วันอังคารที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

สรุปข่าวต่างประเทศ 12/11/2556

สรุปข่าวต่างประเทศ 12/11/2556

๑ การประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาโครงการนิวเคลียร์อิหร่านยังไม่บรรลุผล
   เมื่อ ๑๑ พ.ย.๕๖ นายโมฮัมหมัด ชาร์รีฟ รมว.กต.อิหร่าน และ หน.คณะผู้แทนเจรจาของอิหร่าน กับนางแคทเธอรีน แอชตัน หน.ด้านนโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรป (EU) ในฐานะ หน.คณะผู้แทนเจรจาของกลุ่มประเทศ P5+1 (สหราชอาณาจักร จีน ฝรั่งเศส รัสเซีย สหรัฐฯ และเยอรมนี) แถลงหลังเสร็จสิ้นการเจรจาเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาโครงการนิวเคลียร์อิหร่าน ที่นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ว่าทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงใดๆ ได้ อย่างไรก็ตามนางแอชตัน ระบุว่า การเจรจาครั้งนี้เป็นไปอย่างสร้างสรรค์และมีความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมหลายประการ แต่ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ในบางประเด็น ด้านนายชาร์รีฟ ระบุว่า อิหร่านไม่ผิดหวังกับการเจรจาครั้งนี้แม้ว่าจะเป็นการเจรจาที่ยืดเยื้อและไม่สามารถบรรลุข้อตกลงใดๆได้แต่หวังว่าทั้งสองฝ่ายจะสามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันได้ในการเจรจาครั้งต่อไป อนึ่ง ทั้งสองฝ่ายตกลงให้จัดการเจรจาในระดับ จนท.อาวุโส ใน ๒๐พ.ย.๕๖หลังจากนั้นจึงจะมีการจัดการเจรจาระดับ รมว.กต. และ หน.คณะผู้แทนเจรจา
 
๒ กลุ่ม SNC ตกลงร่วมการเจรจา Geneva 2
    เมื่อ ๑๑ พ.ย.๕๖ กลุ่มพันธมิตรแห่งชาติซีเรีย (The Syrian National Council : SNC) ซึ่งเป็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาลซีเรียแถลงว่า SNC ตกลงที่จะเข้าร่วมการเจรจาสันติภาพเพื่อแก้ไขสถานการณ์ความรุนแรงในซีเรีย (Geneva II) แต่ต้องมีหลักประกันว่าองค์กรบรรเทาทุกข์จะได้รับอนุญาตให้เข้าไปยังพื้นที่ที่ถูกปิดล้อมมีการปล่อยตัวนักโทษทางการเมือง และทำให้เกิดการถ่ายโอนอำนาจทางการเมืองในซีเรีย โดย SNC หวังว่าการเจรจาจะจบลงพร้อมกับการลาออกจากตำแหน่งของนายบาชาร์ อัล-อัสซาด ประธานาธิบดีซีเรีย ทั้งนี้ ที่ผ่านมาแกนนำของ SNC แสดงความเต็มใจที่จะเข้าร่วมการเจรจาสันติภาพที่สนับสนุนโดยรัสเซียกับสหรัฐฯแต่ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่กลุ่มต่อต้านรัฐบาลซีเรียทั้งในและนอกประเทศแสดงเจตนารมณ์ว่าจะเข้าร่วมการเจรจาดังกล่าว
 
