วันจันทร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 10-16 พ.ย.2556 โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 17 พฤศจิกายน 2556 10:48 น.

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 10-16 พ.ย.2556

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์17 พฤศจิกายน 2556 10:48 น.

1. ศาลโลก มีมติเอกฉันท์ยกชะง่อนผาพระวิหารให้กัมพูชา คาดไทยอาจเสียดินแดนเกือบครึ่งของ 4.6 ตร.กม. ขณะที่ รบ.-ทูตไทย ยังอ้างคำตัดสินเป็นคุณ! 
สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 10-16 พ.ย.2556
(บน) แผนที่ที่เว็บไซต์ ฟิฟทีนมูฟ คำนวณว่าไทยอาจต้องเสียดินแดนให้กัมพูชาเกือบครึ่งหนึ่งของ 4.6 ตร.กม. (ล่าง) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ ขอบคุณนายวีรชัย พลาศรัย หัวหน้าทีมต่อสู้คดีพระวิหาร ที่ทำงานอย่างเต็มที่
       เมื่อวันที่ 11 พ.ย. ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือศาลโลก กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้นัดฟังคำตัดสินกรณีที่กัมพูชายื่นขอให้ศาลตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารเมื่อปี 2505 ว่าพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา ไทยต้องถอนทหารออกจากบริเวณดังกล่าว
      
       ทั้งนี้ นายปีเตอร์ ทอมก้า ประธานองค์คณะผู้พิพากษาศาลโลก อ่านคำพิพากษา สรุปว่า ศาลเห็นว่า ข้อพิพาทของทั้ง 2 ประเทศตามคำพิพากษาเมื่อปี 2505 เป็นเรื่องเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยเกี่ยวกับที่ตั้งปราสาท ซึ่งศาลไม่ได้มีหน้าที่ปักปันเขตแดน ดังนั้นศาลจะรับไว้พิจารณาเท่าที่จำเป็นและอยู่ภายใต้ขอบเขตเดิมอย่างเคร่งครัด โดยศาลมีมติเอกฉันท์ 2 ประการ 1.ศาลมีอำนาจรับคำร้องขอตีความของกัมพูชา 2.ศาลมีมติเอกฉันท์ว่า บริเวณปราสาทพระวิหารนั้น พื้นที่ที่จำกัดทั้งทางตะวันออกเฉียงเหนือและทางเหนือถือว่าเป็นพื้นที่ของกัมพูชา และควรขยายให้ครอบคลุมชะง่อนผา เพื่อนำมาใช้แทนที่ส่วนที่ได้มีการเลือกโดยมติ ครม.ปี 2505 ของไทย โดยกัมพูชามีอธิปไตยทั้งหมดเหนือชะง่อนผาที่ตั้งปราสาทพระวิหาร ยังผลให้ไทยมีพันธะต้องถอนกำลังออกจากบริเวณดังกล่าว ทั้งกำลังทหารและตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่รักษาการณ์อื่นๆ หรือผู้ดูแลรักษา ออกไปพ้นจากพื้นที่ดังกล่าว ส่วนพื้นที่ชะง่อนผาจะมีจำนวนเท่าใดนั้น ให้ทั้ง 2 ฝ่ายไปเจรจากัน ศาลยังชี้ด้วยว่า พื้นที่บริเวณชะง่อนผาไม่รวมภูมะเขือ เพราะภูมะเขืออยู่นอกพื้นที่ และคำพิพากษาเมื่อปี 2505 ก็ไม่ได้พิจารณาว่าภูมะเขืออยู่ในไทยหรือกัมพูชา
      
       ผู้พิพากษาศาลโลก ยังระบุอีกว่า ปราสาทพระวิหารเป็นวัตถุโบราณสำหรับทั้ง 2 ฝ่าย เมื่อขึ้นทะเบียนมรดกโลกแล้ว ศาลเห็นว่า ไทยและกัมพูชาต้องคุยกันเอง โดยมียูเนสโกควบคุม และว่า แต่ละรัฐมีพันธกรณีต้องดูแลและปกป้องมรดกโลกชิ้นนี้ไว้ ศาลยังเน้นด้วยว่า การเข้าถึงปราสาทพระวิหาร ต้องเข้าถึงจากทางกัมพูชาเช่นกัน
      
