วันอังคารที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2556

รับมืออาชญากรรมทางคอมพ์ อาเซียนประสานมือ-ล้อมคอก เมื่อ 18 มิ.ย.56



รับมืออาชญากรรมทางคอมพ์

อาเซียนประสานมือ-ล้อมคอก

เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. ที่โรงแรมคอนราด ถนนวิทยุ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมประจำปีของ FIRST (Forum of Incident Respone and Security Team) 25th Annual FIRST Conference 2013 ซึ่งเป็นองค์กรที่ประกอบไปด้วยสมาชิกที่เป็นองค์กรทำหน้าที่ตอบสนองและจัดการกับเหตุการณ์ฉุกเฉินไซเบอร์กว่า 250 หน่วยงาน จากในทวีปอเมริกา เอเชีย ยุโรป แอฟริกา และหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก
โดยนายกฯ กล่าวว่า จุดประสงค์ของการประชุมครั้งนี้ คือ การหาแนวทางและการรับมือกับอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้จากสถิติของธนาคารโลก ในปี 2010 ครัวเรือนทั่วโลกที่สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ต มีประมาณร้อยละ 30 และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยในประเทศไทย มีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตกว่า 24 ล้านคน และมีหมายเลขโทรศัพท์มือถือกว่า 87 ล้านเลขหมาย จากประชากร 64 ล้านคน การเพิ่มขึ้นของผู้ใช้อินเตอร์เน็ตและผู้ใช้โทรศัพท์มือถือทั่วโลก และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีช่วยเปิดโอกาสที่กว้างขวางมากยิ่งขึ้น การเชื่อมโยงที่มากขึ้นนำไปสู่ การเพิ่มพูนการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว อีกทั้งธุรกิจ SMEs และธุรกิจขนาดย่อมยังมีเครื่องมือสำคัญที่ช่วยทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จในโลกยุคโลกาภิวัตน์
ทั้งนี้ในปีที่แล้วได้รายงานถึงภัยคุกคามจากไซเบอร์ ภัยจากไวรัส และการล้วงข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตกว่า 800 ครั้ง การที่ไม่มีกฎหมายและการป้องกันภัยจากการใช้เทคโนโลยี นอกจากจะส่งผลต่อศักยภาพในการพัฒนาทางเศรษฐกิจแล้ว ยังส่งผลต่อความปลอดภัยและความมั่นคงของเราด้วย และเพื่อตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องนี้ ประเทศไทยจึงได้จัดตั้งคณะกรรมการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการพัฒนากรอบนโยบายเรื่องความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการประสานงานกันระหว่างหน่วยงานของรัฐบาล เอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชนทั่วไป โดยกรอบนโยบายนี้ จะครอบคลุมถึงการกำกับดูแล การเตรียมรับสถานการณ์ฉุกเฉิน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลระดับชาติและการสร้างความสามารถในการรับมือกับภัยดังกล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การตระหนักถึงการรับรู้ของสาธารณะ การพัฒนาเจ้าหน้าที่ ซึ่งจะช่วยสร้างความเข้มแข็งในการป้องกันภัยและอาชญากรไซเบอร์ ความร่วมมือในภูมิภาคและความร่วมมือในระดับนานาชาติเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้สิ่งเหล่านี้ประสบความสำเร็จ ประเทศไทยจึงสนับสนุนความร่วมมือของอาเซียนในการต่อสู้ภัยจากไซเบอร์ ซึ่งเป็น 1 ใน 8 เรื่องของอาชญากรรมข้ามชาติที่อาเซียนให้ความสนใจเป็นอันดับแรก และหากอาเซียนร่วมมือกันอย่างเต็มที่ การติดต่อสื่อสารในโลกอินเตอร์เน็ตก็จะได้รับการป้องกันจากภัยคุกคาม
ทั้งนี้ ประเทศไทยสนับสนุนความพยายามของ ARF ในการพัฒนาแผนงานเกี่ยวกับความมั่นคงทางไซเบอร์ โดยการระดมผู้เชี่ยวชาญและแนวความคิดต่างๆ จากทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่เกี่ยวกับการป้องกันอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ ส่วนในระดับโลก มีการจัดประชุมเพื่อรับมือและจัดการอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ระดับโลก หรือ FIRST เพื่อหาวิธีปฏิบัติในการรับมือและจัดการภัยคุกคามทางอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเพื่อการแบ่งปันข้อมูล หรือเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ การประชุม FIRST จะยังคงมีบทบาทสำคัญในการป้องกันโลกไซเบอร์ และสร้างความรู้เพื่อส่งเสริมความก้าวหน้าและความเจริญรุ่งเรืองสำหรับทุกฝ่าย หวังว่าความร่วมมือและเครือข่ายที่มีร่วมกัน จะช่วยเพิ่มความสามารถในการจัดการภัยคุกคามทางไซเบอร์



วันที่ 18/06/2556 เวลา 2:22 น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น