วันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ตะเพิดตระกูลชิน! คปท.ยึดมัฆวาน-‘เทือก’ตั้งศาลประชาชน/ส.ว.ร่นถก 8 พ.ย.56

ตะเพิดตระกูลชิน! คปท.ยึดมัฆวาน-‘เทือก’ตั้งศาลประชาชน/ส.ว.ร่นถก8พ.ย.


ม็อบต้านนิรโทษโกง-ไล่รัฐบาล พรึ่บเป็นดอกเห็ด อุรุพงษ์ยึดแนวหน้าสนามรบ ใช้เชิงสะพานมัฆวานฯ เป็นฐานที่มั่นใหม่ "นกเขา" ลั่นมียกระดับอีกครั้ง ส่วนย่านธุรกิจ "อโศก-ราชประสงค์"  ขานรับไล่ตระกูลชินวัตรพ้นแผ่นดินไทย "ปู" ลนลานออกแถลงการณ์ อ้อน "หนูเลิกแล้วค่ะ ยุติการชุมนุมเถอะค่ะ"  ไม่วายขู่อย่าเข้าพื้นที่ชุมนุม อ้างมือที่สามจ้องก่อเหตุ "นิคม" ฉับไวรีบหนีความผิด รับใบสั่งเรียกประชุม ส.ว. 8 พ.ย. แต่กลุ่ม 40 ส.ว.สวนกลับ ช้าไปแล้ว ต้องไล่รัฐบาลอย่างเดียว ผบ.ตร.ขู่พร้อมยิงแก๊สน้ำตาเพื่อให้ความรุนแรงยุติ

   การชุมนุมคัดค้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม และขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ของมวลชนหลายกลุ่ม เมื่อช่วงสายวันที่ 7 พฤศจิกายนที่ผ่านมา   มีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น เมื่อกลุ่มผู้ชุมนุมเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) และกลุ่มภาคีเครือข่ายประชน 77 จังหวัด มีมวลชนร่วมหมื่นคน เคลื่อนขบวนจากแยกอุรุพงษ์ไปปักหลักที่เชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์
    บรรยากาศการเคลื่อนขบวนมีการโบกสะบัดธงชาติไทย พร้อมตะโกนขับไล่รัฐบาลว่า "ออกไปๆ"  อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ตลอดเส้นทางการเดินขบวน ได้มีประชาชนในบริเวณใกล้เคียงมายืนโบกมือให้การทักทายกลุ่มผู้ชุมนุมเป็นอย่างดี และมีบางส่วนได้มีการนำนกหวีดมาเป่าเพื่อเป็นกำลังใจด้วย
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มผู้ชุมนุมได้เข้าประชิดแท่งแบริเออร์บริเวณเชิงสะพานมัฆวานฯ มีการปะทะกับเจ้าหน้าที่เล็กน้อยระหว่างการกำหนดพื้นที่ชุมนุม แต่ไม่มีเหตุรุนแรงขึ้น โดยตำรวจเป็นฝ่ายล่าถอย ทั้งนี้บริเวณบนสะพานมัฆวานรังสรรค์ทางเจ้าหน้าที่ได้มีการนำรั้วลวดหนามและแท่นแบริเออร์ขนาดใหญ่มาวางเป็นแนวป้องกัน และได้มีการแจ้งเตือนมวลชนห้ามล้ำเข้ามาในพื้นที่ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ส่วนหลังแนวแบริเออร์พบว่ามีหน่วยปราบจลาจลจำนวนมากปักหลักอยู่
     ด้านนายนิติธร ล้ำเหลือ แกนนำ คปท. ปราศรัยบนรถ 6 ล้อดัดแปลงติดเครื่องขยายเสียงว่า ขอให้พี่น้องฟังคำสั่งของแกนนำอย่างเคร่งครัด โดยเราจะปักหลักตรงจุดนี้ และจะยังไม่มีการบุกเข้าไปทำเนียบรัฐบาล ฉะนั้นขอให้พี่น้องอดทน หากเมื่อไหร่ที่มีมวลชนมาเป็นจำนวนมากกว่านี้ เราจะมีการยกระดับการเคลื่อนไหวอีกครั้ง
มธ.เคลื่อนทัพ
    เวลาใกล้เคียงกัน กลุ่มประชาคมและศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นัดเคลื่อนพลจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปยังรัฐสภา เพื่อยื่นแถลงการณ์คัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมต่อประธานรัฐสภา ก่อนการเคลื่อนขบวนมีการปราศรัย โดยนายสุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน  ปราศรัยว่า ขอให้เราระลึกถึงบรรพบุรุษธรรมศาสตร์ตั้งแต่ขบวนการเสรีไทย, 14 ตุลา, 6 ตุลา ที่การต่อสู้ทุกครั้งเราเป็นผู้บุกเบิก ขณะนี้เราทุกคนอดทนมาพอแล้ว ขอให้รัฐบาลเลิกคิดผิดว่าคนไทยจะสมยอมอีกต่อไป เรามาแสดงเจตนาว่าเราพอแล้ว เราต้องการศักดิ์ศรีของประเทศกลับคืนมา เพราะคนไทยได้ตื่นขึ้นแล้ว