       หลังฟังคำตัดสิน นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทยประจำเนเธอร์แลนด์ หัวหน้าทีมต่อสู้คดีพระวิหาร ได้ออกมาแถลงร่วมกัน โดยนายสุรพงษ์ บอกว่า ผลการตัดสินเป็นที่น่าพอใจทั้ง 2 ฝ่าย และว่า หลังจากนี้จะหารือกับกัมพูชาภายใต้กลไกคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือ(เจซี) ไทย-กัมพูชาต่อไป ขณะที่นายวีรชัย กล่าวว่า ไม่จำเป็นต้องพูดเรื่องแพ้เรื่องชนะ ข้อเท็จจริงคือกัมพูชาไม่ได้ในสิ่งที่ขอ ซึ่งมี 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ พื้นที่ 4.6 ตร.กม.และแผนที่ 1 : 200,000 ซึ่งศาลไม่ได้ระบุว่าเป็นส่วนหนึ่งของคำตัดสินเมื่อปี 2505 คือไม่อาจผูกพันคู่กรณีได้ ยกเว้นที่เดียวคือ บริเวณใกล้เคียงปราสาท ให้เอาเส้น 1 : 200,000 มาใช้กำหนดบริเวณใกล้เคียง ซึ่งเป็นพื้นที่แคบมากๆ ตรงกับมติ ครม.ปี 2505 ส่วนการกำหนดพื้นที่ดังกล่าว คู่กรณีจะหารือในกรอบเจซีต่อไป
      
       เป็นที่น่าสังเกตว่า สื่อต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเอเอฟพี ,เอพี ,รอยเตอร์ ,บีบีซี ต่างรายงานว่าศาลโลกตัดสินให้กัมพูชาชนะคดี โดยยกให้กัมพูชามีอำนาจอธิปไตยเหนือพื้นที่ทั้งหมดของชะง่อนผาพระวิหารและให้ไทยถอนกำลังออกจากบริเวณดังกล่าว ขณะที่นายฮอ นัมฮง รองนายกฯ และรัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชา ให้สัมภาษณ์นักข่าวหลังฟังคำตัดสินของศาลโลกว่า “เพียงเท่านี้ก็ดีพอแล้ว” 
      
       ขณะที่ท่าทีของรัฐบาลไทย ทั้ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ,นายสุรพงษ์ และนายวีรชัย ต่างยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า คำตัดสินของศาลโลกเป็นบวก เป็นคุณกับไทย โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ บอกว่า คำตัดสินของศาลโลกครั้งนี้เป็นชัยชนะของทั้ง 2 ฝ่าย และเป็นความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศที่จะไม่ทะเลาะเบาะแว้งกันและไม่เกิดความรุนแรงในพื้นที่
      
       อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายได้ออกมาชี้ว่า คำตัดสินของศาลโลกไม่ได้เป็นคุณกับไทย เพราะตัดสินให้ไทยเสียดินแดนบริเวณชะง่อนผาให้แก่กัมพูชา โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้จี้ให้รัฐบาลบอกความจริงกับประชาชน เพราะพื้นที่ชะง่อนผาที่ศาลบอกว่าเล็กๆ ซึ่งเลยออกมาจากรั้วลวดหนามของไทยนั้น เมื่อคำนวณคร่าวๆ โดยยังไม่มีการยืนยันตัวเลขที่ชัดเจนจะอยู่ประมาณ 0.3 ตร.กม.
      
       ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ได้ออกมาปรามคนที่พูดว่าศาลโลกตัดสินให้ไทยเสียดินแดน โดยย้อนถามว่า เสียตรงไหน ที่บอกว่าแคบๆ ตรงไหน เมื่อศาลยังไม่ได้บอกก็ยังไม่เสีย และว่า การวิเคราะห์วิจารณ์ทำได้ แต่อย่าทำให้เป็นน้ำผึ้งหยดเดียว กลายเป็นสงครามขึ้นมา ตอนนี้ใช้ทหารเกือบหมด ทั้งใต้ ชายแดน ภัยพิบัติ ถ้าดิสเครดิตทหารไปเรื่อยๆ จะไม่มีทหารให้ใช้... 
      
       ทั้งนี้ รัฐบาลได้ทำหนังสือถึงประธานรัฐสภา เพื่อขอเปิดประชุมสภาเพื่อนำคำตัดสินคดีพระวิหารไปชี้แจงต่อสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 179 ซึ่งจะเป็นการอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ อย่างไรก็ตาม กลุ่ม 40 ส.ว.แถลงค้านการเรียกประชุมดังกล่าว โดยมองว่า รัฐบาลควรใช้กลไกตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 เพื่อให้ที่ประชุมรัฐสภาร่วมกันพิจารณามากกว่า ไม่ใช่แค่ให้รัฐสภารับทราบตามมาตรา 179 แต่รัฐบาลไม่สน เดินหน้าประชุมรัฐสภาตามมาตรา 179 เมื่อวันที่ 13 พ.ย. โดยรัฐบาลให้นายวีรชัยชี้แจงสรุปสาระสำคัญของคำพิพากษาของศาลโลกให้ที่ประชุมทราบ ขณะที่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และ ส.ว.ต่างอภิปรายวิพากษ์วิจารณ์คำตัดสินของศาลโลก เช่น นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา อภิปรายว่า เมื่อปี 2505 หลังจากที่ศาลโลกตัดสินให้ไทยแพ้คดี ทำให้ไทยเสียพื้นที่ 153 ไร่ คนไทยเสียใจทั้งประเทศ มาถึงคำพิพากษาวันนี้รัฐบาลกลับบอกว่าเป็นผลดีกับไทย และเสียดินแดนเล็กๆ และแคบๆ ซึ่งตนไม่เห็นด้วย เพราะครั้งนี้ไทยจะเสียพื้นที่มากกว่าเดิม หรือประมาณ 600 กว่าไร่
      
