วันอาทิตย์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

“ยิ่งลักษณ์”ดิ้นสุดชีวิตรักษาเก้าอี้ “นิคม”เอาสภาสูง “รับใช้”เพื่อไทย โดย ทีมข่าวการเมือง 10 พฤศจิกายน 2556 07:34 น

“ยิ่งลักษณ์”ดิ้นสุดชีวิตรักษาเก้าอี้ “นิคม”เอาสภาสูง “รับใช้”เพื่อไทย

โดย ทีมข่าวการเมือง10 พฤศจิกายน 2556 07:34 น

มองกันว่ายิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมถอยสุดทางจนยอมทำทุกอย่างเพื่อรักษาอำนาจตัวเองเอาไว้ก่อนจะสายเกินไปหลังจากที่ เจอเส้นตายของเวทีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่สุเทพเทือกสุบรรณประกาศไว้เมื่อคืนวันที่ 6 พ.ย.
       
       ว่าให้เวลายิ่งลักษณ์ถึงไม่เกิน 18.00 น.วันจันทร์ที่ 11 พ.ย. 56 ที่ต้องฝังร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯให้หายสาบสูญไปจากสารบบของรัฐสภาให้ได้
       
       ไม่เช่นนั้นจะยกระดับการชุมนุมขึ้นไปอีก ไม่ใช่แค่การกดดันให้ถอนร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯเท่านั้น
       
       ทำให้ช่วงตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ยิ่งลักษณ์ ไม่เป็นอันทำงานวิ่งขาขวิดทำทุกอย่างเพื่อรักษาอำนาจไว้ไม่ให้หลุดมือไม่ว่าจะเป็นการประสานไปยังวิปรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยเพื่อขอให้มีการถอนร่างพระราชบัญญัติปรองดอง-นิรโทษกรรมที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกันกับร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯเจ้าปัญหาออกไปจากระเบียบวาระการประชุมสภาฯทั้งหมด 6 ฉบับอันได้แก่
       
       1.ร่างพ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติของพล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน 2.ร่างพ.ร.บ.ความปรองดองแห่งชาติ ของนาย นิยม วรปัญญา3.ร่างพ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ ของนาย สามารถ แก้วมีชัย 4.ร่างพ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติของนาย ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ 5.ร่างพ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ ของนาย พีรพันธุ์ พาลุสุข6.ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน ของนาย นิยม วรปัญญา
       
       จนที่ประชุมสภาฯ มีมติเมื่อวันที่ 7 พ.ย.ถอนร่างทั้งหมดอออกจากสภาฯไปด้วยคะแนนเสียง 310 ต่อ 1 อันเป็นการดิ้นของฝ่ายเพื่อไทยที่ต้องการปลดล็อกเงื่อนไขเรื่องที่ประชาธิปัตย์พยายามจะบอกว่ามีร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม-ปรองดองค้างอยู่ในสภาฯออกไป
       
       จะได้ทำให้ประเด็นการเคลื่อนไหวของประชาธิปัตย์ถูกปลดล็อกไปและหวังจะช่วยคลายกระแสความไม่พอใจของประชาชนออกไปอีกส่วนหนึ่ง
       
       “ยิ่งลักษณ์”ยังต้องเปิดแถลงข่าวอย่างเป็นทางการถึง 3 วันติดต่อกันคือตั้งแต่ 4-7 พ.ย.เพื่อแจงเรื่องพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ อย่างเดียว ทั้งที่ตลอดเวลาที่ผ่านมายิ่งลักษณ์ทำไขสือมาตลอดว่าเรื่องนิรโทษกรรม สื่อไม่ต้องมาถาม เพราะไม่ใช่เรื่องของฝ่ายรัฐบาลหรือนายกรัฐมนตรีเป็นเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติไม่เกี่ยวกัน
       
       แต่พอสถานการณ์จวนตัวกระแสมวลชนกำลังรุกไล่อย่างหนัก คนทั้งประเทศลุกฮือหมดความอดทนกับสภาทาสและนายกฯจอมชิ่ง ยิ่งลักษณ์ ก็ลุกลี้ลุกลนรีบออกมาแจงเรื่องนี้ เพราะกลัวประชาชนจะขับไล่ออกจากตำแหน่งเหมือนทักษิณ ชินวัตร
       
       ขณะเดียวกันก็มีการประสานไปยังพรรคเพื่อไทยเพื่อขอให้แกนนำพรรคและผู้เกี่ยวข้องกับเรื่องพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯออกมาตั้งโต๊ะแถลงในนามพรรคเพื่อไทยอย่างต่อเนื่องตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่าจะไม่เดินหน้าร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯฉบับล้างผิดคนชั่วอีกต่อไปแล้วพร้อมจะยอมถอยทุกอย่าง
       