    ต่อมา นายบุญสม อัครธรรมกุล นายองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) ปี 2524 อ่านแถลงการณ์ที่จะยื่นต่อประธานรัฐสภาว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสียงข้างมากได้สร้างตราบาปต่อระบบรัฐสภาด้วยการใช้เสียงข้างมากอย่างไร้สำนึก สร้างวิกฤติศรัทธาและวิกฤติความเชื่อถือต่อนักการเมือง และสังคมการเมืองไทยในสายตาประชาชนให้หนักหน่วงมากขึ้น มีพฤติกรรมโกหกหลายครั้งหลายหนเพื่อชิงไหวชิงพริบและเอาชนะทางการเมือง โดยอ้างความปรองดองบังหน้า เราจึงขอเรียกร้องต่อรัฐบาล และพรรคเพื่อไทยว่า การที่ท่านยืนยันบริหารประเทศต่อไปเป็นสิทธิ์ที่ท่านทำได้ แต่ต้องเร่งปฏิบัติตามสิ่งที่ท่านแถลงไว้โดยเร็วที่สุด อย่าตระบัดสัตย์ซ้ำอีก แต่หากท่านทำไม่ได้ ท่านก็หมดความชอบธรรมในการบริหารประเทศต่อไป
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อมวลชนกลุ่มนี้เคลื่อนถึงแนวกั้นบริเวณหน้าสำนักงานองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน, นายสุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดี มธ., นายอภิชาติ ดำดี ศิษย์เก่าคณะเศรษฐศาสตร์ มธ., นายกิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มธ. ได้เข้าเจรจากับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อขอให้เปิดทางให้กลุ่มประชาคมเดินทางเข้าไปยื่นแถลงการณ์ที่รัฐสภา ซึ่งผลการเจรจาสรุปว่ารัฐสภาได้ส่งนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภา มารับหนังสือแทน
    ยังมีการจัดกิจกรรมต่อต้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมในอีกหลายจุดทั่ว กทม. อาทิ บริเวณสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส อโศก หน้าห้างสรรพสินค้าเทอร์มินอล สี่แยกอโศก ชมรมนักธุรกิจสีลม และประชาชน รวมถึงพนักงานออฟฟิศบริเวณนั้นได้ทยอยมารวมกันบริเวณสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส อโศก หน้าห้างสรรพสินค้าเทอร์มินอล ในช่วงเวลา 11.00 น. โดยมีจำนวนผู้ชุมนุมเพิ่มขึ้นตามลำดับ บริเวณทางออกและทางเข้าของทางรถไฟฟ้าบีทีเอสและรถไฟใต้ดินเต็มไปด้วยผู้คนที่ทยอยกันเดินเข้ามาในพื้นที่ จนต้องมีการปิดถนนบริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าเทอร์มินอล เนื่องจากผู้คนอยู่เต็มเเน่นถนนฝั่งห้างสรรพสินค้าเทอร์มินอล
อโศกไล่อีโง่
    มีการนำรถติดเครื่องขยายเสียงประกาศเชิญชวนให้ประชาชน ผู้ค้าที่อยู่บริเวณถนนสุขุมวิทและใกล้เคียง มาร่วมแสดงพลังในการคัดค้านการผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และมีนักวิชาการหรือบุคคลที่มีชื่อเสียง อาทิ นายแก้วสรร อติโพธิ อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.), นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ส.ว.สรรหา, นายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ฯลฯ ได้ขึ้นปราศรัย โดยมีเนื้อหาโจมตีกฎหมายนิรโทษกรรม และ พ.ต.ท.ทักษิณ ตระกูลชินวัตร ว่าเป็นหัวหน้าแก๊งโจร และฉายาเหลี่ยมขี้โกง ซึ่งระหว่างที่มีการปราศรัยอยู่นั้น มีเสียงเป่านกหวีดและเสียงตะโกนขับไล่ตะกูลชินวัตรและพรรคเพื่อไทยอยู่ตลอด อาทิ “ออกไปๆ", "เพื่อไทย ออกไป", "อีโง่ ออกไป" ทั้งนี้ แกนนำที่ขึ้นปราศรัยประกาศว่า ”ถ้าไม่รีบจัดการเรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษฯ ภายใน 7 วัน พวกเราจะไปหารัฐบาลถึงที่