       เป็นที่น่าสังเกตว่า การอภิปรายในช่วงดึกได้มีการโต้คารมกันระหว่างนายวีรชัย กับนายศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ เมื่อนายศิริโชคอภิปรายและแสดงแผนที่พื้นที่ที่ไทยต้องเสียดินแดนจากคำพิพากษาของศาลโลก จากแผนที่ 1 : 200,000 ว่า นักวิชาการส่วนตัวของตนประเมินได้ภายใน 48 ชั่วโมงว่า พื้นที่ที่เสียดินแดนอยู่ระหว่าง 0.3-2 ตร.กม. ด้านนายวีรชัย ไม่พอใจ จึงสวนกลับทำนองเยาะเย้ยนายศิริโชคว่า ขอชื่นชมนายศิริโชคและผู้เชี่ยวชาญของนายศิริโชคที่ใช้เวลาเพียง 48 ชั่วโมงก็สรุปได้ว่าวรรคที่ 98 หน้าตาเป็นอย่างไร เพราะตนและคณะทำงานระดับโลกที่เก่งที่สุด จนถึงวันนี้ก็ยังไม่กล้าสรุปชี้ชัดในประเด็นนี้ นายวีรชัย ยังโจมตีนายศิริโชคด้วยว่า ตั้งสมมติฐานผิดตั้งแต่แรก เพราะเส้น 1 : 200,000 เป็นเส้นที่ทีมงานพยายามทำลายมาตลอด แต่สิ่งที่นายศิริโชคทำคือ การอ้างเส้น 1 : 200,000 ของกัมพูชาให้เป็นไปได้ และจะทำให้การทำงานของฝ่ายไทยยากขึ้น จึงขอสงวนสิทธิแทนประชาชนและประเทศไทยว่า ไม่ใช่การยอมรับของประเทศไทย เป็นเพียง 1 คนในรัฐสภานี้เท่านั้นที่พูด และว่า การที่นายศิริโชคให้สถานะแก่เส้นที่กัมพูชาทำขึ้นตามอำเภอใจ เป็นการทำร้ายผลประโยชน์ของประเทศ ขณะที่นายศิริโชค ได้ลุกขึ้นชี้แจงทันทีว่า รู้สึกแปลกใจมากที่นายวีรชัยมีปฏิกิริยารุนแรงอย่างนี้ ทั้งที่ตนกำลังบอกว่าเส้นแผนที่นี้โยกไปโยกมาได้ สิ่งที่เราต้องทำคือไปทำให้มันนิ่ง ตนไม่ได้บอกว่าสิ่งที่อยู่บนแผนที่เป็นของกัมพูชา 100% แต่ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเอาเส้นนั้นไว้ตรงไหน นายศิริโชค ยังย้ำด้วยว่า ตนตั้งใจทำงานเพื่อชาติไม่แพ้นายวีรชัย และภาพแผนที่ที่เอามา ก็ไม่ใช่เส้นที่จะทำลายชาติได้
      
       ด้านสภาทนายความได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับคำตัดสินของศาลโลก โดยชี้ว่า ศาลโลกพิพากษาให้กัมพูชาได้ดินแดนเพิ่มขึ้น คือส่วนที่เป็นชะง่อนผา แต่ยังไม่รู้เนื้อที่จริงๆ ว่าเท่าไร อาจจะอยู่ประมาณ 1 ตร.กม. ซึ่งถือว่ากัมพูชาชนะคดีบางส่วน ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ส่งสัญญาณให้ทุกคนหยุดพูดเรื่องศาลโลกตัดสินให้ไทยเสียดินแดน โดยบอกว่า ขอให้ทุกคนหยุดวิจารณ์ หยุดตีความคำตัดสินของศาลโลก เพราะเป็นประเด็นที่อ่อนไหว
      
