วันจันทร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ทวงคืนอำนาจประชาชนด้วยนกหวีด เมื่อ 18 พ.ย.56

ทวงคืนอำนาจประชาชนด้วยนกหวีด


กลายเป็นประเด็นหัวข้อวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางแบบปฏิเสธไม่ได้ สำหรับถ้อยแถลงของนางปวีณา หงสกุล รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ผ่านรายการ "รัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน" เมื่อเช้าวันเสาร์ที่ 16 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งระบุว่า การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการเป่านกหวีดใส่รัฐบาลและสมาชิกพรรคเพื่อไทยเป็นความรุนแรง ไม่ควรกระทำ เพราะเป็นการไม่เคารพสิทธิซึ่งกันและกัน พร้อมกับร้องขอให้ทุกคนระลึกถึงและนึกถึงในสิ่งที่ถูกต้อง การอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข
  
    มาตรการเป่านกหวีดถูกหยิบยืมมาใช้ในสังคมไทยตั้งแต่ต้นเดือน พ.ย. หลังจากที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทยได้ดำเนินการอย่างอุกอาจฉับพลันผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมวาระ 2 และ 3 แบบเบ็ดเสร็จด้วยอำนาจของเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ท่ามกลางเสียงทัดทาน คัดค้าน ต่อต้านของทุกฝ่ายว่า เป็นกฎหมายนิรโทษฯ เหมาเข่งบ้าง สุดซอยบ้าง เพราะเนื้อหาสาระของกฎหมายจะส่งผลให้คนที่กระทำผิดในการใช้อำนาจโดยมิชอบทุจริตคอร์รัปชัน และเผาบ้านเผาเมืองพลอยฟ้าพลอยฝนได้รับอิสระ ยกเว้นการต้องโทษพร้อมๆกับเหยื่อทางการเมืองในเหตุการณ์ความไม่สงบเรียบร้อบของปี 2549 จนถึงปี 2553 ที่ผ่านมาด้วย 
    คลื่นมหาชนที่ร่วมกันออกมาสร้างปรากฏการณ์เป่านกหวีด นับเรือนหมื่นเรือนแสนจากสิ้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ ที่มีการปักหลักของกลุ่มต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรมยกเข่ง นำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) นำโดยนายนิติธร ล้ำเหลือ ที่ยึดชัยภูมิบริเวณถนนราชดำเนินนอก ไปจรดสะพานมัฆวานฯ  ตลอดจนกลุ่มชมรมนักธุรกิจเพื่อประชาธิปไตยที่นัดแนะตามสถานที่ย่านธุรกิจทั้งบนถนนสีลม ถนนรัชดาภิเษก ถนนอโศกนั้น ล้วนเข้าใจและตกผลึกทางความคิดในทำนองเดียวกันภายใต้ความคาดหวังว่า เสียงนกหวีดที่กรีดเสียงออกไปนั้นจะช่วยกระตุ้นต่อมจิตสำนึกของนักการเมืองทั้งหลาย โดยเฉพาะพรรคที่มีเสียงข้างมากในสภา รวมทั้งวุฒิสมาชิกที่จะต้องมีบทบาทในการกลั่นกรองออกกฎหมาย ได้ตระหนักรับรู้ถึงปัญหา และความรับผิดชอบชั่วดีที่พึงกระทำ เพื่อประโยชน์สุขของประเทศชาติประชาชน