       ทั้งที่ก่อนหน้านี้พวกแกนนำเพื่อไทยเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ หัวหน้าพรรค ภูมิธรรมเวชยชัย เลขาธิการพรรค อำนวย คลังผา ประธานวิปรัฐบาล สามารถ แก้วมีชัยประธานกม.วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ทำปากดีท้าทายประชาชนบอกต้องเดินหน้าสถานเดียว เพราะเป็นร่างกฎหมายที่จะแก้ปัญหาให้ประเทศชาติได้สารพัด
       
       แต่พอเจอแรงต้านหนักถึงขั้นยิ่งลักษณ์ชะตาใกล้ขาดก็รีบกลืนน้ำลายตัวเอง บอกขอถอยแล้ว
       
       ยังรวมถึงพยายามขอให้ “วุฒิสภา”มาช่วยเหลือหาทางรอดให้กับตัวเองตั้งแต่การที่ยิ่งลักษณ์ เปิดแถลงข่าวส่งสัญญาณถอยบอกทุกฝ่ายพร้อมยอมรับมติวุฒิสภาหากจะไม่รับหลักการร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯวาระแรกอันเป็นการแถลงข่าวของยิ่งลักษณ์เมื่อ 5 พ.ย. 56 จากนั้น ไม่กี่ชั่วโมง นิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ก็นำพลพรรคสว.สายเลือกตั้งที่ทำงานรับใช้รัฐบาลเพื่อไทยมาตลอดเปิดแถลงข่าวหนุนหลังชิงกลบกระแสไปก่อนว่าวุฒิสภามีแนวโน้มจะไม่รับหลักการร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯวาระแรก
       
       แต่เมื่อคนในสังคมจับได้ไล่ทันว่าการที่วุฒิสภาจะไม่รับหลักการร่างดังกล่าววาระแรก มันก็แค่การแช่แข็งเอาไว้ 180 วัน คือพอวุฒิสภาไม่รับหลักการ ก็ต้องนำร่างส่งกลับไปให้สภาผู้แทนราษฏรจากนั้นพอครบ 180 วัน สภาฯก็ใช้เสียงข้างมากยืนยันร่างดังกล่าวได้อีกครั้งแล้วหากสภาฯยืนยัน ก็นำร่างขึ้นทูลเกล้าฯได้เลยไม่ต้องส่งกลับมาที่วุฒิสภาอีก
       
       ก็ทำให้ประชาชนหลายภาคส่วนรวมถึงการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยของประชาธิปัตย์และกลุ่มม็อบอุรุพงษ์ที่ตอนนี้เคลื่อนมาที่แถวสะพานมัฆวานฯเมื่อวันที่ 7 พ.ย.ที่ผ่านมาตลอดจนนักกฎหมายหลายสำนักก็มองว่าแม้วุฒิสภาไม่รับหลักการวาระแรกมันก็ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา เป็นแค่การแช่แข็งเอาไว้เท่านั้น
       
       โดยไม่รู้ว่าอีก 6 เดือนข้างหน้าจะเป็นอย่างไรจะมีการใช้เสียงข้างมากในสภาฯมาลักไก่ -ลักหลับลงมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯกันอีกครั้งหรือไม่แม้ฝ่ายเพื่อไทยรวมถึงตัวยิ่งลักษณ์ จะออกมาแถลงยืนกรานว่าหากครบ 180 วัน เพื่อไทยก็จะไม่ดันร่างนี้ขึ้นมาโหวตเห็นชอบแต่จะโหวตให้ตกไป
       
       ทว่าด้วยนิสัย-สันดานของเพื่อไทยและยิ่งลักษณ์ที่ประชาชนรู้ทันหมดแล้วการพยายามจะอ้างว่าจะไม่โหวตเห็นชอบร่างดังกล่าวหากวุฒิสภาตีตกประชาชนทั้งประเทศจึงไม่เชื่อ เพราะคนมองว่าตอนนี้ เพื่อไทยก็ต้องดิ้นไปอย่างนี้ เพื่อหาทางให้ม็อบสลายไปก่อนแล้วอีก 6 เดือนก็ค่อยมาลักไก่กันใหม่
       
