วันอังคารที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2556

จับมือระเบิดหน้ารามฯ ต้องให้ข้อมูลจริงอย่าเท็จ เมื่อ 18 ม.ค.56

จับมือระเบิดหน้ารามฯ ต้องให้ข้อมูลจริงอย่าเท็จ


ยังคงคลุมเครือสร้างความสับสน สงสัย อะไรคือข้อเท็จ อะไรคือข้อจริง การจับกุมนายอิดริส สะตาปอ อายุ 24 ปี อยู่บ้านเลขที่ 18 ม.10 ต.โคกเคียน อ.เมืองฯ จ.นราธิวาส ผู้ต้องหาคดีร่วมกับพวก ลอบวางระเบิดบริเวณปากซอยรามคำแหง 43/1 ถนนรามคำแหง กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 26 พ.ค.56 ที่ผ่านมา จนทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บรวม 6 ราย ร้านค้าเสียหาย 2 แห่ง ภายในบ้านพักที่ตำบลโคกเคียน เชื่อมโยงกลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้หรือไม่ อย่างไร
    เพราะพลันที่ พล.ต.ต.สุชาติ ธีระสวัสดิ์ รองผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ สนธิกำลังร่วมกับ พ.ต.อ.สะท้านฟ้า วามะสิงห์ ผู้กำกับการสืบสวนภูธรจังหวัดนราธิวาส ใช้กฎอัยการศึกบุกจู่โจมจับกุมนายอิดริสได้ เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.ที่ผ่านมา พ.ต.อ.สะท้านฟ้า ก็บอกกับผู้สื่อข่าวในพื้นที่
    "จากข้อมูลในเชิงลึกที่ตรวจสอบ พบนายอิดริสเชื่อมโยงกับระดับแกนนำขบวนการก่อความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ไม่สามารถที่จะเปิดเผยในรายละเอียดได้มากไปกว่านี้ เนื่องจากเกรงจะเสียรูปคดีและต้องการที่จะสาวไปถึงตัวการใหญ่ที่วางแผนในการวางระเบิดกลางเมืองหลวงให้ได้"
          แต่พอข้ามวันข่าวการจับกุมมือวางระเบิดหน้ารามคำแหงปรากฏขึ้นมาตามสื่อต่างๆ ผู้บังคับบัญชาระดับผู้บริหารหน่วยงานด้านความมั่นคง ต่างออกมาปฏิเสธข่าวการเชื่อมโยงระหว่างนายอิดริส กับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้กันจ้าละหวั่น และพยายามตัดบทเบี่ยงให้เป็นประเด็นการขัดผลประโยชน์ทางธุรกิจหรือปัญหาแผงค้ากันไปหมด 
    พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ยืนยันจากแนวทางการสืบสวน ไม่พบว่ากลุ่มคนร้ายเกี่ยวข้องกับกลุ่มอาร์เคเค หรือกลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากไม่พบว่ามีประวัติหรือหมายจับ อีกทั้งรูปแบบการประกอบระเบิดที่ใช้ก่อเหตุไม่ใช่รูปแบบเดียวกัน แต่เป็นการลอกเลียนแบบ และประกอบเอง คาดว่าปมการก่อเหตุอาจมาจากการขัดผลประโยชน์ทางธุรกิจ หรือปัญหาแผงค้าหรือไม่ ต้องมีการตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง
    พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ก็ประสานเสียงการันตีกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจนราธิวาสจับนายอิดริส มือวางระเบิด บริเวณซอยรามคำแหง 43/1 ได้ ยืนยันจับกุมได้จริง แต่เชื่อว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ ไม่ใช่ผู้ก่อเหตุ 3 จังหวัดชายแดนใต้ แต่มุ่งก่อเหตุปมความขัดแย้งทางธุรกิจ
    อะไรคือข้อเท็จจริงกันแน่ ข้อมูลในพื้นที่กับข้อมูลระดับบริหาร ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐด้วยกันทั้งคู่ แต่ต่างกันชนิดหน้ามือกับหลังมือ ความสับสน ความมึนงง ความคลุมเครือ ย่อมต้องเกิดขึ้นเป็นธรรมดา เหมือนเช่นคดีการฆาตกรรมนายเอกยุทธ อัญชันบุตร นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ชื่อดังและเจ้าของเว็บไซต์ไทยอินไซเดอร์ คู่ปรับระบอบทักษิณ ที่เบื้องแรกการจับกุมผู้ต้องหาคดีนี้ใหม่ๆ พล.ต.อ.อดุลย์ก็ยืนยันว่า จับกุมผู้ต้องหาได้แล้ว แต่พอสอบถามพล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กลับบอกยังไม่สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ กระทั่งข้ามอีกวันก็นำผู้ต้องหามาแถลงข่าว ให้การสลับกันไปมา สุดท้ายจนป่านนี้แม้ตำรวจจะพยายามสรุปการฆาตกรรมนายเอกยุทธมาจากเหตุชิงทรัพย์ธรรมดา สังคมก็ยังคลางแคลงใจไม่ปักใจเชื่อเสียทีเดียว
    เช่นเดียวกับการจับกุมผู้ต้องหาวางระเบิดปากซอยรามคำแหงครั้งนี้ ข้อมูลที่ออกมาจากเจ้าหน้าที่รัฐก็คลุมเครือสับสนไม่ตรงกัน ประชาชนย่อมต้องเกิดความหวาดหวั่น เพราะไม่ว่านายอิดริสจะเกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้หรือไม่ แต่พฤติกรรมการก่อเหตุที่รุนแรง อุกอาจ ใจกลางเมืองหลวง ย่านที่มีชุมชนหนาแน่น รถราขวักไขว่ตลอดเวลาเช่นนี้ ย่อมต้องมีฝีมือไม่ธรรมดา และไม่น่าจะใช่มือใหม่หัดทำ หัดเลียนแบบพฤติกรรม
    จริงอยู่การจะยอมรับว่าผู้ต้องหาที่ระเบิดหน้ารามฯ เกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ อาจจะส่งผลกระทบในวงกว้างทุกภาคส่วนของประเทศ แต่ประชาชนทุกคนก็มีสิทธิ์รับทราบข้อเท็จจริง และเจ้าหน้าที่รัฐก็มีหน้าที่วางมาตรการระมัดระวังป้องกัน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนไม่ใช่หรือ
    เราเชื่อว่าไม่ว่าข้อเท็จจริงจะเป็นเช่นไร อาจจะเป็นด้านลบในบางประการที่จะสร้างความตื่นตกใจให้ประชาชนบ้าง แต่ในมุมกลับกันก็จะสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชนระวังตัว คอยสอดส่องสิ่งผิดปกติในสังคมมากขึ้น ขอเพียงแต่รัฐบาลต้องให้ข้อมูลที่จริงเท่านั้น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น