๓  นรม.อินเดียไม่เข้าร่วมการประชุมCHOGM ที่ศรีลังกา
   เมื่อ ๑๑ พ.ย.๕๖ เว็บไซต์ Times of India ของอินเดียรายงานว่า นายมันโมฮัน ซิงห์ นรม.อินเดีย จะไม่เข้าร่วมการประชุม Commonwealth Heads of Government Meeting (CHOGM) ซึ่งเป็นการประชุมระหว่างประเทศในเครือจักรภพสหราชอาณาจักร ระหว่าง ๑๕ – ๑๗ พ.ย.๕๖ ที่ศรีลังกา แต่จะส่ง รมว.กต.อินเดียเข้าร่วมการประชุมแทน ซึ่งการตัดสินใจดังกล่าว มีขึ้นหลังจากพรรคการเมืองในรัฐทมิฬนาฑูซึ่งเป็นรัฐในศรีลังกาที่มีชาวทมิฬกว่า ๖๐ ล้านคน ออกมากดดันรัฐบาลอินเดียยุติการสนับสนุนรัฐบาลศรีลังกาเนื่องจาก ไม่พอใจที่รัฐบาลศรีลังกาไม่ได้ปกป้องผลประโยชน์ของชาวทมิฬเท่าที่ควร อีกทั้งทำให้ชาวทมิฬผู้บริสุทธิ์ต้องเสียชีวิตจำนวนมากในช่วงที่รัฐบาลศรีลังกาปราบปรามกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลม (Liberation Tigers of Tamil Eelam : LTTE) เมื่อปี ๒๕๕๒
 
๔ อินเดียเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ASEM
     เมื่อ ๑๑ พ.ย.๕๖ โฆษก กต.อินเดีย แถลงว่า อินเดียได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเชีย - ยุโรป (Asia Europe Meeting : ASEM) ครั้งที่ ๑๑ ที่กรุงนิวเดลี อินเดีย ระหว่าง ๑๑ - ๑๒ พ.ย.๕๖ โดยอินเดียหวังให้รมว.กต.แต่ละประเทศที่เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ให้ความสำคัญกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจและสังคมมากขึ้น นอกเหนือจากการหารือในด้านการเมืองแต่เพียงอย่างเดียวเพื่อทำให้ความร่วมมือทั้งสามด้านมีความสมดุลกัน นอกจากนี้ อินเดียจะผลักดันให้ผลการหารือในที่ประชุม ASEM นำไปสู่ความร่วมมือที่ชัดเจนและปฏิบัติได้จริง
 
๕ เว็บไซต์ Defense News รายงานว่า เกาหลีใต้ต้องการขายยุทโธปกรณ์แก่ไทย
    เมื่อ ๑๑ พ.ย.๕๖ เว็บไซต์ Defense News รายงานโดยอ้างการเปิดเผยของ จนท.เกาหลีใต้ว่า เกาหลีใต้ต้องการขายยุทโธปกรณ์ ซึ่งรวมถึงเรือรบและ บ.แก่ไทย ที่กำลังปรับปรุงกองทัพให้ทันสมัยเพื่อรับมือกับความท้าทายด้านความมั่นคง ทั้งนี้ ทร.ไทยมีแผนจะซื้อเรือฟริเกตจากบริษัทต่อเรือของเกาหลีใต้เพิ่มอีก ๑ ลำหลังจากทำสัญญาจัดซื้อไปแล้ว ๑ ลำ โดยมีกำหนดส่งมอบในปี ๒๕๖๐ รวมทั้งกำลังพิจารณาจัดซื้อเรือดำน้ำอีก ๑ ลำหลังจากอินโดนีเซียและมาเลเซียจัดซื้อเรือดำน้ำและเรือฝึกจากเกาหลีใต้พร้อมกับระบุว่า ทอ.ไทยแสดงความสนใจที่จะจัดซื้อ บ.T-50 ขณะที่ ทบ.ไทยให้ความสนใจจัดหารถยนต์บรรทุกติดปืนใหญ่เข้าประจำการเพื่อปรับปรุงหน่วยทหารปืนใหญ่ให้ทันสมัย
 