    ช่วงเย็น มีการจัดกิจกรรมลักษณะเดียวกันที่แยกราชประสงค์ การรวมตัวนี้เกิดจากภายหลังที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันได้นัดรวมพลศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยอัสสัมชัญในวันนี้ บริเวณห้างอัมรินทร์พลาซ่า ต่อมาเวลา 17.00 น. ประชาชนนับหลายพันคนเริ่มรวมตัวกันเพื่อฟังอาสาสมัครขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชันขึ้นกล่าวบนเวที โดยมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนทะลักเข้าไปภายในศูนย์การค้า ซึ่งได้มีตัวแทนจากองค์กรดังกล่าวผลัดเปลี่ยนขึ้นกล่าวบนเวทีหลายคน พร้อมกับเสียงเป่านกหวีดที่ดังกระหึ่มทั่วทั้งบริเวณห้างอัมรินทร์พลาซ่า
    สำหรับประชาชนที่ได้มาเข้าร่วมชุมนุมในครั้งนี้ มีทั้งสมาชิกองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยเอแบค รวมถึงประชาชนทั่วไปที่ทราบกำหนดการ และรวมถึงประชาชนที่ตามมาร่วมชุมนุมต่อจากบริเวณต่างๆ ก่อนหน้านี้ พร้อมกันนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็ได้เดินทางเข้ามาภายในบริเวณดังกล่าวอีกด้วย แต่ไม่ได้ขึ้นกล่าวบนเวทีแต่อย่างใด
    ขณะเดียวกัน ผู้มีชื่อเสียงทางสังคมและศิลปินดาราก็ต่างพาเหรดกันคล้องสายนกหวีดมาเพื่อร่วมการชุมนุมในครั้งนี้ด้วย หนึ่งในนั้นคือ พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ได้ให้สัมภาษณ์ถึงการรวมตัวของประชาชนในครั้งนี้ว่า ไม่ใช่เป็นการเรียกร้องนิรโทษกรรม แต่ต้องการเห็นการปฏิรูปทางการเมือง อยากเห็นผู้ที่ทำเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง การที่นายกฯ ออกแถลงการณ์ที่จะถอด พ.ร.บ.นิรโทษกรรมออกนั้น เป็นเพียงกระบวนการหุ่นเชิดที่เริ่มเผยตัวตนออกมาให้เห็น
ตะเพิดตระกูลชินฯ
    เวลา 18.00 น. ประชาชนได้พร้อมใจกันร้องเพลงชาติไทย และต่อด้วยเพลงสรรเสริญพระบารมี พร้อมตะโกนขับไล่ตระกูลชินวัตร
    ยังมีอีกหลายหน่วยงานที่ทยอยออกแถลงการณ์คัดค้านร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ อาทิ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า), ม.ราชภัฏนครราชสีมา, ม.ราชมงคลอีสาน, ชาวอำนาจเจริญ, นักศึกษา มธ.ลำปาง,  สหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย, สหภาพแรงงานรัฐวิสากิจการบินไทย, องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
    เป็นที่น่าสังเกตว่า มหาวิทยาลัยรามคำแหงซึ่งถูกครอบงำโดยรัฐบาลนั้น ผศ.วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์  อธิบการบดีมหาวิทยาลัย ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภา 
    ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์แถลงเป็นครั้งที่ 3 ย้ำถึงจุดยืนรัฐบาลต่อร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ถ่ายทอดสดผ่านสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 ว่า ขอยืนยันให้ประชาชนสบายใจว่าวันนี้ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมจบลงแล้ว ทุกอย่างถอนแล้ว ทุกฝ่ายนอกจากมีเจตนารมณ์ในการถอนร่างนิรโทษกรรมแล้ว พรรคเพื่อไทย และล่าสุดสภาผู้แทนราษฎรได้มีมติถอนร่างแล้ว ถือว่าเป็นการแสดงออกที่ชัดเจน ซึ่งเรื่องทั้งหมดนี้ถือว่าจบสิ้นจริงๆ และ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้ จุดมุ่งหมายจริงแล้วต้องการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับการเดือดร้อน และผู้ที่ได้รับผลพวงจากรัฐประหารเท่านั้น ดังนั้นสิ่งที่มีข้อความต่างๆ เผยแพร่ออกมาว่าจะช่วยเหลือคดีที่เกี่ยวกับการทุจริตนั้นไม่เป็นความจริง โดยเฉพาะคดีที่หลายคนกังวล คือคดีเกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าวหรือโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านไม่ได้เกี่ยวกับ พ.ร.บ.ฉบับนี้เลย แต่ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวมีผลกับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบทางการเมืองเท่านั้น
     “ยืนยันว่ารัฐจะไม่ใช้กำลังหรือใช้ความรุนแรงกับพี่น้องประชาชนเด็ดขาด ทุกอย่างจะดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย และขอความกรุณาพี่น้องประชาชนอย่าหลงเชื่อข่าวลือต่างๆ อยากให้รับฟังข้อมูลหลายๆ ด้าน และถ้าไม่จำเป็น ก็ขอวิงวอนว่าอย่าเข้าไปใกล้บริเวณพื้นที่เสี่ยง เพราะเป็นห่วงเรื่องมือที่สาม ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจะพยายามดูแลทั้งผู้ชุมนุมและประชาชนที่สัญจรไปมา และเมื่อวันนี้ทุกฝ่ายประกาศเจตนารมณ์ชัดเจนแล้ว ก็อยากให้พี่น้องประชาชนยุติการชุมนุมเถอะค่ะ โปรดเชื่อ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้แสดงเจตนารมณ์ว่าจะได้ร่วมกันเดินหน้าประเทศต่อไป เพราะประเทศบอบช้ำมามากแล้ว ไม่อยากให้มีเหตุการณ์ต่างๆ มาซ้ำเติมประเทศของเราอีก รัฐบาลนี้มาจากการเลือกตั้ง เราเคารพในเจตนารมณ์ของประชาชน เคารพเสียงของประชาชน และยืนยันแล้วว่าไม่นำ พ.ร.บ.ฉบับนี้กลับมาพิจารณาใหม่อย่างเด็ดขาด” นายกฯ กล่าว
หนูเลิกแล้วค่ะ
    น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวต่อว่า สถานการณ์ทางการเมืองที่มีความวุ่นวาย มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ก็จะทำให้กระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่จะมาลงทุนในไทย เพราะขณะนี้หลายประเทศเริ่มเตือนประชาชนของเขาในการเข้ามาในประเทศไทย และไทยกำลังจะเป็นศูนย์กลางอาเซียนไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างมั่นคง หรือแม้แต่นักท่องเที่ยวก็ไม่กล้ามา ก็จะกระทบกับผู้ประกอบการ
     “เหตุการณ์ต่างๆ เราสามารถแก้ไขได้ด้วยการคุยกัน การยื่นข้อเสนอต่างๆ รัฐบาลก็พร้อมรับ รัฐบาลไม่อยากเห็นการชุมนุมยืดเยื้อ จึงขอความกรุณา ยืนยันอีกครั้งว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ยกเลิกแล้ว และรัฐบาลไม่ฝืนความรู้สึกประชาชน รัฐบาลไม่ใช้กำลังรุนแรง และรัฐบาลก็จะไม่ทำอะไรให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทโดยเด็ดขาด” นายกฯ กล่าว