       ยิ่งมีคลิปภาพและเสียงของส.ส.เพื่อไทยอย่างจ.ส.ต.ประสิทธิ์ไชยศรีษะส.ส.สุรินทร์ เพื่อไทยออกมาเปิดเผยว่า เพื่อไทย ยังไม่ถอยเรื่องพ.ร.บ.ล้างผิดคนชั่ว แต่ตอนนี้ต้องตั้งหลักก่อน แล้วหลังครบ 180 วันก็จะใช้เสียงข้างมากโหวตเห็นชอบร่างนิรโทษกรรมไปเลยตอนนี้ก็สับขาหลอกให้พวกม็อบเลิกชุมนุมไปก่อน
       
       ด้วยเหตุเหล่านี้ทำให้กระแสคนทั่วประเทศ จึงไปไกลกว่าการขอให้วุฒิสภาคว่ำร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมวาระแรกไปแล้ว แต่ต้องการให้ “ฝัง”ไปเลย อย่าได้ผุดได้เกิดอีก
       
       มันจึงเป็นที่มาของการที่สุเทพ ประกาศไว้บนเวทีปราศรัยเมื่อ 6 พ.ย.ว่า ให้ยิ่งลักษณ์ทำยังไงก็ได้ต้องทำให้ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯหายสาบสูญไปจากรัฐสภาภายในไม่เกิน 18.00 น.ของวันจันทร์ที่ 11 พ.ย.ไม่เช่นนั้นจะยกระดับการชุมนุม พร้อมกับชี้ช่องไว้ให้ทำ 2 วิธีการต่อไปนี้
       
       1.ให้ประสานไปยังคนในสภาสูงเพื่อขอให้วุฒิสภาลงมติระบุว่าร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯเป็นกฎหมายการเงิน จากนั้นวุฒิสภา ก็ส่งเรื่องให้ประธานสภาฯ เพื่อให้ประธานสภาฯคือสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ในฐานะประธานรัฐสภาเรียกประชุมร่วมสองสภาเพื่อให้ที่ประชุมร่วมมีมติว่าเป็นกฎหมายการเงินเช่นเดียวกับมติของวุฒิสภาจากนั้นพอมีมติดังกล่าว ก็ให้ประธานสภาฯนำร่างดังกล่าวไปให้ยิ่งลักษณ์เซ็นรับรองว่าเป็นกฎหมายการเงินแต่กฎหมายก็ยังเปิดช่องให้นายกฯสามารถใช้ดุลยพินิจแย้งได้ว่าร่างดังกล่าวไม่ใช่พ.ร.บ.การเงิน จึงไม่ลงนามรับรองว่าเป็นกฎหมายผลก็คือจะทำให้ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯดังกล่าวตายหรือสิ้นสภาพทันที
       
       2.ให้ที่ประชุมวุฒิสภาพิจารณาร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ 3 วาระรวดโดยตั้งกมธ.เต็มสภาฯ คือสว.ทุกคนเป็นกมธ.ด้วยกันทั้งหมดแล้วพิจารณากันให้เสร็จในวันเดียวเนื่องจากก็มีแค่ 7มาตราโดยขอให้สว.ลงมติแก้ไขร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวที่สภาฯส่งมาเพื่อให้ทุกมาตรากลับไปเหมือนกับฉบับเดิมของวรชัย เหมะซึ่งคนยังพอรับได้แต่เขียนให้ชัดขึ้นว่าให้นิรโทษกรรมเฉพาะผู้กระทำผิดคดีเล็กน้อยในช่วงการชุมนุมการเมืองเช่นฝ่าฝืนพรก.สถานการณ์ฉุกเฉินแต่ไม่นิรโทษกรรมให้กับแกนนำม็อบ-คนทุจริต--คนเผาหรือทำผิดคดีอาญาที่เป็นคดีอุจฉกรรจ์โดยเฉพาะต้องไม่มีเนื้อหาที่จะเป็นการไปช่วยทักษิณ ชินวัตร ที่ตามขั้นตอนเมื่อวุฒิสภาแก้ไขร่างกฎหมายเสร็จแล้วให้ส่งประธานสภาฯ เพื่อให้เรียกประชุมสภาฯ
       
       จากนั้นสภาฯก็มีมติเห็นชอบตามร่างที่วุฒิสภาส่งมา เพราะก็คือร่างเดิมของวรชัย เหมะที่เคยผ่านสภาฯวาระแรกมาแล้วแล้วพอสภาฯเห็นชอบ ก็ให้นำร่างเสนอไปตามขั้นตอนเพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไปก็เป็นหลักการที่สุเทพบอกว่าประชาชนที่อนุสาวรีย์ฯยังพอรับกันได้ หากไม่ใช่ร่างพ.ร.บ.ล้างผิดช่วยคนโกง
       
