วันอังคารที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ทางเริ่มแคบ เสียงมวลชนเริ่มบีบให้ปฏิรูปพร้อมกับขับไล่ชินวัตร!! โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 19 พฤศจิกายน 2556 05:01 น.

ทางเริ่มแคบ เสียงมวลชนเริ่มบีบให้ปฏิรูปพร้อมกับขับไล่ชินวัตร!!

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์19 พฤศจิกายน 2556 05:01 น.

ผ่าประเด็นร้อน 
       
       นาทีนี้ถือว่าสถานการณ์กำลังเดินมาถึงจุดสำคัญเข้ามาเรื่อยๆ เพราะหากพิจารณาจากความเป็นจริงตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายนเป็นต้นไปจนถึงวันที่ 24 พฤศจิกายน สำหรับคนที่ติดตามความเคลื่อนไหวตามตลอดย่อมเข้าใจดีว่ามันสำคัญยิ่งยวดแค่ไหน สำหรับวันแรกคือ 20 พฤศจิกายน เป็นวันที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องที่มาของสมาชิกวุฒิสภาว่ามีขั้นตอนกระบวนการเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แม้ว่างานนี้ไม่อยากจะไปคาดเดาล่วงหน้า เพราะเชื่อว่าทุกคำตัดสินที่ออกมาย่อมีคำอธิบายให้เข้าใจได้ เพียงแต่ว่าบรรยากาศในวันนี้เริ่มตึงเครียดและต้องลุ้นกันระทึก โดยเฉพาะฝ่ายรัฐบาล พรรคเพื่อไทย และ ทักษิณ ชินวัตร ในฐานะ “ผู้ลงทุนรายใหญ่” ในระบบธุรกิจการเมือง เพราะถ้าผ่านไปได้ ทุกอย่างก็อยู่ในมือเขาอย่างเบ็ดเสร็จ อาจจะคุ้มค่ามากกว่า พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมสุดซอยที่ก่อให้เกิดการต่อต้านอย่างขนานใหญ่เสียอีก เนื่องจากหากสามารถเปลี่ยนแปลงที่มาของ สมาชิกวุฒิสภาให้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด จนกลายเป็นสภาผัวเมีย สภาพก็ไม่ต่างจาก “สภาทาส”ที่เคยเกิดขึ้นในยุคอดีต ในขณะที่วุฒิสภามีอำนาจในการแต่งตั้งเห็นชอบบุคลากรในองค์กรอิสระ เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นต้น รวมทั้งตุลาการ เช่น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นต้น ทีนี้พอนึกภาพออกหรือยังว่าทำไมถึงต้องเร่งให้มีการแก้ไข และนึกภาพล่วงหน้าว่าวุฒิสภาในวันหน้าเราก็ต้องมีคนอย่าง นิคม ไวยรัชพานิช เต็มสภา
       
       อย่างไรก็ดี บรรยากาศที่ต้องลุ้นระทึก กำลังนับถอยหลังเข้ามาเรื่อยๆ แล้วว่าศาลรัฐธรรมนูญจะชี้ขาดออกมาแบบไหน แต่ก่อนจะถึงนาทีนั้น ก็มีความเคลื่อนไหวของมวลชนในเครือข่ายของ ทักษิณ ที่มาในรูปของคนเสื้อแดงสารพัดชื่อที่เป็นทั้งการชุมนุมในพื้นที่ไม่ห่างจากสำนักงานศาลฯ รวมทั้งตั้งเวทีอยู่หน้าสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งลักษณะแบบนี้มองเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากเป็นเจตนา “ข่มขู่ศาล”ขณะเดียวกัน ยังมีคำพูดของคนในรัฐบาล และคนในวุฒิสภา อย่าง นิคม ไวยรัชพานิช ที่ที่กล่าวในเชิงข่มขู่ว่าศาลคงตัดสินออกมาให้บ้านเมืองเกิดความสงบ
       
