วันจันทร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ปรับใหญ่-ยื้อเวลา เฮือกสุดท้าย “รัฐนาวา-ปู”เมื่อ 17 มิ.ย.56



ปรับใหญ่-ยื้อเวลา

เฮือกสุดท้าย “รัฐนาวา-ปู”

“ปรับ ครม.-ยุบสภา-ลาออก-ปฏิวัติ-รัฐประหาร”
ข้างต้นนี้ ไม่ต่างจาก “วงจรการเมือง”
ที่จะหมุนเวียนสลับสับเปลี่ยน
ตามแต่จังหวะของโอกาส และจังหวะของเวลาที่สุกงอมและเหมาะสม กับสถานการณ์การเมือง ในห้วงเวลาหนึ่งๆ
ว่าไปแล้ว นี่ไม่ต่างจาก “วัฏจักรทางการเมือง”
เมื่อถึงเวลาหนึ่งๆ ก็ย่อมจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างใดอย่างหนึ่ง
ซึ่งก็แล้วแต่ว่าอย่างไหนจะมาถึงก่อนกัน
และก็ขึ้นอยู่กับว่า ฝ่ายซึ่งกุมกลไก “อำนาจรัฐ” หรือฝ่ายอื่นๆ ที่อยู่ใน “โครงสร้างอำนาจ” จะเข้าถึง “เงื่อนไข” ของการเปลี่ยนแปลงได้ก่อนกัน
แน่นอนว่า สถานะของการเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้
ย่อมผูกโยงอย่างแนบแน่นกับสภาวะทางการเมืองในห้วงเวลาปัจจุบัน
อย่างไม่สามารถจะแยกออกจากกันได้
ที่แตกต่างมีเพียง “อำนาจ” ในการ “ตัดสินใจ” เท่านั้น
“ปรับ ครม.-ยุบสภา-ลาออก” ยังถือว่าอยู่ใน “อำนาจ” และการ “ตัดสินใจ” ของฝ่ายซึ่งกุมกลไก “อำนาจรัฐ” ยังสามารถดำเนินการได้ด้วยตัวเอง
ขณะที่ “ปฏิวัติ-รัฐประหาร” กลับอยู่นอกเหนือ “อำนาจ” และการ “ตัดสินใจ”
ของฝ่ายซึ่งกุมกลไก “อำนาจรัฐ”
นี่เพราะทั้งหมดขึ้นอยู่กับฝ่ายอื่นๆ ซึ่งอยู่ใน “โครงสร้างอำนาจ”
ที่จะเลือกกระทำการ หรือไม่เลือกกระทำการใดๆ
กระนั้น แม้ว่า “ทางเลือก” ใน “วงจรการเมือง” จะแบ่งออกเป็นสองแนวทางที่ว่านี้ ทว่า! ทั้งสองแนวทางที่ว่านี้
ก็ล้วนสะท้อนถึง “ภาวะไม่ปกติ” อย่างใดอย่างหนึ่ง
ในทางการเมืองทั้งสิ้น
ที่ต้องไม่ลืมก็คือ การเปลี่ยนแปลงในทางการเมือง ไม่ว่าจะอย่างใดอย่างหนึ่ง
ก็ล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อสภาวะการดำรงอยู่บน “ฐานของอำนาจ” ทั้งสิ้น
ความจริงก็คือ ไม่มีใครต้องการให้เกิด “แรงกระเพื่อมในทางการเมือง”
และความจริงก็คือ ทุกครั้งที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างใดอย่างหนึ่ง
ก็ล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบให้เกิด “แรงกระเพื่อมในทางการเมือง” ทั้งสิ้น
ทั้งการ “ปรับ ครม.”
ทั้งการ “ยุบสภา”
ทั้งการ “ลาออก”
ทั้งการ “ปฏิวัติ”
และทั้งการ “รัฐประหาร”
ไม่ว่าจะเป็น “ทางเลือก” ชนิดใดก็ล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบให้เกิด “แรงกระเพื่อมในทางการเมือง” ทั้งสิ้น
อย่าลืมว่า ถ้าสถานการณ์การเมืองสงบราบเรียบ
ก็ไม่มีใครต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพื่อสร้าง “แรงกระเพื่อมในทางการเมือง”
เว้นก็แต่เป็นความจำเป็นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง ก็จำเป็นต้องเลือกแนวทางใดแนวทางหนึ่ง
ตั้งแต่สถานเบาสุด ไล่ไปจนถึงสถานหนักสุดเท่าที่ทำได้ ในลักษณะของการ “เสียสละอวัยวะ” เพื่อ “รักษาชีวิต”
ก่อนที่จะถูก “ตัดราก-ถอนโคน”
โดย “การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง” ผ่านกลไกของ “โครงสร้างอำนาจ” โดยวิธีการ “นอกระบบ” เข้ามาจัดการ
ต้องไม่ลืมด้วยว่า ไม่ว่าจะ “รัฐนาวา” ไหนก็ตาม
และไม่ว่าจะภายใต้การนำของใครก็ตาม
หลังผ่านการบริหารมานานพอสมควร ก็ย่อมต้องปรากฏ “บาดแผล” ที่ย่อมต้องมากขึ้นเป็นเงาตามตัวเช่นกัน
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของประสิทธิภาพ และประสิทธิผล ในการบริหารราชการแผ่นดิน
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความไม่ชอบมาพากล ตลอดจนความกังขาต่อพฤติกรรมที่อาจส่อไปในทางไม่สุจริต
ไม่ว่าจะเป็นข้อครหา อันว่าด้วยการทุจริต-คอรัปชั่น และ ฯลฯ
แน่นอนว่า นี่ย่อมต้องส่งผลต่อ “เสถียรภาพทางการเมือง”
อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง
อย่าได้แปลกใจ ที่หลังเกิด “กระแสข่าว” อย่างครึกโครม อันว่าด้วย “ปฏิวัติ-รัฐประหาร” ที่ถือว่าเป็น “การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง” โดยวิธีการไม่ปกติธรรมดา
จะปรากฏการถอยกลับสู่ที่ตั้ง ด้วยการตั้งรับอย่างรัดกุมและรอบคอบ
พร้อมกับการช่วงชิงการใช้ “อำนาจ” และการ “ตัดสินใจ”
ให้กลับมาอยู่ในแนวระนาบ ของฝ่ายซึ่งกุมกลไก “อำนาจรัฐ” ในห้วงเวลาปัจจุบัน
นี่จึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง โดยการ “ปรับใหญ่” ในทางการเมืองอีกครั้งหนึ่ง
“ปรับ ครม.” จึงเป็น “ทางเลือก” ที่ต้องทำ ทั้งเพื่อ “ลดเงื่อนไข” และ “เพิ่มเสถียรภาพ”
ส่วนจะยืดระยะเวลาได้แค่ไหน และจะรอดพ้นจาก “วงจรการเมือง” ที่บีบรัดหรือไม่นั้น
ใครก็คงตอบชัดๆ ไม่ได้ เพราะ “การเมือง” เวลานี้ไม่มีอะไรแน่นอนจริงๆ!!!

โต๊ะข่าวการเมือง


วันที่ 16/06/2556 เวลา 8:44 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น