วันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2556

13องค์กรถกดับไฟใต้ “ภราดร”นำทีมเสวนาสรุปก่อนถกบีอาร์เอ็น เมื่อ 10 มิ.ย.56



13องค์กรถกดับไฟใต้

“ภราดร”นำทีมเสวนาสรุปก่อนถกบีอาร์เอ็น


สมช.เตรียมพร้อมก่อนถกสันติภาพบีอาร์เอ็น 13 มิ.ย.นี้ ร่วมเสวนาระดมความคิดเห็นจากฝ่ายความมั่นคง สถาบันการศึกษาองค์กรสันติวิธี ภาคประชาสังคมที่ยะลา นอกจากนี้ สมช.ยังได้ประชุมรับความคิดเห็นนักศึกษาที่ปัตตานี ร่วมรับฟังความคิดเห็น 2 จว. รวม 13 องค์กร โดยมีผู้ร่วมงานกว่า 1 พันคน ขณะที่ “ภราดร” ย้ำ โจรใต้ต้องลดความรุนแรงในพื้นที่ 3 จว.ใต้ ในขณะที่ ตัวแทนนักศึกษาปัตตานีเสนอ 5 ข้อ ต่อ สมช. อาทิ ไม่ยอมรับ บีอาร์เอ็นเป็นกลุ่มมีอิทธิพลสูงสุด ด้าน ผอ.ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ เตรียมระดมสมองภาคประชาสังคมอีก 10 มิ.ย.นี้ เพื่อเตรียมแผนสู่สันติภาพ
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 8 มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา อ.เมือง จ.ยะลา ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ร่วมกับจังหวัดยะลา ได้จัดเวทีเสวนาหัวข้อ “รู้การพูดคุยอย่างเสรี สู่การขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ เพื่อสันติสุขอย่างยั่งยืน” โดยมี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ พล.อ.นิพัทธิ์ ทองเล็ก รองปลัดกระทรวงกลาโหม พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช. ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตรภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW) ผู้แทนจาก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ร่วมเสวนาในครั้งนี้ โดยมีหัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด อำเภอ ผู้บริหารองค์การส่วนท้องถิ่น อิหม่ามประจำมัสยิด เจ้าอาวาสวัด มูลนิธิ หน่วยทหาร ผู้กำกับ ภาคเอกชน สื่อมวลชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และโรงเรียนเอกชน รวม 14 องค์กร ประมาณ 1,000 คน เข้าร่วมเวทีเสวนา
พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช. กล่าวก่อนเข้าร่วมเวทีเสวนาว่า วัตถุประสงค์ในวันนี้ก็เพื่อให้คณะพูดคุยมาทำความเข้าใจกับส่วนที่เกี่ยว ข้อง รวมทั้งภาคประชาชน ภาคประชาสังคมบางส่วน ให้เข้าใจถึงการปฎิบัติหน้าที่ของคณะพูดคุยว่ามีความก้าวหน้า และวัตถุประสงค์อย่างไร รวมทั้งมารับฟังข้อเสนอแนะกับทางเวทีในวันนี้ด้วยเพื่อที่จะนำข้อมูลไป ดำเนินการ ซึ่งวันที่ 13 มิ.ย.นี้ น้ำหนักของการพูดคุยหลักๆ ก็คงจะเป็นเรื่องเดิม คือลดเหตุความรุนแรง แต่เนื้อหาก็คงจะต้องกระจายออกไปในความเกี่ยวข้องของแต่ละฝ่าย ส่วนข้อมูลของฝ่ายบีอาร์เอ็นนั้น ก็เชื่อว่าฝ่ายเขาก็คงยันข้อเสนอ 5 ข้อตามข่าว เพียงแต่น้ำหนักของการพูดคุยจะขึ้นอยู่กับบรรยากาศในการพูดคุยวันนั้น ในวันนี้ทางคณะพูดคุยได้จัดทำโรดแมป ไม่ว่าจะเป็นจากฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายสถาบันการศึกษาและสันติวิธี และฝ่ายภาคประชาสังคม ได้มีการทำโรดแมปมาให้คณะพูดคุย ซึ่งทางคณะพูดคุยก็ได้นำมาปรับให้สอดคล้องซึ่งกันและกัน และรับไปดำเนินการแล้ว
ด้าน ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตรภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW) ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เปิดเผยว่า ในเวทีครั้งนี้เข้าใจว่าจะเป็นเวทีให้บรรดาผู้นำท้องถิ่น ผู้นำภาคประชาชน และหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ ในพื้นที่ ให้มาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพ ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ดีที่จะเตรียมไปสู่การพูดคุยในวันที่ 13 มิ.ย.นี้ ส่วนกรณีการจัดทำโพลของ DSW ของการพูดคุยในรอบที่ผ่านมานั้นก็ได้ผลตอบรับที่ดี ความรู้สึกเชื่อมั่นในเรื่องของกระบวนการสันติภาพ ซึ่งก็อยากจะมีการตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง ทางศูนย์วิจัยฯ ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ก็ได้ดำเนินการลงพื้นที่ทำโพลอยู่ในขณะนี้ โดยมีประเด็นหลักๆ คือ ทัศนคติต่างๆ หลังจากการพูดคุยสันติภาพ รวมทั้งให้ประชาชนตอบคำถามข้อเรียกร้อง 5 ข้อของบีอาร์เอ็น และข้อเสนอของฝ่ายรัฐบาล 2 ข้อ ในเรื่องของความเชื่อมั่นไว้วางใจ และการลดความรุนแรง รวมทั้งข้อเรียกร้องอื่นๆ ที่มีการเสนอมาในพื้นที่ เพื่อให้ทุกฝ่ายได้แสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่
