วันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

เงื่อนไขโจร! เมื่อ 9 พ.ย.56

เงื่อนไขโจร!


ลักหลับไปแล้วหนหนึ่ง หวังจะข่มขืนซ้ำ แต่ไม่สำเร็จครับ  ถอดยกทรง กางเกงในไม่ได้ เพราะองค์ประชุมวุฒิสภาไม่ครบ  พวกทาส "อาณานิคม ไวยรัชพานิช" วิ่งกันพล่าน รับงานมาแล้วดัน "ขี้ขำ" คาอยู่อย่างนั้น สุดท้ายต้องรอตามปฏิทินเดิม คือวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน 
    เวลานี้องคาพยพของระบอบทักษิณขับเคลื่อนกันเป็นหนูติดจั่น เพื่อชิงความได้เปรียบทางการเมืองกลับคืนมา 
    แต่อย่างว่ามวยเคยเป็นต่อไม่ชินกับการถอย ไม่เคยตกเป็นฝ่ายรับ เมื่อถึงคราวต้องเดินถอยหลัง "ใจมันเสีย" ครับ! 
    จำได้ว่าเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มีการเผยแพร่คำทำนายของ "หมอดูอีที" ทางโลกออนไลน์  ใจความว่า 
    "ขณะนี้เป็นจุดต่ำสุดของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ คนในประเทศจะมีการต่อสู้กันเอง ทำให้เกิดความสูญเสีย แต่หลังจากผ่านวิกฤติไปได้ ประเทศจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น
           ช่วงเดือน ส.ค.เป็นจุดเริ่มต้นของการต่อสู้ เรื่อยไปจนถึงเดือน ก.ย.-ต.ค. โดยจะใช้เวลาประมาณ 6-9 เดือน และสถานการณ์จะเริ่มคงที่ในช่วงปี 2557 โดยตลอดทั้งปีจะเป็นช่วงเปลี่ยนแปลง และในช่วงปี 2558 จะเป็นปีแห่งความหวังใหม่ของประเทศไทย โดยที่มีผู้มีอำนาจรัฐบาลปัจจุบันจะสูญหายไม่เหลือซาก"
    ผมไม่ถนัดเรื่องโหร แต่พอมาผูกกับสถานการณ์จริง มันเริ่มมีเค้าครับ   
    หาก "น.ช.ทักษิณ" ยังไม่สำนึก ใช้คนของตัวเองเดินเกมท้าทายความรู้สึกของประชาชน จะก้าวเข้าสู่หายนะเร็วขึ้น 
    ความขัดแย้งระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับบริหารในอดีตถึงขั้นที่รัฐบาลต้องยุบสภาฯ ลาออกนั้นมีอยู่หลายครั้ง ครับ
    ครั้งที่ ๑ พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ลาออกในวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๔๗๗ เพราะสภาฯ ไม่อนุมัติสนธิสัญญาจำกัดยางของรัฐบาล และลาออกอีกครั้งวันที่ ๘ สิงหาคม  ๒๔๘๐ เพราะกระทู้เรื่องขายที่ดินพระคลังข้างที่ 
    ครั้งที่ ๒ จอมพลแปลก พิบูลสงคราม ยุบสภาฯ ในวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๔๘๗ เพราะสภาฯ ไม่รับ พ.ร.ก.นครบาลเพชรบูรณ์
    ครั้งที่ ๓ นายควง อภัยวงศ์ ลาออกในวันที่ ๒๓ มีนาคม  ๒๔๘๙ เพราะแพ้โหวตกฎหมายที่รัฐบาลในขณะนั้นไม่เห็นด้วยคือ พระราชบัญญัติคุ้มครองค่าใช้จ่ายของประชาชนในภาวะคับขัน (พ.ร.บ.ปักป้ายราคาสินค้าอุปโภคบริโภค หรือ "พ.ร.บ.ปักป้ายข้าวเหนียว") 
    นั่นคือบรรทัดฐานทางการเมืองที่คนรุ่นเก่าสร้างเอาไว้ 
    มาวันนี้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ยอมถอย ไม่ดันร่างกฎหมายนิรโทษกรรมอีกต่อไป แม้รัฐบาลอ้างว่าไม่จำเป็นต้องยุบสภา ฯ ลาออก เพราะมิได้เป็นกฎหมายของรัฐบาล แต่ผมยังไม่เห็นว่ามีใครออกมาเรียกร้องให้ "หัวเขียง" ประยุทธ์ ศิริพานิชย์ แสดงความรับผิดชอบในฐานะรับใบสั่งแปรญัตติปล่อยนักโทษหนีคุกให้พ้นจากความผิดคอร์รัปชัน  
    ถนนทุกสายมุ่งตรงไปที่ นายกฯ ยิ่งลักษณ์ กันทั้งนั้น  เพราะผู้คนรู้ว่าร่างกฎหมายฉบับนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร และรัฐบาลเข้าไปเกี่ยวข้องมากแค่ไหน 
    เชื่อเถอะครับ ถ้าร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านสภาฯ จนมีผลบังคับใช้ รัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะนำไปเป็นผลงาน ไปหาเครดิตจากมวลชนเสื้อแดง 
    ฉะนั้นการปฏิเสธความรับผิดชอบ ไม่รู้ไม่เห็น จึงเป็นเรื่องยาก
    รัฐบาลยิ่งลักษณ์กำลังเดินเข้าสู่กับดักแห่งความตายที่ตัวเองสร้างขึ้น 
    หากรัฐบาลแสดงเจตนารมณ์ยอมรับการคว่ำร่างกฎหมายของวุฒิสภาจริง หนีไม่พ้นหรอกครับ ต้องยุบสภาฯ หรือลาออกครับ  เป็นการแสดงความรับผิดชอบทางการเมือง  เพราะรัฐบาลเป็นผู้ประกาศเองว่าเมื่อกฎหมายตกไปแล้วจะไม่หยิบยกขึ้นมาพิจารณาอีก
    แต่แผนโจรต้องอ่านตามให้ละเอียด ถ้าที่ประชุมวุฒิสภาวันที่ ๑๑ พฤศจิกายนมีมติคว่ำร่างกฎหมาย ตามทิศทางของส.ว.ทาส เรื่องใหญ่ครับ! 
    รัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๔๗ (๒) ถ้าวุฒิสภาไม่เห็นด้วยกับสภาผู้แทนราษฎร ให้ยับยั้งร่างพระราชบัญญัตินั้นไว้ก่อน  และส่งร่างพระราชบัญญัตินั้นคืนไปยังสภาผู้แทนราษฎร
    มาตรา ๑๔๘ ร่างพระราชบัญญัติที่ต้องยับยั้งไว้ตามมาตรา ๑๔๗ นั้น สภาผู้แทนราษฎรจะยกขึ้นพิจารณาใหม่ได้ต่อเมื่อเวลาหนึ่งร้อยแปดสิบวันได้ล่วงพ้นไป นับแต่วันที่วุฒิสภาส่งร่างพระราชบัญญัตินั้นคืน
    ถ้าวุฒิสภาคว่ำวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน แล้วส่งคืนทันที  ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมก็ยังมีลมหายใจไปจนถึง กลางเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๗ 
    ไม่ตายในทันทีครับ 
    นี่คือเหตุผลที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์โยนเผือกร้อนใส่วุฒิสภา เพื่อลดแรงต้าน ก่อนที่จะคอนโทรลให้ผลออกมาเป็นที่ต้องการ 
    เรียกว่าถอยอย่างนั้นหรือ? 
    การยุบสภาฯ ในความรู้สึกของรัฐบาลนี้ เป็นเรื่องยากครับ เพราะ ยิ่งลักษณ์ เธอนั่งทับขี้กองโต ทับตัวเลขที่เป็นความลับอยู่มากพอควร  โดยเฉพาะโครงการรับจำนำข้าว ทั้งขาดทุนกำไร และขาดทุนจากการโกงรวมแล้วเป็นเงินก้อนโต 
    เท่ากับ ๑ ใน ๔ ของงบประมาณแผ่นดิน 
    ณ เวลานี้การรักษาอำนาจเอาไว้ในมือจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของระบอบทักษิณ  
    และความพยายามนี้ได้สะท้อนออกมาในรูป การปลุกมวลชนเสื้อแดงที่เคยใหญ่คับบ้านคับเมือง ให้กลับมาแสดงบทบาทอันน่าเขย่าขวัญกันอีกรอบ 
    แต่หยุดคิดกันสักนิดนะครับ เมื่อคราวการชุมนุมปิดเมืองแล้วเผานั้น มีมหาวิทยาลัยไหน องค์กรใด เรียงหน้าออกมาสนับสนุนการกระทำดังกล่าวบ้าง 
    แล้วลองเปรียบเทียบกับกระแสต้านกฎหมายล้างโกงเหมาเข่งที่มืดฟ้ามัวดินในเวลานี้ มันช่างแตกต่างกันราวฟ้ากับเหว 
    เอาหละครับ...ที่จริงในแง่จำนวนมวลชนที่สนับสนุน เป็นแค่ส่วนประกอบ แต่ประเด็นหลักอยู่ที่เป้าหมายของการชุมนุม ว่าทำเพื่ออะไร อย่างไร
    แน่นอนว่าคนที่ออกมาคัดค้านร่างกฎหมายล้างผิดยกเข่ง มีอยู่สองส่วน ส่วนแรกไม่ต้องการให้ "น.ช.ทักษิณ" พ้นจากความผิดคอร์รัปชัน ไม่ต้องการให้รัฐบาลทำลายหลักนิติรัฐ นิติธรรม
    อีกกลุ่มซึ่งน้อยกว่าคือไม่ต้องการให้ "มาร์ค-เทือก" พ้นจากความรับผิดชอบต่อการตายของมวลชนเสื้อแดง 
     แต่การที่ประชาชนลุกขึ้นมาใช้สิทธิ์ประชาธิปไตยทางตรงกันมากมายเป็นประวัติศาสตร์นี้ แทนที่รัฐบาลและ ส.ส.พรรคเพื่อไทย จะกล่าวคำขอโทษประชาชน กลับตำหนิประชาชนว่าไม่พร้อมให้อภัย และไม่เข้าใจในสิ่งที่รัฐบาลทำ  