       ขณะที่นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ อดีตโฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ชี้ว่า คำตัดสินของศาลโลกที่ให้กัมพูชาได้พื้นที่บริเวณชะง่อนผา ถือเป็นเรื่องที่อยุติธรรมมาก “ศาลโลกว่าภูมะเขือไม่อยู่ในข้อพิพาท แต่ศาลโลกกลับตัดสินให้ลากเส้นจากยอดเขาพระวิหารลงไป ลากถึงตีนเขาภูมะเขือได้อย่างไร มันล้ำจนเกินเหตุ เหตุผลข้อเดียวคือเอาใจกัมพูชา เพื่อให้มีพื้นที่พอสร้างถนน วัด ชุมชน จากทางกัมพูชาเข้าพระวิหาร รุกฝั่งไทยเพื่อขึ้นทะเบียนมรดกโลก เป็นเรื่องที่อยุติธรรมมาก” แต่ทูตวีรชัยกลับอ้างว่าคำตัดสินเป็นคุณ เพราะทั้งสองฝ่ายต้องไปเจรจากันอีกที ตนเห็นว่าไม่ควรโกหกประชาชนแบบนี้ ขณะที่รัฐบาลและกระทรวงการต่างประเทศก็ไม่กล้าพูดความจริง เอาแต่ว่าเป็นผลงานของตัวเอง ทั้งที่ไม่เป็นผลดีเลย วันนี้คนไทยต้องการรู้ความจริงทั้งหมด เพื่อช่วยกันหาทางออกว่าจะรับหรือไม่รับอำนาจศาลโลกด้วยกันไหม จะทำประชามติร่วมกันไหม หรือจะเจรจาอีก 100 ปี
      
       ด้านเว็บไซต์ “ฟิฟทีนมูฟ” ซึ่งเกาะติดการเสียดินแดนบริเวณปราสาทพระวิหารมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ได้แปลคำนิยามของวรรคที่ 98 ของคำตัดสินของศาลโลกเมื่อวันที่ 11 พ.ย.แล้วนำไปวางจุดบนแผนที่จริงและคำนวณพื้นที่ ซึ่งพบว่า ขอบเขตของชะง่อนผาพระวิหารตามคำนิยามวรรค 98 มีพื้นที่เกือบครึ่งหนึ่งของ 4.6 ตร.กม. และขยายขอบเขตกินความไกลเกินกว่าคำว่าชะง่อนผา คือรวมเอาพื้นที่หุบเขาพลาญอินทรีย์ เนินที่ตั้งของสถูปคู่และธงชาติไทยเข้าไว้ด้วย รวมทั้งอาจมีการตีความกินพื้นที่ผามออีแดงที่มีรูปสลักนูนต่ำและอื่นๆ เข้าไปด้วย “ฟิฟทีนมูฟ” ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า แม้ศาลโลกจะพยายามบอกว่า ไม่ได้ตีความเรื่องเขตแดน แต่การให้ใช้เส้นแผนที่ 1 : 200,000 กำหนดขอบเขตล่วงเลยไปไกลกว่าสภาพทางภูมิศาสตร์ ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะบอกว่า ศาลโลกให้ใช้เส้นนี้แบ่งเขตระหว่างไทย-กัมพูชา
      
       2. สุเทพ” ควง 8 ส.ส.ปชป.ลาออก ประกาศยกระดับชุมนุมงัดมาตรการอารยะขัดขืน-ขจัดระบอบทักษิณให้สิ้นซาก! 
สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 10-16 พ.ย.2556
ประชาชนเข้าร่วมชุมนุมที่ถนนราชดำเนินอย่างล้นหลาม(11 พ.ย.)
       ความคืบหน้าการชุมนุมคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอยที่ถนนราชดำเนิน หลังนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ ประกาศบนเวทีปราศรัยยื่นคำขาดให้รัฐบาลทำให้กฎหมายฉบับดังกล่าวตายไปจากสภาไม่เกินเวลา 18.00น.วันที่ 11 พ.ย. หากไม่ทำตาม จะเป่านกหวีด รวมทั้งจะตั้งศาลประชาชนขึ้นบนถนนราชดำเนิน เพื่อให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินพฤติกรรมของ พ.ต.ท.ทักษิณ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ว่าที่ทำมาทั้งหมดผิดหรือถูก และจะทำอย่างไรกับบุคคลทั้งสองนั้น
      
       ปรากฏว่า เมื่อถึงเส้นตายที่กำหนด ได้มีประชาชนมาร่วมชุมนุมอย่างล้นหลาม ขณะที่นายสุเทพ ขึ้นเวทีประกาศว่า รัฐบาลไม่ดำเนินการตามมติประชาชน ทั้งยังมีหลักฐานที่หัวหน้าพรรคเพื่อไทยระบุว่า หากประชาชนเผลอ รัฐบาลจะใช้อำนาจ ครม.ประกาศเป็น พ.ร.ก.นิรโทษกรรม เพื่อบังคับใช้ทันที จึงมี 2 ทางเลือกให้ประชาชนว่าจะเลือกทางใด 1.จะยินดีกับชัยชนะขั้นต้นที่รัฐบาลได้ชะลอกฎหมายเอาไว้ และวุฒิสภาจะลงมติคว่ำกฎหมายนี้ หรือ 2.จะต่อสู้ต่อไปด้วยพลังของมหาชน ดำเนินการจนกฎหมายนิรโทษฯ ตายไปจากโลก ซึ่งผลปรากฏว่า ผู้ชุมนุมเลือกแนวทางที่ 2 สู้ต่อไป
      
       จากนั้นนายสุเทพ ได้ประกาศลาออกจาก ส.ส. เพื่อให้การต่อสู้ครั้งนี้เป็นการต่อสู้ของประชาชน และว่า มีสมาชิกพรรคลาออกเป็นเพื่อนตนอีก 8 คน ประกอบด้วย 1.นายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา ,นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง 3.นายอิสสระ สมชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ 4.นายวิทยา แก้วภราดัย ส.ส.นครศรีธรรมราช 5.นายชุมพล จุลใส ส.ส.ชุมพร 6.นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ส.ส.กทม. 7.นายเอกณัฎ พร้อมพันธุ์ ส.ส.กทม. และนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ส.ส.กทม. 
      
