วันพุธที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

หอการค้าชิ่งอารยะขัดขืน ‘ตัน’หยันแค่คนกลุ่มน้อย! เมื่อ 13 พ.ย.56

หอการค้าชิ่งอารยะขัดขืน ‘ตัน’หยันแค่คนกลุ่มน้อย!


 "ยิ่งลักษณ์" เรียก ปธ.ธุรกิจท่องเที่ยวกล่อม  พร้อมเปิดเวทีคุยภาคเอกชนสร้างความมั่นใจ "สภาหอการค้าไทย" ออกแถลงการณ์วอนม็อบหยุด อ้างห่วงบานปลายรุนแรงทำ ศก.เสียหาย 3-5 หมื่นล้าน "เสี่ยตัน" หยันพวกนักธุรกิจ-สถาบันการศึกษาออกร่วมชุมนุมแค่คนกลุ่มเล็ก เชื่อไม่ยืดเยื้อ "พลังงาน" ตีปี๊บคุมเข้มโรงไฟฟ้าผวาโดนตัดไฟ
    เมื่อวันอังคาร น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้เชิญผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ประกอบด้วย นางปิยะมาน เตชะไพบูลย์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, นางพรทิพย์ หิรัญเกตุ รองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฯ และเลขาธิการสมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติ, นายศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว และนายยุทธชัย สุนทรรัตนเวช นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ เข้ารายงานสถานการณ์การท่องเที่ยวในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีนี้
    นายธีรัตถ์ รัตนเสวี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  แถลงผลการหารือว่า นายกฯ ไม่อยากให้ภาคธุรกิจได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์การชุมนุม จึงได้เชิญผู้ประกอบการเข้ามาช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับธุรกิจท่องเที่ยว โดยนายกฯ ย้ำว่า ภาครัฐตั้งมั่นอยู่ในการใช้กรอบของกฎหมายดูแลพี่น้องประชาชนให้ปลอดภัย ขอให้เจ้าหน้าที่ที่ดูแลประชาชนไม่ใช้กำลังความรุนแรง 
    "นายกฯ อยากเปิดเวทีการพูดคุย รับฟังปัญหาจากทุกอุตสาหกรรม ทำเนียบรัฐบาลพร้อมเปิดประตูรับฟังความคิดจากภาคเอกชนให้เข้ามาร่วมกันแก้ปัญหา อยากให้เอกชนระมัดระวังข่าวลือที่กระทบต่อภาคการท่องเที่ยว เพื่อสร้างความมั่นใจและเพียงแค่ขอให้เสนอความจริง ไม่จำเป็นต้องบอกชอบรัฐบาลก็ได้" โฆษกประจำสำนักนายกฯ ระบุ
    ร.ท.หญิงสุณิสา เลิศภควัต รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า  ในที่ประชุม ครม. นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง ได้แสดงความเป็นห่วงกรณีที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำผู้ชุมนุม ยุยงให้ประชาชนประท้วงรัฐบาลด้วยการหยุดการเสียภาษี ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ถูกกฎหมาย และส่งผลเสียหายต่อประเทศ นายกิตติรัตน์จึงมอบหมายให้ทีมโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ไปทำความเข้าใจกับประชาชนไม่ให้หลงเชื่อผู้ที่ยุยง เพราะการไม่เสียภาษีทำให้ประชาชนต้องเสียค่าปรับ หรือค่าธรรมเนียมตามกฎหมาย อาจเป็นค่าใช้จ่ายสูงขึ้นในภายหลัง 
    นางเบญจา หลุยเจริญ รมช.การคลัง ระบุว่า การเสียภาษีถือเป็นหน้าที่ของประชาชนที่ดี ดังนั้น เมื่อประชาชนคิดว่าออกมาต่อสู้เพื่อประเทศชาติ ก็ควรมีหน้าที่ร่วมกันเสียภาษีเพื่อประเทศชาติด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การชุมนุมที่เกิดขึ้นยังไม่ส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บภาษีของรัฐบาล โดยเฉพาะภาษีในส่วนของกรมสรรพากร อาทิ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา, ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) โดยการจัดเก็บรายได้ในเดือน ต.ค.56 (เดือนแรกของปีงบประมาณ 2557) ยังจัดเก็บรายได้เกินเป้าถึง 7 พันล้านบาท ขณะที่การท่องเที่ยวของประเทศไทยก็ยังขยายตัวได้เป็นอย่างดี นักท่องเที่ยวต่างชาติยังเดินทางเข้ามาอย่างต่อเนื่อง
    นายยรรยง พวงราช รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า หากการชุมนุมทางการเมืองยืดเยื้อออกไป จะทำให้ความเชื่อมั่นการบริโภคของประชาชนลดลง ซึ่งจะยิ่งเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ทางเศรษฐกิจประเทศให้ย้ำแย่ลงไป หลังจากที่ศึกษาดัชนีราคาสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม พบว่ามีการปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรก จากเดิมที่หากตัวใดตัวหนึ่งลดลง อีกรายการจะเพิ่มขึ้นหรือเท่าเดิม ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ความเชื่อมั่นการบริโภคได้ทำให้ดัชนีราคาสินค้าอุตสาหกรรมลดลง