    เมื่อถามว่า รมว.ยุติธรรมออกมาแถลงโดยใช้ตำแหน่งเป็นเดิมพัน ถ้ารัฐบาลหรือ ส.ส.พรรคไทยหยิบร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมกลับมาใหม่ จะลาออกจากตำแหน่ง นายกฯ จะทำแบบนั้นด้วยหรือไม่ เธอตอบเลี่ยงว่า วันนี้ทุกอย่างได้อธิบายไปแล้ว มติต่างๆ ก็ยืนยันแล้ว ขอให้ดูเถอะ วันนี้บอกไม่เชื่อแต่อย่างไรขอให้ดูว่าหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร เพราะจริงๆ แล้วเราอยากให้ทางวุฒิสภาบรรจุเรื่องนี้ในการหารือเลย  เพื่อให้ประชาชนได้สบายใจ วันนี้เราคงต้องรอฟังผลทางวุฒิสภาว่าจะนำเรื่องนี้เข้าพิจารณาเมื่อไร ถ้ายิ่งเร็วเท่าไรก็ยิ่งทำให้คลายความกังวลใจของสังคมได้
    จากนั้นไม่นาน นายนิคม ไวรัชพานิช ประธานวุฒิสภา เรียกประชุม ส.ว.นอกรอบ เพื่อหารือถึงสถานการณ์บ้านเมือง โดยให้นายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี เป็นประธานแทน แต่กลุ่ม 40 ส.ว. อาทิ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม, นายสมชาย แสวงการ, นายประสาร มฤคพิทักษ์, นายวันชัย สอนศิริ ส.ว.สรรหา คัดค้านว่าทำไมนายนิคมที่เป็นคนเรียกประชุมเองจึงไม่อยู่ ไม่เช่นนั้นพวกตนจะไม่ร่วมประชุม ทำให้นายนิคมต้องเข้าร่วมประชุม พร้อมกับแจ้งว่าจะใช้อำนาจประธาน ตามข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา 15 วรรค 2 นัดประชุมวุฒิสภาเป็นพิเศษ วันที่ 8 พ.ย. เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ทำให้ พล.อ.สมเจตน์ตะโกนโวยวายเสียงดังว่า ถ้าแบบนี้จะเรียกประชุมทำไม พฤติกรรมนายนิคมหมดความชอบธรรมที่จะเป็นประธานต่อไป เพราะรับลูกจากรัฐบาลตลอด โดยมีนายสมชายตะโกนไล่ให้ออกไป
ทุบโต๊ะ 8 พ.ย.
    ขณะที่ นายมหรรณพ เดชวิทักษ์ ส.ว.สรรหา ถึงกับใช้กำปั้นทุบไปบนโต๊ะ พร้อมกล่าวว่า ถ้าจะใช้อำนาจอย่างนี้ก็ไม่ต้องมาหารือ ขณะที่นายสมัคร เชาวภานันท์ ส.ว.สรรหา ท้วงติงว่าหากวันที่ 8 พ.ย.องค์ประชุมไม่ครบ เพราะทุกคนเข้าใจแล้วว่าจะประชุมในวันที่ 11 พ.ย. แล้วใครจะรับผิดชอบ
    นายสมชายกล่าวว่า ได้รับคำบอกเล่าจากนางนิลวรรณ เพชระบูรณิน ส.ว.สรรหา ว่าสาเหตุที่จะเลื่อนวันประชุม เพราะมีคนชื่อ “ว.” โทร.มาล็อบบี้ ส.ว. ซึ่งตนไม่อยากจะกล่าวหาว่าจะมีคนรับจ๊อบ รับงาน รับห่อหรือไม่ แต่นายนิคมยืนกรานใช้อำนาจตามข้อบังคับ และขณะนี้ได้เซ็นหนังสือเรียกประชุมในวันที่ 8 พ.ย.แล้ว ส่วนองค์ประชุมจะครบหรือไม่ ก็ไม่เป็นไร เมื่อเรียกมาหารือแล้วเป็นแบบนี้ ตนก็ไม่หารือด้วยแล้ว พร้อมกับลุกออกไปจากห้องทันที ทำให้ที่ประชุมถึงกับวงแตก
    ต่อมาเป็นการประชุมสภาผู้แทนฯ นายเจริญ จรรย์โกมล ประธานในที่ประชุม ได้ขอหารือที่ประชุมถึงการขอถอนร่าง พ.ร.บ.ที่เกี่ยวกับ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมทั้ง 6 ฉบับ ออกจากวาระการประชุม โดยนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์, นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านฯ, นายนิพนธ์ วิสิษฐยุทธศาสตร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานวิปฝ่ายค้าน เสนอให้ผู้เสนอร่างทุกคนชี้แจงเหตุผลในการขอถอนร่างครั้งนี้
    จากนั้น ส.ส.ที่เป็นผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 6 ฉบับ ได้ลุกขึ้นชี้แจงเหตุผลการถอนร่าง อาทิ นายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร พท. ในฐานะผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.การปรองดองแห่งชาติ ชี้แจงว่า การเสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เพื่อให้บ้านเมืองเกิดความปรองดอง แต่เมื่อมีการต่อต้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จึงไม่ต้องการให้ร่างของตนถูกนำไปตีความในทางไม่ดี จนทำให้บ้านเมืองแตกแยก ตนยินดีถอนร่างฉบับนี้ออกจากวาระการประชุม