       พร้อมกันนี้ นายสุเทพ ยังชวนให้ประชาชนใช้มาตรการอารยะขัดขืนอย่างเข้มแข็งทั่วประเทศระหว่างวันที่ 13-15 พ.ย. โดยขอให้เจ้าของกิจการหยุดงานทั่วประเทศ เพื่อมาร่วมชุมนุม รวมถึงนักศึกษาให้ขึ้นป้ายหยุดเรียนหยุดสอนทั่วประเทศ และขอความร่วมมือนักธุรกิจเอกชนชะลอการชำระภาษีพร้อมกันทั่วประเทศ อย่าให้รัฐบาลนี้มีเงินไปโกงกิน และขอให้ต่อสู้ด้วยสัญลักษณ์โดยให้ทุกบ้านติดธงชาติ และติดที่รถยนต์ รวมทั้งแขวนนกหวีดไว้ที่คอ หากพบเห็นนายกรัฐมนตรีและลิ่วล้อบริวาร ไม่ต้องพูดอะไร ให้เป่านกหวีดอย่างเดียว
      
       ทั้งนี้ คืนวันเดียวกัน(11 พ.ย.) ที่ประชุมวุฒิสภา ได้มีมติเอกฉันท์ไม่รับหลักการวาระ 1 ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับสุดซอย ด้วยคะแนน 141 ต่อ 0 หลังใช้เวลาอภิปรายเกือบ 10 ชม. ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่อภิปรายว่า ไม่สามารถรับหลักการร่างดังกล่าวได้ เพราะขัดต่อหลักการและรัฐธรรมนูญ พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลและ ส.ส.ทั้ง 310 คน ที่ลงมติผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวแสดงความรับผิดชอบ หลังเกิดกระแสคัดค้านจากหลายภาคส่วน สำหรับขั้นตอนต่อไป วุฒิสภาจะส่งร่างดังกล่าวกลับคืนไปยังสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งตามกฏฎหมาย หลังผ่านพ้น 180 วัน สภาฯ ยังสามารถนำร่างดังกล่าวกลับมาพิจารณาใหม่ได้ ทำให้หลายฝ่ายยังหวาดระแวง
      
       เป็นที่น่าสังเกตว่า รัฐบาลพยายามดิสเครดิตและหาทางสกัดการชุมนุมที่ถนนราชดำเนิน โดย พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง อ้างว่า มีการขนคนติดยามาร่วมชุมนุม และหวั่นว่าจะมีมือที่ 3 สร้างสถานการณ์ ขณะที่นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ รองเลขาธิการนายกฯ ฝ่ายการเมือง ขู่ใช้กฎหมายฟอกเงินยึดทรัพย์นายทุนที่หนุนหลังม็อบ พร้อมอ้างว่า มีข่าวเชิงลึกว่า ผู้ที่จะสร้างสถานการณ์ไม่ใช่มือที่ 3 แต่เป็นแกนนำการชุมนุม โดยมีการขนอาวุธมาจากกองร้อยทหารพรานที่ 42 หาดใหญ่ จ.สงขลา อย่างไรก็ตาม พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) ได้ออกมายืนยันว่า จากการตรวจ ยังไม่พบการขนอาวุธเข้ามาเพื่อสร้างสถานการณ์แต่อย่างใด
      
       ด้านนายสุเทพ ได้ประกาศยกระดับการชุมนุมอีกครั้งเมื่อวันที่ 15 พ.ย. “ผมขอประกาศยกระดับการต่อสู้ เป็นการขจัดระบอบทักษิณแบบถอนรากถอนโคนให้หมดไปจากแผ่นดินไทย มาตรการที่ 1 เราจะร่วมกันจัดการกับ ส.ส.310 คน ที่บังอาจลงมติกฎหมายล้างผิดคนโกง เราจะยกร่างคำร้องให้พี่น้องมาร่วมลงชื่อและให้ทุกเครือข่ายทุกเวทีดำเนินการเช่นเดียวกัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 16 พ.ย. และจะทำให้เสร็จภายในวันที่ 19 พ.ย. จากนั้นจะส่งไปยัง ป.ป.ช. ถ้า ป.ป.ช.ชี้มูลวันใด ทั้ง 310 คนต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที สภาทาสก็จะเป็นอัมพาต รัฐบาลก็จะไม่มีสภาทาสมาเป็นเครื่องมือใช้งานอีกต่อไป” นอกจากนี้นายสุเทพ ยังขอให้ประชาชนแสดงความรังเกียจสมุนบริวารของระบอบทักษิณด้วยการไม่พูดคุยด้วย เจอที่ไหนเป่านกหวีดใส่อย่างเดียว และร่วมกันต่อต้านสินค้าในเครือทักษิณทั้งหมด ไม่ซื้อไม่สนับสนุน พร้อมชวนข้าราชการหยุดงานพร้อมกันทั้งประเทศ
      