    วันเดียวกัน นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และกรรมการหอการค้าไทย กล่าวถึงสถานการณ์การชุมนุมว่า สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและหอการค้าไทยได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ขอให้ยุติการชุมนุมทางการเมืองในขณะนี้ เนื่องจากเห็นว่าการชุมนุมคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมได้บรรลุวัตถุประสงค์แล้ว โดยพรรคร่วมรัฐบาลลงสัตยาบันที่จะไม่นำร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมขึ้นมาพิจารณาอีก ซึ่งทำให้หนทางสู่การทุจริตได้ยุติลง ดังนั้น สภาหอฯ ต้องการให้ทุกฝ่ายหยุดชุมนุม เพื่อไม่ให้เกิดการเผชิญหน้าและนำไปสู่ความรุนแรงในอนาคต   
    นายอิสระกล่าวว่า สภาหอการค้าฯ กังวลหากสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองยืดเยื้อ จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ธุรกิจการค้า รวมถึงความเชื่อมั่นในการลงทุนและการท่องเที่ยวของไทยได้ โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่กำลังเข้าสู่ฤดูการท่องเที่ยว อีกทั้งประเทศไทยกำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว การส่งออกช่วงไตรมาสที่ 3 เติบโตเหลือแค่เพียง 0.05% ขณะที่การส่งออกทั้งปีเติบโตแค่ 1% เท่านั้น หากมีการชุมนุมยืดเยื้อจะฉุดเศรษฐกิจของประเทศให้ลดต่ำลงอีกได้ จึงขอให้ทุกฝ่ายคำนึงถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมด้วย
    "ความคิดเห็นทางการเมืองสามารถแตกต่างกันได้ แต่ควรไปหาเวทีคุยกันจะเหมาะสมกว่า ซึ่งแนวทางที่ผู้ชุมนุมเรียกร้องให้ใช้อารยะขัดขืน ด้วยการหยุดงานพร้อมกันทั่วประเทศ รวมทั้งการหยุดจ่ายภาษี ทางสภาหอฯ ไม่เห็นด้วย  เพราะการหยุดงานอาจกระทบต่อภาคธุรกิจได้ ขณะที่การหยุดจ่ายภาษีถือเป็นการทำผิดกฎหมาย" นายอิสระกล่าว
    ประธานสภาหอการค้าฯ กล่าวว่า หากสถานการณ์รุนแรงถึงขั้นยุบสภาฯ เลือกตั้งใหม่ จะทำให้การขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจประเทศเกิดการชะลอตัว และหากรัฐบาลชุดใหม่มาอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบาย จนทำให้การลงทุนชะงักได้ 
    นายธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย  มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า หอการค้าประเมินสถานการณ์ความรุนแรงในการชุมนุมที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไว้ 4 กรณี 1.หากการเมืองชุมนุมเป็นไปอย่างสงบ จะทำให้เศรษฐกิจประเทศปี 2556 โตเพียง 3.3-3.4% จากเป้าหมายที่จะเติบโต 3.5% หรือคิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจประมาณ 1-2 หมื่นล้านบาท หรือมากสุดไม่เกิน 5 หมื่นล้านบาท
    "กรณีที่ 2 หากการเมืองรุนแรงขึ้นและเกิดการปะทะกัน  จะทำให้เศรษฐกิจประเทศปี 2556 เติบโตเพียง 3-3.2% จากเป้าหมาย 3.5% โดยจะทำให้นักท่องเที่ยวไม่กล้ามาเที่ยวในไทย และนักท่องเที่ยวหายไป 2 แสนคนต่อเดือน หรือคิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางธุรกิจ 3-5 หมื่นล้านบาท" นายธนวรรธน์กล่าว
    รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยกล่าวอีกว่า กรณีที่ 3 หากการชุมนุมทางการเมืองยืดเยื้อและลากยาวไปถึงไตรมาส 1 ของปี 2557 จะทำให้เศรษฐกิจประเทศปี 2557 เติบโต 4.5%  จากเป้าหมายที่จะเติบโตได้ 5% หรือคิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 1-1.5 แสนล้านบาท และ 4 หากเกิดการยุบสภาฯ นักลงทุนจะขาดความเชื่อมั่นด้านนโยบายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้เพียง 4-4.5% จากเป้าหมายที่คาดว่าจะเติบโต 5%  
    ถามถึงข้อเสนอให้ใช้อารยะขัดขืนหยุดงานและหยุดจ่ายภาษีของกลุ่มผู้ชุมนุม นายธนวรรธน์มองว่า จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรง หากการหยุดงานครอบคลุมไปถึงภาคขนส่งของประเทศ ทั้งทางเรือ รถไฟ และท่าอากาศยาน ซึ่งจะสร้างความเสียหายต่อภาคธุรกิจสูง และทำให้กระทบมูลค่าทางเศรษฐกิจถึง 5 หมื่นถึง 1 แสนล้านบาทได้