    ขณะที่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคมาตุภูมิ ในฐานะผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ ชี้แจงว่า ส่วนตัวก็เห็นด้วย และเห็นว่าต้องรักษาความเป็นชาติไว้ ดังนั้นเมื่อรองประธานสภาฯ มาหารือให้ถอน และเห็นว่าขณะนี้สถานการณ์ไม่เหมาะสม ดังนั้นตนและสมาชิกที่ได้ร่วมกันเสนอร่วมกันขอถอนญัตตินี้
ถอนหมด 6 ฉบับ
    ที่สุดหลังจากอภิปรายถกเถียงกันร่วมชั่วโมง นายเจริญจึงขอมติจากที่ประชุมว่า จะเห็นด้วยให้ถอนร่างพ.ร.บ.ที่เกี่ยวกับการนิรโทษกรรมทั้ง 6 ฉบับออกจากวาระการประชุมสภา ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ถอนร่างทั้งหมดออกจากวาระการประชุมด้วยคะแนน 310 ต่อ 1 จากนั้นนายเจริญจึงสั่งปิดประชุมทันทีในเวลา 14.17 น.
    อย่างไรก็ตาม ก่อนนั้นมีการพิจารณากระทู้ถามโดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ตั้งกระทู้สดถามปัญหาความแตกแยกในสังคมไทยของนายกฯ แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ แต่ไม่มาตอบกระทู้เช่นเคย 
    นายจุรินทร์ตั้งกระทู้ว่า นายกฯ ตั้งใจจะปราบโกง แต่ออกมากฎหมายล้างผิดทำไม เลิกโกหกเสียที และยืนยันว่านายกฯ ทำเรื่องส่วนรวมนั้นเหลวทั้งหมด  แต่หากเป็นเรื่องส่วนตัว ก็อย่างที่เห็นอยู่ว่าผู้ชุมนุมออกมาเยอะขนาดนี้ ถือว่าพฤติกรรมโกหกสะสม  
    นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกฯ ชี้แจงแทนด้วยน้ำเสียงมีอารมณ์ว่า นายกฯ แถลงชัดเจนในวันที่ 5 พ.ย. ว่าเสนอให้วุฒิสภาใช้ดุลพินิจเต็มที่ และเชื่อว่าสภาล่างจะยอมรับเรื่องนี้เพื่อความปรองดองกับคนชาติ ขณะที่พรรคเพื่อไทยก็ไม่สนับสนุน นั้นคือคำตอบว่าจะทำให้ประเทศออกจากวิกฤติอย่างไร
    "ที่ระบุว่านายกฯ โกหกสะสม ถือว่าคำพูดรุนแรงกับนายกฯ ผู้หญิง และเชื่อว่าเป็นความคิดของท่านจุรินทร์คนเดียว และเชื่อว่าคนไทยไม่คิดเช่นนั้น" รองนายกฯ ตอบ
    ขณะที่ตัวแทนกลุ่ม 40 ส.ว. นำโดยนายสมชาย แสวงการ, พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม, นางพรพันธุ์ บุญยรัตพันธุ์, นายตวง อันทะไชย, พ.ต.อ.สนธยา แสงเภา, น.ส.วิชุดา รัตนเพียร, นายธวัช บวรวนิชยกุล ส.ว.สรรหา, นายสาย กังกเวคิน ส.ว.ระยอง, นายประเสริฐ ชิตพงศ์ ส.ว.สงขลา ร่วมกันแถลงข่าวเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศยุบสภาคืนอำนาจให้กับประชาชน
    นายประเสริฐกล่าวว่า ขณะนี้ประชาชนออกมาคัดค้านรัฐบาลที่ออกกฎหมาย พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยผ่านสภาผู้แทนฯ เสียงข้างมากของรัฐบาล ถือว่าเป็นการออกกฎหมายที่ไม่ถูกต้อง สภาแห่งนี้ใช้อำนาจเผด็จการ ดังนั้นถึงเวลาที่จะต้องยุบสภาเพื่อหาทางออกให้ประเทศ และเป็นการคืนอำนาจกลับไปให้ประชาชนเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ เพราะสภาขณะนี้เดินหน้าต่อไปไม่ได้แล้ว
พร้อมยิงแก๊สน้ำตา
     รายงานข่าวแจ้งว่า ในการประชุมหน่วยงานด้านความมั่นคงเมื่อช่วงเช้าวันที่ 7 พ.ย. ที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นประธานในการประชุมนั้น เป็นการประชุมประเมินสถานการณ์การชุมนุมเพื่อให้นายกรัฐมนตรีรับทราบตามปกติ