“ในวันที่ 10 มิ.ย.นี้ ก็จะมีการระดมความคิดเห็นครั้งใหญ่ ที่ห้องมะเดื่อ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เพื่อที่จะสร้างโรดแมปสันติภาพ ที่จะหาทางออกในข้อเสนอที่ทางฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายบีอาร์เอ็น เสนอขึ้นมา และจะมีโรดแมป ว่าจะมีทางออกร่วมกันอย่างไร โดยจะเป็นข้อเสนอของภาคประชาสังคม ที่จะนำไปสู่โรดแมประยะยาว ที่เกิดจากกระบวนการพูดคุย ไปสู่กระบวนการเจรจา และนำไปสู่กรอบข้อตกลงต่างๆ ที่เราพยายามให้ถึงจุดนั้น” ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าว
ส่วนที่ จ.ปัตตานี เมื่อเวลา 14.30 น. ที่โรงแรมซีเอส ปัตตานี พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช. พร้อมคณะตัวแทนการเจรจาพูดคุยสันติภาพของฝ่ายรัฐบาลไทย ยังได้ไปร่วมรับฟังข้อเสนอแนะของกลุ่มตัวแทนนักศึกษาในพื้นที่ จว.ชายแดนใต้ ก่อนที่จะมีการเดินทางร่วมโต๊ะเจรจาพูดคุยสันติภาพกับแกนนำขบวนการ BRN ที่จะมีขึ้นในวันที่ 13 มิ.ย. ในขณะที่ นายดันย้าล อับดุลเลาะ ตัวแทนกลุ่มนักศึกษา ได้สรุปผลการประชุม พร้อมเสนอ 5 ประเด็นสะท้อนความคิดเห็น และมุมมองของการเจรจาในด้านต่างๆ ต่อคณะตัวแทนเจรจาฝ่ายรัฐบาลไทย ประกอบด้วยประเด็นที่ 1.ยอมรับบทบาทของมาเลเซีย ในการแสดงบทบาทเป็นคนกลาง เนื่องจากมาเลเซียได้รับการยอมรับจากกลุ่ม BRN ประเด็นที่ 2.ยังไม่สามารถยอมรับได้ว่า BRN จะเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลสูงสุดในพื้นที่ เพราะยังมีกลุ่มที่มีความคิดเห็นต่างอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก และยังมิได้มีการเปิดเผยตัว ดังนั้น ต้องมีการรับฟังความเห็นในเรื่องนี้ก่อน โดยเฉพาะจากประชาชนมลายูในพื้นที่ ประเด็นที่ 3.ต้องมีการกำหนดบทบาทของกลุ่มองค์การต่างประเทศ อย่าง เอ็นจีโอ โอไอซี และองค์กรอิสระอื่นๆ ให้ชัดเจน ว่าจะเข้ามาในฐานะอะไร ประเด็นที่ 4.ไม่สามารถยอมรับได้ เนื่องจากมีผู้ต้องขังบางส่วน ที่มีความผิดจากการกระทำจริงๆ ซึ่งต้องได้รับบทลงโทษตามกฎหมาย แต่ส่วนของผู้ที่ไม่มีความผิดจริง อันเนื่องจากความไม่เป็นธรรม ตามกระบวนการยุติธรรม สามารถปลดปล่อยได้ และได้รับการชดเชยตามสิทธิ์อย่างเหมาะสมในช่วงที่ต้องขัง ประเด็นที่ 5.ต้องมีการทำความเข้าใจให้ชัดเจน ว่าองค์การปลดปล่อยและการแบ่งแยกฯ มีเป้าหมายอย่างไร หากมีเป้าหมายที่เป็นไปในลักษณะเดียวกันก็ยังไม่สามารถรับได้ และจะต้องมีการเสนอรูปแบบการปกครองที่ชัดเจน เพื่อจะทำให้ประชาชนในพื้นที่สามารถรับทราบ และเป็นผู้เลือก ว่าสามารถยอมรับได้หรือไม่
ต่อมา พล.ท. ภราดร เลขาธิการ สมช.กล่าวว่า วันนี้มาเพื่อรับข้อเสนอจากเยาวชนในพื้นที่ ทำให้ได้รับประโยชน์อย่างมาก ซึ่งจะนำข้อเสนอตรงนี้มาเป็นข้อพิจารณาในการพูดคุยสันติภาพ ในวันที่ 13 มิ.ย.นี้ กับกลุ่มขบวนการต่อไป ซึ่งทางฝ่ายขบวนการก็บอกว่ารับฟังมาจากประชาชน ทางเราก็จะได้บอกว่า ข้อเสนอก็ได้รับฟังจากประชาชนเช่นกัน และจะได้นำมาปรับเพื่อพัฒนากันต่อไป
ด้าน พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก รองปลัดกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า การทำงานของเราทำงานกันเป็นทีมโดยมี พล.ท.ภราดรเป็นหัวหน้าทีม เพราะฉะนั้นข้อพิจารณาต่างๆ จะต้องได้รับการกลั่นกรองอย่างเป็นขั้นตอน ผ่านความเห็นชอบจากผู้บังคับบัญชา ที่เราตกลงกันไว้ จึงจะออกไปได้ เราจะไม่คิดเองทำเอง


วันที่ 9/06/2556 เวลา 7:41 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น