วันอังคารที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2556

เชือด “เจ๊หน่อย” หรือปล่อยผี ลุ้น ป.ป.ช.ชี้คดีทุจริตคอมพ์ สธ. โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 18 มิถุนายน 2556 09:48 น.

เชือด “เจ๊หน่อย” หรือปล่อยผี ลุ้น ป.ป.ช.ชี้คดีทุจริตคอมพ์ สธ.
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์18 มิถุนายน 2556 09:48 น.

รายงานการเมือง
       โดย แสงตะวัน
       
       ช่วงเช้าวันนี้ (อังคารที่ 18 มิ.ย. 56) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นัดพิจารณาลงมติชี้มูลคดีการจัดซื้อจัดจ้างโครงการคอมพิวเตอร์ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มูลค่า 821 ล้านบาท ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2546 ในสมัยรัฐบาลไทยรักไทย อันมีคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็น รมว.สาธารณสุข
       
       หากนับถึงตอนนี้เท่ากับว่าเกิดเรื่องมาแล้วถึง 10 ปี ก็ควรแก่เวลาแล้วที่ ป.ป.ช.ต้องปิดสำนวนเสียที หลังจากยื้อกันไปมาหลายรอบทั้ง ป.ป.ช.-ผู้ถูกกล่าวหา-ผู้ถูก ป.ป.ช.เรียกสอบสวน จนทำให้คดีล่าช้ามาหลายปี เลื่อนกันมาแล้ว 2-3 รอบ หากรอบนี้เลื่อนอีกทั้งที่ประกาศไว้ล่วงหน้าร่วมเดือนว่าไม่เลื่อนแน่ ถ้าเลื่อนไปโดยไม่มีเหตุผลมาอธิบายก็ถือว่ายื้อแล้วแน่นอน
       
       กระบวนการของ ป.ป.ช.ในวันนี้ ทางอนุกรรมการไต่สวนของ ป.ป.ช.ก็จะส่งสำนวนการไต่สวนของคณะอนุกรรมการฯ เข้าที่ประชุมใหญ่คณะกรรมการ ป.ป.ช.เพื่อลงความเห็นว่าจะชี้มูลความผิดในคดีนี้หรือไม่ หากเห็นว่าคดีมีมูลพอที่จะชี้มูลความผิด แล้วคนที่จะถูก ป.ป.ช.เอาผิดคือใคร นักการเมือง-ข้าราชการ-บริษัทเอกชนที่เข้าร่วมประมูลโครงการ หรือสุดท้ายจะปล่อยยกพวง คือพิจารณาแล้วพบว่าการดำเนินโครงการดังกล่าวไม่สามารถเอาผิดกับบุคคลใด
       
       ผลจะออกมาแบบไหนก็ต้องรอดูผลการประชุมของ ป.ป.ช.ว่าจะได้ข้อสรุปเลยหรือไม่ในวันนี้ หรือว่าจะคุยเถียงกันหลายชั่วโมงจนหาข้อสรุปไม่ได้ต้องนัดประชุมกันอีกครั้งเพื่อลงมติ ก็ต้องรอฟังผลการประชุม ป.ป.ช.กันให้ดีๆ เพราะคนที่เกี่ยวข้องกับการสอบสวนของ ป.ป.ช.มีทั้งนักการเมือง-ข้าราชการประจำในกระทรวงสาธารณสุข ทั้งที่เกษียณอายุราชการไปแล้ว และยังรับราชการอยู่ รวมถึงบริษัทเอกชนบางรายที่เข้าร่วมประมูลด้วย
       
       หนึ่งในนั้นที่ต้องลุ้นหนัก คือ สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ขาใหญ่พรรคเพื่อไทย ที่เผลอๆ อาจจะลุ้นการวินิจฉัยคดีของ ป.ป.ช.ในสำนวนนี้มากกว่าลุ้นผลการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.กทม.เขตดอนเมืองเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาเสียอีก
       