    ทั้งนี้ ทางหน่วยงานด้านความมั่นคงเชื่อมั่นว่า หลังจากนายกรัฐมนตรีมีการแถลงถอนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมออกจากการพิจารณาจะทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมจำนวนมากหยุดเคลื่อนไหว เพราะมองว่า สาเหตุที่ประชาชนส่วนใหญ่ออกมาชุมนุม เพียงเพราะต้องการต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเท่านั้น เหลือเพียงผู้ชุมนุมกลุ่มเดิมที่มีเจตนารมณ์ต้องการขับไล่รัฐบาลเท่านั้น ซึ่งหน่วยงานด้านความมั่นคงมองว่ามีจำนวนไม่มากเท่าไร  
    พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) กล่าวว่า พยายามดูแลให้เรียบร้อยที่สุด โดยนายกฯ ได้สั่งการขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำตามหน้าที่และปฏิบัติตามกฎหมายเพื่อดูแลประชาชน ยืนยันว่าเรื่องของการใช้แก๊สน้ำตานั้น เป็นไปตามกฎหมาย ถ้าหากมีความจำเป็นในเรื่องสถานการณ์ความไม่มั่นคง ก็ต้องดำเนินการเพื่อให้เหตุการณ์รุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นยุติ
    ผบ.ตร.กล่าวว่า สำหรับกองกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ดูแลรักษาความปลอดภัยบริเวณทำเนียบรัฐบาลเป็นกองกำลังตำรวจตามแผน ทั้งหมด 40 กองร้อย แต่จำนวนไม่ถึง 10,000 นาย อยู่ที่ประมาณ  4,000-5,000 นาย สำหรับการชุมนุมที่บริเวณราชดำเนินรัฐบาล ยังไม่มีการขยาย พ.ร.บ.ความมั่นคงเพิ่มเติม เนื่องจากอยากให้โอกาสในการเข้ามาพูดคุยกันก่อน
    พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวภายหลังการประชุมว่า เป็นการประเมินสถานการณ์หลังกลุ่มมวลชนต่อต้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมยกระดับการชุมนุมอย่างต่อเนื่อง โดยนายกฯ สั่งตั้งทีมวอร์รูม 3 ชุด ประกอบด้วย 1.ชุดจัดระเบียบผู้ชุมนุม โดยมี รมว.มหาดไทยและผบ.ตร.ร่วมดูแล 2.ชุดประมวลเนื้อหาประชาสัมพันธ์ มีนายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าทีม ทำงานร่วมกับ รมว.ไอซีที ที่จะดูในเรื่องสื่อสารประชาสัมพันธ์ผ่านระบบโซเชียลมีเดีย และ 3.ทีมงานด้านกฎหมาย มีนายพงศ์เทพ, นายชัยเกษม และเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นคณะทำงาน ซึ่งนายกฯ ย้ำผู้ที่เกี่ยวข้องต้องออกมาประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนรู้เท่าทันสถานการณ์ และนายกฯ พร้อมชี้แจงเองในเรื่องที่จำเป็น
    นายชัยเกษม นิติสิริ รมว.ยุติธรรม แถลงว่า ขณะนี้มีการยืนยันจากนายกฯ และพรรคเพื่อไทยแล้วว่า หากวุฒิสภามีมติคว่ำร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แม้สภาผู้แทนราษฎรจะมีสิทธิ์หยิบขึ้นมาพิจารณาใหม่ได้หลังจากครบ 180 วัน แต่จะไม่มีการหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาอีก หมายความว่าจบ หยุด หมดสิ้นไป ตนเอาตำแหน่ง รมว.ยุติธรรมเป็นประกัน หากไม่จบในลักษณะนี้ ตนยินดีไม่อยู่ในตำแหน่งนี้ต่อไป
    รมว.ยุติธรรมกล่าวว่า กรณีผู้พิพากษา “กลุ่มตุลาการผู้รักแผ่นดิน” จำนวน 63 ราย ออกมาคัดค้านนั้น ต้องให้ตุลาการเหล่านี้มาดีเบตกับตน ไม่ทราบว่าท่านทราบข้อเท็จจริงทุกอย่างชัดเจนหรือไม่ แล้วตุลาการเหล่านั้นเป็นตุลาการระดับไหน เพราะตุลาการที่ออกมาตนไม่ทราบว่ารู้เรื่องเกี่ยวกับการแต่งตั้ง คตส.
