกเรื่องที่จะเจรจากับประเทศกัมพูชามาเสนอต่อสภาก่อน แม้รัฐธรรมนูญมาตรา 190 จะแก้ไขได้สำเร็จหรือไม่ 4.ขอประชามติจากประชาชนตามมาตรา 165 (1) ว่าจะปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลหรือไม่
เสียดินแดนครั้งที่ 15
    “วันนี้อยากให้ประชาชนรับทราบความจริงว่าเราเสียดินแดนแล้ว เพราะรัฐบาลแถลงแต่ด้านดีเท่านั้น ยกตัวอย่างง่ายๆ มีเงินวางอยู่ตรงกลาง 1,000 บาท ซึ่งไทยก็อ้างว่าเป็นของตัวเอง และกัมพูชาก็อ้างว่าเป็นของตัวเองเช่นกัน แต่ศาลพิพากษาว่า 300 บาท อยู่กับกัมพูชา แล้วเราก็มาดีใจว่าเราไม่เสียเงิน 1,000 บาท” นายคำนูณกล่าว
    ด้านนายสายเตือนรัฐบาลว่า อาจเข้าข่ายกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 219 ที่ลงโทษผู้ที่ทำให้เสียดินแดน ที่จะมีโทษประหารชีวิต ส่วน นายไพบูลย์กล่าวยืนยันว่า เราเสียดินแดนนิดหน่อย แต่มันเป็นหัวใจของพื้นที่
    ต่อมา น.ส.พิกุลแก้ว ไกรฤกษ์ ส.ว.พิษณุโลก ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา แถลงว่า ไม่เห็นด้วยตามคำพิพากษาข้อ 98 และ 104 ซึ่งกังวลว่าพื้นที่ไม่ได้ระบุไว้ชัดเจนจะตกเป็นของกัมพูชา เพราะเป็นการกำหนดตามภูมิศาสตร์ ทั้งที่ควรจะกำหนดเป็นเส้นเขตแดนชัดเจน คำพิพากษามีการเอาเรื่องมรดกโลกมากล่าวอ้างด้วย ซึ่งเป็นการพิพากษานอกการตีความ
     ขณะที่นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ถือว่าไทยเสียดินแดนเป็นครั้งที่ 15 ส่วนภูมะเขือที่ศาลไม่ยอมตัดสินทั้งที่มันเป็นของไทย แต่ศาลไม่ยอมตัดสินว่าเป็นของใคร ให้ทั้ง 2 ฝ่ายเจรจากันเอง มองว่าพื้นที่ดังกล่าวจะเป็นปัญหาในอนาคตอีกแน่นอน เนื่องจากจะต้องไปให้ศาลโลกตีความอีก ส่วนที่ระบุว่าไทยเสียดินแดนไปนิดเดียว อยากบอกว่า หากเสีย 1 ตารางกิโลเมตร ก็จะเท่ากับ 625 ไร่ แต่หากเสีย 1.5 ตารางกิโลเมตร ก็จะเท่ากับเสียกว่า 1,000 ไร่
    ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า สิ่งต่อไปที่รัฐบาลไทยจำเป็นจะต้องทำคือ 1.ต้องบอกความจริงกับประชาชนก่อนว่า คำพิพากษาว่าอย่างไรให้ครบถ้วน 2.การจะแสดงท่าทีอย่างไรต่อคำพิพากษานี้ ให้พึงกระทำด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง มิฉะนั้นก็จะไปกระทบต่อกระบวนการของการเจรจาต่อไปในอนาคต 3.กระบวนการเจรจาพึงกระทำในลักษณะที่โปร่งใส ตนเป็นห่วงเพราะว่ารัฐบาลแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 190 ว่าต่อไปนี้ไม่ต้องเข้าสภาก่อน ทั้งยังตัดเรื่องการเปิดโอกาสรับฟังความเห็นจากประชาชนออกไป.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น