    ขณะที่หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ร่วมกับศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ สำรวจความเห็นของผู้บริหารบริษัทจำนวน 429 ราย ระหว่างวันที่ 28 ต.ค.-5 พ.ย.56  เกี่ยวกับแนวโน้มทางเศรษฐกิจและธุรกิจ พบว่า ดัชนีทางเศรษฐกิจในเดือน ต.ค.ติดลบ 16% ต่ำสุดในรอบปี และยังเป็นระดับที่ลดลงจากเดือน ก.ย.ถึงติดลบ 9% สะท้อนให้เห็นถึงสภาวะชะงักงันของเศรษฐกิจ
    นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยังผู้ประกอบการรายใหญ่ทางด้านโทรคมนาคมทั้ง 5 บริษัท คือบริษัท แอดวานซ์  อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน), บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส  คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น  จำกัด (มหาชน), บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ถึงกรณีกลุ่มผู้ชุมนุมเวทีราชดำเนินเรียกร้องให้ภาครัฐและเอกชนดำเนินมาตรการ 4 อย่างเพื่อแสดงอารยะขัดขืนรัฐบาล ซึ่งได้รับคำตอบไปในแนวทางเดียวกันว่า บริษัทไม่ได้มีหนังสือประกาศหยุดงานเพื่อใหัพนักงานออกไปร่วมชุมนุมแต่อย่างใด
    นายตัน ภาสกรนที กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท อิชิตัน จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตชาเขียวอิชิตัน ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจระบุว่า ไม่เห็นด้วยที่นายสุเทพ ประกาศยกระดับการชุมนุม ให้ภาคประชาชนหยุดงานในช่วงวันที่ 13-15 พ.ย.56 เนื่องจากวุฒิสภาได้คว่ำร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ประชาชนต้องกินต้องใช้  ทุกคนต้องทำงาน ทำมาหากิน หาเงินหารายได้ 
    นายตันกล่าวว่า กรณีที่ให้ภาคเอกชนชะลอการจ่ายภาษี ไม่สมควรอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ และยังเป็นการทำผิดกฎหมาย และหากเอกชนมีการชะลอการจ่ายภาษีจริง แล้วใครจะเป็นผู้มารับผิดชอบ
    "ส่วนตัวเชื่อว่าการชุมนุมจะไม่ยืดเยื้อออกไป เพราะผู้ที่ออกมาทั้งกลุ่มภาคเอกชนและสถาบันการศึกษาต่างๆ เป็นเพียงกลุ่มน้อย ขณะที่ข้อเรียกร้องก็ได้ไปทุกอย่างแล้ว เชื่อว่าการชุมนุมจะไม่บานปลายและไม่ลากยาวออกไป แต่หากชุมนุมยืดเยื้อเชื่อว่าจะเกิดการสูญเสียหลายๆ ด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจและภาคการลงทุนของไทย เนื่องจากนักลงทุนขาดความเชื่อมั่นที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย และหันไปลงทุนในประเทศอื่นๆ เช่น พม่า, ลาว และอินโดนีเซีย นอกจากนี้ยังจะกระทบกับภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยด้วย" นายตันระบุ
    ที่กระทรวงพลังงาน นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงกลุ่มผู้ชุมนุมระบุจะตัดไฟฟ้าในหลายสถานที่ว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดประสานงานติดตาม และยกระดับการดูแลความมั่นคงด้านไฟฟ้าสู่ระดับสูงสุด และให้ป้องกันหน่วยงานผลิตไฟฟ้าต่างๆ เพื่อความมั่นคง โดยเฉพาะประชาชนต้องไม่ได้รับความเดือดร้อน 
    "หากกระทำการตัดไฟ หรือบุกเข้าไปในสถานที่ด้านพลังงาน จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและผิดกฎหมาย ผู้ดำเนินการจะกลายเป็นอาชญากรได้" ปลัดพระทรวงพลังงานกล่าว
    นายอาทร สินสวัสดิ์ ผู้ว่าการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)กล่าวว่า กฟน.ได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการร่วมกับกระทรวงมหาดไทยในการดูแล โดย กฟน.มีหน้าที่ต่อไฟ หากใครตัดไฟ เจ้าหน้าที่ กฟน.เตรียมพร้อม 24 ชั่วโมง จะเข้าไปต่อไฟฟ้าให้มีการใช้อย่างต่อเนื่องทันที ไม่ให้เกิดผลกระทบแน่นอน ในขณะเดียวกัน กฟน.ได้เลื่อนการซ่อมบำรุงในช่วงนี้ไปอย่างไม่มีกำหนด จากเดิมที่จะต้องมีการซ่อมบำรุงและดับไฟฟ้าในจุดต่างๆ เป็นระยะๆ
    อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กฟน. ได้ประกาศตัดไฟทำเนียบรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย หากรัฐบาลสั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจทำร้ายกลุ่มผู้ชุมนุม รวมทั้งหากวันที่ 15 พ.ย.นี้ยังไม่มีความชัดเจนด้านคำตอบทางการเมืองก็จะดำเนินการตัดไฟทันที.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น