    ส่วนบรรยากาศภายในทำเนียบฯ เป็นไปอย่างคึกคัก โดยเมื่อเวลา 13.00 น. ที่อาคารสำนักเลขาธิการ ครม. (ตึกแดง) บรรดาข้าราชการได้ขนย้ายเอกสารบรรจุใส่กระเป๋าเดินทางร่วม 10 ใบ ใส่รถตู้และรถกระบะซึ่งเป็นรถประจำสำนักเลขาธิการ ครม. คาดว่าเป็นการขนย้ายเอกสารสำคัญออก
    นอกจากนี้ มีรายงานว่าผู้ใหญ่ในทำเนียบฯ ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่นำรถราชการไปจอดไว้ที่บ้านพิษณุโลก เพื่อเป็นการป้องกันไว้ก่อน เพราะไม่มั่นใจจะเกิดปัญหาอะไรหรือไม่
     ช่วงค่ำ ที่เวทีปราศรัยอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ปราศรัยท่ามกลางสายฝนที่ตกลงมาอย่างหนักว่า พ.ต.ท.ทักษิณ หรือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะพูดอย่างไรไม่ต้องสนใจ ปล่อยให้เขาพูดไป เพราะเขาเหลือเวลาพูดอีกไม่กี่เดือนแล้ว ขอให้พวกเราตั้งมั่น จดลงบัญชีเอาไว้ ที่เคยหนีคำพิพากษาศาลหรือหลบเลี่ยงกระบวนการยุติธรรม ทุกเรื่องทุกความผิดทุกกระทง จะชำระความในวันจันทร์ที่ 11 พ.ย.นี้ โดยที่เราจะตั้งศาลประชาชนขึ้นบนถนนราชดำเนิน แล้วจะพิจารณาพฤติกรรมความผิดทั้งหลายทั้งปวงของ พ.ต.ท.ทักษิณ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ที่ได้กระทำย่ำยีต่อประเทศไทย โดยให้พี่น้องเป็นผู้พิพากษา หากพี่น้องประชาชนมีความเห็นส่วนใหญ่ว่าสมควรกลับบ้าน ก็ปล่อยตัวไป แต่ถ้าเห็นว่าเป็นอย่างอื่น ก็สุดแล้วแต่พี่น้องทั้งหลาย เพราะทางคณะกรรมการกลุ่มต่อต้านฯ ได้ปวารณาตัวแล้วว่าขอทำตามเสียงของประชาชน
    “เราจะจดความผิดของเขาไว้ แล้วคิดบัญชีทีเดียวจบเกมไปเลย นอกจากนี้ศิลปินที่ขึ้นเวทีโทร.หาผมบอกว่ากรมสรรพากรสั่งตรวจภาษีย้อนหลัง ผมอยากบอกว่าหากยิ่งลักษณ์ยังอยู่ ก็เป็นอธิบดีกรมสรรพากรต่อไปได้ แต่เมื่อไหร่ที่ยิ่งลักษณ์ไปอยู่ดูไบ ก็ขอเชิญไปอยู่ดูไบด้วย หมดเวลาอดทนสำหรับประชาชนแล้ว” นายสุเทพกล่าว.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น