วันจันทร์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

"ประยุทธ์"วอนทุกฝ่ายหันหน้ามาพูดกัน"ผบ.ทร."เผยปิดกั้นไม่ได้ทหารร่วมม็อบต้านกม.นิรโทษ วันที่ 04 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 เวลา 14:50:41 น

"ประยุทธ์"วอนทุกฝ่ายหันหน้ามาพูดกัน"ผบ.ทร."เผยปิดกั้นไม่ได้ทหารร่วมม็อบต้านกม.นิรโทษ

วันที่ 04 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 เวลา 14:50:41 น

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.)  ให้สัมภาษณ์ถึงการชุมนุมต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทรกรรม ว่ามีความรู้สึกเป็นห่วง อยากให้ทุกฝ่ายมานั่งพูดคุยหาทางลดปัญหาที่เกิดขึ้น ดูว่าปัญหาอยู่ที่ตรงไหน หากต่างคนต่างพูดกันไปมาปัญหาก็จะยิ่งบานปลาย ตนไม่ได้เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อย่างไรก็ตาม การชุมนุมถือเป็นการแสดงออกตามระบอบประชาธิปไตย แต่ถ้าผิดกฎหมายก็ต้องถูกดำเนินคดี

ถามว่า จะให้คำแนะนำอย่างไร หาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมร้องขอ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ก็จะพูดแบบนี้ว่าจะต้องหาทางออกให้ได้ ตนไม่สามารถลงความคิดเห็นได้มากกว่านี้ ทุกคนต้องเข้าใจสถานการณ์ของตน อีกทั้งถูกโจมตีต่อว่าทุกวัน ตนก็พยายามอดทน เพราะไม่อยากให้เหตุการณ์ลุกลามบานปลาย ทุกคนมีบทเรียน มีการบาดเจ็บสูญเสียโดยตลอด และปัญหาก็เกิดขึ้นซ้ำอีก จึงต้องนำปัญหามาพูดคุยกัน หากพูดจากันรู้เรื่อง ปัญหาก็จะลดลง และก็จะไม่มีการเผชิญหน้ากัน ประเทศชาติก็จะไปได้ อยากให้ทุกคนมาพูดคุยกันภายใต้กรอบกฎหมายที่มี เพื่อเป็นการแสวงหาทางออกร่วม ถ้าถอยหลังกันคนละก้าวสองก้าวก็คงจะดี

ถามว่า หากสถานการณ์ยืดเยื้อทหารจะออกมาหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ถ้าไม่สั่งก็คงไม่ออก แต่ถ้าสั่งให้ทหารออกก็ต้องดูว่าให้ออกไปทำอะไร ที่ผ่านมาทุกรัฐบาลเมื่อสั่งให้ทหารออก เราก็ออก รัฐบาลชุดที่แล้วสั่งเราก็ออก ถ้ารัฐบาลชุดนี้สั่งแล้วเราไม่ออกจะได้หรือไม่ ก็ไม่ได้ ตนอยากจะอธิบายให้ประชาชนเข้าใจว่าที่ทหารออกมาทุกครั้งออกมาด้วยคำสั่งตามกฎหมาย ไม่ใช่นึกอยากจะออกก็ออก ถ้าออกมาโดยที่ไม่ฟังคำสั่งถามว่าเหตุการณ์จะจบหรือไม่ ก็ไม่จบแล้วจะเรียกร้องให้ทหารออกมาทำไม ส่วนจะทำอย่างไรก็ไปคิดกันเอาเอง

ทางด้านพล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) กล่าวถึงสถานการณ์การชุมนุมต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมว่า จริงๆ แล้วทหารเรือไม่อยากเข้าไปยุ่ง เพราะเป็นสถานการณ์ด้านการเมือง เคยพูดตั้งแต่รับตำแหน่งใหม่ๆ แล้วว่าเราเป็นทหารไม่อยากยุ่งเรื่องการเมือง เพราะกองทัพเป็นเครื่องมือของรัฐบาลที่ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะใช้ถูกต้องหรือไม่ หากใช้ถูกต้องตามกฎหมายก็พร้อมดำเนินการ แต่ถ้าเมื่อไหร่จะใช้ไม่ถูกต้องเราก็ต้องทักท้วงหรืออาจจะยั้งมือ

ส่วนเรื่องของ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม คิดว่าทุกคนมีสิทธิที่จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ขึ้นอยู่กับพื้นฐานของข้อมูลที่แต่ละคนได้รับ ดังนั้น ความคิดจะไม่เหมือนกันจึงเกิดการโต้แย้ง ซึ่งเป็นเรื่องปกติ แต่อย่าให้ความขัดแย้งหรือความคิดเห็นไม่ตรงกันทำให้ประเทศชาติหยุดอยู่กับที่

"ทุกคนมีสิทธิแสดงความคิดเห็นของตัวเอง จะผิดหรือถูกไม่มีใครรู้ เพียงแต่อย่าให้ความขัดแย้งต้องทำให้ประเทศต้องหยุด ทุกครั้งเมื่อมีลักษณะเหตุการณ์แบบนี้ก็จะกำชับกำลังพลทุกระดับว่าหากจะทำอะไร เราไม่ปิดกั้นความคิด เพียงแต่อย่านำเครื่องแบบหรือหน่วย รวมถึงความเป็นทหารเข้าไปยุ่งเกี่ยว เพราะนั้นเป็นเรื่องของการเมืองและความคิดเห็นส่วนตัว ถ้าจะไปก็ไปแต่ตัว ถอดเครื่องแบบ อย่าไปแสดงตัวว่าเป็นทหาร เราปิดกั้นไม่ได้ เพราะนอกเวลางานเราไม่สามารถไปทำอะไรเขาได้ แต่อยากให้ทุกคนสำนึกว่า แม้จะนอกเครื่องแบบแต่เราก็ยังเป็นทหาร การที่จะทำอะไรต้องมีความยับยั้งชั่งใจ ขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของแต่ละคน"
              
ถามว่า ถ้าวันหนึ่งประชาชนเรียกร้องทหารให้ออกมาทำการปฏิวัติรัฐประหารอีกครั้ง พล.ร.อ.ณรงค์กล่าวว่า ไม่คิดแบบนั้น เพราะทหารได้รับบทเรียนจากประวัติศาสตร์มาแล้วหลายครั้ง ในตอนแรกทุกคนก็ชื่นชมยินดี แต่เมื่อเวลาผ่านไปทุกคนกลับมาถล่มทหาร จึงคิดว่าทหารเองน่าจะได้รับบทเรียนตรงนี้ ดังนั้น ต้องปล่อยให้เป็นไปตามครรลอง

ส่วนเรื่องการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย หากสถานการณ์เกิดการลุกลามบานปลาย ทหารก็คงต้องเข้าไปยับยั้งและทำให้เกิดความสงบเรียบร้อย โดยทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเจ้าหน้าที่พนักงานตำรวจดำเนินการตามขั้นตอน ซึ่งเป็นหน้าที่ของทหารอยู่แล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น