    เสียงนกหวีดจากปวงประชาที่พร้อมใจกันเปล่งเสียงเพื่อต้านอำนาจอันมิชอบ ได้กลายมาเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์การต่อสู้ทางการเมืองที่สำคัญ ซึ่งมีประวัติศาสตร์มายาวนาน ไม่ใช่ "ของใหม่" เลย แต่มีการบันทึกว่าเมื่อปี พ.ศ.2513 ราล์ฟ เนเดอร์ (Ralph Nader) นักกฎหมาย นักเขียน และนักต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของผู้บริโภคชาวอเมริกันเลือกที่จะเป่านกหวีดในรัฐสภาเพื่อเตือนรัฐบาล ถึงพฤติกรรมที่ส่อความทุจริตและไม่โปร่งใสในการบริการบ้านเมือง ซึ่งเป็นเสมือนจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์การเป่านกหวีด จากนั้น ในปี พ.ศ.2551 Falling Whistles ได้ถูกก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นองค์การไม่แสวงหาผลกำไร เพื่อรณรงค์ให้เกิดสันติภาพในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ซึ่งได้มีการใช้นกหวีดเป็นสัญลักษณ์ของการประท้วง และขยายแนวร่วมผู้สนับสนุนด้วยการเชิญชวนให้ร่วมเป่านกหวีดเพื่อแสดงออก
    ก่อนหน้านี้ ในปี พ.ศ.2552 ชาวราเนียราว 15,000 คน ได้จัดชุมนุมทั่วประเทศที่จัตุรัสแห่งชัยชนะ ซึ่งเป็นย่านธุรกิจกลางกรุงบูคาเรสต์ เพื่อประท้วงค่าจ้างแรงงานต่ำ ก่อนเคลื่อนขบวนไปประท้วงหน้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหา โดยกลุ่มผู้ชุมนุมร่วมกันเป่านกหวีดเป็นสัญลักษณ์ความเป็นหนึ่งเดียวกัน และในปี พ.ศ.2555 จากนโยบายหยุดและค้น (Stop-and-Frisk' Policy) ของตำรวจนิวยอร์ก สหรัฐ ที่มอบอำนาจให้ตำรวจสามารถเข้าตรวจค้นประชาชนได้อย่างอิสระ จนทำให้ชาวอเมริกันเกิดความอึดอัดและมองว่าเป็นการคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างรุนแรง ได้ก่อให้เกิดแคมเปญรณรงค์ให้ประชาชนพกนกหวีดติดตัวไว้ทุกคน และหากพบตำรวจเข้าตรวจค้นก็ให้เป่านกหวีดใส่ อีกทั้งในกลุ่มผู้ประท้วงหลายสิบคนในเมืองฮาร์เล็ม รัฐแมนฮัตตัน ก็ได้ร่วมกันเป่านกหวีด เพื่อแสดงการต่อต้านนโยบายที่ละเมิดสิทธิของประชาชนนี้ด้วย
    ปรากฏการณ์เป่านกหวีดในสังคมไทยขณะนี้ ของปลายปี 2556 หาก รมว.พัฒนาสังคมฯ สดับตรับฟังรับรู้ความเป็นไปในบ้านเมืองด้วยใจที่เป็นเสรีชน หรือเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงแล้ว ย่อมต้องตระหนักได้ว่า เป็นการลุกขึ้นทวงอำนาจอธิปไตยของประชาชน และพร้อมกับกระตุ้นเตือนว่า การใช้อำนาจของปวงชนชาวไทยที่เลือกผู้แทนเข้าไปบริหารประเทศชาติบ้านเมืองโดยมิชอบ เอื้อประโยชน์ต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือกลุ่มและพรรคพวกนั้น เป็นสิ่งที่ประชาชนยอมรับไม่ได้อีกต่อไป  
    อารยะขัดขืนผ่านเสียงนกหวีด กำลังบอกอะไรกับคนไทยทั้งประเทศ รวมทั้งคนทั่วโลก ระดับ รมว.พัฒนาสังคมฯ ไม่รู้ไม่เข้าใจ และมองเป็นความรุนแรงนั้น ขอยืนยันว่า นอกจากฟ้องบอกศักยภาพ และประสิทธิภาพในการคิด การกระทำของบุคคลระดับผู้นำแถวหน้าของประเทศในฐานะรัฐมนตรี ว่า ไม่ได้เรื่อง ไม่ได้ความ อ่อนด้อยทางปัญญาแล้ว ยังตอกย้ำด้วยว่า รัฐบาลชุดนี้หมดความชอบธรรมในการบริหารประเทศ เพราะไม่เพียงแต่ปล่อยให้คนจากแดนไกลสั่งการบริหารตามอำเภอใจราวกับเป็นเจ้าของประเทศเท่านั้น แต่รัฐมนตรีในคณะทำงานยังมีพฤติกรรมไม่ผิดกับตุ๊กตาบาร์บี้.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น