       ทั้งนี้ เครือข่ายภาคพลเมือง นิสิต นักศึกษา 4 สถาบัน และชมนักธุรกิจเพื่อประชาธิปไตย นำโดย นายวิเชียร คุตวัตส์ ได้ยื่นหนังสือถึงประธานวุฒิสภา เพื่อแสดงตนในการเป็นผู้รวบรวมรายชื่อประชาชน 2 หมื่นชื่อ เพื่อถอดถอน ส.ส.310 คนที่ลงมติผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษฯ ออกจากตำแหน่งแล้ว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 270 เนื่องจากทำผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 122 ขณะที่เครือข่ายแพทย์คัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่มี นพ.สวรรค์ กาญจนะ เป็นผู้ประสานเครือข่าย ก็เตรียมรวบรวมรายชื่อประชาชน 20,000 ชื่อ เพื่อยื่นถอดถอน ส.ส.ทั้ง 310 คนเช่นกัน พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภา เพื่อคืนสิทธิให้ประชาชนตัดสินอนาคตประเทศ
      
       3. ปชป.ยื่นญัตติซักฟอกพ่วงถอดถอน “ยิ่งลักษณ์-จารุพงศ์-ปลอดประสพ” แล้ว ด้าน “ขุนค้อน” ส่อช่วยนายกฯ บีบ ปชป.แนบข้อกล่าวหา! 
สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 10-16 พ.ย.2556
(บน) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ปชป.ยื่นถอดถอนนายกฯ พ่วง 2 รมต.ผ่านรอง ปธ.วุฒิฯ (ล่าง) ยื่นญัตติเพื่อขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ และ รมว.มหาดไทย
       เมื่อวันที่ 15 พ.ย. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ และประธานวิปฝ่ายค้าน ได้นำรายชื่อ ส.ส.ของพรรคจำนวน 146 คน ยื่นต่อประธานวุฒิสภา ผ่านนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภา เพื่อขอใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 271 เข้าชื่อ 1 ใน 4 เพื่อถอดถอนรัฐมนตรีออกจากตำแหน่ง 3 คน ประกอบด้วย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ,นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี และนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อประกอบการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 158-159 เนื่องจากกระทำผิดและส่อทุจริต โดยเอกสารที่ยื่นถือว่าเป็นความลับที่สุด จึงขอให้วุฒิสภาอย่าเปิดเผย ด้านนายสุรชัย บอกว่า จะส่งรายชื่อ ส.ส.ให้สภาฯ ตรวจสอบความถูกต้องภายใน 15 วัน หากถูกต้องจะส่งต่อไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เพื่อไต่สวนต่อไป หาก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด จะต้องส่งกลับมายังวุฒิสภาเพื่อลงมติโดยใช้เสียง 3 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมด
      
       จากนั้นนายจุรินทร์ได้ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และนายจารุพงศ์ ต่อนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 159 ประกอบมาตรา 271 ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อนายสมศักดิ์รับหนังสือแล้ว ได้รีบตรวจสอบรายละเอียดทันที เมื่อพบว่าไม่มีรายละเอียดของข้อกล่าวหา นายสมศักดิ์ จึงอ้างว่า วิปรัฐบาลได้หารือกันว่าควรจะต้องมีรายละเอียดข้อกล่าวหาแนบมากับตัวญัตติด้วย เปรียบเหมือนการฟ้องคดีต้องมีการแจ้งข้อกล่าวหาให้จำเลยได้รับทราบก่อน ซึ่งเรื่องนี้ได้หารือกับทีมกฎหมายของสภาฯ ไปแล้ว ขณะที่นายจุรินทร์ ยืนยันว่า การยื่นญัตติดังกล่าวถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งรายละเอียดได้ยื่นพร้อมกับการยื่นถอดถอนต่อประธานวุฒิสภาไปแล้วและถือเป็นเอกสารลับ ส่วนการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ได้ยื่นถูกต้องตามธรรมเนียมที่เคยปฏิบัติมา ไม่เคยมีการแนบข้อกล่าวหา
      
       ทั้งนี้ บรรยากาศการยื่นญัตติเป็นไปด้วยความตึงเครียดและมีการโต้แย้งกันระหว่างนายสมศักดิ์และนายจุรินทร์ โดยมี ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ตะโกนต่อว่านายสมศักดิ์ว่าไม่เป็นกลาง ด้านนายสมศักดิ์อ้างว่าทำตามขั้นตอนที่ฝ่ายกฎหมายสภาฯ หารือมา ดังนั้นจะไปปรึกษาฝ่ายกฎหมายอีกครั้ง โดยจะทราบผลในวันที่ 18 พ.ย. 
      
