วันอังคารที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

'ทนง'เเนะ'ปู'หาทางถอยปม'นิรโทษ'เมื่อ 5 พ.ย.56



'ทนง'เเนะ'ปู'หาทางถอยปม'นิรโทษ'
 
'ทนง'เเนะ'นายกฯ'หาทางถอยร่าง'พ.ร.บ.นิรโทษกรรม' เชื่อหากยุบสภา 'เพื่อไทย'ยังชนะเลือกตั้ง 
5 พ.ย.56 นายทนง พิทยะ อดีตรองนายกรัฐมนตรีเเละรมว.คลัง สมัยรัฐบาลไทยรักไทย 2 กล่าวในรายการเจาะลึกทั่วไทยอินไซด์ไทยเเลนด์ทางสปริงนิวส์ กรณีสังคมหลายฝ่ายเเสดงการคัดค้านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมว่า ที่ผ่านมาตนทำงานการเมืองเเต่ไม่เคยไปยุ่งกับพรรคการเมือง กรณีร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ตนนอนไม่หลับหลายวันเพราะตนโดนนับให้เป็นคนอาวุโสเเละเป็นห่วงบ้านเมือง เกมการเมืองวันนี้เข้าขั้นสร้างความขัดเเย้งเเบบคาดไม่ถึง เมื่อถามว่า พรรคเพื่อไทยประเมินสถานการณ์ต่ำหรือไม่ นายทนง กล่าวว่า เกิดจากความประสงค์ของพรรคเพื่อไทยที่อาจปรารถนาดีเดินหน้าปรองดองตามที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม อยากเห็น เเต่สิ่งที่เกิดคือ วิธีการในรัฐสภาซึ่งประชาชนไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะเป็นวิธีที่ช็อกประชาชนรวมทั้งตนด้วย เเละตนไม่เห็นด้วยกับการอภิปรายของฝ่ายค้านเช่นกัน
เมื่อถามว่า สถานการณ์วันนี้เหมือนปี 2549 เเละปี 2553 นายทนง กล่าวว่า ไม่ถึงขั้นนั้น ตอนนี้ฝ่ายค้านพยายามคัดค้าน รวมทั้งการชุมนุมที่อุรุพงษ์เเละสีลม อีกทั้ง การคัดค้านของนักวิชาการ นักธุรกิจ วิธีการคัดค้านไม่เหมือนกันเเต่มีเป้าหมายเดียวกัน นายกฯ ควรดูให้ถ่องเเท้ว่า การค้านเกิดขึ้นเกือบทุกกลุ่ม หน้าที่สร้างความปรองดองให้ประเทศตอนนี้สะดุด มันเป็นความรับผิดชอบของนายกฯ ว่า หากประเทศเริ่มเกิดปัญหาความขัดเเย้ง วิธีเเก้ไขปัญหานั้่น นายกฯต้องรับผิดชอบ เเม้นายกฯจะปล่อยให้เป็นหน้าที่รัฐสภาในการออกกฎหมาย เเต่เมื่อรัฐสภาตัดสินใจเเล้วเกิดความขัดเเย้งกับความเห็นสังคมอย่างมาก นายกฯมีหน้าที่รับผิดชอบเเก้ปัญหาในหลายวิธี คือ รอส.ว.ดำเนินการเเละวางเเผนเเก้ไขปัญหาไปพร้อมกัน ส่วนตนขอเสนอนายกฯ คือ อดทน เตรียมตัวหาวิธีเเก้ปัญหาให้จบเเละไม่เกิดความรุนเเรง เมื่อถามว่า จะมีการล็อบบี้่ ส.ว.ให้ตีตกร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ในวาระเเรกเเละยื่นกลับลงมาพิจาณาใหม่ในสภาผู้เเทนฯ เเละล็อบบี้พรรคเพื่อไทยให้ลงมติตาม ส.ว. นายทนง กล่าวว่า พื้นฐานคือ วาระ 1 ของสภาผู้เเทนฯนั้น ประชาชนรับได้ เเต่เมื่อมีการขยายความในชั้น กมธ.มันกลายเป็นว่า ประชาชนมองว่าไม่เหมาะสม เพราะถอยหลังเเบบนี้ คนเสื้อเเดงอาจไม่คิดมากเพราะเป็นร่างกฎหมายที่นายวรชัย เหมะ เสนอ หากถอยหลัง 1 ก้าว นายกฯจะนำบ้านเมืองต่อไปได้ การนิรโทษกรรมในระดับที่รับได้ ส่วนคนผิด-คนไม่ผิดควรปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมทำงานสักระยะ คือ ผู้สั่งการเเละผู้ปฏิบัติการต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ประชาชนยอมรับ ตรงนี้ต้องดูว่าจะถอยเมื่อใด เช่น ส.ว.ตีกลับร่างกฎหมายฉบับนี้ลงมาเมื่อใด ส.ส.จะดำเนินการเมื่อใด หากพรรคเพื่อไทยมองว่าสิ่งที่ทำนั้นถูกต้อง เเม้ประชาชนไม่เห็นด้วยเป็นจำนวนมาก จึงควรจัดทำประชามติในเรื่องนี้ เพราะมันจะตัดสินใจโดยที่นายกฯนยกอำนาจการตัดสินใจให้ประชาชนทั้งประเทศ เพราะการคัดค้านจะผ่อนคลายลง
"ตนมองเห็นสองวิธีนี้คือ ล็อบบี้ ส.ว.ให้ตีตกร่างกฎหมายฉบับนี้เเละการทำประชามติ"นายทนง กล่าว
เมื่อถามว่า นายกฯกำหนดทิศทางพรรคเพื่อไทยได้เพียงใด นายทนง กล่าวว่า นายกฯมีอำนาจหากจำเป็นก็ยุบสภาเเละพรรคเพื่อไทยน่าจะชนะอีก นายกฯมีไพ่เหนือทางการเมือง เเต่ความขัดเเย้งยังไม่หมดเเละอาจเกิดการลุกเป็นไฟ เพราะการต่อต้านจะมีหลายด้านทันที นายกฯควรอดทนเเละค่อยๆ ดูสถานการณ์ หากถอยคนละ 1-2 ก้าวจะดีกว่า เช่น ยอมรับเสียงคัดค้านของฝ่ายอื่นๆ เพราะตนเห็นว่าเเม้ไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ฝ่ายต่างๆ ก็ไม่มาชุมนุมกับพรรคประชาธิปัตย์ หากพรรคเพื่อไทยยังไม่ถอยจะกระทบด้านอื่นๆ ตามมาเยอะ ดังนั้น นายกฯควรพยายามตัดสินใจให้เร็วเเละมองจังหวะให้ดี ตนเห็นใจนายกฯที่รับภาระเเบบนี้ เพราะมีการพลิกเกมการออกร่างกฎหมายนิรโทษกรรมในชั้น กมธ.จนหลายคนช็อก เมื่อถามว่า หากถอนคดีทุจริตเเละการสั่งฆ่าประชาชนออกมาจากร่างกฎหมายฉบับนี้ กระเเสจะบรรเทา นายทนง กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยพยายามชี้เเจงให้สังคมเห็นว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่เกี่ยวกับกฎหมายการเงิน เเต่ประชาชนไม่เชื่อเพราะเปลี่ยนเเปลงเเบบฉับพลัน เพราะวาระ 1 ไม่มีเรื่องเเบบนี้ เเต่ก็พลิกเกม มันทำให้ประชาชนยนึกไม่ออกเเละให้เวลาประชาชนน้อยจนเกิดความไม่ไว้ใจ
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น