    ซ้ำร้าย รัฐบาลยิ่งลักษณ์กลับมีความคิดที่จะตอบโต้ครับ
    การขับเคลื่อนผ่านมวลชนเสื้อแดงที่ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว  สะท้อนให้เห็นถึงการโกหกตอแหลของนายกรัฐมนตรี ที่พล่ามพูดคำว่าให้ทุกฝ่ายปรองดอง แล้วให้รัฐบาลบริหารประเทศต่อไป 
    ขณะนี้เกิดวาทกรรมใหม่โดย "จตุพร พรหมพันธุ์" "การโค่นล้มระบบประชาธิปไตยซึ่งเป็นเรื่องที่ใหญ่กว่ายังไม่หยุด  เมื่อเราไม่ผนึกกำลังรัฐบาลอาจล้ม เราจึงต้องปกป้องรัฐบาล"
    เป็นเรื่องน่าเวทนาสำหรับคนเสื้อแดง ถูกเหยียบศพใช้เป็นตัวประกันร่างกฎหมายนิรโทษโกงยังไม่พอ กลับถูกใช้เป็นเครื่องมือในการรักษาอำนาจของระบอบทักษิณซ้ำอีก 
    ผมเชื่อว่ามีคนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งสำลักความจริงใจจากรัฐบาลเพื่อไทย รู้ซึ้งถึงความคิดของระบอบทักษิณที่ว่า เมื่อยังไม่สามารถนิรโทษโกงให้ "น.ช.ทักษิณ" ได้ พวกเอ็งก็อย่าหวังจะได้นิรโทษกรรม
    และในข้อเท็จจริงคนเสื้อแดงไม่เหลืออะไรแล้ว หลังนายใหญ่สั่งพรรคเพื่อไทยถอนร่างกฎหมายนิรโทษกรรม-ปรองดอง ๖ ฉบับออกจากวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
    อย่างไรก็ตาม ผมก็ยังเชื่อว่ามีคนเสื้อแดงจำนวนมากพร้อมที่จะเดินตาม "เจ้าตู่-เจ้าเต้น" ในการปกป้องรัฐบาล แต่ที่น่าหดหู่คนพวกนั้นถูกทำให้เชื่อว่า ปกป้องรัฐบาลยิ่งลักษณ์ คือปกป้องประชาธิปไตยจากอำมาตย์ 
    ครับ...แผนโจร! ระหว่างที่ทำท่าถอยไปตั้งหลักมีเวลา 6 เดือน ก่อนที่จะกลับมาย่ำยีประเทศครั้งใหม่นั้น ก็พยายามสอดแทรกเงื่อนไขใหม่ขึ้นมา 
    รัฐบาลยิ่งลักษณ์พร้อมที่จะให้เกิดม็อบชนม็อบครับ หากอำนาจในมือมีแนวโน้มว่าหลุดลอยในระยะเวลาอันใกล้นี้
    ผมไม่มีอะไรทิ้งท้ายนอกจาก ความหวังดีจากเพื่อนร่วมสถาบัน ศิษย์เก่า "มช.รหัส 34"
    "เรายินดีเมื่อรู้ว่าเพื่อนร่วมมหาวิทยาลัยได้ดิบได้ดีเป็นเจ้าคนนายคน แต่เราไม่ยินดีและไม่ภาคภูมิใจหากว่าเพื่อนคนนั้นได้เป็นเจ้าคนนายคนด้วยการสืบทอดอำนาจของครอบครัว ราวกับว่านี่คือสมบัติผลัดกันชมในตระกูลชินวัตรเท่านั้น..
    ...เสียงชื่นชมหรือสาปแช่ง ถ้าไม่หูหนวกตาบอด ก็ย่อมสดับตรับฟังได้ว่าเสียงนี้ดังขึ้นเรื่อยๆ ในหมู่ปัญญาชนไทยทั่วทุกสารทิศในเวลานี้ ในฐานะลูกช้าง  มช.ด้วยกัน ขอส่งความปรารถนาดีต่อคุณยิ่งลักษณ์เป็นครั้งสุดท้ายว่า ถ้าคุณปรารถนาความสงบสุขในชีวิตเหมือนในอดีตเมื่อครั้งที่ยังศึกษาอยู่ในรั้วสีม่วงแห่งนี้ และแม้แต่ก่อนจะก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กรุณาปล่อยวางแล้วลงมาจากจุดที่ยืนอยู่เถิด  คุณไม่ได้เกิดมาเพื่อยืนอยู่ตรงนี้".

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น