วันอังคารที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

สัญญาณต้าน “ล้างโกง” แรง “แม้ว” เสี่ยงปิดฉากภาคสอง เมื่อ 3 พ.ย.56

สัญญาณต้าน “ล้างโกง” แรง “แม้ว” เสี่ยงปิดฉากภาคสอง


ในที่สุดรัฐบาล  น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยพรรคเพื่อไทยและแนวร่วมก็สามารถฝ่าด่านการพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฉบับทะลุซอย ในวาระ 2 และ 3 ที่เปรียบเสมือนด่านหินไปได้เรียบร้อย ชนิดค้านสายตาสังคม ด้วยยุทธวิธีเร่งรีบ รวบรัด และหักดิบขั้นตอนการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โดยใช้เวลาเพียง 1 วันเท่านั้น
    ในมุมของ “นายใหญ่” พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและองคาพยพ นี่คือความสำเร็จอย่างยิ่งยวดที่สามารถลักไก่ฝ่าวงล้อมแนวต้านที่กำลังเริ่มต้นระดมพลออกมาคัดค้านได้แบบไม่ยากเย็น
    ในขณะที่ขั้นตอนต่อจากนี้อย่างการพิจารณาในชั้นวุฒิสภา “นายใหญ่” และองคาพยพเองประเมินแล้วว่า ไม่ใช่งานยากลำบากที่จะหอบหิ้วให้ผ่านไปได้ เพราะสามารถควบคุมจำนวนเสียงสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ไว้ได้แล้วส่วนหนึ่ง
    ในทางกระบวนการตรา พ.ร.บ.ถือว่า รัฐบาลใกล้เดินทางถึงเส้นชัยเต็มที่แล้ว เหลือเพียง “ด่านอรหันต์” อย่างศาลรัฐธรรมนูญที่ดูจะหนักหนาสาหัสที่สุด
    นับเฉพาะวันนี้ในวันที่ยังไปไม่ถึงชั้นชี้ขาดขององค์กรอิสระ เพียงแค่ในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญและนักกฎหมายที่ได้รับการยอมรับ ยังสามารถชี้จุดบกพร่องของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้ได้แบบไม่สิ้นสุด
    โดยเฉพาะอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จำนวนหนึ่งในนาม “คณะนิติราษฎร์” ซึ่งถูกมองว่ามีแนวคิดในลักษณะเดียวกับกลุ่มคนเสื้อแดง ที่ครั้งนี้ออกมาวิจารณ์รอยรั่วของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับทะลุซอยว่า อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ    
    โดยยกเหตุผลตั้งแต่เรื่องกระบวนการตรา พ.ร.บ.ที่ไม่ถูกต้อง หลังจากคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม มีการปรับแก้ถ้อยคำในมาตรา 3 จนเนื้อหาขัดต่อหลักการที่สภาผู้แทนราษฎรรับมาในวาระแรก
    รวมไปถึงการนิรโทษกรรมให้กับคดีทุจริต แต่กลับมีการยกเว้นผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ทั้งที่ยังไม่มีการพิสูจน์ทราบว่า เกิดขึ้นจากการชุมนุมทางการเมือง หรือความขัดแย้งทางการเมืองด้วยหรือไม่ จึงสุ่มเสี่ยงที่จะขัดต่อมาตรา 30 ของรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยเรื่องความเสมอภาค
    นอกจากนี้ยังมีการแสดงความคิดเห็นจากนักวิชาการอีกหลายคนที่ตั้งข้อสังเกตว่า การลงมติเห็นชอบของ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ในส่วนที่เป็นแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และมีคดีติดตัว อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 122 ว่าด้วยผลประโยชน์ทับซ้อน  
    เหล่านี้ล้วนเป็นแง่มุมในทางกฎหมายของนักวิชาการที่สามารถอธิบายความหละหลวมของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้ได้อย่างชัดเจน ก่อนที่จะถึงการตีความของศาลรัฐธรรมนูญ
    นอกจากด่านศาลรัฐธรรมนูญที่รัฐบาลมองว่าเป็นโจทก์ใหญ่แล้ว ขณะนี้อีกปัญหาใหญ่ที่เพิ่มเข้ามาแทรกซ้อนทำให้กระบวนการผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับทะลุซอยต้องเจอตอคือ “ด่านสังคม” ที่อาจกลายมาเป็นตัวแปรสำคัญในการตัดสินว่า กฎหมายฉบับนี้จะไปถึงปลายทางได้หรือไม่
    เพราะกระแสต่อต้านในวันนี้ได้เริ่มก่อตัวเป็นวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ และแทรกซึมเข้าไปในเกือบทุกภาคส่วนของสังคม และทุกสาขาอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล ข้าราชการ นักวิชาการ เอกชน ภาคธุรกิจ ศิลปิน ดารา ฯลฯ ล้วนมีปฏิกิริยาต่อเรื่องดังกล่าวแทบทั้งสิ้น
    ประชาชนที่ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการออกร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้ ไม่ได้ถูกจำกัดแค่กรอบของคอการเมือง มวลชนของพรรคประชาธิปัตย์ คนเสื้อเหลือง คนเสื้อแดง หรือแม้แต่คนที่เกลียดชังระบอบทักษิณ หากแต่เป็นกลุ่มคนธรรมดาที่ไม่ได้ฝักใฝ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่รับไม่ได้หากประเทศไทยจะมีการออกกฎหมายล้างผิดให้กับผู้ต้องหาในคดีทุจริตคอร์รัปชัน