๖  รมว.ศธ.สิงคโปร์ขอให้รัฐบาลเพิ่มมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์โดยเร็ว
    เมื่อ ๑๑ พ.ย.๕๖ เว็บไซต์ Channel NewsAsia ของสิงคโปร์รายงานอ้างการให้สัมภาษณ์ของนาย Heng Swee Keat รมว.ศธ.สิงคโปร์ ว่า รัฐบาลสิงคโปร์ต้องเพิ่มมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์และออกมาตรการปราบปรามภัยคุกคามดังกล่าวอย่างจริงจังพร้อมกับกล่าวถึงกรณีที่กลุ่มนักเจาะระบบคอมพิวเตอร์ (Hacker) พยายามโจมตีเว็บไซต์ของสำนักนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ เมื่อ ๗ พ.ย.๕๖ ว่า กลุ่ม Hackerมีศักยภาพจะทำลายโครงสร้างพื้นฐานของสิงคโปร์ได้รัฐบาลจึงควรหาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยเร็ว ก่อนหน้านี้คณะกรรมการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของสิงคโปร์ (IDA)กล่าวว่าจะเพิ่มการป้องกันการโจมตีทางเว็บไซต์ของรัฐบาลมากขึ้นทั้งนี้ยังไม่ระบุว่าผู้ใดเป็นกลุ่ม Hacker
 
๗ ประชาชนกัมพูชาเตรียมอพยพออกจากชายแดนด้านปราสาทพระวิหาร
เมื่อ ๑๑ พ.ย.๕๖ นสพ.พนมเปญโพสต์ ของกัมพูชา รายงานว่า ประชาชนกัมพูชา ที่พักอาศัยอยู่ในบ้านสะแอม ใกล้ปราสาทพระวิหารยังคงดำเนินชีวิตตามปกติ อย่างไรก็ตามประชาชนกัมพูชาในบริเวณดังกล่าวพร้อมจะอพยพออกจากพื้นที่ทันทีที่เกิดการปะทะระหว่างทหารไทย - กัมพูชา ด้านนายไพ สีพาน โฆษก ครม.กัมพูชายืนยันว่า ไม่ว่าคำตัดสินของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) จะออกมาอย่างไรกัมพูชาจะปฏิบัติตามและอยู่ในความสงบไม่วางกำลังหรือสับเปลี่ยนกำลังในบริเวณพื้นที่พิพาท นอกจากนี้ พล.ท.อู ณาริน รอง ผบ.กองพลสนับสนุนที่ ๓ ของกองทัพกัมพูชา เปิดเผยว่า ผู้แทนกองทัพของทั้งสองฝ่ายได้พบหารือกัน เมื่อ ๑๐ พ.ย.๕๖ และตกลงกันใน ๓ ประเด็นหลัก คือ ทหารกัมพูชาและไทยจะประจำอยู่ในที่ตั้ง ทั้งสองฝ่ายจะเคารพคำตัดสินของศาลโลก และจะส่งเสริมมาตรการเสริมสร้างความไว้วางใจต่อกัน
 
๘ ท่าทีของกัมพูชาหลังทราบคำตัดสินคดีปราสาทพระวิหาร
     เมื่อ ๑๑ พ.ย.๕๖ สื่อมวลชนกัมพูชาหลายสำนัก รายงานว่า รัฐบาลกัมพูชาประกาศชัยชนะในคดีปราสาทพระวิหารหลังศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) อ่านคำตัดสินว่า ศาลโลกมีอำนาจตัดสินคดีดังกล่าวโดยให้ทั้งไทยและกัมพูชายึดมั่นตามคำตัดสินของศาลโลกเมื่อปี ๒๕๐๕ ที่ให้กัมพูชามีอำนาจอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารโดยนายเขียว กัญญาฤทธิ์ โฆษกรัฐบาลกัมพูชาโพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า คำตัดสินครั้งนี้เป็นชัยชนะของประชาชนกัมพูชา ขณะที่ นายสม รังสี หัวหน้าพรรคสงเคราะห์ชาติ พรรคฝ่ายค้านของกัมพูชา แสดงความพอใจในคำตัดสินโดยระบุในเฟซบุ๊กส่วนตัวและแถลงผ่านวิดีทัศน์ฉลองชัยชนะของกัมพูชาเหนือไทย ขณะที่ ประชาชนกัมพูชาบริเวณชายแดนกัมพูชา - ไทยเชื่อว่ากัมพูชาเป็นฝ่ายชนะคดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น