       ด้านนายจุรินทร์ ชี้ว่า การกระทำของนายสมศักดิ์เป็นการสกัดกั้นการทำหน้าที่ของฝ่ายค้าน เพื่อพยายามช่วยเหลือรัฐบาล และยังขัดต่อคำพูดของนายกฯ ที่บอกว่าพร้อมรับการตรวจสอบ นายจุรินทร์ ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การกระทำของนายสมศักดิ์เป็นความพยายามที่จะช่วยรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง หลังจากก่อนหน้านี้ได้ช่วยเหลือไปแล้วในร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม
      
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เนื้อหาญัตติในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ระบุไว้จำนวนมาก เช่น บริหารราชการแผ่นดินบกพร่อง ล้มเหลว ไร้ประสิทธิภาพ ไร้ภูมิปัญญา ไร้จริยธรรม ไร้คุณธรรม ไร้สำนึก ไร้ความรับผิดชอบต่อสภาและประชาชน ลอยตัวหนีปัญหา เลือกปฏิบัติ พูดอย่างทำอย่าง ปากว่าตาขยิบ กระทำการไม่บังควร สมรู้ร่วมคิดกับพวกพ้อง ทำลายข่มขู่ก้าวก่ายสถาบันหลักในระบอบประชาธิปไตยทั้งนิติบัญญัติ ตุลาการ และองค์กรอิสระ มุ่งแก้ไขปัญหาบุคคลในครอบครัวมากกว่าประชาชน มีพฤติกรรมฉ้อฉลทุจริต วางแผนใช้อำนาจออกกฎหมายเพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์โดยมิชอบ ฯลฯ หากปล่อยให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นนายกฯ ต่อไป จะทำให้ประเทศไปสู่ความวิบัติ จึงไม่สมควรดำรงตำแหน่งนายกฯ อีกต่อไป
      
       4. “เสื้อแดง” เหิม ขู่ศาล รธน.หากวินิจฉัยแก้ที่มา ส.ว.เป็นลบ เจอตอบโต้รุนแรง ด้าน “คปท.” ให้กำลังใจศาล! 
สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 10-16 พ.ย.2556
ซ้าย) นายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือโกตี๋ แกนนำเสื้อแดงปทุมธานี ขู่ตอบโต้ศาล รธน.อย่างรุนแรง หากชี้คดีแก้ที่มา ส.ว.เป็นลบ (ขวา) คปท.และเครือข่ายประชาชน 77 จังหวัด เคลื่อนไปมอบดอกไม้ให้กำลังศาล รธน.
       จากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญ ได้ไต่สวนพยานผู้ร้องและผู้ถูกร้องเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มา ส.ว.ว่าเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 หรือไม่เสร็จสิ้นไปแล้วเมื่อวันที่ 8 พ.ย. โดยพยานต่างให้ถ้อยคำสอดคล้องกันว่า เนื้อหาของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว.ฉบับที่นายอุดมเดช รัตนเสถียร ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย และคณะ ผู้เสนอร่าง ยื่นต่อสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กับร่างที่นำมาให้สมาชิกรัฐสภาพิจารณาในวาระ 1 เป็นคนละฉบับกัน ทำให้ร่างฯ ที่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาเป็นร่างฯ ปลอม ขณะที่ ส.ว.ที่ลงชื่อเสนอร่างฯ ก็เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับเนื้อหาสาระที่มีการแก้ไข นอกจากนี้เนื้อหาที่มีการแก้ไขยังเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบอำนาจรัฐ ทำให้เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ต้องการให้องค์กรวุฒิสภาเป็นองค์กรตรวจสอบ กลั่นกรองการใช้อำนาจรัฐ สูญเสียไป นอกจากนั้นกระบวนการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ของรัฐสภายังมีการตัดสิทธิการอภิปรายของผู้สงวนคำแปรญัตติ การพิจารณาไม่ได้เรียงเป็นมาตรา มีการเสียบบัตรลงคะแนนแทนกัน และเป็นการลิดรอนอำนาจการตรวจสอบของศาลรัฐธรรมนูญว่าร่างฯ ดังกล่าวชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ รวมทั้งยังมีพฤติกรรมที่บ่งชี้ว่า มีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กันในการเสนอและลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญระหว่าง ส.ส.กับ ส.ว.ด้วย ซึ่งศาลฯ ให้ผู้ร้องและผู้ถูกร้องยื่นคำแถลงปิดคดีภายใน 7 วันนับแต่วันที่ 8 พ.ย. พร้อมนัดคู่กรณีฟังคำวินิจฉัยในวันที่ 20 พ.ย. เวลา 11.00น.นั้น
      