       เพราะมันหมายถึงเครดิตทางการเมืองที่สะสมกันมาหลายสิบปีเลยทีเดียว แม้ต่อให้มันเป็นแค่กระบวนการในชั้น ป.ป.ช.เท่านั้น เปรียบก็คือถ้าเป็นกระบวนการยุติธรรมก็เป็นแค่กระบวนการยุติธรรมขั้นต้น ที่ยังมีทั้งชั้นอัยการ-ศาลอีก ทุกคดีไม่ว่าจะเป็นคดีไหน หาก ป.ป.ช.ชี้ว่ามีมูลและสั่งให้มีการแจ้งข้อกล่าวหาเอาผิด ก็ยังเป็นเรื่องที่ว่ากันอีกยาวไกล ต้องไปถึงอัยการและศาลอีก ก็กินเวลาอีกหลายปี
       
       อย่างไรก็ตาม ในทางการเมืองแล้วก็คงไม่มีใครอยากมีเรื่องถูก ป.ป.ช.มากล่าวหาอะไรให้วุ่นวาย เปลืองตัวทั้งชื่อเสียงและเปลืองเวลาในการต้องไปเตรียมสู้คดีในชั้นอัยการและศาลอีก ดังนั้นใครที่ถูก ป.ป.ช.สอบ-เรียกไปสอบ ก็ไม่อยากให้ตัวเองเข้าปิ้งในชั้น ป.ป.ช.ทั้งสิ้น
       
       สำหรับคดีนี้มีข่าวออกมาต่อเนื่องหลายปีติดต่อกันแล้ว ถึงขั้นมีข่าวลือว่ามีผลสรุปการลงมติในชั้นอนุกรรมการไต่สวนกันมาแล้ว แต่สุดท้ายเรื่องก็ยังไม่ถูกชงเข้าที่ประชุมใหญ่ ป.ป.ช.เสียที จนหลายคนสงสัยกันหนักหนาว่ามีอะไรกันมากมาย
       
       ส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับว่าเหตุที่การสรุปผลของ ป.ป.ช.ล่าช้าก็เพราะมีกระบวนการหลายอย่างเกิดขึ้นในระหว่างการสอบสวน เช่น การที่สุดารัตน์สั่งให้ ส.ส.เพื่อไทยในสังกัดนำโดย น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม.และ รมว.ไอซีที ยื่นเรื่องต่อประธานวุฒิสภาเพื่อให้วุฒิสภาลงมติถอดถอนภักดี โพธิศิริที่เป็นประธานอนุกรรมการไต่สวนคดีนี้
       
       ด้วยเหตุสอบสวนโดยไม่เป็นธรรม จึงยื่นถอดถอนออกจาก ป.ป.ช.ด้วยการให้เหตุผลว่าไปรับ เป็นประธานอนุกรรมการไต่สวนกรณีดังกล่าว ทั้งที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับเรื่องนี้ เนื่องจากนายภักดีสมัยเป็นรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้จัดทำทีโออาร์ของบประมาณ และขออนุมัติโครงการจัดซื้อจัดจ้างโครงการดังกล่าวจากคณะรัฐมนตรี
       
       จึงเท่ากับรู้เห็นเหตุการณ์คดีที่ตัวเองรับไต่สวนมาตั้งแต่ต้น รวมถึงเคยเป็นคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกระทรวงสาธารณสุขด้วยตอนเกิดเรื่องคดีนี้ตอนแรกๆ ที่เรื่องยังไม่เข้าไป ป.ป.ช. แต่กลับไม่แจ้งให้ประธาน ป.ป.ช.ทราบ
       
       ทว่า สุดท้ายคะแนนเสียงถอดถอนภักดีของ ส.ว.ก็ไม่ถึงเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญทำให้ภักดียังคงเป็น ป.ป.ช.ต่อไป
       
