วันพุธที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

นับถอยหลังสถานการณ์แตกหัก ผลพวงนิรโทษทะลุซอย เมื่อ 6 พ.ย.56



นับถอยหลังสถานการณ์แตกหัก ผลพวงนิรโทษทะลุซอย 
   เกาะติดสถานการณ์ต่อต้านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่กำลังจะพัฒนากลายเป็นการขับไล่รัฐบาล ที่ดึงดันจะใช้เสียงข้างมากในสภานำพาเหตุการณ์มาถึงจุดแตกหักในไม่ช้า แม้ล่าสุดรัฐบาลยิ่งลักษณ์ออกมาส่งสัญญาณ ด้วยการโยนให้การพิจารณาพ.ร.บ.ฉนับดังกล่าวให้เป็นหน้าที่ของวุฒิสภาฯ ตัดสินใจ โดยไม่มีใครแทรกแซงได้ ขณะที่นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภาฯได้ออกมารับลูกรัฐบาลด้วยประกาศคว่ำกฎหมายนิรโทษกรรมในวาระแรกแล้วก็ตาม แต่หลายคนกลับเชื่อว่า หากมองแบบผิวเผินอาจดูเหมือนว่าจะช่วยปลดชนวนความขัดแย้งได้ แต่ความจริงแล้วเป็นกลลวงสับขาหลอกประชาชนให้สลายการชุมนุม เพื่อล่วงเวลา และลดกระแสต่อต้าน เพราะคิดว่ากฎหมายตกไปแล้วเท่านั้น        
แต่ความจริงกฎหมายดังกล่าวยังคงอยู่ โดยตามรัฐธรรมนูญระบุให้ ส.ส. ต้องนำกฎหมายที่ถูกวุฒิสภาคว่ำมาพิจารณาหลังครบ 180 วัน หรือ 6 เดือน นับจากวันที่ ส.ว. ส่งร่างคืนให้สภาผู้แทนราษฎร โดยสภาสามารถยืนยันตามร่างเดิมโดยถือว่าได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำกฎหมายดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าฯได้ทันทีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 150         
ดังนั้นเรื่องนี้ยังถือเป็นประเด็นร้อนทียังต้องจับตาอย่างใกล้ชิดต่อไป ว่าสุดท้ายจะออกมาในรูปแบบใด..ขณะเดียวกันผลกระทบอีกด้าน หากรัฐบาลยังไม่ประกาศถอนพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวออกจากวุฒิสภาฯอย่างชัดเจน เชื่อว่ายังคงสร้างความระแวงสงสัยให้กับสังคมไทย รวมถึงสายตาต่างชาติ ซึ่งเรื่องนี้นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกคณะกรรมการ ป.ป.ช. พร้อมด้วย นายภักดี โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช. ก็ออกมาเปิดเผยแล้วว่า การที่ไทยได้ยินยอมเข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ.2003 ซึ่งหมายถึงประเทศไทยยินยอมจำกัดอำนาจอธิปไตยบางส่วน  เข้าผูกพันตามอนุสัญญาดังกล่าว  ดังนั้น หากประเทศไทยจะออกกฎหมายล้มล้างคดีทุจริต จะเป็นการขัดต่อหลักการของอนุสัญญาดังกล่าว และส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ ซึ่งในขณะนี้ประเทศไทยอยู่ระหว่างการถูกประเมินและติดตามผลการปฏิบัติตามพันธกรณีของอนุสัญญา           
ดังนั้นในวันนี้ ( 6  พ.ย.)  ทาง  ป.ป.ช. จะเข้ายื่นหนังสือต่อสำนักงานยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) เพื่อแสดงเจตจำนงปฏิเสธการนิรโทษกรรมความผิดฐานทุจริตคอร์รัปชั่น  โดยจะมีการยื่นหนังสือที่สำนักงานสหประชาชาติ ถนนราชดำเนิน   เพื่อให้ส่งต่อเจตนารมณ์ของ ป.ป.ช. ให้อีก 167 ประเทศภาคีสมาชิกได้ทราบว่าประเทศไทยกำลังมีการดำเนินการออกกฎหมายล้างความผิดฐานทุจริตคอร์รัปชั่น และนี่เท่ากับ ป.ป.ช.กำลังฟ้องต่อชาวโลกให้รับรู้ถึงการกระทำของรัฐบาลไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น