       อย่างไรก็ตามวิธีการแรก นิคม ประธานวุฒิสภา อ้างว่า วุฒิสภาไม่อำนาจในการลงมติว่าร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นกฎหมายการเงินตามคำเรียกร้องของสุเทพเพราะในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญไมได้ระบุไว้ ซึ่งส่วนนี้อยู่ในส่วนของสภาผู้แทนราษฎรที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่ต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมาธิการ 35 คณะที่จะพิจารณาว่าร่างดังกล่าวเป็นกฎหมายการเงินก่อนส่งเรื่องให้นายกรัฐมนตรีลงนามว่าเห็นชอบหรือไม่ หากไม่เห็นชอบก็ถือว่าร่างตกไป
       
       พร้อมกับเด้งรับว่าเห็นควรใช้แนวทางให้วุฒิสภาพิจารณากฎหมายให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องรอถึง180 วัน โดยให้พิจารณา3วาระรวดหรือและปรับแก้กฎหมายก่อนส่งให้สภาฯพิจารณา ที่ก็คือวิธีการที่สอง ซึ่งสุเทพเสนอไว้นั่นเอง
       
       จนเป็นที่มาของการที่นิคม รีบกุลีกุจอ ลงนามคำสั่งเรียกประชุมวุฒิสภาในวันศุกร์ที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมาเพื่อให้ที่ประชุมพิจารณาเรื่องร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯทั้งที่เดิมก่อนหน้านี้แค่ 2 วัน ตัวนิคม ให้สัมภาษณ์เองว่า วุฒิสภาจะพิจารณาวันที่ 11 พ.ย.ไม่ใช่ 8 พ.ย.และไม่สมควรพิจารณา 3 วาระรวด และบอกว่าควรต้องโหวตไม่รับหลักการ
       
       แต่พอเห็นช่องทางดังกล่าวว่าเมื่อประชาธิปัตย์ยื่นทางออกมาให้แล้วอาจทำให้ม็อบที่ถนนราชดำเนินสลายไปได้ ก็รีบเด้งรับทันที จนถูกโวยวายจากส.ว.จำนวนมากว่าประธานวุฒิสภา พยายามหาทางช่วยเหลือรัฐบาล แต่ตัว ประธานวุฒิสภาก็อ้างไปว่าที่ต้องเปลี่ยนใจเรียกประชุมวุฒิสภากระทันหัน ก็เพราะบ้านเมืองกำลังมีปัญหาก็ต้องหาทางช่วยกันคลี่คลาย
       
       อย่างไรก็ตามดูตามรูปการณ์แล้วก็เชื่อว่าคงมีการขอร้องมาจากคนในทำเนียบรัฐบาลถึงประธานวุฒิสภาเพื่อขอให้ช่วยโดยให้ทำตามที่นายสุเทพยื่นเงื่อนไขไว้
       
       แม้ว่ายากจะประเมินสถานการณ์ได้ว่าเรื่องพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร เพราะก็ไม่รู้ว่า การประชุมวุฒิสภา 8พ.ย.จะเป็นอย่างไรองค์ประชุมจะครบหรือไม่ -จะสามารถพิจารณา 3 วาระรวดแล้วแก้ไขให้ร่างกลับไปเหมือนร่างเดิมของวรชัย เหมะ ได้หรือไม่
       
       แล้วก็ไม่รู้ว่าหากวุฒิสภาส่งร่างกลับไปแล้ว สภาเสียงข้างมากที่อาจจะประชุมวันที่ 11 พ.ย.จะเอาด้วยหรือไม่อย่างไรรวมถึงก็ไม่รู้ว่า สุดท้าย หากทุกอย่างทำเสร็จสิ้นก่อนที่สุเทพ ประกาศคือไม่เกิน 6 โมงเย็น ของ 11 พ.ย.แล้ว
       
       หากสุเทพประกาศสลายการชุมนุมมวลชนจะโห่ไล่หรือไม่ เพราะตอนนี้อารมณ์มวลชนไปไกลถึงขั้นไล่ ยิ่งลักษณ์กันแล้วหรือว่าสุดท้ายประชาธิปัตย์จะเดินเรื่องนี้ต่อไปอย่างไร
       
       สถานการณ์มันพลิกผันชิงไหวชิงพริบกันตลอดเวลา เรียกว่า เปลี่ยนกันวันต่อวัน แต่ทั้งหมดเห็นได้เลยว่ายิ่งลักษณ์ ดิ้นพล่าน เพื่อรักษาเก้าอี้ และนิคม ประธานวุฒิฯก็เอาตำแหน่งไปช่วยเต็มที่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น