       นี่ยังไม่นับกรณีที่มีบรรดา “หัวโจก” คนเสื้อแดงที่ไฟเขียวให้มีการเคลื่อนไหวข่มขู่คุกคามตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเป็นรายบุคคล ซึ่งหมายรวมถึงคนในครอบครัวด้วย ก็ได้แต่หวังว่าสังคมต้องรวมพลังกันปกป้องเพื่อให้ตุลาการศาลฯได้ทำหน้าที่อย่างอิสระ เพราะนาทีนี้คงไปหวังพึ่งพาตำรวจคงไม่ได้ผลแล้ว เพราะกลายเป็นกลไกทาสรัฐบาล มีส่วนได้เสียกับการอยู่หรือไปของรัฐบาล พรรคเพื่อไทย และระบอบทักษิณด้วย ดังนั้นจึงไม่สมควรไปคาดหวังกับการทำหน้าที่ในฐานะ “ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์”ของคนพวกนี้ได้เต็มร้อย
       
       หันมาทางบรรยากาศและการชุมนุมเคลื่อนไหวขับไล่ระบอบทักษิณของมวลชนที่นำโดย สุเทพ เทือกสุบรรณ บนถนนราชดำเนินบ้าง ล่าสุดบรรยากาศเริ่มคึกคักร้อนแรงขึ้นมาอีก หลังจากสุเทพได้ประกาศ “ไล่ระบอบทักษิณ” และให้ “สร้างสังคมใหม่” ขึ้นมา แม้ว่าจะไม่ใช้คำว่า “ไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” รวมทั้งให้ “ปฏิรูปการเมือง” ก็ตาม แต่อารมณ์และความหมายของมวลชนล้วนไปทางนั้นหมดแล้ว ถึงสุเทพและทีมงานไปเดินไปทางนี้ มวลชนดังกล่าวก็ต้องบังคับให้เดินนั่นแหละ 
       
       การประกาศระดมมวลชนให้ออกมาไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน เพื่อขับไล่ระบอบทักษิณ ในวันที่ 24 พฤศจิกายน มันถึงเป็นไปได้ เพราะถือว่ามี “เป้าหมายชัดเจน” หนักแน่นกว่าทุกครั้ง เพราะนี่คือเจตนาร่วมกันในการอัปเปหิระบบเส็งเคร็งที่เกาะกินทำลายสังคมไทยตลอดช่วงกว่าสิบปีที่ผ่านมา พร้อมๆ กับอารมณ์เบื่อหน่ายระบบการเมืองที่เปิดช่องให้นักการเมืองทุจริตคอร์รัปชันอยู่ตลอดเวลา เพราะเมื่อเปลี่ยนคนนี้ไปคนใหม่เข้ามาก็เข้าอีหรอบเดิม และต้องออกมาขับไล่กันอีกไม่สิ้นสุด ดังนั้น นาทีนี้จึงถือว่า “สังคมตื่นรู้” และต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมใหม่ด้วยการ “ปฏิรูป”กันอย่างขนานใหญ่ในทุกวงการ มีเพียงวิธีการแบบนี้เท่านั้นที่จะไม่ “เสียของ”เสียเวลาเปล่า
       
       เชื่อว่าอารมณ์ของมวลชนในเวลานี้กำลังกดดันให้แกนนำ โดยเฉพาะ สุเทพ เทือกสุบรรณ ให้เดินในเส้นทางนั้น ขณะเดียวกัน ตัวเขาเองเมื่อได้ผ่านเวลาที่ร่วมต่อสู้ “บนถนน”ร่วมกับมวลชนมาระยะหนึ่งหาก “มองในแง่ดี” ก็ทำให้เกิด“อารมณ์ร่วม” บางอย่างเกิดขึ้นมาก็ได้ เพราะถ้าต้องการ “ได้ใจ” ก็มีทางนี้ทางเดียวเท่านั้น ไม่ใช่เพียงแค่ “ไล่อย่างเดียว” แน่นอนว่า ไล่นั้นไล่แน่ แต่อารมณ์นี้ต้องมากกว่านั้น ไปไกลกว่านั้นแล้ว!!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น