        ปรากฏว่า ทั้งแกนนำพรรคเพื่อไทย ,อดีตแกนนำ นปช.ที่เป็น ส.ส.ในพรรคเพื่อไทย รวมทั้งแกนนำคนเสื้อแดงต่างออกมาประสานเสียงดิสเครดิตและข่มขู่คุกคามตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเป็นการใหญ่ เริ่มจากนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้ออกมาเตือนศาลว่าอย่าใช้ทฤษฎีสมคบคิดร่วมมือกันในการล้มรัฐบาล เหมือนกลุ่มที่เคยล้มรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ,รัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช มาแล้ว โดยฝ่ายตรงข้ามพยายามเอาการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญกับองค์กรอิสระอย่าง ป.ป.ช.มากดดันรัฐบาลควบคู่ไปกับการเดินเกมเคลื่อนไหวชุมนุมนอกสภาฯ
      
        ขณะที่นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย และอดีตแกนนำ นปช.ออกมากล่าวหาว่า มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 2 คน ซึ่งเป็นชุดเดียวกับที่ล้มรัฐบาลนายสมชาย นัดพบกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ จึงอาจมีการวางแผนที่จะล้มรัฐบาลหรือไม่ โดยใช้ประเด็นที่ยื่นศาลตีความการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว.มาเป็นเงื่อนไข
      
        อย่างไรก็ตามศาลรัฐธรรมนูญไม่หลงกลนายวรชัย โดยแหล่งข่าวจากศาลรัฐธรรมนูญยืนยันว่า คำอ้างของนายวรชัยไม่เป็นความจริง และเชื่อว่า นายวรชัยต้องการดิสเครดิตตุลาการ เพื่อให้ตุลาการไปแจ้งความดำเนินคดี เมื่อถึงเวลาพิจารณาคดีสำคัญ ตุลาการฯ คนนั้นก็จะถูกร้องคัดค้านไม่ให้เป็นองค์คณะพิจารณา เพราะถือว่าเป็นคู่ความกันในคดีอาญา ทำให้ตุลาการฯ คนนั้นต้องถอนตัว ดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว
      
        ด้านนายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือโกตี๋ แกนนำคนเสื้อแดงปทุมานี ได้ออกมาข่มขู่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญด้วยการประกาศว่า กลุ่มสื่อวิทยุคนเสื้อแดง เช่น กลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย(กวป.) จะไปปักหลักรอฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญตั้งแต่วันที่ 18 พ.ย. และหากวันที่ 20 พ.ย. ผลคำวินิจฉัยออกมาในทางลบ จะดำเนินมาตรการตอบโต้ศาลรัฐธรรมนูญอย่างรุนแรงทันที รวมทั้งจะตอบโต้มวลชนกลุ่มต่างๆ ที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านการบริหารงานของรัฐบาลในขณะนี้ด้วย โดยมีข้อมูลบ้านเลขที่ของแกนนำกลุ่มต่างๆ เรียบร้อยแล้ว และว่า ได้เปิดรับสมัครนักรบเสื้อแดงเพื่อร่วมขับเคลื่อนในวันที่ 20 พ.ย.แล้ว โดยใบสมัครหมดไปแล้วกว่า 3 พันใบ
      
        ขณะที่นางธิดา ถาวรเศรษฐ แกนนำ นปช. เผยว่า กลุ่ม นปช.นัดชุมนุมวันที่ 19-20 พ.ย. โดยสถานที่น่าจะเป็นที่สนามราชมังคลากีฬาสถานหรือที่ที่เหมาะสมกว่า เพราะมวลชนที่มาร่วมชุมนุมน่าจะอยู่ระดับ 1 แสนคน ส่วนสาเหตุที่ชุมนุม เนื่องจากเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับวินิจฉัยเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว.เพราะเป็นเรื่องที่ไม่ผ่านอัยการ และการแก้รัฐธรรมนูญเป็นอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ และว่า หากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมาเป็นบวก ทางกลุ่มก็จะแยกย้ายกันกลับ แต่หากผลออกมาเป็นลบ ก็ต้องปรึกษากันอีกทีว่าจะทำอย่างไร
      
        ด้านเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย(คปท.) และภาคีเครือข่ายประชาชน 77 จังหวัด ที่ชุมนุมบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ ได้เคลื่อนขบวนไปมอบดอกไม้ให้กำลังใจศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 15 พ.ย. โดยมีตัวแทนสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญออกมารับดอกไม้ ก่อนที่กลุ่ม คปท.จะเคลื่อนกลับมัฆวานฯ ตามเดิม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น