       ต่อมา ป.ป.ช.ก็มีการเปลี่ยนตัวประธานอนุกรรมการไต่สวนคดีดังกล่าวเพื่อจบปัญหา มีการตั้งให้นายวิชัย วิวิตเสวี อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาและหนึ่งใน ป.ป.ช.คุมสำนวนคดีนี้เป็นหลักร่วมกับปรีชา เลิศกมลมาศ พร้อมกับสั่งสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมอีกหลายประเด็นต่อจากการสอบสวนที่นายภักดีได้ทำไว้
       
       ข่าวก่อนหน้านี้ ปรีชา เลิศกมลมาศ หนึ่งในอนุกรรมการไต่สวนคดีนี้บอกว่า มีการเรียกสอบพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องมาแล้ว 10 ปาก รวมถึงได้เอกสารต่างๆ มาจำนวนมากแล้วจึงมั่นใจว่าสำนวนสมบูรณ์มาก พร้อมเปิดเผยว่าได้ประสานไปยังศาลเพื่อขอเอกสารที่มีการฟ้องกัน
       
       ในคดีระหว่างเจ้าหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขเพิ่มเติม เพื่อมาประกอบสำนวนการสอบสวนของ ป.ป.ช.ว่าจะเชื่อมโยงอย่างไร
       
       ในส่วนของที่อนุกรรมการ ป.ป.ช.ระบุว่า มีการประสานไปยังศาลเพื่อขอเอกสารที่มีการฟ้องกันในคดีระหว่างเจ้าหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขมาเพิ่มเติมนั้น ไม่ได้มีการขยายความใดๆ ออกมาจาก ป.ป.ช.ว่าหมายถึงเรื่องไหน
       
       แต่ก็มีการวิเคราะห์กันในกลุ่มคนในวงการสาธารณสุขว่ายังไม่รู้ว่าเป็นเรื่องใด แต่ดูแล้วอาจเป็นเรื่องคดีที่มีคนซึ่งถูก ป.ป.ช.สอบสวน คือเสี่ยงที่จะตกอยู่ในฐานะโดนแจ้งข้อกล่าวหาได้ยื่นฟ้องต่อบุคคลบางคนที่อยู่ฝ่ายเคลื่อนไหวให้ ป.ป.ช.สอบสวนเรื่องนี้
       
       จนผลออกมาในทางที่ “เป็นคุณกับฝ่ายที่ถูก ป.ป.ช.สอบสวน” ก็เลยมีการวิเคราะห์กันว่าอาจเป็นไปได้ที่ในระหว่างการไต่สวนคดีในช่วงที่ผ่านมา ผู้ถูก ป.ป.ช.สอบสวนก็เลยเอาประเด็นที่ศาลตัดสินดังกล่าวมาเป็นหนึ่งในข้อต่อสู้กับ ป.ป.ช.เพื่อสร้างน้ำหนักในการทำให้ตัวเองหลุดพ้นจากคดี
       
       อย่างไรก็ตามจะใช่เรื่องนี้ที่คนในวงการสาธารณสุขวิเคราะห์กันหรือไม่ คงต้องรอฟังการแถลงจาก ป.ป.ช.อีกทีหนึ่ง
       
       นอกจากนี้ ในคดีนี้ยังพบว่าข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับโครงการดังกล่าวในช่วงปี 46 ที่ตอนนั้นยังเป็นข้าราชการกระทรวงระดับกลาง ตอนนี้ก็พบว่าขึ้นมาเป็นใหญ่เป็นโต เป็นระดับผู้บริหารในกระทรวงสาธารณสุขกันก็มีอยู่ด้วย บางรายก็ได้ตำแหน่งใหญ่เป็นบอร์ดอยู่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขก็มี
       
       ทำให้หลายคนก็เลยต้องลุ้นหนักว่า ผลการสอบสวนของ ป.ป.ช.จะออกมาอย่างไร จะเชือดยกพวง มีผลไปถึงพวกบิ๊กกระทรวงสาธารณสุขในเวลานี้กลายเป็นความผิดย้อนหลังโดนไปด้วยหรือไม่ หรือปล่อยรอดหมดไม่เอาผิดใครสักคน หรือว่าจะฟันไม่เข้า ยื้อไปอีก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น