    โลกโซเชียลมีเดียอันประกอบไปด้วยประชากรทุกเพศทุกวัย ต่างวิพากษ์วิจารณ์การล้างผิดให้ผู้ต้องหาในคดีทุจริตคอร์รัปชันกันทุกวันในระยะนี้ จนเป็นประเด็นร้อนที่ใครๆ ต่างพูดถึง ไม่ว่าจะเป็นการล้อเลียน เหน็บแนม เสียดสี และประชดประชัน
    ไม่ใช่เฉพาะกรณี พ.ต.ท.ทักษิณเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงคดีทุจริตการจัดซื้อรถและเรือดับเพลิงของ กทม. มูลค่ากว่า 6 พันล้านบาท ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพิ่งพิพากษาจำคุกนายประชา มาลีนนท์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นเวลา 12 ปี เมื่อไม่นานมานี้
    ตลอดจนคดีทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทร สมัยนายวัฒนา เมืองสุข ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่อยู่ในชั้นของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และอัยการสูงสุด ที่สังคมโซเชียลมีเดียหยิบมาถกแถลงกันอย่างออกรส
    ทั้งหมดล้วนมีทิศทางเดียวกันคือ “ไม่เห็นด้วย” และ “รับไม่ได้”
    การตื่นตัวของ “คนกลาง” เหล่านี้ ถือเป็นสัญญาณที่อันตรายต่อรัฐบาลอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้แต่ละก้าวย่างต่อจากนี้ไม่ได้รับการยอมรับ ขณะเดียวกัน ในทางการเมืองยังเท่ากับเป็นการเพิ่มแนวร่วมให้ฝั่งตรงข้าม และช่วยทำให้ระดับเสียงคัดค้านของพรรคประชาธิปัตย์ดังยิ่งขึ้นกว่าเดิม
    จะเห็นได้ว่า ที่ผ่านมารัฐบาลเองก็ให้ความสำคัญกับจุดนี้ โดย พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เคยออกมาให้สัมภาษณ์ครั้งหนึ่งว่า รัฐบาลจะต้องพยายามเร่งชี้แจงทำความเข้าใจกับคนกลางเหล่านี้ไม่ให้ไหลไปอยู่กับฝ่ายตรงข้าม ไม่เช่นนั้นโอกาสที่จะจุดติดมีสูง
    แต่รัฐบาลกลับไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าใดนัก หนำซ้ำยังเดินหน้าผลักดันแบบเร่งรีบ หมิ่นเหม่ต่อการผิดข้อบังคับในการตรา พ.ร.บ. ตัดตอนไม่ให้มีการแปรญัตติอย่างกว้างขวาง และปิดโอกาสไม่ให้สังคมได้รับข้อมูลอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะการหักดิบพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม วาระ 2 และ 3 ในระยะเวลาเพียงวันเดียว ซึ่งเหมือนเป็นการหักหาญน้ำใจกันเกินไป
    พฤติกรรมเหล่านี้แทบไม่ต่างอะไรกับการกระตุ้นให้กลุ่มคนกลางพวกนี้เชื่อว่า เบื้องหลังการออกกฎหมายล้างผิดไม่โปร่งใสอย่างที่มีการตั้งคำถามกัน
    สถานการณ์ในตอนนี้จึงใกล้เคียงและคล้ายคลึงกับกระแสต่อต้านพรรคไทยรักไทย เมื่อช่วงปี 2549 ที่มีจุดเริ่มต้นจากประเด็นการทุจริตจนทำให้ประชาชนก่อตัวกันขึ้นมาอย่างกว้างขวาง จากกรณี พ.ต.ท.ทักษิณ และ คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ ขายหุ้นชินคอร์ปให้แก่บริษัท เทมาเส็ก ของสิงคโปร์ ผ่านบริษัท ซีดาร์ โฮลดิ้งส์ จำนวน 49.595% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด เป็นเงินทั้งสิ้น 73,271,200,910 บาท ซึ่งเป็นการขายหุ้นที่มีมูลค่าสูงที่สุดในประเทศไทย ผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
    ในช่วงนั้นมีการตั้งคำถามมากมาย ทั้งการได้รับยกเว้นภาษี เรื่องจังหวะเวลาที่ขายหุ้นเกิดหลังการประกาศใช้ พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคมฉบับใหม่เพียง 2 วัน และประเด็นเรื่องกิจการสื่อสารมวลชน ซึ่งเป็นกิจการที่สำคัญต่อความมั่นคงของชาติ กลับต้องตกไปอยู่ในการบริหารของต่างชาติ
    กระทั่งสุดท้าย พ.ต.ท.ทักษิณทนแรงเสียดทานไม่ไหวต้องตัดสินใจยุบสภาฯ!!!
    หลังจากนี้จึงต้องจับตาดูว่า รัฐบาลจะมีท่าทีอย่างไรต่อไป
    หากยังดันทุรังเข็นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมกันแบบค้านสายตาสังคมต่อไป โอกาสที่จะมีจุดจบเหมือนครั้งนั้นก็ไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นไม่ได้อีก
    ต้องอย่าลืมว่า ประเด็นทุจริตถือเป็นเรื่องที่มีความอ่อนไหวระดับหนึ่งต่อสังคม ยิ่งเป็นการทุจริตที่เกิดขึ้นในที่แจ้งยิ่งอ่อนไหวมากขึ้นอีกเท่าตัว
    แต่การลบล้างการทุจริตกันโดยมีอภิสิทธิ์เหนือกว่าคนทั่วไป และทำกันแบบโจ่งแจ้งไม่สนบรรทัดฐานของสังคมและกฎบ้านกฎเมือง สังคมยิ่งรับไม่ได้อย่างแรง!!!.
                                                                                      ทีมข่าวการเมือง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น